‘ความผูกพันมันมีมาอย่างนี้’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องวัดศรีโคมคำ ฟื้นความทรงจำ 52 ปีที่ไม่เคยลืม

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่าย "มติชน" ครั้งเป็นนักศึกษา ลงเรือในกว๊านพะเยาจากฟากตะวันตกไปยังตัวเมืองฟากตะวันออกหลังส..ำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านแม่นาเรือ

นับเป็นอีกหนึ่งทริปที่มีจุดกำเนิดจาก “ความผูกพัน” สำหรับรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “เมืองพะเยา ต้นทางรัฐล้านนา ต้นเรื่องพระเพื่อนพระแพง (ในพระลอ)” ที่ผ่านไปอย่างงดงามตราตรึงใจ ด้วยฉากกว๊านพะเยาอันกว้างใหญ่และอุโบสถสไตล์เฉพาะตัวของวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง

ก่อนเริ่มการถ่ายทำ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ และคณะ เป็นเจ้าภาพในพิธีบำเพ็ญกุศลสรีรสังขารพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือ “หลวงปู่ปวง” อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6 อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อแวดวงพุทธศาสนาทางภาคเหนือ อีกทั้งสนใจในประวัติศาสตร์ โบราณคดี เก็บรวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมากที่พบในจังหวัดพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมามีการจัดสร้าง “หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ” ซึ่งขรรค์ชัยผลักดันในการก่อตั้งโดยมีการทอดกฐินและผ้าป่าเพื่อสมทบทุน เนื่องด้วยหลวงปู่เคยความเมตตาดูแลอย่างดีเมื่อครั้งขรรค์ชัย-สุจิตต์ ลงพื้นที่สำรวจโบราณวัตถุสถานขณะยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มรณภาพเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลพะเยา สิริอายุ 102 ปี พรรษา 80


หลวงปู่มรณภาพเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลพะเยา สิริอายุ 102 ปี พรรษา 80 ทิ้งไว้ซึ่งคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวพะเยาและพุทธศาสนิกชนไทย รวมถึงความทรงจำในใจอดีตสองกุมารสยามที่ไม่เคยลืมเลือนเรื่องราวเมื่อกว่า 52 ปีก่อน

เมื่อเปิดฉากการถ่ายทำที่ “อุโบสถกลางน้ำ” ซึ่งขรรค์ชัยเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นเพื่อถวายพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือหลวงปู่ปวง ซึ่งทั้งคู่เรียกว่า “หลวงพ่อ” โดยสร้างริมกว๊านพะเยา ฉากหลังคือเทือกเขาหลวง ตามแนวคิด “อุทกสีมา” แบบเดียวกับวัดกัลยาณี กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา มีโครงสร้างแบบร่วมสมัยแต่ไม่ทิ้งความเป็นล้านนา ภายในมีจิตรกรรมวาดโดยอังคาร กัลยาณพงศ์ และภาพตะวัน สุวรรณกูฏ นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้ง “หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ” ซึ่ง “มติชน” ทอดกฐินผ้าป่าหางบประมาณสมทบ

Advertisement
ซ้าย-พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ “หลวงปู่ปวง” ของชาวพะเยา เก็บรวบรวมพระพุทธรูปหินทรายมากมายไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ ต่อมามีการก่อตั้ง “หอวัฒนธรรมนิทัศน์” ที่วัดศรีโคมคำด้วยการผลักดันของ ขรรค์ชัย บุนปาน ขวา-อ.มานิต วัลลิโภดม ข้าราชการกรมศิลปากร ถ่ายภาพชิ้นส่วนพระพุทธรูปในเรือนไม้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ


“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ขรรค์ชัยริเริ่มสร้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์ มาจากเมื่อ 52 ปีที่แล้ว คือเมื่อปี 2510 ผมและขรรค์ชัยเป็นนักศึกษาโบราณคดี แต่เรียนไม่ดี อยู่ชมรมศึกษาวัฒนธรรมและโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พามาสำรวจภาคเหนือ เริ่มต้นที่จังหวัดพะเยา ตอนนั้นยังเป็นอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย แล้วค่อยเดินทางต่อไปเชียงแสน นั่งรถไฟจาก กทม.ลงลำปางแล้วต่อรถจากลำปางมาพะเยา เฉพาะจากลำปางมาถึงที่นี่ใช้เวลาเกือบทั้งวัน อิดโหลดโขลกเขลกแบบรถขนหมู อาจารย์มานิต วัลลิโภดม พ่ออาจารย์ศรีศักรซึ่งเป็นข้าราชการกรมศิลปากรนำทางมาด้วย ท่านเคยสำรวจมาก่อนแล้ว รู้เรื่องตำนานทางล้านนาทั้งหมด ต่อเนื่องอีสานและลุ่มน้ำโขง

