อาศรมมิวสิก : Concerto Budapest Symphony Orchestra เรื่องของดนตรีพรรณนาและดนตรีบริสุทธิ์ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ถ้าจะว่าไปแล้วสุนทรีย์แห่งการฟังบทเพลงคลาสสิกจากการบรรเลงโดยวงซิมโฟนีออเคสตรานั้นมีความซับซ้อนย้อนแย้งกันในตัวเองอย่างน่าขันอยู่ทีเดียว วงออเคสตราที่ดีควรมีแนวทางการบรรเลงหรือมี “เสียงในอุดมคติ”อย่างไร? ควรมีแบบเดียวหรือสามารถมีได้หลายแบบ และถ้ามีได้หลายแบบก็เป็นไปได้ที่แต่ละแบบจะมีลักษณะความงามที่ไม่เหมือนกันเลย สิ่งที่น่าขบคิดพิจารณาก็คือ บ่อยครั้งเราจะพบความจริงที่ว่า วงออเคสตราชั้นนำหรือแม้แต่นักเปียโน, นักไวโอลินตลอดไปจนถึงนักร้องอุปรากรที่โด่งดังเป็นตำนานในอดีตระดับโลกนั้น ศิลปินเหล่านั้นหลายต่อหลายรายมิได้ครอบครองน้ำเสียงที่ไพเราะ, งดงาม, สะอาดหมดจดเป็นพื้นฐาน แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่แฟนๆ หรือวงการดนตรียกย่องยอมรับให้ท่านเหล่านั้นกลายเป็นตำนานที่จารึกอยู่ในยุคสมัยได้ ทั้งๆ ที่มิได้มีน้ำเสียงที่งดงามไพเราะ เป็นสมบัติพื้นฐานติดตัว ในกรณีนี้ผู้เขียนจึงคิดว่า “บุคลิกภาพอันเป็นพิเศษ”(แบบที่ฝรั่งเรียกกันว่า “Charisma”) นั่นเองที่ทำให้ท่านเหล่านั้นสามารถจารึกความทรงจำให้กับโลกดนตรีได้

การแสดงคอนเสิร์ตของวง “คอนแชร์โตบูดาเพสท์ ซิมโฟนีออเคสตรา”(Concerto Budapest Symphony Orchestra) จากประเทศฮังการี ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “อันเดรส เคลเลอร์”( Andrs Keller) ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2562 ในงาน “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21” โดยในครั้งนี้มีประเด็นที่น่าเรียนรู้และอภิปรายถึงเป็นอย่างยิ่งในเรื่องสุนทรีย์แห่งการฟังการบรรเลงของวงออเคสตราหลายประการทีเดียว

น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งที่การบรรเลงของพวกเขาในครึ่งแรกและในครึ่งหลังทำให้เราต้องตัดสินประเมินวงดนตรีวงนี้แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง (ทั้งๆ ที่เป็นวงดนตรีเดียวกันและบรรเลงในคอนเสิร์ตเดียวกัน) โดยการบรรเลงในครึ่งแรก พวกเขาทำได้แค่ให้เราต้องพึมพำอยู่ในลำคอว่า “อื้ม…..ก็ไม่เลวนี่” (คำว่า “ไม่เลว” และ “Not Bad” ในภาษาอังกฤษช่างให้ความหมายได้อย่างพ้องตรงกันเหลือเกิน) เครื่องดนตรีทุกหมวดหมู่บรรเลงกันได้อย่างเรียบร้อยไม่ผิดพลาด น้ำเสียงที่ผสานกันได้แบบดีพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับเรียบเนียนสนิทแบบวงออเคสตราในอเมริกา หรือวงออเคสตราในยุคใหม่ และคงจะไม่ผิดนักที่เราอาจจะเรียกการบรรเลงของพวกเขาในครึ่งแรกว่าเป็นไปในแบบ “ยุโรปตะวันออกเก่า” ที่มิได้มุ่งอวดความงดงามทางเสียงเป็นหลัก

