กับข้าว การเมือง เรื่องชีวิต ‘กฤช เหลือลมัย’

เสียงประกาศจากรถพุ่มพวงขายพืชผักตามหมู่บ้านย่านฝั่งธนฯ ในช่วงสายๆ

ดูจะเข้ากันได้ดีกับหัวข้อนัดหมายพูดคุยที่บ้านหลังเล็กๆ แสนอบอุ่น ของคอลัมนิสต์งานชุกอย่าง กฤช เหลือลมัย

ทั้งคอลัมน์อาหารใน มติชนรายวัน ที่มีแฟนๆ ตามสูตรทุกเสาร์ โดดเด่นด้วยข้อมูลแน่นปึ้กด้านประวัติศาสตร์ในทุกจานที่ตั้งใจปรุง เช่นเดียวกับงานเขียนใน นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ซึ่งบรรจงคัดสรรตลาดอินทรีย์ที่มีความสนใจเป็นการส่วนตัวมานำเสนออย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งผลงานในนิตยสารระดับตำนานอย่าง “ศิลปวัฒนธรรม” ที่กำลังจะมีผลงานรวมเล่มจากคอลัมน์ “ต้นสายปลายจวัก” เตรียมวางแผงให้จัดหาไว้วางบนตู้กับข้าวในช่วงต้นปีหน้า

Advertisement

ไหนจะฉีกแนวมายังการ์ตูนการเมืองสุดเข้มข้นใน มติชนสุดสัปดาห์

กว่าจะผันตนมาเป็นคอลัมนิสต์เต็มตัว เคยมีบทบาทในกองบรรณาธิการนิตยสารประวัติศาสตร์ชื่อดังมานานถึง 25 ปี ก่อนชีวิตพลิกผันให้ตัดสินใจครั้งสำคัญอันเป็นผลจากความเห็นต่างทางการเมือง

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น กฤชจบปริญญาตรีจากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี รั้วศิลปากร ที่ซึ่งไม่เพียงก่อเกิด “แกงส้มปลาทูสด” เมนูแรกจากมือตัวเอง ยังหล่อหลอมความสนใจในประวัติศาสตร์อันสร้างความแตกต่างในผลงานอย่างมีนัยยะ

Advertisement

จากเด็กราชบุรีที่มีพ่อแม่เป็นครูประถมศึกษา กลายเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังในวันนี้

ในชั่วขณะที่ห่านข้างบ้านเดินเตาะแตะมาทักทาย ในช่วงเวลาที่แมวสีส้มชื่อ “แดง” ของเขาหลับอยู่ที่ไหนสักแห่ง ในช่วงเวลาที่วงล้อจักรยานคู่ใจ 10 กว่าคันยังไม่ได้หมุนเพื่อออกเดินทาง

กฤช เหลือลมัย เปิดบ้าน รินน้ำชา พร้อมตอบคำถามในบทสนทนาที่รสชาติกลมกล่อมไม่แพ้อาหารที่เขาทำ

กว่าจะมาถึงจุดนี้ ยังจำอาหารจานแรกที่ทำได้ไหม ใช่ไข่เจียวหรือเปล่า

จานแรกที่ทำแล้วแหลกล่ายใช่ไหม (หัวเราะ) สมัยก่อนก็ไม่ได้ทำนะ ตอนเด็กๆ ถูกแม่ใช้งาน หั่นมะเขือ เด็ดพริกอะไรบ้าง ดูเขาเฉยๆ กระทั่งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ก็ต้องลองทำเองแล้ว อันแรกที่ทำแล้วเพื่อนกินได้ คือตอนอยู่คณะโบราณคดี สิงสู่อยู่ที่นั่น อยากกินแกงส้มขึ้นมา เลยไปตลาดท่าช้าง ซื้อพริกแกง มะขามเปียก ปลาทูสด แล้วลองแกงจากความทรงจำ เฮ้ย! กินได้ รุ่นพี่มากินบอก อร่อยนี่หว่า เราบอก อ้าวเหรอๆ ดีๆ สรุปจานแรกคือแกงส้มปลาทูสด ฟังดูยากนะ แต่ยังจำรสชาติของหม้อนั้นได้อยู่เลย

เพราะจบโบราณคดี เลยรู้ที่มาที่ไปของเมนูและวัตถุดิบจนกลายเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของเชฟกฤช เหลือลมัย คือ ?