ตอนนั้นหลวงพ่อรวบรวมโบราณวัตถุไว้ในเรือนไม้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ หรือวัดสูง ซึ่งเดิมท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น มีพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมาก เศียรพระ แขนพระ ขาพระ เต็มไปหมด เยอะจนล้นออกมาถึงด้านนอก ท่านรู้ว่าเป็นของสำคัญ หลวงพ่อยังพาไปสำรวจซากโบราณสถานต่างๆ ต่อมาอีก 3 ปี อาจารย์ศรีศักรหาทุนจากสภาวิจัย ได้เงินมาก้อนหนึ่งให้ขรรค์ชัยกับผมมาสำรวจกันเอง จำไมได้ว่าเท่าไหร่ แต่แค่ไม่กี่พันบาท ไม่ถึงหมื่น หลวงพ่อก็ให้นอนที่โบสถ์ สบายดี มี 5-6 คนมาสำรวจด้วยกัน เช้ามา เราจะตื่นเช้าได้อย่างไร มันไม่ใช่นิสัย ตื่นประมาณ 8 โมงจะไปหาอะไรกิน พวกกาแฟ ไข่ลวก ปรากฏว่าหลวงพ่อเอาของวางใส่ถาดไว้ให้ มีกล้วย อ้อย ข้าวต้มมัด เราก็ต้องหยิบใส่กระเป๋าไปด้วย แล้วค่อยออกไปกินกาแฟ จากนั้นถึงไปสำรวจตามแผน วันไหนหลวงพ่อว่าง ยังพาไปดูนู่นนี่” คือคำบอกเล่าจากปากสุจิตต์ ถึงแฟนๆ รายการ ย้อนรำลึกถึงความทรงจำแจ่มชัด แม้เวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ

สิงหาคม พ.ศ.2527 “มติชน” จองกฐินเพื่อสมทบทุนสร้างโบสถ์วัดศรีโคมคำ ขรรค์ชัย สวมเสื้อลายนั่งพิงโซฟาข้าง อ.มานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีรุ่นบุกเบิก พร้อมด้วยพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ซึ่งปัจจุบันคือผู้เชี่ยวชาญประจำกรมศิลปากร รวมถึง ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล ในวัยหนุ่ม


สุจิตต์ยังเล่าต่อ ว่าที่สำคัญคือหลวงพ่อพาไปขึ้นภูกามยาว ซึ่งท่านเรียกว่า “กิ่วม่อต้อม” ซึ่งตนและเพื่อนๆ ที่มาสำรวจด้วยกันไม่รู้จัก

Advertisement

“เราก็นึกว่าท่านจะพาไปสำรวจธรรมดา ผ่านหมู่บ้านก็ขอน้ำกินได้ แต่เปล่า! เพราะเป็นการเดินขึ้นเขา คอแห้งมาก ไม่ไหว ท่านชี้ไปที่ บ่อสิบสอง ซึ่งเป็นบ่อน้ำซึมน้ำซับตามธรรมชาติ แล้วบอกว่า กินสิ! เราก็กลัวมาก เพราะไม่เคยกินน้ำอะไรแบบนี้ หลวงพ่อบอกกินได้ ชาวบ้านเขาก็กินกัน ตกบ่ายเดินลงเขากลับมาที่วัด แล้วมีอยู่วันหนึ่งต้องไปสำรวจฟากตะวันตก นั่งรถเมล์ตระเวณไปเรื่อยๆ ตามจุดที่กำหนดไว้ ตกเย็นเลือกกลับในเส้นทางที่ไม่ซ้ำเดิม โดยเช่าเรือพายของชาวบ้านตัดข้ามกว๊านพะเยาเลย”


