เริงโลกด้วยจิตรื่น : ไม่เป็นมิตร กับ‘ความยุติธรรม’ : โดย จันทร์รอน

หากตั้งคำถามขึ้นมาว่า “เพราะเหตุใด บุคคลจึงปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความยุติธรรมไม่ได้”
คำตอบจะชัดเจนอยู่ในตัวว่า เพราะจิตใจบุคคลนั้นถูกครอบงำ และขับเคลื่อนด้วย

หนึ่ง ความกระหายใคร่อยาก

สอง ความเคียดแค้น ชิงชัง อาฆาตมาดร้าย

สาม ความมุ่งเบียดเบียนคนอื่น

Advertisement

เมื่อถูกสามสภาวะจิตนี้ นำความคิด และการกระทำ บุคคลผู้นั้นย่อมไร้ความสามารถที่จะให้ความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

ในสังคมที่อำนาจ วาสนา ไม่ได้เกิดขึ้น มีอยู่ และรักษาไว้ได้ เพราะบุคคลสร้าง และบำรุงเลี้ยงคุณงามความดีไว้กับจิตใจ

คุณงามความดีในความหมายของสภาวะเปี่ยมเมตตา กรุณา ต่อสังคมส่วนรวม

Advertisement

เป็นวาสนา บารมีที่อำนวยด้วยสภาวะจิตที่กระหายใคร่อยาก หวาดผวาหวั่นความสูญเสียอันแปรเปลี่ยนเป็นเคียดแค้นชิงชังสิ่งที่คิดว่าจะมากระทบกระเทือน

การกระทำเพื่อรักษา ปกป้องจิตใจที่อ่อนแอ หวาดวิตกเช่นนั้นก็เกิดขึ้น

ก่อกำเนิดชีวิตที่ “เป็นมิตรกับความยุติธรรมไม่ได้”

เพราะจิตใจขับเคลื่อนด้วยความหวั่นหวาดว่า “ความยุติธรรม จะเป็นอุปสรรคให้สิ่งที่กระหายใคร่อยากนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ตอบสนองความเคียดแค้น ชิงชัง และเบียดเบียนด้วยหลงว่าความได้เปรียบ ความเหนือกว่าคือเครื่องหมายของการอำนวย คือความสุข”

ทว่าเพราะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ “สภาวะจิตที่ไม่เป็นมิตรต่อความยุติธรรม” จะทำให้ใครเป็นสุขได้จริง

ด้วยการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น บรรยากาศของความเข้าอกเข้าใจ มีมิตรไมตรีต่อกันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดความสงบ อันเป็นความสุขที่แท้จริง

และ “ความยุติธรรม” มีผลต่อ “มิตรไมตรี” อย่างมาก

สังคมที่สมาชิกที่อยู่ร่วมกันสัมผัสไม่ได้ถึง “ความยุติธรรม” หรือสัมผัสถึง “ความอยุติธรรม” อยู่เสมอ อารมณ์ “ไมตรี” หรือ “เมตตา” อันก่อให้เกิดความพร้อมที่จะเข้าอกเข้าใจในกันและกันย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

การอยู่ร่วมกันอย่างรู้สึกว่าครอบคลุมด้วย “อยุติธรรม” ย่อมทำให้อารมณ์ของสังคมนั้นห่างไกลจากความสุขสงบ

เมื่อ “อารมณ์ของสังคมอยู่ในสภาพไม่สุขสงบ” เสียแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลต่อจิตใจของทุกคนที่อยู่ร่วมสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เป็นสังคมที่ผู้คนหวาดระแวงในกันและกัน เกิดจิตใจที่เป็น “อริ” ต่อกันและกัน

“ความไม่เป็นมิตร” อันหมายถึง “ไม่มีไมตรี” นั้น ย่อมส่งผลต่อทุกคน

และที่สุดแล้วเป็นไปไม่ได้เลย ว่าการยอมรับใน “วาสนา บารมี” ของกันและกันจะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ “ไม่เป็นมิตรต่อความยุติธรรม”

ส่งผลให้ “ความกระหายใคร่มี” ไม่ได้รับการสนองตอบ ซึ่งจะก่อให้เกิดความหิวโหยเพราะอาการอยากที่ไม่ได้รับการตอบสนองนั้น

อีกทางหนึ่ง ความเคียดแค้นชิงชัง จะถูกตอบโต้ด้วยสภาวะจิตแบบดียวกัน

ขณะที่ “การปกป้องไม่ให้ตัวเองถูกเบียดเบียนจากความไม่ยุติธรรม” จะเกิดขึ้น

การสร้างจิตใจที่ “ไม่เป็นมิตรต่อความยุติธรรม ให้ครอบงำสังคม” นั้น

ที่สุดแล้ว ไม่มีทางที่ใครจะอยู่อย่างสงบ

อันเป็นความสุขที่แท้จริงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image