กว่า 195 นาทีสุดเข้มข้น เวทีคุย”โรดแมป 5G” ดันไทยก้าวนำอาเซียน

ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สำหรับงานสัมมนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” จัดโดยเครือมติชน เมื่อวันพุธที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา

งานนี้มีผู้สนใจล้นหลาม ทำเอาห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ รองรับจำนวนผู้ร่วมงานไม่ไหว จนต้องจัดพื้นที่เสริมหน้าห้องจัดงาน พร้อมนำโทรทัศน์ขนาดใหญ่ถ่ายทอดสดให้รับชม

วันนั้น เครือมติชนได้รับเกียรติจาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมคับคั่ง อาทิ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการดีอีเอส, “พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร” ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช., “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กรรมการ กสทช, “พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ” รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังมี “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, “วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู, “พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท, “มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย

Advertisement

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, “รีวิน เพทายบรรลือ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ การเงิน การลงทุน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคม, “เอเบล เติ่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด

มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น

“ฐากูร บุนปาน” เอ็มดีมติชน ขึ้นกล่าววัตถุประสงค์การจัดงานด้วยมองว่า ไทยกำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง กระทั่งมีผู้ประเมินว่าสังคมหรือประเทศไหนที่เดินช้า ไม่ใช่แค่เดินล้าหลัง แต่ตกขอบเวทีโลก ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องเทคโนโลยี 5จี ฉะนั้น หากไม่อยากตกเวทีโลก กลายเป็นประเทศที่ตามคนอื่นไม่ทันก็ต้องถีบตัวเองขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าในเรื่อง 5จี ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยเจตนาดังกล่าว

Advertisement
ฐากูร บุนปาน

กล่าวคือ เพื่อให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้าอย่างทั่วถึง โดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5จี อย่างทัดเทียม เป็นประโยชน์ให้สังคมและส่วนรวม ซึ่งโครงการใหญ่อย่าง 5จี จะได้ขึ้นได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน

จากนั้น “พล.อ.สุกิจ” ขึ้นกล่าวพร้อมความมั่นใจว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการเปิดเวทีเพื่อหารือถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้แทนภาคธุรกิจ และภาคการลงทุน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และจุดยืนร่วมเดินหน้าประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และเพิ่มโอกาสในการใช้เทคโนโลยี 5จี สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร

ต่อด้วย “พล.อ.ประวิตร” กล่าวเปิดงานสัมมนาตอนหนึ่งว่า การได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็งระหว่างกระทรวงดีอีเอส กสทช. และภาคเอกชน ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจว่า 5จี จะเกิดขึ้นในปี 2563 ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ 5จี จะเป็นส่วนช่วยเชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทได้อย่างไร้พรมแดน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลผ่านทางไกล ซึ่งก็จะเท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติขึ้นมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อวางรากฐานต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5จี ในการมุ่งสู่การพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในทุกภาคส่วน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พล.อ.ประวิตรกล่าว

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ


“ห้วงวินาทีต่อจากนั้นเป็นปาฐกถาสำคัญของ รมว.ดีอีเอส และเลขาธิการ กสทช. ทั้งคู่ได้ให้ความเชื่อมั่น พร้อมฉายภาพโรดแมป 5จี ไทยได้อย่างชัดเจน”

เริ่มด้วยเจ้ากระทรวงดีอีเอสที่เชื่อมั่นว่า 5จี จะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2563 ตามนโยบายของนายกฯแน่นอน ทว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะสามารถทำให้เกิด 5จี โดยเร็ว ที่สำคัญคือ หากไทยยังไม่เข้าสู่ 5จี ภายในปีหน้าจะเกิดปัญหาใหญ่เรื่องการดำเนินธุรกิจและการขับเคลื่อนประเทศ

“คาดว่าจะเกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องเดินหน้าเต็มที่เพื่อให้ไทยไม่ตกขบวน 5จี” พุทธิพงษ์กล่าว