มาถึงตรงนี้ ตัดเข้าสู่ภาพเก่าเล่าเรื่องวัยรุ่นยุคต้น 2500 อย่างขรรค์ชัย ซึ่งถูกบันทึกภาพไว้ขณะลงเรือแล้วไปเจอ “สาวชาวบ้าน” ขณะหาปลา จึงไป “เกี้ยวพาราสี”

“คุณขรรค์ชัยเขาใส่หมวกด้วย โคตรเท่เลยนะ”

สุจิตต์เล่าไปขำไป ส่วนขรรค์ชัยหยิบกระดาษทิชชูขึ้นมาซับเหงื่อที่ผุดขึ้นเต็มหน้าผาก แล้วหัวเราะเบาๆ แบบไม่มีการยกมือประท้วง

“คุยสาวเสร็จก็ลงเรือข้ามฟาก โอ้โห เต็มไปด้วยสาหร่าย กว่าจะถึงอีกฝั่ง เกือบชั่วโมง แต่เรามัน วัยรุ่นใจเย็น อยู่แล้ว (หัวเราะ)”

ตัดฉากอีกทีมาถึงปี 2527 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งตอนนั้นก่อตั้ง “มติชน” มาหลายปีแล้ว ขรรค์ชัยก็จองกฐิน พาคณะมาทำบุญ

“ความผูกพันมันมีมาอย่างนี้ ต่อมาจึงสร้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์โดยไม่ใช้คำว่าพิพิธภัณฑ์เพราะกรมศิลปากรสั่งห้าม”

จารึกเมืองพะเยา จดจารด้วยอักษรฝักขาม จัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ


ปฏิเสธไม่ได้ ว่าอุโบสถแบบ “ร่วมสมัย” เช่นนี้ถือว่า “ก้าวหน้า” มากในยุคนั้น ถาม ขรรค์ชัย ว่า การสร้างอุโบสถกลางน้ำโดยไม่มีช่อฟ้า ใบระกาตามอย่างศิลปะไทยประเพณี กังวลว่าจะถูกเสียงวิพากษ์หรือไม่? เจ้าตัวส่ายหน้า บอกว่า ไม่กังวล เนื่องจากตอนนั้นมีการหารือกันเป็นอย่างดี ทั้งสถาปนิก นักตกแต่งภายใน รวมถึงศึกษาแนวคิดตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จมีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

จิตรกรรมในอุโบสถกลางน้ำรูปพระศรีมหาโพธิ์ ฝีมือ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ศิลปินแห่งชาติ

จากนั้น ขรรค์ชัย-สุจิตต์เดินทางอย่างชิลๆ ต่อไปยังริมกว๊านพะเยาในจุดที่มองเห็นผืนน้ำกว้างไกล โดยอีกฝั่งคือถนนริมกว๊านที่มีร้านรวงคึกคัก มีชีวิตชีวา รับสายลมเย็นที่พัดเข้ามาเป็นระลอก แล้วถกปมวรรณคดีไทยเลื่องชื่ออย่าง “พระเพื่อนพระแพง” ซึ่งมีตำนาน “ท้าวฮุ่งขุนเจือง” วีรบุรุษสองฝั่งโขง ผู้ถือกำเนิด เกิดที่เมืองพะเยาแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.1617 ปรากฏในมหากาพย์แต่งเป็นโคลงเกือบ 5 พันบท นับเป็นต้นเรื่องพระลอนั่นเอง

กว๊านพะเยา เพิ่งเกิดหลัง พ.ศ.2484


อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นั่นคือความเป็นมาของ “กว๊านพะเยา” ซึ่งเพิ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.2484 ไม่ใช่แหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยมีก่อนหน้านั้น กล่าวคือบริเวณกว๊านพะเยาเคยเป็นที่ราบในหุบเขา มีแม่น้ำอิงไหลผ่าน มีหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป หลังจากกรมชลประทานมาทำประตูกั้นแม่น้ำอิง น้ำจึงท่วมบริเวณที่เคยเป็นชุมชน กลายเป็นกว๊านพะเยา โดยมีซากวัดประมาณ 20 แห่ง จมอยู่เบื้องล่าง

