อ่านทีละคำ เปิดทีละหน้า ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ปมขุมทรัพย์ ‘ดร.ไซเลอร์’

สไลด์จิตรกรรมฝาผนังทั่วไทยเกือบหมื่นใบ

สำเนารอยพระพุทธบาทกว่า 400 แห่งทั่วเอเชีย

ภาพถ่ายโบราณสถานนับพันรูป

ต้นฉบับล้ำค่าที่ยังไม่ตีพิมพ์

Advertisement

หนังสือเก่า บันทึกการเดินทาง 3 เล่มตีพิมพ์ร่วมสมัยยุคสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา

เหล่านี้คือผลงานและมรดกล้ำค่าจาก ดร.วอร์เดมาร์ ซี ไซเลอร์ นักวิชาการชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ

กลายเป็นข่าวดังชั่วข้ามคืนเมื่อ ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต เปิดเผยขุมทรัพย์ทางวิชาการนี้ พร้อมระบุชัดว่ามีมหาวิทยาลัยชื่อดังจากต่างประเทศทาบทามเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ทว่า ความจริงในใจอยากเก็บไว้เป็น “สมบัติชาติ”

Advertisement

เสียงสนับสนุนจากสังคมไทย นักวิชาการ กระทั่งผู้คนหลากหลายแวดวงหลั่งไหลด้วยความคาดหวังให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ออกตัว” รับลูกอย่างเร่งด่วนก่อนสายเกินไป

น้ำตาที่เอ่อล้นในบางช่วงบางตอนของบทสนทนาเมื่อย้อนเล่าถึง ดร.ไซเลอร์ สะท้อนความผูกพันอันไม่เคยเลือนหายจากความทรงจำ

“เขามุ่งพุทธภูมิ ขอให้ไปอยู่ในพุทธภูมิที่สงบนิ่ง พ้นจากอวิชชาทั้งปวง ดร.ไซเลอร์ เขียนไว้ชัดเจนในบทความของเขา” คือคำบอกเล่าของ ศ.ดร.นิยะดา อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ “เพื่อน” ในวงวิชาการที่ ดร.ไซเลอร์วางใจมอบขุมทรัพย์ไว้เป็นมรดกของชาติ

ต่อไปนี้ คือ เรื่องราวจากปากราชบัณฑิตคนสำคัญที่สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในห้วงเวลานี้

ภาษาอังกฤษ 2 เล่มและภาษาฝรั่งเศส 1 เล่ม ได้แก่ 1. A True Description of the Mighty Kingdoms of Japan and Siam โดย Capt.Roger Manley แปลจากต้นฉบับภาษาดัตช์ ของ Francis Caron and Foost Schoreter ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1671 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 2. A New Voyage to the East-Indies โดย Mr.Glanius ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1682 ที่กรุงลอนดอนเช่นกัน 3. Voyage de Siam : Des Peres Fesuites, Envoyes par le ROY, aux Indes & a la Chine. ตีพิมพ์ร่วมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา


รู้จัก ดร.ไซเลอร์ได้อย่างไร ?

คงต้องย้อนกลับไปนานทีเดียว ประมาณ พ.ศ.2520 ขณะที่ดิฉันทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องปัญญาสชาดกก็ได้รับคำแนะนำจากคุณพ่อสอนศาสนาท่านหนึ่งว่าควรคุยกับ ดร.ไซเลอร์ที่สยามสมาคม เลยตามไปหา แต่ไม่พบ ก็ตามไปที่โรงเรียนนานาชาติแถวสุขุมวิท ซึ่ง ดร.ไซเลอร์เป็นอาจารย์อยู่ วันนั้นคงจะเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของดิฉันไป เป็นวันสำคัญที่สุด เราเริ่มต้นคุยกัน เขาพยายามทุกอย่างที่จะช่วยผลักดันในการทำวิทยานิพนธ์ของดิฉัน ทุกครั้งที่ไปพม่า จะเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์นักวิชาการมาฝาก กระทั่งไปถ่ายรูปจารึก บันทึกเรื่องพระเจ้าทศมิตร ซึ่งก็คือพระเจ้าศุภมิตรในปัญญาสชาดกเพื่อยืนยันว่าชาดกนี้เป็นที่รู้จักของพม่ามาก่อน พ.ศ.2000 ตามที่เข้าใจกัน
ดร.ไซเลอร์รู้ว่าดิฉันค้นคว้าเอกสารโบราณขั้นปฐมภูมิที่หอสมุดแห่งชาติ เวลาเขาติดขัดเรื่องเอกสาร ก็ส่งดิฉันไป

ดร.ไซเลอร์ไม่ได้เรียนจบด้านประวัติศาสตร์หรือศิลปะโดยตรง ?

