“วิหารเซียน” ศิลปะ วัฒนธรรม ตำนาน อารยธรรมจีน-สยาม ในสายตาผู้เชี่ยวชาญ

นับว่าน่าจับตายิ่ง ที่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งมอบโบราณวัตถุสำคัญ อายุกว่า 2,200 ปี ที่ขุดค้นพบ ณ สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มลฑลซานซี และแห่งอื่น รวม 133 ชิ้น มาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในนามนิทรรศการพิเศษ “จิ๋นซีฮ่องเต้” จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีน กับกองทัพทหารดินเผา และเปิดให้คนไทยแห่ไปชมเป็นขวัญตา เมื่อกลางกันยาฯที่ผ่านมา

ทว่ายังมีอีกแห่งไม่ใกล้ไม่ไกล 150 กม. จาก กทม.ถึงเขาชีจรรย์ เมืองชลบุรี มีวิหารเซียน “อเนกกุศลศาลา” สถานรวบรวมศิลปะไทย-จีนชั้นสูงที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในไทย จากแรงบันดาลใจของ สง่า กุลกอบเกียรติ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวที ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยในแผ่นดินสยาม ทั้งต่อชาติ ราชวงศ์ และองค์พระมหากษัตราธิราชเจ้า

วิหารเซียนแห่งนี้ จัดแสดงทั้งโบราณวัตุและศิลปวัตถุ การตกแต่งสอดผสานอย่างกลมกลืน โดยรัฐบาลจีนได้มอบของมีค่าจำนวน 328 ชิ้น รวมของไทยและต่างประเทศอีกกว่า 1,000 ชิ้น ควรค่าอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษา ด้วยเหตุที่ว่าไทย-จีนมีสัมพันธ์อันยาวนานในทางประวัติศาสตร์ กระแสธารแห่งวัฒนธรรมของ 2 ชนชาติถักทอแนบแน่น เมื่อจีนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้า ก็ได้นำเอารากฐานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมมาสู่สยาม หลอมรูปแบบเข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ

ป้ายหน้าทางเข้าวิหาร มุมซ้ายปรากฏชื่อ ‘ผู่เจี๋ย’ น้องชายของ ผู่อี้ หรือ ‘ปูยี’ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน


เป็นโอกาสดีที่ได้ฟังคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และศิลปะจีนอย่าง ผศ.นวรัตน์ ภักดีคำ และ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Advertisement

นวรัตน์เริ่มด้วยการอธิบายภาพเขียนชุมนุมโป๊ยเซียน อันเป็นตำนานของเทพเจ้าจีน

“เซียนของจีนมีอยู่ 5 ขั้น เป็นเซียนขั้นต้น คือ “กุ่ยเซียน” เป็นเซียนที่เกิดจากผี อย่างนางจิ้งจอกแปลงร่าง นางพญางูขาว สามารถแปลงร่างเป็นคนได้ชั่วคราว แต่ก็ยังมีนิสัยสัตว์อยู่ ต่อมาคือ “เหรินเซียน” คนบำเพ็ญพรต เจริญภาวนา เจ้าของมูลนิธินี้ก็ถือว่าเป็นเซียนคนหนึ่ง เป็นคนที่บำเพ็ญพรตจนเป็นเซียน” นวรัตน์ผายมือไปทางรูปปั้นที่เรียงรายอยู่เบื้องหน้า ก่อนจะเล่าต่อว่า “อีกขั้นเป็นเทวดาเรียกว่า “เสินเซียน” ส่วน “ตี้เซียน” เป็นคนทั่วไป “เทียนเซียน” อยู่บนสวรรค์เรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถที่จะแปลงร่างเป็นอะไรได้อีก อยู่บนสวรรค์เป็นลูกน้อง “จิ๋นเซียนฮ่องเต้” ”

ผศ.นวรัตน์ ภักดีคำ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มศว นำชมศิลปะจีน


ศานติ เสริมว่า คนที่เป็นโป๊ยเซียนอยู่คนละราชวงศ์กัน คนที่นุ่งหนังเสือ คือ หลี่เถียไกว่ หรือหลี่ทิก้วย เป็นโป๊ยเซียนคนแรก ที่ไปเรียนวิชากับลีเล่ากุง จะถือน้ำเต้าอันเป็นของวิเศษ

Advertisement

“เวลาไปศาลเจ้าจีนจะมีน้ำเต้าเอาไว้เผา ลัทธิเต๋าถือว่าน้ำเต้าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ อะไรที่ผ่านน้ำเต้าจะบริสุทธิ์ เหมือนจับผีถ่วงหม้อของบ้านเรา แต่ของเต๋าดูดเข้าน้ำเต้า เดี๋ยววิญญาณที่ไม่ดีก็จะกลายเป็นดี” นวรัตน์เล่าโยงมุมความเชื่อที่คล้ายคลึงกับไทย

