จากกรุงเทพฯถึงดานัง บันทึกเดินทาง’โครงการซีส์’ เมื่อห้องเรียนที่ท่าพระจันทร์ไม่พอ

“ห้องเรียนที่ท่าพระจันทร์ไม่พอ”

คือคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อหน้านักศึกษาชั้นปีที่ 1 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือซีส์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในค่ำคืนสุดท้ายของการลงพื้นที่ภาคสนามในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา อศ.210 สุวรรณภูมิและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ ซึ่งมุ่งหวังให้ทำความเข้าใจเพื่อนบ้านในมิติต่างๆ

เพียง 1 ประโยคสั้นๆ บ่งบอกแนวคิดสำคัญที่มีต่อการเรียนการสอนของโครงการซีส์ ซึ่งผลักดันให้นักศึกษาออกไปเห็นโลกกว้างเพื่อเรียนรู้เรื่องราวมากมายนอกเหนือจากการเปิดตำราอ่านในห้องแอร์ โดยเดินทางมาครบ 20 ปีของการก่อตั้ง นับแต่ พ.ศ.2542

“20 ปีมาแล้วที่เราตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาซึ่งเรามักจะโม้เรื่อยว่าเป็นโครงการแรกในประเทศไทย (หัวเราะ) แต่ถ้าไปดูประเทศรอบๆ บ้านเรา เขามีมาก่อนทั้งนั้น อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ก็มีมาก่อนเรา ไม่ต้องไปพูดถึงอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น พวกคุณเป็นกำลังสำคัญมากๆ” อดีตอธิการธรรมศาสตร์ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ชื่อดังตั้งความหวังกับคนรุ่นใหม่ โดยเน้นย้ำ ?ความแน่น? เชิงวิชาการไม่ว่าเมื่อเรียนแล้วจะไปทำงานหรือศึกษาต่อปริญญาโท และปริญญาเอก

Advertisement

“นักศึกษาต้องแน่นทางวิชาการมาก ซึ่งจะทำให้ต่อยอดได้ ไม่ว่าจะสอบเข้าทำงานที่ไหน หรือจะเรียนต่อโท-เอก ผมจึงย้ำตลอดเวลา”

 

จากท่าพระจันทร์ ถึงด่าน ‘สะหวันนะเขต’ คณาจารย์ร่วมอธิบายสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมเพื่อนบ้านตั้งแต่วันแรกของการเดินทาง


2 ทศวรรษโครงการซีส์ มีบัณฑิตจบการศึกษาแล้ว 16 รุ่น รวมกว่า 1,000 คน สร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านสังคมวัฒนธรรมผ่านการเรียนรู้หลากหลายด้านในเวลาเดียวกัน ทั้งประวัติศาสตร์ยุคโบราณและร่วมสมัย เศรษฐกิจ สังคม ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งความโดดเด่น คือ “ภาษา” ซึ่งมีวิชาบังคับให้เรียนภาษาอาเซียน 1 ภาษาตามแต่นักศึกษาเลือก อาทิ ภาษาเวียดนาม, บาฮาซามาเลเซีย, บาฮาซาอินโดนีเซีย, ภาษาพม่า, ภาษาเขมร รวมถึงภาษาโปรตุเกส

Advertisement

โดยในทุกๆ ปีจะมีการพานักศึกษาลงพื้นที่ยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนสลับสับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม

สำหรับครั้งนี้เลือกประเทศเวียดนามโดยเดินทางด้วยรถยนต์มาทางจังหวัดมุกดาหาร เข้าสู่แขวงสะหวันนะเขต ใช้เส้นทางหมายเลข 9 ก่อนเข้าสู่เวียดนามกลาง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์

