แค่ไม่ถนัด ไม่ได้แปลว่า ‘โง่’ – ‘ลายมือ’สัญญาณบอกโรค!

เป็นกระแสร้อนในโซเชียลตั้งแต่สัปดาห์ก่อน กับการนำการบ้านเด็กนักเรียนรายหนึ่งที่เขียนส่งคุณครู ด้วยลายมือที่อ่านยาก เขียนติดกันเป็นพรืด

…ที่ท้ายกระดาษเรียงความเขียนด้วยหมึกสีแดงว่า “ครูขอตายดีกว่า!”

เท่านั้นดราม่าก็เกิด!

มองในแง่หนึ่งนี่คือ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หนึ่งในหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นเป็นประจำบนโลกโซเชียล

Advertisement

การวิพากษ์กันอย่างสนุกปากโดยเอาความรู้สึกตนเองเป็นที่ตั้ง อาจเห็นว่าเป็นเรื่องขำขันรายวัน แต่ถ้าเจ้าของลายมือเป็นโรคบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ หรือ แอลดี จริง การเข้าไปกระหน่ำวิจารณ์อย่างคะนองปาก อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเจ้าตัว เกิดการท้อถอย จิตตก และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้ เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ต่างๆ นานา

“แอลดี” คือโรคชนิดหนึ่ง

ความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากว่าร้อยปีแล้ว สำหรับประเทศไทยถ้าในระดับที่สังคมเริ่มตื่นตัวรับรู้อยู่ในราว 10 ปีที่ผ่านมา

“แอลดี” (Learning Disability) เป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานของสมองที่ผิดปกติในส่วนที่เกี่ยวกับการอ่าน การเขียน หรือการคำนวณ เป็นคนละเรื่องกับปัญญาอ่อน หรือสติปัญญาบกพร่อง เพราะมันเหมือนความถนัดของคนเราซึ่งมีหลายด้าน การอ่าน/การเขียน/การคำนวณก็ถือเป็นความถนัดด้านหนึ่ง ซึ่งในแต่ละคนความถนัดในด้านต่างๆ มีไม่เท่ากัน

Advertisement

เพียงแต่เด็กแอลดีไม่ถนัดในด้านที่จำเป็นต่อการเรียนในระบบโรงเรียน จึงทำให้ผลการเรียน ไม่ดีเท่าที่ควร”

พญ.ปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายให้ฟังและว่า เนื่องจากโรคแอลดีเป็นความผิดปกติของสมอง ดังนั้นการเคี่ยวเข็นดุว่าเด็กไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น

เปรียบเทียบง่ายๆ กับสมาร์ทโฟน เด็กก็เหมือนไอโฟนที่ไม่ได้ลงแอพพลิเคชั่นด้านการอ่าน/การเขียน/การคำนวณ ฉะนั้นถ้าคาดหวังว่าเด็กจะสามารถอ่านเขียนหรือคำนวณได้เหมือนเด็กปกติคงยาก เพราะเขาไม่มีแอพพลิเคชั่นนี้

คำจำกัดความของ “โรคแอลดี” คือ โรคที่ทำให้เด็กมีความสามารถด้านการอ่าน/การเขียน/การคำนวณตามชนิดที่เด็กเป็น ต่ำกว่าระดับสติปัญญาที่ควรจะทำได้ บางคนอาจจะมีไอคิวสูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ที่เด็กลายมือไม่ดี อ่านยาก ต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณี 1.คือเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าเป็นโรคแอลดีด้านการเขียน 2.อาจจะมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็กไม่แข็งแรงส่งผลไปถึงลายมือ

ซึ่งการเห็นเพียงลายมือไม่สามารถสรุปได้ว่าเด็กเป็นโรคแอลดีหรือไม่

อย่างไรจึงเรียกบกพร่อง

โรคบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ หรือโรคแอลดีนั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีปัญหา “ด้านการอ่าน” ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุดถึง 85% ถ้าผู้ปกครองสังเกตให้ดีจะเห็นตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน เช่น มีปัญหาในการสะกดคำ ผันเสียงตามอักษรไม่ได้ ผันวรรณยุกต์ไม่ถูก อาจจะอ่านหนังสือตะกุกตะกักเหมือนเดาคำ อ่านข้ามบรรทัด คำว่า “สามารถ” อ่านเป็น สา-มา-รด บางคนอ่านได้หน้าลืมหลัง เพราะสะกดไม่ได้จึงใช้การจำ