ยิ่งเปิดตัวในครึ่งแรกด้วยบทเพลงในลักษณะ “ดนตรีพรรณนา” (Program Music) ที่บรรยายเรื่องราวเบื้องหลังด้วยแล้ว ก็ยิ่งสร้างความอึดอัดคลางแคลงใจบางประการในระดับการตีความของวาทยกรเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

บทเพลงแรกคือ “Les Prelude” ซึ่งเป็นบทเพลงแบบซิมโฟนิกโพเอ็ม (Symphonic Poem=ซิมโฟนีเล่าเรื่องในเชิงบทกวี) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของ “อัลฟอนส์ เดอ ลามาร์ทีน” (Alphonse de Lamartine) กวีชาวฝรั่งเศสที่วิพากษ์ถึงชีวิตและโชคชะตาของมนุษย์ นับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ว่า อันเดรส เคลเลอร์ วาทยกรอำนวยเพลงเสมือนว่า เขาไม่เชื่อเรื่องความหมายที่สอง (หรือความหมายระหว่างบรรทัด) ในทางดนตรี สังเกตได้ว่าเขาควบคุมการบรรเลงเพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจนของตัวโน้ตตามที่เขียนไว้ในสกอร์ (Score) โดยไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะสร้างความรู้สึกในเชิงละคร (Drama) ในกระแสเสียงดนตรีของเขา แม้กลุ่มเครื่องดนตรีต่างๆ ก็ฟังดูว่าพร้อมที่จะสร้าง, ระบายสีสัน “ความหมายรอง” ให้ชัดเจนขึ้น โดยภาพรวมแล้วบทเพลงนี้จึงฟังดูตรงไป-ตรงมาตามอักขระตัวโน้ต และลักษณะความยืดหยุ่นในบทเพลง (Rubato) ที่มีอยู่มากมายในบทเพลงนี้จึงถูกตัดทิ้งไปไม่น้อยเลย ผู้เขียนคิดว่าลักษณะความยืดหยุ่นในบทเพลงนี้แหละ ที่เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการดึงชีพจรดนตรีให้ช้าลง และสามารถสร้างมิติเชิงปรัชญา, ความคิดอันเป็นความหมายที่สองให้แสดงตัวตนของมันออกมาในเสียงดนตรีได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

อาจพอสรุปได้ว่า อันเดรส เคลเลอร์ น่าจะเป็นวาทยกรในกลุ่ม “วัตถุวิสัย” (Objective) ที่ชัดเจน ซึ่งมีแนวคิดที่ไม่เชื่อถือศรัทธาในความหมายรองทางดนตรี ซึ่งเป็นแบบวาทยกรในตำนานอย่าง “จอร์จ แซล” (George Szell) หรือ “อาร์ทูโร ทอสกานินิ” (Arturo Toscanini) ซึ่งทอสกานินิเคยกล่าวถึงซิมโฟนีหมายเลข 3 (Eroica) ของเบโธเฟนไว้อย่างชัดเจนในวิธีคิดทางดนตรีของเขาว่า “ผมไม่เห็นจะมีวีรบุรุษอะไรในบทเพลงเลย ผมเห็นแต่ Allegro con brio (บรรเลงด้วยจังหวะเร็วและห้าวหาญ)”