“กว๊านพะเยาเป็นแหล้งน้ำขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากหนองหาน จ.สกลนคร และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ผมคัดมาจากเอกสารของกรมชลประทาน เนื้อที่เฉลี่ย 17.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,915 ไร่ คำว่ากว๊านมาจากพื้นฐานของคำว่ากว้าน คือรวบรวม กว๊านพะเยาคือที่รวบรวมน้ำมารวมกันกล้าวใหญ่ไพศาล เดิมไม่ได้เป็นกว๊าน แต่เริ่มใน พ.ศ.2484 เมื่อชลประทานทำประตูกั้นแม่น้ำอิง ก่อนหน้านั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้

เชื่อว่า “ภูกามยาว” เป็นที่มาของชื่อเมืองพะเยา ซึ่งในจารึกสะกดว่า “พยาว”


แม่น้ำอิงไหลจากเหนือลงใต้ แล้วจะไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ออกแม่น้ำโขง รอบๆ เป็นแอ่ง เป็นที่ลุ่ม พอทำที่กั้นน้ำ น้ำเลยท่วมทั้งหมด ชุมชนเมืองพะเยาอยู่กับที่ลุ่ม มีบ้านมีเรือนมีวัดวาอารามจำนวนหนึ่ง อาจารย์ วิมล ปิงเมืองเหล็ก (ปราชญ์ท้องถิ่น) บอกว่าซากวัดที่อยู่ใต้กว๊านพะเยา มีประมาณ 20 วัด เช่น วัดติโลกอาราม และวัดโลกดิลกสังฆาราม ซึ่งเป็นวัดสำคัญ ปรากฏชื่อในศิลาจารึก” สุจิตต์เล่าพร้อมโชว์แผนที่และภาพเก่าล้ำค่าบอกความเป็นมาของกว๊านและชุมชนโดยรอบ

ครบครัน เต็มอารมณ์ ทั้งความรู้ ประวัติศาสตร์ และความทรงจำล้ำค่าที่ขรรค์ชัย-สุจิตต์ไม่เคยลืมเลือน

 

ขรรค์ชัยแนะ สุจิตต์แซะ ท้องถิ่นว่าไง ?


ไม่เพียง “เรื่องเก่าๆ” ที่อดีต 2 นักข่าว นัก นสพ. อย่าง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ มาร่วมกันรำลึกริมกว๊านพะเยา เพราะทั้งคู่ยืนอยู่กับปัจจุบัน พร้อมมองถึงอนาคตที่ลูก-หลาน-เหลน-ลื่อ-ลืบ-ลืด จะต้องอยู่อาศัยสืบเชื้อสายหว้านเครือเต็มในแผ่นดินนี้

ในวันนี้ เมื่อขรรค์ชัยและสุจิตต์กลับไปเยี่ยมเยือนเมืองพะเยาอีกครั้ง มองเห็นถึงจุดขายการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรม อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “กว๊านพะเยา”

ทว่าผู้เกี่ยวข้องท่องเที่ยวพะเยา ดูเหมือนจะเน้นขายธรรมชาติของกว๊านพะเยา กับความศักดิ์สิทธิ์วัดร้างใต้น้ำ โดยมองข้ามข้อมูลความรู้อื่นๆ โดยเฉพาะชุมชนโบราณขนาดใหญ่กับวัดวาอารามนับสิบวัดอยู่ใต้กว๊านพะเยา และประวัติกว๊านพะเยาซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของเมืองพะเยาอย่างแท้จริง

“เรายังมีข้อบกพร่องในการท่องเที่ยงเมืองรอง หรือการท่องเที่ยวท้องถิ่น ทั้งกว๊านพะเยาไปดูได้เลยริมกว๊าน ทำสวยสดงดงามมาก ถนนหนทางอย่างดี แต่ไม่มีป้ายบอกประวัติ มีแต่คาถาพญานาค ผมไม่เข้าใจว่าความรู้จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ท้องถิ่นหรือเทศบาลควรทำหน้าที่นี้ ริมกว๊านควรมีป้ายบอกประวัติความเป็นมาโดยใช้ภาษาง่ายๆ มีแผนผังให้เห็น”

คือข้อคิดจากอดีตสองกุมารสยามผู้ผูกพันกับเมืองพะเยามาอย่างยาวนาน และลึกซึ้ง.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image