“เราอยากให้นักศึกษาเห็นโลกกว้างกว่าในห้องเรียน จึงพามาลงพื้นที่ในประเทศรอบบ้านให้ได้ศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 1 ปีนี้มาเวียดนามโดยมาทางมุกดาหาร ผ่านอีสานมาทั้งภาค ข้ามแม่น้ำโขงเข้าสะหวันนะเขตซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ มีเหมืองทอง และเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียว จากนั้นเข้าเวียดนามกลางซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจก่อนตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส มีเมืองหลวงคือ เว้ โดยราชวงศ์ของเวียดนามเคยเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชกาลที่ 1 เพื่อลี้ภัยการเมือง” ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

แม่น้ำหอม สายน้ำสำคัญในวิถีชีวิตผู้คน ไหลผ่านเมืองเว้ เวียดนาม

มองไกลในโลกวิชาการ ค้านวาทกรรม ‘เด็กสมัยนี้’

“เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เดินทางข้ามประเทศด้วยรถยนต์ ปกติเหินฟ้าอย่างเดียว ได้เห็นสภาพแวดล้อมของประเทศรอบข้าง รู้สึกทรหดมาก” นักศึกษาหนุ่มสวมเสื้อสีแดงลายค้อนเคียว ที่เพิ่งจบชั้นมัธยมปลายเข้าสู่รั้วแม่โดม สารภาพต่อหน้าเพื่อนๆ และคณาจารย์ที่ร่วมเดินทาง โดยตลอดทริปไม่ใช่เพียงการเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ หากแต่นักศึกษาทุกคนยังต้อง “สอบปากเปล่า” ตาม “คีย์เวิร์ด” หรือคำสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ตนเองได้รับด้วยการบอกเล่าเรื่องราวสังเขปที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นๆ โดยมีอาจารย์และวิทยากรเป็น “คอมเมนเตเตอร์” ชี้จุดอ่อน กระตุ้นจุดแข็ง พร้อมให้คะแนนตามคุณภาพ

ไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับ “เด็กปี 1”

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมทริป บอกว่า ทั้งแปลกใจและประทับใจที่นักศึกษาปรับตัวเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้านได้อย่างรวดเร็ว ตั้งใจ “ทำการบ้าน” เพื่อเตรียมตัวสอบเป็นอย่างดี บ้างก็สอบในสถานที่สำคัญ บ้างก็สอบบนรถระหว่างเดินทาง เนื่องจากได้รับคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง เช่น “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว” และ “เส้นทางหมายเลข 9” อันเชื่อมโยงภูมิภาคของเราให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วยการเดินทางสะดวกสบาย

“นักศึกษาได้รับการบ้านให้ต้องมาพูดบนรถ ผมยังแปลกใจว่าจะทำกันไหวเหรอ มานึกว่าถ้าเป็นรุ่นผม ขึ้นรถมาอย่างมากก็ตีกลองฉิ่งฉับเท่านั้น นึกไม่ออกว่าจะทำแบบนี้ได้อย่างไร ประทับใจมาก เขาสามารถเรียนรู้เข้ากับพื้นที่ต่างๆ รับข้อมูลได้อย่างดี” อดีตคณบดีศิลปศาตร์กล่าวถึง “เด็กสมัยนี้” อย่างมีความหวัง แตกต่างจากวาทกรรมที่มักคุ้นเคยกับคำดังกล่าวในแง่ลบมาทุกทุกสมัย ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ดูเหมือนรุ่นตัวเองดีกว่าคนรุ่นหลัง ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น

โครงการซีส์มุ่งหวังฟูมฟักความหมายแก่นักศึกษาเพื่อการสร้างสรรค์ ‘’’นโยบายเพื่อนบ้านอาเซียนที่ดี”


อย่างไรก็ตาม การมองไกลไปข้างหน้า ไม่อาจทอดทิ้ง “ประวัติศาสตร์” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ แนะนำเล่ม “คลาสสิก” ที่นักศึกษาควรอ่าน อย่าง “เวียดนาม : ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร” โดย เหวียนคักเวียน คอมมิวนิสต์ตัวยง แปลโดย ศาสตราจารย์เพ็ชรี สุมิตร ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นหนังสือที่ชี้ให้เห็นมุมมองจาก “คนใน” โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม จึงสามารถพบเห็นเล่มเดียวกันนี้วางขายในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของเวียดนามในสำนวนภาษาต่างๆ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส

ประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม ‘ร่วมสมัย’

ศึกษา ‘เวียด’ มองไทยหลากมิติ

การเดินทางครั้งนี้ นับว่าครบถ้วนทั้งแง่มุมทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมร่วมสมัย

“ถ้าดูจากวิวาทะในสังคมการเมืองหลายอย่าง ถ้ามาดูเวียดนามจะเห็นว่าไทยน่าห่วงมาก เวียดนามค่อนข้างพัฒนาเป็นระบบ เป็นเรื่องเป็นราว ในขณะที่กรุงสยามกำลังหาทางถอย” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ มองเวียดนามในวันนี้แล้วหันกลับมามองไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน

ในขณะที่ช่วงเช้าวันหนึ่ง ซึ่งมีการนักศึกษาเข้าเยี่ยมชมพระราชวังเมืองเว้ ฐานที่มั่นราชวงศ์เหวียน ผศ.ดร.พิเชฐ สายพันธ์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชวน “ถอดบทเรียน” จากการศึกษาประวัติศาสตร์

การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์เหวียน หรือที่คนไทยมักออกเสียงว่าเหงียน นับเป็นบทเรียนที่ทำให้ช่วยทำความเข้าใจในการเผชิญเหตุการณ์สำคัญทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก ราชสำนักเวียดนามสัมพันธ์กับราชสำนักสยามตั้งแต่ก่อตั้งราชวงศ์เหวียนแต่มักถูกมองข้ามไปในความสัมพันธ์ในอดีตที่เรามีต่อกัน

“ประเด็นแรกคือสยามในยุคต้นรัตนโกสินทร์กับเวียดนามในยุคนั้นมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกมากๆ ซึ่งเราไม่ค่อยพูดถึง ส่วนประเด็นที่ 2 คือราชวงศ์เหวียนต้องเผชิญอะไร เขาเผชิญปัญหาระดับโลกเช่นเดียวกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็มีคำอธิบายแบบหนึ่ง แต่กรณีราชวงศ์เหวียน บทเรียนที่สำคัญคือการเผชิญกับระบอบอาณานิคมที่มาจากฝรั่งเศสซึ่งในที่สุดไม่สามารถต้านทานได้ นี่คือเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ เวียดนามเป็นเป้าหมายสำคัญที่ฝรั่งเศสรุกคืบเข้ามาเป็นจุดแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงยากที่จะดิ้นหลุด

ลงพื้นที่ ‘ปราสาทหมีเซิน’ เรียนรู้อารยธรรม ‘จาม’


“ในที่สุดดินแดนของรัฐจารีตเวียดนามก็ถือเป็นศูนย์กลางของสหพันธรัฐอินโดจีนที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ‘อินโดจีนของฝรั่งเศส’ ในขณะสยามนั้น การที่เราหลุดพ้นนั่นเกิดขึ้นจากอะไร ก็นโยบายของฝรั่งเศสอยู่ที่เวียดนามเป็นหลัก และเราอยู่ตรงกลางระหว่างฝรั่งเศสที่อยู่ฝั่งตะวันออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนฝั่งตะวันตกของเราคืออังกฤษ ทำให้ต้องมองอีกแง่มุมหนึ่งว่านโยบายของเข้าอาณานิคมที่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับจุดที่เราอยู่ ทำให้เราสามารถเผชิญ หรือรองรับสถานการณ์นี้ได้

“สิ่งที่ต้องรู้คือบทบาทความสัมพันธ์ทั้งในระดับภูมิภาคที่เวียดนามเผชิญ มาจนถึงบทบาทในระดับโลก เป็บบทเรียนที่สำคัญในการเผชิญความไม่แน่นอนของระบบการเมือง การปกครองทั้งในภูมิภาคเอง รวมถึงอิทธิพลที่มากับโลกในช่วงเวลานั้น สุดท้ายราชสำนักหรือราชวงศ์เวียดนามถึงจุดล่มสลาย” ผศ.ดร.พิเชฐกล่าว

