อาศรมมิวสิก : อดัม ฟิชเชอร์ ขบถร่วมสมัย ผู้ย้อนเกล็ดจอมขบถเบโธเฟน : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ในยุคปัจจุบันที่เรามักจะพูดกันว่า “แผ่นซีดีตายแล้ว” อาจจะเป็นคำพูดที่ไม่ได้เป็นความจริงไปเสียทั้งหมด เพราะหากใครยังติดตามวงการความเคลื่อนไหวทางดนตรีคลาสสิกเราจะรู้ได้ว่า ยังคงมีการผลิตแผ่นซีดีที่เป็นงานบันทึกเสียงใหม่ๆ ออกมาเนืองๆ (ทั้งนี้ยังไม่นับถึงความย้อนแย้งอันน่าประหลาดใจที่แผ่นเสียงขนาดใหญ่อย่าง L.P. กลับมาได้รับความนิยมใหม่กันอย่างไม่น่าเชื่อ!) ยังคงมีผู้ฟังดนตรีอีกมากที่อุทิศทุ่มเท ให้กับการฟังดนตรีอย่างจริงจังและละเมียดละไมใส่ใจในรายละเอียด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแผ่นซีดีจึง “ตายไม่สนิท” ส่วนหนึ่งเรายังดูได้จากเทศกาลเครื่องเสียงในบ้านเราที่ยังมีกลุ่มผู้รักการฟังดนตรีอย่างจริงจังทุ่มเทให้ความสนใจกันอย่างคึกคักตลอดมา

ตลาดแผ่นซีดีเพลงคลาสสิกยิ่งกลับเป็นสิ่งที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่ายังเป็นอยู่กันได้อย่างไรในปัจจุบัน กับการที่จะต้องนำผลงานเพลงคลาสสิกที่รู้จักคุ้นเคยฟังกันมาหลายชั่วอายุคน และยังมีงานบันทึกเสียงมานับครั้งไม่ถ้วนกลับมาบรรเลงตีความใหม่, บันทึกเสียงขายกันใหม่ได้ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแผ่นซีดีชุดซิมโฟนีของเบโธเฟน (Beethoven) ทั้ง 9 บท โดยวง “แดนิช เชมเบอร์ออเคสตรา” (Danish Chamber Orchestra) ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “อดัม ฟิชเชอร์” (Adam Fischer) วาทยกรชาวฮังการี (กับค่ายแผ่นซีดีคลาสสิกรายใหญ่อย่าง “Naxos”) ที่ออกวางตลาดตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และทำยอดจำหน่ายได้ไม่น้อย (หลังออกจำหน่ายได้ไม่กี่วันถึงกับเกิดอาการขาดตลาดในเว็บไซต์รายใหญ่ในญี่ปุ่นไปเดือนกว่าๆ)

การนำเอาบทเพลงซิมโฟนีทั้ง 9 บท ของเบโธเฟน ที่มีงานบันทึกเสียงดีๆ นับแต่อดีตมากมายหลายวงออเคสตรา, หลายวาทยกร (Conductor) มาบันทึกเสียงใหม่ และยังประสบความสำเร็จในยอดจำหน่ายด้วยดี นับว่าเป็นเรื่องน่าศึกษา ผู้เขียนเองได้รับความอนุเคราะห์จากเพื่อนผู้รักการฟังดนตรีด้วยกันจัดหาแผ่นซีดีชุดนี้มาให้ เมื่อได้ฟังดูแล้วอีกทั้งได้อ่านบทสัมภาษณ์ “อดัม ฟิชเชอร์” วาทยกรผู้นี้ ทำให้ได้เรียนรู้อะไรๆ หลายอย่างจึงคิดว่าสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเรื่องราวนี้มาถ่ายทอดต่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน

ประการแรกสุด คงต้องขอหยิบยกประเด็นที่ อดัม ฟิชเชอร์ พูดถึงพฤติกรรมการซื้อแผ่นซีดีของเขาเองว่า “………..เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทุกๆ ครั้งที่ผมซื้อแผ่นซีดีผมคิดว่านี่จะเป็นแผ่นสุดท้าย แต่ผมก็ต้องค่อยๆ ยอมรับอย่างช้าๆ ทีละเล็กทีละน้อยว่า แผ่นซีดีอันถือว่าดีเป็นที่สุด (Ultimate Recording) นั้นเป็นเพียงภาพมายาที่ไม่มีอยู่จริง เสมือนดังที่ผมต้องยอมรับว่าในเวลาไม่กี่ปีมานี้วงออเคสตราและตัวผมเองก็จะเล่นเพลงของเบโธเฟนอย่างแตกต่างออกไปจากเดิม พวกเราเปลี่ยนแปลงกันไปหมด, พวกเราแก่ขึ้น………”

Advertisement

ใช่แล้วเมื่อเราผ่านชีวิตมายาวนานโดยมีเรื่องดนตรีและศิลปะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในชีวิตอันสำคัญ เราจะได้ยินความคิดของศิลปินใหญ่ๆ หรือนักคิดใหญ่ๆ ทั้งหลายที่มีความเสมือนพ้องต้องกันเสมอมาประการหนึ่งก็คือ “สิ่งที่ดีที่สุดอันเป็นอุดมคติ นั้นไม่เคยมาถึงเรา เราไม่เคยสัมผัสมันได้ พวกเราเพียงแต่กำลังเดินทางค้นหามันไปเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้งตลอดชีวิต เราอาจเพียงรู้สึกได้ว่าเราเข้าใกล้มันเข้าไปทุกที แต่เราจะไม่สามารถเข้าถึงหรือสัมผัสมันได้อย่างแท้จริง” มันคือ “โลกของแบบ” โลกแห่งอุดมคติที่ผู้ที่เกิดมาและมีลมหายใจแห่งการเป็นผู้แสวงหาจะเข้าใจในประเด็นนี้ได้ดี ปรัชญาจากการซื้อแผ่นซีดีของอดัม ฟิชเชอร์ สะท้อนปรัชญาชีวิตและศิลปะได้ดี

แล้วการอำนวยเพลงซิมโฟนีชุด 9 บทของเบโธเฟน ของเขาล่ะ สะท้อนปรัชญาอะไรบ้าง?

ต้องยอมรับว่าการที่เราจะเข้าใจในประเด็นหรือ “สาร” ในเพลงซิมโฟนีของเบโธเฟนที่ อดัม ฟิชเชอร์ ต้องการจะสื่อกับเรานั้น ถ้าจะสนุกได้เราควรจะต้องมีพื้นฐาน, ประสบการณ์ในการฟังและรู้จักซิมโฟนีของเบโธเฟนมาอย่างดีพอสมควรก่อน และแน่นอนที่สุดที่เป็นหลักการศิลปะสากลก็คือยิ่งเรามีประสบการณ์มากเท่าใดก็จะยิ่งสนุกสนานกับการเรียนรู้เปรียบเทียบได้มากเท่านั้น

ผู้เขียนเองฟังซิมโฟนีของเบโธเฟนมาหลายสิบปี ตลอดชีวิตของการฟังดนตรี บางครั้งชอบ, ตื่นเต้น, บางครั้งเบื่อเพราะฟังหลายครั้งเต็มที (โดยเฉพาะหมายเลข 7 ที่แสดงสดบ่อยครั้งที่สุดในบ้านเราในฐานะ “Fill-in” ของรายการคอนเสิร์ต) แต่นับถึงปัจจุบันก็เริ่มยอมรับได้อย่างช้าๆ ในลมหายใจและความรู้สึกได้ว่าการบรรเลงซิมโฟนีของเบโธเฟนที่ดีที่สุดคงจะไม่มีอยู่จริงหรอก เราเพียงแค่ได้ยินได้ฟังการตีความในรูปแบบหนึ่งจากความคิดหนึ่ง ในการฟังแต่ละครั้ง ณ เวลานี้การฟังซิมโฟนีของเบโธเฟนจึงไม่ใช่เรื่องของความแปลกใหม่ (เพราะฟังมาตลอดชีวิต) แต่เป็นเรื่องการฟังวิธีคิดทางดนตรี, การเห็นมุมมองทางดนตรีที่ศิลปินต่างๆ มีต่อซิมโฟนีของเบโธเฟนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