มันก็ขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนตัวของเราเนอะ ถ้าสนใจอาหารแล้วคุณเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความมั่นคงต่อวิชาชีพสักหน่อย วิธีการมองอาหารจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เวลาพูดถึงอาหาร จะไม่มักง่าย ต้องมีหลักฐาน เพราะหัวใจของนักเรียนโบราณคดีคือคุณต้องแม่นหลักฐานที่จะรองรับคำพูด หรือสมมุติฐาน ไม่ใช่พูดลอยๆ พอเอามาอธิบายเรื่องอาหารก็เช่นเดียวกัน มีคนเคยพูดว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม คิดสูตรผัดไทยโดยไม่ใช้หมู แต่ใช้กุ้งแห้งแทน มีการออกประกาศสูตรให้กรมโฆษณาการพิมพ์แจกชาวบ้าน เราก็เฮ้ย! จริงเหรอ เลยพยายามหาหลักฐาน และถามเพื่อนในวงการเอกสารเก่า ปรากฏว่าไม่มีเลย นี่คือการพูดเกินเลยกว่าหลักฐานของใครก็ไม่รู้

คิดอย่างไรถึงตัดสินใจออกจากกองบรรณาธิการนิตยสารที่ทำมานานถึง 25 ปี?

คงหลายอย่างรวมกัน หนึ่งคือถึงจุดอิ่มตัวด้วย ไม่คิดว่าจะทำได้ดีกว่านั้นแล้ว ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาทำดีนะ อาจจะไม่ดีก็ได้ แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำได้มากกว่านั้นแล้ว สองคืออยู่ในวงการหนังสือประวัติศาสตร์โบราณคดีมานาน รู้สึกท้อแท้ ไม่เห็นเปลี่ยนไปไหนเลย เลิกดีกว่า และมีเหตุผลอีก 2-3 อย่างคือ ความไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างความคิดทางการเมืองของเรากับของบริษัทในตอนนั้นอย่างแรง คิดไม่เหมือนกันจนกระทั่งอยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็ไปดีกว่า ก็เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่นะ อยู่มา 20 กว่าปี ทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว นึกไม่ออกหรอกว่าออกแล้วจะไปทำอะไร แต่ต้องออก ช่วงวิกฤตการเมืองที่มีความขัดแย้งกันทางความคิด มันไม่ได้เกิดปุ๊บปั๊บ แต่เกิดมาเป็นปีๆ เราต้องทนมานาน จนถึงจุดที่พอแล้ว

เห็นว่ามีโพสต์ขู่ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นที่โจษขานในแวดวงมาก เพราะเป็นคนแสดงออกชัดเจน เลยได้รับผลกระทบเยอะ ?

เราก็ค่อนข้างชัดเจนในระดับหนึ่งว่าคิดอะไรอย่างไร แต่เรื่องโพสต์ว่าจะต่อยนั่นเพราะเขาเข้าใจผิดว่าเราไปเนรคุณหมิ่นแคลนบูรพาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำ จะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร ก็เข้าใจได้ว่าทำไมถึงโกรธขนาดนั้น เลยไม่ตอบโต้ แต่ไม่ได้เคลียร์อะไร กลัวโดนต่อยจริง (หัวเราะ)

ประวัติศาสตร์ อาหาร การเมือง อินอะไรมากกว่ากัน ?

มันก็น่าสนุกทุกแบบ การเป็นคอลัมนิสต์อาหารทำให้ได้ค้นคว้าไปกับมัน เพราะสนใจในแง่นัยยะประวัติ และนิยามความหมายด้วย ทั้งการทดลองทำสูตรใหม่ๆ ด้วย ส่วนการ์ตูนการเมือง เราวาดรูปมาตั้งแต่เด็กแล้ว ความที่พ่อเป็นครูสอนศิลปะ เด็กๆ วาดดีกว่านี้อีก ทิ้งไปนาน (หัวเราะ) พอมีโจทย์เรื่องความเห็นทางการเมือง ความแตกต่างทางความคิด ก็ใช้ทักษะนี้มาตอบโจทย์ ภาพอยู่ในหัวแล้ว ก็เขียนออกมาเป็นการ์ตูน

ก่อนวาดการ์ตูนการเมืองในมติชนสุดสัปดาห์ ก็วาดอัพในเฟซบุ๊กส่วนตัวมานาน พอเป็นงานจริงจัง ต้องติดตามจริงจังขึ้นไหม มีคนบอกว่าที่อัพในเฟซขำกว่า?