ถ้าเป็นเด็กแอลดี “ด้านการสะกดคำ” จะเขียนติดกัน เว้นช่องไฟไม่ดี บางทีสับสนกับการเขียนหัวเข้าหัวออก พ พาน หรือ ผ ผึ้ง ซึ่งเราจะเห็นสัญญาณนี้ตั้งแต่ตอนหัดเขียนในชั้นอนุบาล เด็กจะเขียนวนหัวอยู่นานไม่ยอมเขียนต่อ บางทีเขียนแบบกลับด้าน รวมทั้งการจดบันทึกจะเขียนตกๆ หล่นๆ เพราะจดไม่ทัน ใช้คำศัพท์ได้น้อยกว่าวัย

ส่วนแอลดี “ด้านการคำนวน” เช่น นับจำนวนของไม่ได้ เมื่อโตขึ้นมีปัญหาตีโจทย์เลขไม่เป็น อ่านสัญลักษณ์ไม่ได้ อ่านตาชั่งอ่านนาฬิกาไม่เป็น เช่น อ่านเครื่องหมาย < = > ไม่ได้

ซึ่งในประเภทแอลดีด้านการอ่าน มักจะมาพร้อมกับด้านเขียนด้วย เหมือนอ่านไม่ได้ก็มีปัญหาด้านการเขียน

สาเหตุการเกิดแอลดี ประเมินกันว่า 1.มาจากพันธุกรรม มักจะพบว่าคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่หรือญาติของเด็กแอลดีมีปัญหาเหมือนกัน 2.อาจมีความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้สมองเด็กไม่สมบูรณ์ เช่น แม่ติดเชื้อระหว่างคลอด สัมผัสสารพิษ หรือช่วงคลอดเด็กขาดอ็อกซิเจน เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือระหว่างเจริญเติบโตเด็กอาจจะมีปัญหาบางอย่างที่ส่งผลต่อสมอง เช่นโรคสมองอักเสบ มะเร็งบางชนิด

ดังนั้น ยิ่งให้การช่วยเหลือเร็วเท่าใดยิ่งเป็นการดี อย่ารอดูว่าเด็กอ่านออกเขียนได้หรือเปล่า ควรพาเด็กเข้ารับการประเมินจากจิตแพทย์เด็ก กุมารแพทย์ หรือกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ เพราะโรคแอลดีมักพ่วงมากับโรคอื่น เช่น โรคสมาธิสั้น

รวมทั้งเด็กบางคนที่สติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้า เป็นออทิสติก หรือมีปัญหาด้านพัฒนาการทางอารมณ์ วิตกกังวล ซึมเศร้า ก็อาจจะมีอาการคล้ายแอลดี หรือมีแอลดีร่วมด้วย

“การล้อ” แรงผลักให้หลุดออกนอกระบบ

ในกรณีที่พบว่าเป็นแอลดีเมื่อโตแล้ว คุณหมอแนะนำว่าให้ทำงานสายอื่นที่ไม่ต้องใช้ทักษะด้านการเขียนการอ่านการคำนวณ เช่น เป็นนักดนตรี นักกีฬา หรืองานด้านการทำอาหาร ฯลฯ

“การเรียนซ้ำชั้นไม่ได้ช่วยอะไร เพราะสมองเด็กทำไม่ได้ อาจทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม”

สิ่งสำคัญคือ ในการดูแลเด็กแอลดีทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะที่บ้าน โรงเรียน เพื่อน หรือแม้แต่หน่วยงานใหญ่ๆ หน่วยงานของรัฐเอง

ในส่วนของ “ที่บ้าน” คือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง กับคนรอบตัวว่า เด็กไม่ได้โง่ ไม่ได้แกล้ง ไม่ได้ขี้เกียจ พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องล้อเรื่องด่าและลงโทษ เพราะถ้าลงโทษแล้วเด็กทำไม่ได้ก็จะนำไปสู่ปัญหาอื่น ซึมเศร้า วิตกกังวล พอเป็นวัยรุ่นก็จะไปแว๊นไปสก๊อย ติดยา มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ฯลฯ

และสำคัญมากๆ คือ การให้กำลังใจ

เพราะ “เกรดไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต” ควรเน้นไปที่คุณลักษณะที่ดีอย่างอื่นมากกว่า เช่น ความพยายาม ความรับผิดชอบ มีความเป็นเด็กดีมากกว่า

กรณีที่ผู้ปกครองเห็นมีแววว่าจะเป็นแอลดี ควรแนะนำให้เด็กเล่นกีฬา เล่นดนตรี ฯลฯ เพื่อที่จะค้นหาสิ่งที่ตนเองทำได้ดี จะได้ช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น

ขณะเดียวกัน คุณครูควรจะมีแผนการศึกษาพิเศษ คือ IEP (Individual Educational Program) ที่เขียนสำหรับเด็กเอง รวมทั้งอย่านำเด็กแอลดีไปประเมินร่วมกับเด็กอื่น