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ก่อนจะถึงคิวเลขาฯฐากรขึ้นกล่าว เขาบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ รมว.พุทธิพงษ์ให้นโยบายมาแล้วว่า 5จี ต้องเกิดขึ้นภายในปี 2563 ทั้งนี้ ก่อนที่ 5จี จะเกิดขึ้น กสทช.ได้รวบรวมอุปสรรค 4 ข้อที่ทำให้ 5จี ไม่เกิดในไทย

“1.ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป” กสทช.ได้ว่าจ้าง 4 สถาบันการศึกษาศึกษาราคาประมูล ผลระบุว่า ราคาเริ่มต้น หรือราคากลางคือคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ เฉลี่ยราคาใบละ 1,862 ล้านบาท ความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ เฉลี่ยราคาใบละ 300 ล้านบาท

“2.กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน 3.การใช้งาน 3จี และ 4จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพของระบบ และ “4.การทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ 5จี เกิดขึ้นในไทย”

“สำหรับกรอบเวลาทำงาน 5จี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน เสนอร่างประกาศต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน วันที่ 12 พฤศจิกายน ผ่านที่ประชุม กสทช. เพื่อนำร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 13 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม ซึ่งทุกคนสามารถเสนอความเห็นได้ หลังจากนั้นวันที่ 27 ธันวาคม ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 2 มกราคม 2563 ประกาศเชิญชวน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ประมูลคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตปลายเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าเปิดให้บริการภายในเดือนกรกฎาคม 2563” เลขาฯฐากรกล่าวเน้น

 

ฐากร ตัณฑสิทธิ์


“และต่อจากนี้ไปอีกกว่า 100 นาที วงเสวนาจากภาคเอกชนและฝ่ายนิติบัญญัติ ดำเนินรายการโดย “บัญชา ชุมชัยเวทย์” พิธีกรรายการและผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ก็เป็นไปอย่างเข้มข้น”

เริ่มด้วย “สมชัย” ซึ่งให้ความเห็นว่า 5จี ควรเกิดขึ้นในอีก 3 ปี หรือภายในปลายปี 2564 ควรจะเกิดขึ้นให้ถูกเวลา ถึงจะสามารถนำมาใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทุกรายได้เริ่มทดสอบ 5จี ไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด แต่จะมีปัญหาเพราะการผลักดัน 5จี ของไทยเพื่อเป็นผู้นำในอาเซียนขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจทั่วโลก แต่กระบวนการคิดและการประมูลคลื่นของ กสทช.ยังคิดในรูปแบบปกติ

“อยากเสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ที่กำลังจัดตั้งขึ้นว่า กรณีที่เอกชนประมูลคลื่น ตั้งใจลงทุน ควรแบ่งเงินในการประมูลกลับมาเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนขยายโครงข่าย ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบใหม่ แทนที่จะคิดว่าเงินที่ กสทช.ได้รับจากการประมูลต้องนำส่งกระทรวงการคลัง หากเกิดขึ้นได้ รัฐบาลอยากไปลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยากไปทำสมาร์ทซิตี้ ก็มีคนทำแน่นอน” สมชัยให้ข้อเสนอ

บรรยากาศในห้องอินฟินิตี้1-2

ด้าน “วิเชาวน์” โอเปอเรเตอร์อีกราย มองว่า นโยบายของรัฐบาลเรื่องการผลักดัน 5จี ที่ดำเนินการอยู่ถือว่าสุดยอด หลักเกณฑ์ประมูลดี แต่อาจมีการปั่นราคาอย่างรุนแรง ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานต้องดูแลแนวทางที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการปั่นราคาจนสูงเกินจริงจนกระทบกับผู้ร่วมประมูล เพราะที่ผ่านมาลงทุนไปแล้วหลักแสนล้านบาท ซึ่งทรูอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ และไม่ยอมแพ้แน่นอน

“พ.อ.เศรษฐพงค์” เอ่ยถึงภาคเอกชนต้องการให้ใช้คลื่นฟรีนั้น เชื่อว่าในอนาคตเป็นไปได้แน่นอน แต่ตอนนี้คงยาก เพราะต้องแก้ไขกฎหมาย