และแน่นอนที่สุด งานบันทึกเสียงของอดัม ฟิชเชอร์ ชุดนี้คือความแตกต่างอันสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประสบการณ์การฟังซิมโฟนีของเบโธเฟน

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นี่ไม่ใช่การตีความซิมโฟนีของเบโธเฟนที่ผู้เขียนถือว่า “ดีที่สุด” หรือโปรดปรานมากที่สุด ยังมีการตีความที่ผู้เขียนชอบมากกว่านี้ และโปรดปรานมากกว่าอดัม ฟิชเชอร์ ความชอบ, ความโปรดปรานเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว แต่สิ่งที่ผู้เขียนยอมรับนับถือการตีความของอดัม
ฟิชเชอร์ เห็นจะเป็นเรื่องของความกล้า, ความเก๋าประสบการณ์ จนบางจุดก็ล่อแหลมจนแทบจะเรียกว่าเป็นความบ้าบิ่นของเขา

จุดสำคัญเห็นจะได้แก่ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามอดัมฟิชเชอร์ มีมุมมมอง, ประสบการณ์ในซิมโฟนีของเบโธเฟนที่ก้าวหน้ากว่าผู้ฟังอย่างเราๆ หลายขุม ความกล้า, ความเก๋า ตลอดไปจนถึงใกล้คำว่า “ความบ้าบิ่น” ของเขาล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์และการเรียนรู้มาตลอดชีวิต ไม่ใช่ความกล้าแบบทึกทักเอาเอง, คิดเอาเองยกเมฆเอาเองคนเดียว นี่คือความแตกต่าง

อดัม ฟิชเชอร์เคยออกแผ่นซีดีซิมโฟนีครบชุดของโมซาร์ท (W.A.Mozart) และไฮเดิน (F.J.Haydn) มาก่อนหน้านี้ เขามองเห็นสายธารความต่อเนื่องในพัฒนาการของศิลปะเพลงซิมโฟนีมาก่อนที่มันจะมาสุกงอมในมือของเบโธเฟน เขาเห็นว่า ซิมโฟนีของไฮเดินส่งอิทธิพลอันแรงกล้าต่อการสร้างสรรค์ซิมโฟนีของเบโธเฟน โดยฉพาะหมายเลข 103 ของไฮเดิน เขายืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจซิมโฟนีของเบโธเฟนโดยไม่มีพื้นฐานความเข้าใจต่อซิมโฟนีของไฮเดินมาก่อน แม้ว่าอดัม ฟิชเชอร์ จะเป็นผู้รอบรู้ทางดนตรีที่เรียนมามาก แต่เขาไม่นิยมการตีความดนตรีศตวรรษที่ 18 แบบย้อนยุคแบบที่เรียกกันว่า HIP( Historically informed performance) หรืออาจเรียกว่า Authentic Performance หรือ Period performance เขายืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอในการค้นหาความหมายของดนตรีเหล่านี้ โดยเฉพาะความหมายของดนตรีเหล่านี้ต่อสังคมดนตรี-ศิลปะร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน

อดัม ฟิชเชอร์ มีมุมมองเปรียบเทียบในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ โดยเขาเปรียบเทียบมันกับการกำกับละครเวทีร่วมสมัย

อดัม ฟิชเชอร์ มีมุมมองว่า “……..ผู้กำกับละครเวทีจะต้องถามตัวเองว่า ฉันควรจะทำอย่างไรดีกับบทละครเก่าเรื่องนี้? ฉันควรที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนบทละครนั้น น่าจะสร้างมันขึ้นมาอย่างไรในยุคปัจจุบันนี้ และพยายามที่จะเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนบทต้องการจะพูดและสื่อสารมันออกมา นี่คือปรัชญาของผู้กำกับละครเวที เสมือนกับที่มันเป็นปรัชญาของวาทยกร………” นี่จึงคงเป็นที่มาที่ทำให้การตีความซิมโฟนีเบโธเฟนของเขาในศตวรรษที่ 21 นี้ กลายเป็นเบโธเฟนรูปโฉมใหม่ ที่เราอาจไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่ขัดใจในหลายๆ ประการแต่ก็คงต้อยอมรับว่า มันล้วนเกิดขึ้นจากการคิดวิเคราะห์จนตกผลึกได้มุมมองและแนวคิดใหม่ๆ ในภาษาดนตรีซิมโฟนีของเบโธเฟน