ก็ถ้าแค่ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว มันปล่อยได้เต็มที่ พอมาเขียนลงสุดสัปดาห์ จริงๆ ก็ควรตามการเมืองจริงจังนะ แต่เราก็ไม่ได้ตามมากมายขนาดนั้น และตอนเจอพี่อู (สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บก.มติชนสุดสัปดาห์) ครั้งแรก เขาก็บอก ไม่ต้องแรงมากนะ เอาขำๆ (หัวเราะ) แต่ขำไหมไม่รู้ ต้องถามคนอ่าน ก็พยายามให้ขำ แต่บางทีขำขื่นๆ

แล้วต้องตามเทรนด์อาหารด้วยไหม หรือเราเน้นนำเทรนด์พื้นบ้านที่เหมือนเป็นลายเซ็นของตัวเองไปแล้ว?

ก็ต้องตามด้วย จะได้รู้ว่าสถานการณ์การกินอาหารของคนไทยอยู่ตรงไหนแล้ว เหมือนที่พี่จิตต์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ) พูดเสมอว่า มึงน่ะไม่ต้องเขียนอะไรได้เหมือนพวกนักวิชาการหรอก แต่ต้องรู้ว่าตอนนี้เขาถึงไหนกันแล้ว ในกรณีที่เราต้องแสดงความเห็น ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวพูดอะไรโง่ๆ ออกไป และจะได้ไม่เบลมคนอื่นมากนัก

เชฟดังๆ ทำ “เชฟ เทเบิล” กันเยอะ สนใจบ้างไหม?

คิดไหม คิด แต่ยังไม่มีโอกาส แล้วบ้านก็ยังไม่เวิร์กสำหรับทำแบบนั้น แอร์ก็ไม่มี ถ้ามันร้อนๆ เขาจะทนกันได้ไหม ถ้าติดแอร์ก็ทึบอีก ความจริงต้องการจะทำอย่างนั้นที่บ้านมาก เพราะปกติชีวิตตอนนี้คือทำกับข้าวกินอยู่บ้าน นอกจากเขียนคอลัมน์ก็ไม่ได้ทำอย่างอื่นแล้ว เลยรู้สึกว่าเราทำอยู่แล้ว ก็ทำเพิ่มหน่อยหนึ่งให้คนมากิน แต่ไม่คิดว่าจะทำแบบที่เชฟดังๆ เขาทำได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเริ่มต้น เพราะเหมือนเราจะให้คนอื่นเข้ามารู้จักเราฝ่ายเดียว กูจะทำอย่างนี้ มึงจะกินไหม ซึ่งในแง่ของเรา อาหารเป็นเรื่องที่ต้องสนทนากัน ต้องรู้ว่าชอบอะไร กินอะไรได้หรือไม่ได้ ปกติกินอาหารอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เราทำไม่ต่างอะไรกับการเริ่มต้นพูดคุยกับเขา จะได้มีความสุขด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่เสียงตังค์เยอะแล้วกินไม่ได้ เผ็ดไป เปรี้ยวไป

คิดอย่างไรเวลามีดราม่าวนลูป อย่างผัดกะเพราที่ถูกต้อง หรืออาหารไทยแท้ไม่แท้ ทั้งในมุมคนทำอาหาร คนกินอาหาร และคนรู้ประวัติศาสตร์ ?

มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า อย่าไปซีเรียสมากเลย ประเทศนี้พอมีเรื่องอะไรก็กลับไปนับหนึ่งใหม่ทุกที โห! ฟังแล้วโคตรเห็นด้วย เหมือนกับว่าเราแทบไม่เคยจดจำเรื่องที่เคยพูดกันมาแล้ว เถียงกันมาแล้ว หรือหารือกันมาแล้ว พอเกิดอะไรขึ้นก็กลับไปจุดเดิมตลอด มีเพื่อนที่ทำงานรณรงค์ด้านอาหาร ด้านพฤติกรรมการบริโภค สงสารเขาเลย คนไม่เคยเก็บรับบทเรียน และพร้อมฟันธงแบบง่ายๆ เช่น มูลนิธิที่ทำเรื่องสารพิษ ออกมาบอกว่าในผักมีสารพิษ เราตรวจมาแล้วทุกปี สิ่งที่ได้รับแทนที่จะเป็นคำขอบคุณ กลับเป็นคำด่าว่าอ้าว! มาบอกทำไม แล้วจะให้กินอะไร พายเรือวนในอ่างตลอดเวลา เหมือนคนเห็นแต่ไม่ได้ยิน หรือได้ยิน แต่การเอาข้อมูลไปสังเคราะห์น้อย