“คลื่นต้องเอาไปสร้างงานให้ประชาชน เอาเงินมาใช้ในเรื่องดิจิทัลจะดีกว่า” เจ้าตัวว่า

พิธีเปิดงานเสวนาโรดแมป 5จี

ขณะที่ประธานสมาคมแบงก์อย่าง “ปรีดี” ช่วยให้ความมั่นใจว่า ภาคการเงินธนาคาร พร้อมสนับสนุนการลงทุน 5จี และมีเงินเพียงพอที่จะเข้าไปสนับสนุนการลงทุนในช่วง 10 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 4-5 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หากนำ 5จี มาใช้คาดว่าจะเกิดผลต่อภาคการค้าและบริการการเงินกว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งจะทำให้การให้บริการทางการเงินสะดวกมากขึ้น เช่น การพูดคุยรูปแบบเสมือนจริงกับพนักงานสาขา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

ฟาก “สุพันธุ์” ประธานอุตสาหกรรม แนะนำการประมูล 5จี เป็น 2 ช่องทางคือ 1.กลุ่มที่ทำแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ควรต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และ 2.กลุ่มผู้ใช้ หรือยูสเซอร์ กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง มีค่าใช้จ่าย และจะกระทบภาคการศึกษาด้วย อนาคตการศึกษาจะเปลี่ยนแปลง เพราะมีเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกด้านภาษา สามารถสื่อสารได้หลายภาษา

“หากจะทดสอบรูปแบบการใช้ (ยูสเคส) อยากให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย เพราะไทยพร้อม สถานที่พร้อม ทั้งนี้ 5จี ยิ่งเกิดเร็ว ยิ่งได้เปรียบ แต่ต้องไม่ทำลายกันเอง เพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ และเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามีทุกอย่างจะตามมา อย่างพื้นที่ก็ต้องชัดเจนว่าจะลงพื้นที่ไหน ให้เป็นระบบอย่างแท้จริง เพราะจะช่วยพลิกโฉมในทุกด้าน” สุพันธุ์ย้ำ

ลงทะเบียนร่วมงานคับคั่ง

ก่อนจะปิดท้ายที่ “รีวิน” ผู้กล่าวชัดถ้อยชัดคำ “ไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5จี อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ กสทช.มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แต่ภาคเอกชนยังมีความกังวลเรื่องราคาประมูลคลื่นที่สูง แต่ทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายภาครัฐ”

เขาบอกว่า สิ่งสำคัญของการประมูลครั้งนี้จึงอยู่ที่รายละเอียดว่า รัฐบาลจะมีการอุดหนุนหรือช่วยเหลือโอเปอเรเตอร์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการพัฒนาในเขตอีอีซีเป็นเรื่องสำคัญ

“5จี ไม่ได้เป็นเรื่องของโอเปอเรเตอร์และภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่การประมูลครั้งนี้จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถนำคลื่นความถี่ไปใช้งานต่อ” รีวิวกล่าว

ช้าก่อน แม้เสวนาบนเวทีจะจบ ทว่า งานยังไม่จบ เพราะ “มาร์คุส” อีกหนึ่งโอเปอเรเตอร์ยังกล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า ดีแทคยืนยันจะมุ่งมั่นเรื่อง 5จี แน่นอน และอยากทราบว่า โอกาสที่จะได้ 5จี ของประเทศไทยมายังโอเปอเรเตอร์มีอะไรบ้าง ทั้งนี้ 5จี จะเกิดได้จริงในปี 2563 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตลาดและความต้องการใช้งาน และลูกค้าเต็มใจที่จะจ่าย

“ส่วนตัวมองว่าปีหน้าจะเป็นปีแห่งการทดลอง ตลอดจนการสร้างยูสเคส ซึ่งถ้าเกิด 5จี ในปี 2564 ก็ถือว่าไม่ช้า” มาร์คุสกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในงานสัมมนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” ที่เกิดขึ้นในเวลากว่า 195 นาที และจบลงแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image