เขาทำให้ดนตรีของเบโธเฟน กลายเป็นรูปโฉมอันโฉบเฉี่ยวเพรียวลม บอบบางคล่องตัวและอาจต้องกล่าวไปในเชิงอัตวิสัยได้ว่าฟังดูมีความใกล้ชิดเป็นกันเองกับผู้ฟัง ซึ่งแตกต่างไปจากซิมโฟนีของเบโธเฟนในอดีตที่มักถูกสร้างให้เสมือนเป็นยักษ์ใหญ่ หรือทรงภูมิ, หนักแน่น และออกไปในทางคล้ายๆ กันว่าทำให้น่าเกรงขาม นั่นคือมุมมองในอดีตที่เรามักคุ้นชินกัน กล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมในรายละเอียดก็คือ อดัม ฟิชเชอร์ จัดสรรองค์ประกอบทางดนตรีของเบโธเฟน ตามมุมมองและการตีความของเขา (ใช่แล้ว เขาคือผู้กำกับละครเวทีร่วมสมัย และเบโธเฟนก็คือผู้เขียนวรรณกรรมบทละครในอดีต) โดยเฉพาะเรื่องของจังหวะ (Tempo)และความดัง-เบา (Dynamic) ที่อดัม ฟิชเชอร์ ดูจะพลิกแพลงมันอย่างยากแก่การคาดเดา

เขามีมุมมองว่า “เรื่องจังหวะเป็นเรื่องที่ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับลักษณะการสะท้อนเสียง (Acoustic) ของสถานที่แสดงนั้นๆ ด้วย และในกรณีนี้สถานที่บันทึกเสียงก็เช่นเดียวกัน จังหวะจะต้องมีความยืดหยุ่นและต้องรักษาความลื่นไหลของมันได้ด้วย”

คำยืนยันนี้แสดงผลในทางปฏิบัติอย่างชัดเจนในงานบันทึกเสียงชุดนี้ของเขา ดังที่ผู้เขียนพรรณนาไปแล้วว่า ฟังดูโฉบเฉี่ยว, เพรียวลม และบอบบางคล่องตัว ความดัง-เบาที่แตกต่างกันจนน่าตกใจ โดยเฉพาะเสียงเบาในบางตอนที่สำคัญๆ อาทิ ช่วงรอยต่อระหว่างท่อนที่ 3 ไปยังท่อนที่ 4 จากซิมโฟนีหมายเลข 5 หรือการเปิดแนวทำนอง “Ode to Joy” โดยกลุ่มเครื่องสายเสียงต่ำในตอนต้นท่อนที่ 4 ของซิมโฟนีหมายเลข 9

ทั้งสองจุดนี้กลายเป็นความเบาจนต้องเงี่ยหูฟัง (การเปิดเพิ่ม Volume ของเครื่องเสียงช่วงนี้อาจทำให้เสีย Momentum ทางการฟังดนตรีไปอย่างน่าเสียดาย) จนดูว่าเขาไม่ใส่ใจเรื่องความสะดวกในการได้ยิน แต่เขาใส่ใจเรื่อง “แรงส่ง” ทางดนตรีในขณะฟังมากกว่า