“เด็กแอลดีส่วนมากครูไม่เข้าใจ เพื่อนไม่เข้าใจ ครูบางคนเวลาบอกผลสอบจะอ่านชื่อของเขาแล้วบอกว่าตกอีกแล้ว ซึ่งบางคนกลายเป็นซึมเศร้าไม่อยากไปโรงเรียน ถ้าเด็กท้อถอย กำลังใจไม่มีมากๆ เด็กอาจจะกลายเป็นเด็กเกเร แล้วที่สุดก็หลุดออกจากระบบโรงเรียน ก็จะกลายเป็นปัญหาของสังคม และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคล”

เพราะตัวโรคแอลดีเองไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับการที่เขาถูกสังคมกีดกันถูกล้อถูกแกล้ง

ในส่วนของหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการที่ควรเป็นเจ้าภาพในการช่วยเด็กแอลดี เช่น การปรับทัศนคติของครูที่ดูแลเด็ก เป็นต้น

“แอลดีถือเป็นความพิการอย่างหนึ่ง ในทางกฎหมายมีในเรื่องของการคุ้มครอง แต่ในทางปฏิบัติเด็กไม่สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้ ฉะนั้นกระทรวงที่รับผิดชอบเข้ามากวดขันในเรื่องนี้ รวมไปถึงในส่วนของแพทย์ พยาบาล และนักกิจกรรมบำบัดต่างๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยประเมินช่วยรักษาโรคที่พบร่วมได้”

หัวใจของเรื่องนี้คือ ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าเด็กเป็นแอลดีแล้วช่วยให้เร็วที่สุดจะเป็นประโยชน์กับเด็กมากกว่า

เขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ คนดังๆ ของโลกก็มีมากมายที่เป็นแอลดี แต่สามารถประสบความสำเร็จได้ เช่น ปาโบล ปิกัสโซ่, จอห์น เลนนอน, เฮนรี่ ฟอร์ด, สตีเวน สปีลเบิร์ก, วอลต์ ดิสนีย์, โทมัส อัลวา เอดิสัน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือนักแสดงรุ่นใหม่ๆ อย่าง คีอานู รีฟส์, เทียร่า ไมลีย์, ทอม ครูซ, ออร์แลนโด้ บลูม ฯลฯ

เพราะในต่างประเทศไม่ได้ถือว่าแอลดีร้ายแรง ตราบใดที่เขาสามารถทำสิ่งที่เขาถนัดได้ และเป็นคนดีของสังคม

ดีกว่ามั้ยถ้าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

ทางด้าน เพลิน ประทุมมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งทำงานในสหรัฐอเมริกามากว่า 10 ปี ในฐานะกรรมการก่อตั้งมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม เล่าประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้กับพ่อแม่เด็กที่มีความต้องการพิเศษว่า โรคแอลดีส่วนมากจะพบในเด็กหลังอายุ 6 ขวบ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าเรียนชั้นประถม

การกระตุ้นพัฒนาการแรกเริ่มเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกมีความท้าทายทางด้านต่างๆ มีพัฒนาการเหมือนเด็กทั่วไปหรือไม่ เมื่อสงสัยควรรีบพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินและยืนยันว่าเป็นหรือไม่

เพราะนอกจากโรคแอลดีแล้วยังมีอาการอื่นที่อาจเป็นสาเหตุให้ลายมืออ่านยาก เช่น ดาวน์ซินโดรม ซึ่งเป็นทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงกว่าคนทั่วไปก็มีผลต่อการเขียนหนังสือ

ในอเมริกาเมื่อก่อนก็คล้ายกับในเมืองไทย ไม่รู้จักว่าดาวน์ซินโดรม ออทิสติก หรือแอลดีคืออะไร แต่ปัจจุบันมีความตระหนักมากขึ้น ประเทศไทยเอง ณ ตอนนี้เริ่มมีการใช้คำว่า “เด็กพิเศษ” มากขึ้น ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 5-10 ปีก่อน

กับกรณีของการแชร์ภาพการบ้านของเด็กนักเรียนที่ลายมืออ่านยากนั้น เพลินให้ความเห็นว่า “คนเรามีประสบการณ์ส่วนตัวที่แตกต่างกัน สิ่งที่เจอมาในตอนเด็กอาจทำให้เราทำบางสิ่ง กรณีนี้เราไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ ไม่ควรคิดเองว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

“หน้าที่ของผู้ใหญ่คือ สอน ไม่ใช่การดุว่า แทนที่จะใช้โอกาสนี้เป็นการแบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น เพราะการวิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเช่นนั้นไม่ได้ช่วยให้เด็กดีขึ้น แต่ตรงกันข้ามกลับจะส่งเสริมพัฒนาการในเด็กแย่ลงมากกว่า”

ฉะนั้นไม่ควรด่วนสรุปและร่วมวิพากษ์ไปตามกระแสโซเชียล เพราะแค่ลายมือไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image