 

ผศ.ดร. พิเชษฐ สายพันธ์ บรรยายที่พระธาตุอิงฮัง สปป.ลาว


วันนี้ของเวียดนาม พรุ่งนี้ของอาเซียน

เขยิบมาในความเป็นไปในวันนี้ ที่เวียดนามมาแรงมากทั้งการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ โดยมี “กาแฟ” เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

“การส่งออกกาแฟเวียดนามอยู่ในอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล แน่นอนว่าในเอเชีย เขาคืออันดับ 1 ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อมา กาแฟเวียดนามโด่งดังขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ใช่เพราะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมหรือสินค่าส่งออกสำคัญเท่านั้น แต่ยังโดดเด่นด้วยการเติบโตของการบริโภคกาแฟในเวียดนาม ซึ่งมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ในสมัยอาณานิคม โดยฝรั่งเศสสร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟให้ที่นี่ จึงมีคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวมาถึงปัจจุบัน

“การดื่มกาแฟ ไม่ใช่มานั่งดื่มเฉยๆ แน่นอนความอร่อยต้องยกนิ้ว ไม่อย่างนั้น ไม่ได้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ยังมีคุณค่าเชิงสังคม ระหว่างการรอกาแฟและดื่มกาแฟ คือการพบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุย ซึ่งคนเวียดนามคุยกันอย่างลึกซึ้ง คุยเรื่องชีวิต” ผศ.ดร.พิเชฐกล่าวกับนักศึกษาระหว่างเดินทางใน “ดานัง” เมืองท่าสำคัญของเวียดนามในวันนี้

โครงการซีส์ มุ่งหวังฟูมฟักความหมายแก่นักศึกษาเพื่อการสร้างสรรค์ ‘’’นโยบายเพื่อนบ้านอาเซียนที่ดี”


ก่อนที่จะยื่นไมโครโฟนให้ นาม เหงียนวัน ไกด์ท้องถิ่นที่พูดไทยคล่องปร๋อ เพราะเคยเข้ามาร่ำเรียนในไทยหลายปี กระทั่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่เปิดเผยความลึกซึ้งของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในเวียดนามเพิ่มเติมว่า คนเวียดนามไม่ได้ดื่มกาแฟเฉพาะช่วงเช้า แต่ช่วงเย็นก็ชวนกันไป “อ๋วงกาแฟ”

ซึ่งถ้าแปลตรงตัวคือ “ดื่มกาแฟ” ทว่า ถ้าพูดคำนี้อาจไม่ได้หมายถึงการดื่มกาแฟจริงๆ เสมอไปแต่หมายรวมถึงกิจกรรมการสังสรรค์อื่นๆ นับเป็นคำสแลงซึ่งสะท้อนความรุ่มรวยทางอารยธรรม บอกความหมายที่มีนัยยะทางสังคม

ไกด์หนุ่มอธิบายท่ามกลางเสียงแตรดังถี่เป็นปกติของเวียดนาม จึงได้โอกาสไขปมความเข้าใจที่อาจไม่ตรงกันระหว่างคนเวียดนามกับคนไทย นั่นคือการบีบแตรเสียงดังบ่อยครั้ง ซึ่งในวัฒนธรรมอื่นอาจมองในแง่ลบ ทว่า สำหรับคนเวียดนาม นั่นคือ การส่งสัญญาณอย่างมี “มารยาท” ไม่ใช่ความก้าวร้าวก่อกวนแต่อย่างใด

เป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เปิดมุมมอง กล่อมเกลาทัศนคติที่มีต่อเพื่อนบ้านของคนรุ่นใหม่ในวันนี้บนความมุ่งมั่นของโครงการซีส์ในวันที่ก้าวสู่ปีที่ 21 อย่างภาคภูมิ

บานาฮิลล์ แหล่งท่องเที่ยงวใหม่ในเมืองดานัง อีกหนึ่งก้าวของความเจริญในเวียดนาม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image