ถ้าเราจะเอาสกอร์ดนตรีซิมโฟนีเบโธเฟน มาจับผิดการตีความของอดัม ฟิชเชอร์ ตามอักขระตัวโน้ต เราคงจับผิดเขาได้เต็มไปหมด แต่เมื่อเราได้ทราบถึงปรัชญาเปรียบเทียบวาทยกรและผู้กำกับละครเวทีร่วมสมัยของเขาดังที่กล่าวไปข้างต้น เราก็สามารถละวางเรื่องความถูกต้องตามรายละเอียดของสกอร์เพลงได้ อดัม ฟิชเชอร์ ยังกล่าวถึงการตีความดนตรีในศตวรรษที่ 19 เมื่อต้องนำสกอร์ดนตรีในศตวรรษที่ 18 มาบรรเลงว่า มันแตกต่างจากวิถีปฏิบัติในทุกวันนี้พวกเขาจะไม่เพียงเล่นดนตรีไปตามตัวโน้ตและรายละเอียดอย่างเคร่งครัด และก็คงจะแปลกใจทีเดียวที่หากจะต้องเล่นดนตรีตามสกอร์อย่างตายตัว

เขายกตัวอย่างถึงในท่อนสุดท้ายของซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟนที่มาห์เลอร์ (Gustav Mahler) เคยอำนวยเพลงนั้น มาห์เลอร์เพิ่มจำนวนกลอง และกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะเข้าไปอย่างมากเพื่อเพิ่มปริมาณเสียงให้เต็มโรงคอนเสิร์ต โดยไม่ต้องนำพาถึงสิ่งที่เบโธเฟนเขียนไว้ในสกอร์แต่อย่างใด

“…….การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการตีความซิมโฟนีของเบโธเฟนเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต งานบันทึกเสียงซิมโฟนีทั้ง 9 บทในครั้งนี้ ที่เรานำเสนอเป็นลักษณะของความรู้สึกที่แสดงภาพทางความคิดชั่วขณะหนึ่ง ที่ผมมีขึ้นในตอนบันทึกเสียง….” คำกล่าวนี้ของเขาคงเป็นบทสรุปรวบยอดแห่งคำตอบได้ดีว่าทำไมดนตรีซิมโฟนีของเบโธเฟนภายใต้การอำนวยเพลงของเขามันจึงเต็มไปด้วยอะไรๆ ที่น่าประหลาดใจและไม่คุ้นชินมากมาย

วาทยกรและวงออเคสตราศึกษาค้นคว้าถึงความเป็นไปได้ในการตีความซิมโฟนีของเบโธเฟนกันอย่างจริงจัง ชั่วชีวิตและประพฤติ, ปฏิบัติเช่นนี้สืบเนื่องกันมานับร้อยปี ผู้เขียนคิดว่าพวกเราในฐานะผู้ฟังก็ควรไม่น่าที่จะแตกต่างกันศิลปะ-ดนตรีในระดับ “คลาสสิก” ทุกแขนงเป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้, ค้นคว้าและค้นหาอย่างจริงจังตลอดชีวิตผู้อุทิศ, ทุ่มเทด้วยใจรักอย่างจริงจังจึงเท่านั้น จึงจะสามารถรับรู้, รับรส และสัมผัสได้ด้วยตนเอง

อาจกล่าวได้ว่าผู้ฟังเองก็ต้องมีความวิริยะอุตสาหะ อย่างแทบจะไม่แตกต่างไปจากศิลปินผู้สร้างงานเลย เริ่มต้นเราอาจเคารพนับถือเบโธเฟน และสกอร์ดนตรีของเขา มองดูเป็นของศักดิ์สิทธิ์จนไม่กล้าแตะต้อง

เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้ก็เสมือนตำรา, หลักการ หรือคำสอนทั้งหลาย นั่นก็คือ เราต้องเรียนรู้จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ คิดวิเคราะห์ และเกิดวิวาทะทางความคิดใหม่ๆ (อาจกล่าวได้อย่างไม่ไพเราะนักว่า “ฉีกตำรา” หรือ “ล้างครู”)

นั่นจึงควรค่าแก่คำว่า ความสำเร็จอันสมบูรณ์แบบในกระบวนการศึกษา กรณีการตีความใหม่ในดนตรีซิมโฟนีของเบโธเฟน โดยอดัม ฟิชเชอร์ สอนเรามาแบบนั้น!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image