คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Life Overtakes Me เด็กน้อยผู้ถอนตัวออกจากโลก

เป็นไปได้หรือที่มี “โรคนอนหลับ” เฉยๆ ไปแรมเดือนแรมปี ขณะที่ร่างกายยังคงทำงานปกติทุกอย่าง เพียงแต่เสมือนหนึ่งอยู่ในภาวะ “จำศีล” รอฟื้นคืนกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง

นี่ไม่ใช่พล็อตภาพยนตร์ไซไฟ หรือหนังวิทยาศาสตร์ล้ำยุค แต่คือเรื่องจริงของกลุ่มอาการโรคประเภทหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีเรื่อง “Life Overtakes Me” ที่จะพาไปรู้จักภาวะที่เรียกว่า “Resignition Syndrome” (รีซิกนิชั่น ซินโดรม) ที่ทางการแพทย์ให้นิยามว่าเป็นภาวะอาการ “ถอนตัวออกจากโลก” โดยผู้ป่วยจะมีอาการหยุดการตอบสนองทางร่างกาย และนอนหลับหมดสติเป็นเดือน หรือเป็นปี

สารคดี “Life Overtakes Me” พยายามมองหาสาเหตุของโรคและรายงานให้เห็นถึง “รูปแบบซ้ำๆ” ของกลุ่มอาการนี้ ซึ่งน่าพิศวงว่าแพทเทิร์นของโรคนี้จะเกิดกับเด็กอายุตั้งแต่ 7-19 ปี ที่มาจาก “ครอบครัวผู้อพยพ” ในประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน ไปจนถึงดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย ซีเรีย รวมทั้งเด็กที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย

ที่สำคัญจนเป็นปรากฏการณ์แปลก คือ ตรวจพบเจอโรคนี้เฉพาะในประเทศสวีเดนในช่วง 15-20 ปี มานี้เท่านั้น (ปัจจุบันเพิ่งมีรายงานพบอาการลักษณะนี้กับเด็กๆ ในศูนย์กักกันของผู้อพยพในออสเตรเลีย)

Advertisement

สารคดีเล่าเรื่องด้วยการติดตามดู “ครอบครัวผู้อพยพลี้ภัย” สามครอบครัว ที่มีลูกป่วยด้วยอาการรีซิกนิชั่น ซินโดรมนี้ โดยแต่ละครอบครัวจะบอกเล่าประสบการณ์เลวร้ายที่ผลักดันให้ต้องตัดสินใจลี้ภัยมาอยู่ที่สวีเดน ซึ่งเด็กๆ ในครอบครัวเหล่านี้ต่างต้องเผชิญแรงกดดันจาก “ความหวาดกลัวในอดีต” และความวิตกกังวล ที่เป็น “ความหวาดกลัวต่ออนาคต” ว่าครอบครัวจะถูกส่งตัวกลับประเทศที่หนีจากมา

สารคดีเปิดเรื่องด้วยการพาไปรู้จัก “ดาเรีย” หนูน้อยวัย 7 ขวบ ที่ร่างกายไม่ตอบสนองมา 5 เดือน ภาพที่เห็นคือ พ่อแม่ที่เฝ้าดูแลลูกสาวที่ดูร่างกายแข็งแรง สภาพเหมือนแค่กำลังนอนหลับฝันดี แต่แท้จริงหนูน้อยเข้าสู่ภาวะนอนหลับไม่ได้สติเหมือนกับโคม่ามาหลายเดือนแล้ว

Advertisement

เราได้เห็นพ่อแม่ช่วยกันดูแลทั้งฟีดอาหารทางสายยาง อาบน้ำ หวีผม นวดคลึงทำกายภาพบำบัดให้ อุ้มลูกใส่รถเข็นพาไปสูดอากาศภายนอก พูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างที่หนูน้อยอยู่ในภาวะนอนหลับแบบไม่รู้สึกตัว

พ่อแม่เล่าว่า ดาเรียเป็นนักกีฬาวิ่ง เป็นคนกระตือรือร้น แต่จู่ๆ ก็ร้องไห้ที่โรงเรียน กลัวถูกส่งตัวกลับประเทศและถูกฆ่า ต่อมาไม่นานเริ่มไม่กินอาหาร ไม่ตอบสนองเวลามีคนเรียก โดยช่วงที่เริ่มมีอาการของโรค เป็นจังหวะเดียวกับที่ครอบครัวอยู่ในชะตากรรมที่ต้องรอคำตอบว่าจะได้สิทธิพำนักในสวีเดนถาวรหรือไม่

อีกหนึ่งครอบครัวคือ “แคเร็น” เด็กชายอายุ 12 ปี ที่ร่างกายไม่ตอบสนองมา 6 เดือน ครอบครัวของแคเร็นมีใบอนุญาตพำนักชั่วคราว 13 เดือน เมื่อครบกำหนดจะต้องยื่นขอลี้ภัยใหม่อีกครั้ง

เมื่อย้อนดูอดีต หนึ่งในบาดแผลจิตใจของแคเร็น คือเด็กชายเคยผ่านเหตุการณ์ที่ต้องหนีเอาชีวิตรอดกับพ่อ เห็นการไล่ฆ่าเกิดขึ้น ครอบครัวต้องพากันหนีมาถึงสวีเดน ซึ่งพ่อเล่าว่าลูกชายเครียดมาก ตื่นกลัว และหวาดระแวงที่จะต้องถูกส่งตัวกลับ