บทเพลงซิมโฟนิกแฟนตาซี “ฟรันเชสกา ดา ริมินิ” (Francesca da Rimini) ของไชคอฟสกี (P.Tchaikovsky) ที่เลือกมาบรรเลงเป็นเพลงที่ 2 ก็สะท้อนวิธีคิดทางดนตรีแบบทอสกานินิได้คล้ายกันอย่างชัดเจน อันเดรส เคลเลอร์ อาจกล่าวในใจในแบบเดียวกันว่า “ผมไม่เห็นภาพนรกภูมิใดๆ เลย ผมเห็นแต่ “Andante lugubre” (ช้าและเต็มไปด้วยความโศกเศร้าหม่นหมอง) เพียงแค่โน้ต 3 พยางค์ (ยาว-สั้น-ยาว) ที่แสดงถึงป้ายใหญ่หน้าทางเข้านรกภูมิในส่วนนำ (Introduction) ก็มีเพียงแค่ “เสียง” แต่ไม่สามารถสื่อ “ภาพลักษณ์” ใดๆ นอกเหนือไปจากเสียงได้เลย ใครที่จะฟังบทเพลงนี้แล้วได้อ่านเรื่องราวย่อๆ คร่าวๆ ของ ฟรันเชสกา แห่งแคว้นริมินิ สตรีผู้อาภัพรักและโชคร้ายที่ต้องไปรับโทษในขุมนรกของผู้กระทำผิดล่วงประเวณีแล้ว เมื่อได้ฟังบทเพลงนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสะเทือนใจอย่างรุนแรง ไชคอฟสกีใช้ศิลปะ, สำนวนภาษาทางดนตรีถ่ายทอดพรรณนา เรื่องราวของเธอได้อย่างน่าเศร้าและน่าเห็นอกเห็นใจเธอเป็นอย่างยิ่ง แม้จะต้องตกนรกทนทุกข์ทรมานจากการ
กระทำผิดประเวณีในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็มีเรื่องราว, มีเบื้องหลังของความจริงแห่งชีวิตอีกด้านหนึ่งที่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ซึ่งชักจูงชะตาชีวิตของเธอไปสู่การกระทำผิดร้ายแรง (ตามกฎศีลธรรมของโลก) ในที่สุด

แนวทำนองที่จัดว่าเป็นสุดยอดของบทเพลงนี้ก็คือแนวทำนองแห่งคำให้การของฟรันเชสกา ที่เต็มไปด้วยความไพเราะ, โศกเศร้า, วิงวอน แต่ก็กลับไม่ได้รับการขับเน้นด้วยวิธีการทางวาทศิลป์แห่งดนตรีใดๆ ทั้งสิ้น ขาดความรู้สึกทางการแสดงออกทางอารมณ์ (Drama) ในระดับลึกซึ้ง ขาดเสียงร้องไห้, ขาดเสียงสะอื้นไห้ของฟรันเชสกา (ทั้งๆ ที่ไชคอฟสกีเขียนตัวบทดนตรีด้วยสำนวนภาษาดนตรีอันน่าสะเทือนใจอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับการขับเน้นใดๆ จากการตีความ)

บทสรุปในการแสดงครึ่งแรกจึงอาจจะออกมาตรงที่ว่า พวกเขาเป็นวงดนตรีแบบยุโรปตะวันออกเก่าที่ยังมีบุคลิกภาพซึ่งออกไปในทางเย็นชา เก็บอารมณ์ความรู้สึก ไม่นิยมการแสดงออกทางความรู้สึกแบบเปิดเผยจากก้นบึ้งแห่งหัวใจ (ในแบบคนในโลกเสรีนิยม)

บุคลิกภาพและแนวทางการบรรเลงในเชิงอิงวัตถุวิสัยของวงดนตรีวงนี้ ที่ดูจะกลายเป็นข้อด้อย ที่ชวนวิพากษ์วิจารณ์ ในแนวทางการตีความดุริยางคนิพนธ์โรแมนติกเต็มตัวในครึ่งแรก กลับกลายเป็นจุดโดดเด่นในการบรรเลงในครึ่งหลังแบบตรงกันข้ามสุดขั้ว พวกเขาเลือกบทเพลงคอนแชร์โตสำหรับวงออเคสตรา (Concerto for Orchestra) ของ “เบลา บาร์ท็อค” (Bela Bartok) ศิลปินแห่งชาติฮังการีคนสำคัญระดับโลก แห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งบุคลิกภาพในเชิงเย็นชา, ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึก แต่มุ่งรับใช้ดนตรีตามความถูกต้องของอักขระตัวโน้ตนี้ สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์แบบกับบทเพลงอวดวงออเคสตราบทเพลงนี้เป็นอย่างยิ่ง บาร์ท็อคเขียนบทเพลงนี้ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีก่อนถึงแก่กรรม นี่คือผลงานในแนวทาง “คลาสสิกใหม่” (Neo Classic)แห่งศตวรรษที่ 20 เป็นดนตรีบริสุทธิ์ (Absolute Music) ที่เขียนขึ้นโดยมิได้อาศัยแรงบันดาลใจจากศิลปะแขนงอื่นๆ แบบเพลงในครึ่งแรก ประพันธ์ขึ้นเพื่ออวดสีสันทางดนตรี, เทคนิคการบรรเลงขั้นสูงของวงออเคสตราในช่วงเวลาที่เครื่องมือทางดนตรีชนิดนี้ได้พัฒนาตัวมันเองจนถึงขีดสุด