ตอนมีคนมาสัมภาษณ์ เรื่องผัดกะเพรา คนดูเยอะมาก บางคนมาทัก บอกว่าพี่ๆ พี่พูดเรื่องผัดกะเพรานี่ เราก็จะนั่งลงคุยกับเขาสักหน่อย เขาบอก แย่จริงๆ เนอะ ใส่ถั่วทำไม ไม่ควรใส่หอมใหญ่ เอ่อ! นี่ไม่ได้ฟังที่เราพูดเลยใช่ไหมว่ามันก็ใส่ได้ แต่ใส่กะเพราดีๆ ก็พอแล้ว

แปลกมาก การสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ กับความคิดเก่ามีน้อยจนน่าแปลกใจ การที่พูดอะไรซ้ำๆ นานๆ คนพูดก็คงคาดหวังว่าพูดมานานขนาดนี้ ต้องดีสิน่า ปรากฏว่า ดีขึ้น

นี้ดดดดเดียว หรือไม่ดีขึ้นเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้ายังมีใจ มีความบ้าอยากเห็นสังคมดีขึ้น ก้ต้องพูดซ้ำไปอย่างนี้แหละ เปิดเทปวนไปเรื่อยๆ แต่เราไม่มีความสามารถเหมือนพี่จิตต์ ที่นั่งพูดเรื่องเดิมมา 30 ปีแล้วยังพูดได้อยู่เลย

การเมืองก็เช่นกันไหม ที่เราไม่เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ ?

ทุกเรื่องครับ นี่ขนาดเรื่องกินนะ แล้ว จะสัมมะหาอะไรกับเรื่องไมโครพลาสติก รัฐประหาร การขึ้นลงของค่าเงิน ซึ่งยากกว่าผัดกะเพราตั้งเยอะ ถ้าจะคิดให้หมดหวัง ก็หมดหวังนะ (หัวเราะ)

จุดเชื่อมระหว่างความเป็นคอลัมนิสต์อาหาร คนทำนิตยสารประวัติศาสตร์ และคนเขียนการ์ตูนการเมืองอยู่ตรงไหน?

คิดว่าสิ่งที่เชื่อมของที่แตกต่างกันได้ คงเป็นตัวเราเอง มนุษย์มีความสามารถที่จะเชื่อมศาสตร์ทั้งหมดในโลกนี้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องมีสามัญสำนึก เช่น เมื่อเห็นความทุกข์ยากของคนอื่น ต้องเสียใจ รู้สึกเป็นห่วง รู้สึกยินดีที่เขาพ้นทุกข์ จะถูกพัฒนาขึ้นจากศาสตร์อื่นๆ รอบตัวเราเอง

เขียนคอลัมน์มากมาย และหลากหลายมาก คอลัมน์ไหนยากสุด ?

ต้นสายปลายจวัก ในศิลปวัฒนธรรม เพราะเป็นการสืบค้นไปถึงต้นตอของอาหารในเรื่องนัยยะประวัติ นิยามความหมาย ที่มาที่ไปของวัตถุดิบซึ่งเกี่ยวพันกับภาษา นิรุกติศาสตร์ มานุษยวิทยา เลยยากกว่าคอลัมน์อื่นๆ เช่น จะบอกว่าข้าวมันส้มตำ ไม่ใช่ของไทยมาแต่เดิม โอ้! มันพูดง่ายๆ ไม่ได้เนอะ ต้องไปสืบว่ารากของมันมาจากไหน เขียนง่ายๆ ไม่ได้

ถ้าผัดกะเพราเป็นเมนูสิ้นคิดอย่างที่คนชอบพูดกัน คือ คิดไม่ออก ก็สั่งผัดกะเพรา แล้วถ้าคิดมุขไม่ออกเวลาเขียนการ์ตูนการเมือง มีมุขของตายไหม ?