นวรัตน์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า พุทธศาสนาของจีนพิเศษกว่าไทย เพราะไทยอะไรที่เป็นพุทธศาสนาดูจับต้องไม่ได้ ดูเพื่อเอาไว้บนหิ้งอย่างเดียว อย่างคนไทยเชื้อสายจีนจะไม่เอาน้อยหน่าไว้เจ้า เพราะถือคติว่ามีเม็ดเยอะ มียาง ไม่เป็นมงคล แต่ของจีนเรียกว่า “ลูกศากยมุนี” บอกว่าตุ่มที่เปลือกน้อยหน่าเหมือนพระโมลีของพระพุทธเจ้า

“แต่จีนก็เป็นสังคมนิยมที่แปลก มีทุกศาสนาทุกความเชื่อ เทพเจ้าเยอะกว่าไทย อย่าง “กวนอู” ตามตำนาน คือเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ มั่นคง เที่ยงธรรม เหตุที่กวนอูถูกยกมาเป็นเทพ เพราะฮ่องเต้ราชวงศ์ต่างๆ เลื่อนยศกวนอูทุกปี เป็นเครื่องมือในการบำรุงขวัญกับขุนนางอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องมือทางการเมือง อารมณ์แบบพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งได้ผลทางจิตวิทยาว่าทำแบบนี้ ซื้อใจขุนนางได้”

“ให้ขุนนางจงรักภักดี แล้วจะได้รับความดีความชอบ ใช้ความเชื่อแบบนี้ในการรวมขวัญมาเป็น 1,000 ปี ก็เลยแฝงอยู่ในดีเอ็นเอของคนจีน เสมือนว่าเป็นเทพองค์หนึ่งที่ขอได้” ศานติเสริม

พระอรหันต์ปางแคะหู สื่อถึงการไม่รับรู้เรื่องราวอันวุ่นวายของโลก


ถัดมามีเครื่องสัมฤทธิ์ต่างๆ เช่น ที่วางกำยานเพื่อไล่ความอับในบ้าน ม้าทะเล ที่คล้ายม้านิลมังกรของไทย ซึ่งข้างหลังขัดมัน ส่องเป็นกระจกได้ รวมทั้ง “หู” และ “เหอ” ภาชนะบรรจุเหล้าในพิธีกรรม และภาชนะใส่ของเหลว

“เครื่องสัมฤทธิ์จะหมดไปตั้งแต่สมัยฮั่น ราชวงศ์ถังจะออกแนวเครื่องดินเผา ตุ๊กตาหลากสี ยุคที่สัมฤทธิ์รุ่งเรืองจะมี เซี่ย ซาง โจว ส่วนฉินก็ยังรุ่งเรืองอยู่ ต้นฮั่นมีอยู่แต่ไม่มาก แต่เมื่อราชวงศ์ถังเครื่องสัมฤทธิ์จะไม่ค่อยมี เพราะจิ๋นซีใช้นโยบายเอาเครื่องสัมฤทธิ์ไปทำอาวุธ ถังก็เหมือนกัน เอาไปทำอาวุธแล้วใช้ดินเผา ซึ่งเครื่องสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เซี่ย ซาง โจว ฮั่น ฉิน เป็นเครื่องใช้สำหรับราชสำนัก ใช้ในพิธีกรรม” นวรัตน์อธิบาย

พระแท่นบัลลังก์ในท้องพระโรง พระราชวังกรุงปักกิ่ง สำหรับพระจักรพรรดิประทับนั่งเวลาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน


ทั้งหมดนี้ สะท้อนพัฒนาการก่อนรวมชาติยุคราชวงศ์โจวตะวันออก ก่อนยุคจิ๋นซีที่แบ่งแคว้นอย่างเอกเทศ ซึ่งยังมีอีกหลายชิ้นที่บ่งชี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้รัฐฉินกลายเป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งในเวลาต่อมา

โดยชิ้นที่นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และที่นี่ก็มีให้ชมเช่นกัน คือ หุ่นดินเผาทหาร “จากรายละเอียดมีความใกล้เคียงกับของที่นำมาจัดแสดง แม่ทัพกองธนู สวมชุดธรรมดาไม่มีเสื้อเกราะ ไม่มีหมวก ซึ่งจะตายก่อนเพราะอยู่ข้างหน้าสุด เอาไว้ยิงระยะไกล โดยลูกธนูก่อนราชวงศ์ฉินจะเป็นทองเหลือง (สัมฤทธิ์) อย่างเดียว แต่ของฉินจะเป็นลูกธนูเคลือบตะกรุด กะเอาให้ตายให้แน่ เพราะอย่างอื่นปักเข้าไปไม่มีพิษ” นวรัตน์เล่า