Concerto Budapest Symphony Orchestra ประกาศศักดิ์ศรีตนเอง, ศักดิ์ศรีของเบลา บาร์ท็อค และศักดิ์ศรีของศิลปะดนตรีสำนักฮังการีในบทเพลงนี้ได้อย่างงดงาม และควรค่าแก่การสรรเสริญเป็นที่สุด พวกเขาตอบสนองต่อความยาก, เทคนิคในสกอร์ดนตรีอันเป็นเลิศฉบับนี้ได้ในขั้น “สมบูรณ์แบบ” จนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่เรากำลังฟังการบรรเลงสดๆ อยู่หรือ? สีสันทางเสียงที่พวกเขาสังเคราะห์ออกมาจากเครื่องดนตรีเต็มไปด้วยความเฉิดฉาดหรูหรา และหลากหลาย (ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการบรรเลงในครึ่งแรก) ช่วงท่อนนำ (Introduction) ในท่อนแรกที่ให้เสียงมืดมน, หลอกหลอนราวกับปีศาจ ก่อนที่จะเข้าสู่การนำเสนอแนวทำนองหลัก (Exposition) ที่มีการใช้เทคนิคอันสุดคลาสสิกคือ “หลายเสียง-หลายแนว” (Contrapuntal) ซึ่งถูกต้องแม่นยำ จนสามารถแสดงมิติชั้น (Layer)ของเสียงได้เป็นตัวเป็นตน

ท่อนที่ 2 ที่บาร์ท็อคใส่คำบรรยายสั้นๆ ไว้ว่า “Game of Pairs” วงดนตรีวงนี้สามารถแสดงบุคลิกภาพชวนหัว, ขบขันในแบบสำนวนดนตรี “คลาสสิกใหม่” แห่งศตวรรษที่ 20 ได้แจ่มชัด มาถึงท่อนที่ 5 (ท่อนสุดท้าย) กำลังแรงส่งสะสมทางดนตรี (Momentum) ที่ทบทวีคูณมาจาก 4 ท่อนแรกได้ระเบิดพลังดนตรีของมัน สมกับเป็นการทิ้งท้ายร่ำลา (มันเป็นดนตรีที่ร่ำลาและเผาไหม้ชีวิตของผู้ประพันธ์ไปด้วยเช่นกัน!) กลุ่มเครื่องสายที่บรรเลงวิ่งไล่รัวนิ้วบนตัวซอ ราวกับการจุดประกายไฟให้ลุกโชติช่วงขึ้น ช่วงท่อนหาง (Coda) ที่มีการดึง-ผ่อน, ยืด-หดสลับกันไป-มา จนผู้ชมแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้ บทเพลงอวดทั้งความสามารถของวงในภาพรวมและความสามารถเฉพาะตัวนักดนตรีได้ครบถ้วนประจักษ์ชัด