ครอบครัวสุดท้ายเป็น “ชาวยาซิดี” มีลูกสาว “เลย์ล่า” วัย 10 ขวบ เข้าสู่ภาวะรีซิกนิชั่น ซินโดรมมา 7 เดือนแล้ว ซึ่ง “ชาวยาซิดี” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นสองในแทบทุกประเทศที่พวกเขาอยู่ โดยครอบครัวของเลย์ล่าอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์คำสั่งส่งกลับประเทศเดิม

เรื่องราวที่สารคดีเข้าไปติดตามดูครอบครัวเหล่านี้ ฟังดูเหลือเชื่อ เพราะรีซิกนิชั่น ซินโดรม ดูไม่ใช่โรคที่เรารู้จัก อาการของโรคเริ่มแรกเด็กจะไม่พูดไม่จา แค่นอนเฉยๆ ทำกิจกรรมน้อยลง กินน้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่กินไม่ดื่มอะไรเลย และเข้าสู่ภาวะนอนหลับหมดสติ

สื่อในสวีเดนเคยรายงานข่าวและตั้งข้อสังเกตช่วงแรกว่า “เด็กแกล้งทำ” หรือ “แกล้งป่วย” กระทั่งมีข่าวลือว่าพ่อแม่วางยาเด็กหรือไม่ ทว่าเมื่อเข้าไปตรวจสอบจึงพบว่า เด็กกำลังป่วยหนักจริงๆ

ในห้วง 3 ปีมานี้ มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มกว่า 200 ราย ทางการแพทย์ยังหาสาเหตุชัดเจนมาอธิบายไม่ได้มากนัก ความเร้นลับของโรคนี้ “มิคาเอล บิลลิ่ง” นักจิตวิทยา บอกว่า เรายังไม่มีคำอธิบายที่ดีพอว่าทำไมจึงพบเด็กที่มีอาการนี้ในสวีเดนมากกว่าประเทศอื่น ปัจจัยทางวัฒนธรรมที่เฉพาะตัวของสวีเดนอาจมีส่วนสำคัญทำให้เกิดอาการนี้ รวมทั้งปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องที่ยังศึกษาไม่มากพอ

จิตแพทย์รายอื่นๆ มองว่า โรคนี้อาจเกิดจากสถานการณ์ในชีวิตที่เด็กวิตกกังวล หลังการอพยพมาอยู่สวีเดนเด็กเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต เข้าใจ และพูดภาษาสวีเดนได้ มีชีวิตที่ปลอดภัย แต่หากต้องถูกส่งกลับประเทศ หรือไม่ได้รับอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัย เหล่านี้เป็นเรื่องกระทบจิตใจและรับไม่ไหว

หลังจากสารคดีเข้าไปติดตามสามครอบครัวผู้อพยพมาระยะหนึ่ง กระทั่งเวลาผ่านไปหลายเดือน “ดาเรีย” ค่อยๆ มีอาการดีขึ้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ครอบครัวยื่นอุทธรณ์จนได้สิทธิพำนักในสวีเดนถาวร ซึ่งครอบครัวได้บอกเล่าเรื่องนี้กับดาเรียเป็นระยะระหว่างที่หนูน้อยหมดสติ

ปัจจุบันนี้ “ดาเรีย” หายดี กลับมาเป็นเด็กร่าเริง ใช้ชีวิตปกติไปโรงเรียนได้ และจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ส่วน “แคเร็น” แม้ร่างกายจะตอบสนองด้วยการกลืนอาหารบดและของเหลวได้แล้ว แต่ยังคงหมดสติ ท่ามกลางสถานการณ์ใบอนุญาตพำนักชั่วคราวของครอบครัวที่ใกล้หมดอายุ ซึ่งจะต้องยื่นขอลี้ภัยใหม่อีกครั้ง

ที่น่าห่วงคือ “เลย์ล่า” ที่ยังไม่ตอบสนองใดๆ และพี่สาวเริ่มแสดงอาการเดียวกันแล้ว โดยครอบครัวเลย์ล่ายังคงต้องเจอกับคำสั่งส่งกลับประเทศ

โรคที่แปลกประหลาดนี้ทางการแพทย์มองว่า การฟื้นตัวดีขึ้นของเด็กๆ สัมพันธ์กับที่ครอบครัวรู้สึกมั่นคง พ่อแม่พูดคุยสื่อสารกับลูกอย่าง “มีความหวัง” มากขึ้นว่าจะมีชีวิตที่ปลอดภัยไม่ถูกส่งตัวกลับ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเยียวยาอาการโรคนี้

แม้สารคดี “Life Overtakes Me” ได้พยายามอธิบายทุกอย่างให้เป็นวิทยาศาสตร์เพียงใด มีการติดตามดูอาการยาวนานหลายเดือนของโรครีซิกนิชั่น ซินโดรมแค่ไหน แต่เรื่องราวนี้ก็ยังชวนน่าฉงนอย่างไม่รู้จบ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image