ก่อน ศานติ จะเสริมว่า ทัพของจีนในช่วงสมัยนั้นจะมีการแบ่งกองเพื่อเข้าโจมตี มีตัวหน้าไม้และพลธนูไว้ข้างหน้า ซึ่งเป็นอาวุธชุดสำคัญของฉิน ในหนังฮีโร่จะยิงธนูเข้าไปเพื่อฆ่าไปก่อนหนึ่งรอบ ก่อนให้พลทหารม้า ทหารราบตามเข้าไป

หลักฐานที่ระบุว่า กระทรวงวัฒนธรรมของจีน มอบโบราณวัตถุ 328 รายการ แก่ นายสง่า กุลกอบเกียรติ เพื่อจัดแสดงที่วิหารเซียนแห่งนี้


มาถึงกำแพงเมืองจีน ที่นวรัตน์ยกประวัติศาสตร์มาเล่าว่า ไม่เคยกันข้าศึกได้ไม่ว่าจะยุคใดก็ตาม

“ที่เข้าประตูฮั่นมาได้ เพราะทหารฮั่นที่เปิดประตูให้เขาเข้ามาเอง ไม่ต้องปีนกำแพงให้เหนื่อยแต่อย่างใด ต่อนี้ไปงบประมาณในการซ่อมแซมกำแพงเมืองจีนจึงยกเลิก และเอางบประมาณไปช่วยเหลือประชาชน จึงเลิกซ่อมยาวจนกระทั่งมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน”

อีกชิ้นที่มีเหมือนพิพิธภัณฑสถานฯ คือรถม้า แต่ของพิพิธภัณฑสถานฯ จะเป็นอัตราส่วน 1 : 2 ที่นี่เป็นอัตราส่วน 1:4 เป็นรถม้าที่มีคนขี่ข้างหน้า อาจจะมีที่นั่งสำหรับแม่ทัพบัญชาการรบอยู่ข้างหลัง

ตรงกลางมีเจ้าแม่กวนอิม สัดส่วน 1 : 4 เหมือนที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นวรัตน์บอกว่า เจ้าแม่กวนอิมมาจากตำนานพื้นบ้าน แต่ของเราพอถึงเมืองไทยกลายเป็นเจ้าแม่ไปเลย

“รุ่นแรกจะเห็นหน้าอกและมีขนหน้าอกด้วย แต่แบบนั้นไม่มีในไทย ของไทยเป็นทรงผู้หญิง ซึ่งที่จีน ยังมีทั้งสอง ซึ่งคนที่นับถือกวนอิมในจีนกินเนื้อ คนไต้หวันก็กินเนื้อ คนไทยพิเศษอยู่ประเทศเดียวไม่กินเนื้อ”

จากนั้น นวรัตน์พาชม สุสานจิ๋นซี ก่อนจะเล่าด้วยมุมมองที่เคยไปสัมผัสถึงซีอาน “สุสานจิ๋นซีที่เมืองซีอานตอนขุดเจอไม่ได้ยืนเป็นระเบียบเรียบร้อย ระเนระนาดหมดแล้ว มีบางส่วนที่หดหู่คือสุสานส่วนหน้าที่มีกระดูกม้า 8 ตัว ทับกันคือม้าจริงไม่ใช่ดินเผา ที่ขุดมาตอนแรกเห็นสีแดงสีน้ำตาลสีน้ำเงินก็เลือนหาย ตอนที่ไปดูปี 1996 ยังมีสีอยู่ ล่าสุดไปดูไม่มีสีแล้ว หลงเหลือเพียงแค่มุมอับ จีนจึงเอาไปไว้เก็บบางส่วน สุสานที่เวนคืนส่วนหลังจึงไม่ขุดจนกว่าจะมีกรรมวิธีรักษาสภาพสีได้ แต่ก็ยังไม่พบวิธีใด”

คือส่วนหนึ่งของวิหารเซียนแห่งนี้ ที่นับเป็นแหล่งรวบรวมสิ่งสะท้อนความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมจีน ควรค่าอย่างยิ่งแก่การศึกษาวัฒนธรรมและความเชื่อผ่านศิลปวัตถุ

รูปปั้นทหารของจิ๋นซีฮ่องเต้ ขุดพบเมื่อ ค.ศ.1974 ที่ชานเมืองซีอาน

 

รูปปั้นพลธนู

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image