นี่คือการเผยศักยภาพของบทเพลงในแบบที่เรียกได้ว่าเป็น การบรรเลงยอดเยี่ยมระดับ 1 ใน 5 (หรือแม้แต่ 1 ใน 3) แห่งเมืองไทยในปี พ.ศ.2562 ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อใดจะมีวงออเคสตราอื่นใดที่จะสามารถสร้างมาตรฐานการบรรเลงได้สมบูรณ์แบบได้เช่นนี้อีก (ราวกับมีการตัด-ต่อในห้องบันทึกเสียง) เป็นการบรรเลงที่เหนือชั้นกว่าการบันทึกเสียงในระดับตำนานทั้งหลาย เหนือชั้นกว่าการตีความของวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่บางคนที่เคยเป็นลูกศิษย์ของเบลา บาร์ท็อคด้วยซ้ำไป วงดนตรีมอบบทเพลงแถม (Encore) ด้วยบทโหมโรงจากอุปรากรเรื่อง “Ruslan and Ludmila” ของ มิคาอิล กลิงคา (M.Glinka) ตอกย้ำความสามารถของกลุ่มเครื่องสายวงนี้ในวินัย, ความพร้อมเพรียง, แม่นยำ อย่างมหัศจรรย์ ขอชมเชยกันแบบไม่ต้องยั้งปากว่าการบรรเลงในครึ่งหลังนี้ พวกเขาได้ประกาศศักดิ์ศรีว่าพวกเขาคือวงออเคสตราขั้นเทพ (Virtuoso) วงหนึ่งของโลกอย่างแท้จริง มันทำให้อดนึกย้อนไปในอดีตไม่ได้ถึงความแม่นยำ, พร้อมเพรียงจากวงออเคสตราชั้นนำของรัสเซีย 2 วง เมื่อ 30 ปีก่อนที่เคยมาประกาศศักดิ์ศรีความยิ่งใหญ่ไปแล้วบนเวทีแห่งเดียวกันนี้

นั่นคือ USSR State Symphony Orchestra ภายใต้การอำนวยเพลงโดย เยฟเกนี สเว็ตลานอฟ (Evgeny Svetlanov) และ Moscow State Symphony Orchestra ภายใต้การอำนวยเพลงโดย พาเวล โคแกน (Pavel Kogan)

นี่ถ้าหากพวกเราได้ชมการแสดงของพวกเขาเพียงครึ่งแรก แล้วใจร้อนรีบเดินทางกลับบ้านก่อน ก็นับว่าเป็นความเสียหายอย่างยิ่งจากความด่วนได้ใจเร็ว มาตรฐานการบรรเลงที่นอกจากแตกต่างกันราวกับเป็นคนละวงแล้ว ยังมีความย้อนแย้งกันอย่างน่าฉุกคิดอีกด้วย กล่าวคือ ในครึ่งแรกที่เป็นบทเพลงดนตรีพรรณนา พวกเขาและวาทยกรกลับค้นหาความหมายแฝง หรือความหมายรองได้อย่างไม่ชัดเจน, สีสันทางดนตรีที่ฟังดูทึมๆ ในครึ่งแรกทำให้เราเกือบจะปรามาส, ประเมินความสามารถของพวกเขาต่ำเกินไป แต่ทว่าในครึ่งหลังซึ่งเป็นบทเพลงที่มิได้มีความหมายรองใดๆ หรือแรงบันดาลใจจากแหล่งศิลปะภายนอกแขนงอื่นๆ พวกเขากลับสามารถสร้างบุคลิกภาพ, สีสันอันเป็นพิเศษทางดนตรีออกมาได้อย่างหลากหลาย, เจิดจ้าเป็นที่ประจักษ์ เรียกได้ว่าแทบจะสร้างภาพลักษณ์ (Image), ตัวตน หรือความหมายรองอะไรบางอย่างออกมาได้ทั้งๆ ที่สกอร์ดนตรีของบาร์ท็อค มิได้มีวัตถุประสงค์เช่นนั้น

เมื่อรวมกับข้อสรุปของความเป็นเลิศในทางความสามารถเฉพาะตัวของนักดนตรีในวงนี้ ในครึ่งหลังที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็น “Virtuoso Orchestra” แล้ว ตรรกะที่บวกลบจากเหตุผล, ข้อสังเกตของการบรรเลงทั้งหมดจึงอาจจะต้องมาจบตรงที่ว่า “อันเดรส เคลเลอร์” น่าจะไม่ใช่วาทยกรที่ช่ำชอง, เชี่ยวชาญและศรัทธาในดนตรีพรรณนาเล่าเรื่อง

และนี่เองจึงเป็นคำตอบและเหตุผลที่ว่าเหตุใดวงออเคสตรา (ที่ดีอยู่แล้ว) จึงไม่ควรบรรเลงอยู่ภายใต้วาทยกรคนเดียวกันในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image