แก๊กสัตว์ๆ (หัวเราะ) เป็นอะไรที่อยากทำให้ดี แต่ยังไม่ได้อย่างใจ เป็นแก๊กที่มองมนุษย์จากมุมมองของสัตว์ ไม่อย่างนั้นก็มองสัตว์จากมุมมองมนุษย์ ถ้าคิดไม่ออกก็จะไปมองเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะสังคม การเมืองผ่านสัตว์ ให้สัตว์เล่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นไดโนเสาร์ซึ่งก็เกี่ยวกับคนอยู่ดี ให้ไดโนเสาร์มีบทสนทนาคล้ายคน และมีบางคนเท่านั้นแหละที่ได้เป็นไดโนเสาร์ (หัวเราะ)

เวลาทำอาหาร ต้องลองผิดลองถูก เสียวัตถุดิบไปบ้าง แล้วเสียเพื่อนจากความเห็นต่างทางการเมืองไปเยอะไหม อย่างน้อยก็เพื่อนในเฟซบุ๊ก เพราะแต่ละโพสต์แซ่บมากทั้งรูปทั้งบทกวี ?

(ยิ้ม) มันก็ทำให้รู้จักคนที่เราเคยรู้จักมากขึ้น และเขาก็เห็นเรามากขึ้น ต่างฝ่ายต่างเห็นซึ่งกันและกัน ถ้ารับกันไม่ได้ ก็เลิกคบกันไป เป็นเรื่องปกติ คนชอบบอกว่าการเมืองเป็นของชั่วคราว ความเป็นเพื่อนสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ผมบอกไม่เชื่อนะ เพราะคิดว่าการเป็นมิตรสหาย เป็นแฟน ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่ยึดโยงกับการให้ค่าของคุณค่าบางอย่างของเราด้วย สมมุติว่า เราให้ค่ากับความยุติธรรมในสังคมแบบหนึ่ง แล้วเพื่อนสามารถเห็นคนถูกยิงแล้วหัวเราะใส่ได้ อย่างนี้มันไม่ใช่แล้ว จะมานั่งกินเบียร์คุยกันได้อย่างไร ในขณะที่เสียเพื่อนบางส่วนไป ก็ได้เพื่อนใหม่ อย่างการได้รู้จัก ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ทำให้เรียนรู้อะไรเยอะ

คนรุ่นใหม่คือบทสนทนาของปัจจุบัน ใครกำลังหมดไฟ ขอให้คบเด็ก จะรู้สึกดีขึ้น (หัวเราะ).

“รัฐประหารแกงโฮะ” สูตรเดิม รสชาติต่าง เมนูที่ต้องทนกิน

“น่าจะเป็นแกงโฮะนะ”

คือคำตอบจากปาก กฤช เหลือลมัย ต่อคำถามที่ว่า สถานการณ์การเมืองไทยในห้วงเวลานี้ ถ้าเปรียบเป็นอาหาร คือ เมนูไหน?

คอลัมนิสต์ชื่อดังด้านอาหาร และนักเขียนการ์ตูนการเมืองรสแซ่บ บอกว่า แกงโฮะเป็นของอย่างเดียวกับที่ปักษ์ใต้เรียกแกงสำรวม เป็นการเอาของเน่าๆ ของที่เหลือจากงานบุญ พระฉันไม่ทัน มาทำเป็นอาหาร

“เด็กวัดเอามาอุ่นรวมกัน คือการเอามาโฮะ คือรวมกันแล้วแต่งรสชาติเพิ่ม เช่น ชิมๆ ดู อ่อนเผ็ด ก็เด็ดพริกขี้หนูมาใส่นิด ขาดความร้อนฉุน ไปเอาใบกะเพราข้างกุฏิมาใส่หน่อย”

กฤช ยังเปรียบเทียบว่า รัฐประหารเปรียบเหมือนช่วงหลังวันพระ

“เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทุกหลังวันพระซ้ำๆ ซากๆ การทำแกงโฮะ ก็เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ และไม่เคยเหมือนเดิม เพราะอาหารในแต่ละวันพระมันต่างกัน แกงโฮะแต่ละหม้อจึงไม่มีวันเหมือนเดิม แม้มีสูตรตายตัวอยู่ แต่รสชาติต่างกัน เด็กวัดก็ต้องทนกินไป รัฐประหารก็เช่นกัน คือแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน แต่เหมือนกัน นั่นคือการปล้นชิงอำนาจจากประชาชน วิธีต่างออกไป ตัวละครตัวเดิมๆ เปลี่ยนชุด เหมือนแกงโฮะ เราเป็นประชาชนก็ทนกินรัฐประหารแกงโฮะกันไป

น่าเศร้าจะตาย”

เปรียบเทียบอย่างเฉียบคม ลึกซึ้ง และชัดเจนแบบไม่ต้องปรุงเพิ่มแม้เพียงคำเดียว.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image