เขาจบ ดร.ด้านการศึกษา เข้ามาในไทยในฐานะอาจารย์สอนวัฒนธรรมข้ามชาติ เขาเป็นครูที่ดี ดูแลลูกศิษย์ดีมาก ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กซน ไม่เรียนหนังสือจนเข้าสู่ระเบียบ มีจดหมายชมเชยมาก ตัวอย่างความจริงจังของเขาคือ การขนโตกใหญ่เบ้อเริ่มมัดบนหลังคารถโฟล์กเก่าๆ ตอนนั้นคงสอนวิถีชีวิตล้านนา เลยหุงข้าวเหนียว แล้วขอแรงแม่ของนักเรียนที่เป็นฝรั่งทำหมูปิ้ง หมูทอด เด็กฝรั่งนั่งกินกันอุตลุด สุดท้ายอาจารย์ที่สอนต่อมาตำหนิว่า เด็กยูเป็นอะไร หลับหมดเลย (หัวเราะ) กินข้าวเหนียวเยอะไปหน่อย

ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.ไซเลอร์หลังการบรรยายที่สยามสมาคม


บรรยากาศการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไรจาก ดร.ไซเลอร์ ?

เขาทำงานไป ดิฉันก็ทำงานไป เราต่างคนต่างทำงาน โรงเรียนนานาชาติบ่าย 2 ก็เลิกแล้ว เขาก็กลับไปทำงาน วันศุกร์ออกเดินทาง ดิฉันอาจมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตามไปได้ทุกหนทุกแห่ง เพราะเขาไปนอนกลางดิน กินกลางทรายตลอดเวลา แต่มีพระเลี้ยงอาหาร ให้ที่พัก มีเรื่องเล่าว่า เจ้าอาวาสที่วัดพระพุทธบาทสระบุรีเข้มงวดมาก แทบจะไม่มีใครเข้าได้ แต่ ดร.ไซเลอร์สะดวกสบายไปทุกอย่าง เขาไปกินไปนอนอยู่ที่นั่น

เราทำงานกันตลอดเวลา วันดีคืนดี ดร.ไซเลอร์บอก นิยะดามาเดี๋ยวนี้นะ! ไปดูรามเกียรติ์เก่าสุดในไทยที่วัดโพธิ์กัน ดิฉันก็ไปตั้งแต่ 8 โมงเช้าไป คุณไมเคิล ไรท์ ก็ไปด้วย ถัดจากนั้นก็ไปต่อที่จิตรกรรมรามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขาปีน นิยะดาบัญชาการ ดร.ไซเลอร์ถ่ายรูปมา นิยะดาคัด แล้วผลสุดท้ายก็เขียนบทความเรื่องจิตรกรรมรามเกียรติ์ที่เก่าสุดในประเทศไทย ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับไมเคิล ไรท์


ดร.ไซเลอร์ยังขอให้ดิฉันไปดูจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุทัศนเทพวรารามว่าเป็นเรื่องอะไร บางภาพง่ายเหลือเกิน อย่างภาพเทวรูปมีผู้หญิงจุดเทียน ผู้ชายแอบข้างหลัง คือ อิเหนา ตอนบุษบาเสี่ยงเทียน แต่บางภาพทำไม่ได้ อย่างพระกับนางจูงมือกันออกจากวัง หรือว่ายน้ำในทะเล โธ่! กี่ร้อยเรื่อง แต่ที่รู้ก็เยอะเหมือนกัน ดิฉันย่อเรื่อง ทำคำอธิบายให้

ความมีระเบียบของเขา ทำให้ได้เรียนรู้ นิสัยที่ดีงามที่สุดของนักวิชาการคือการมุ่งเข้าสู่ต้นฉบับขั้นปฐมภูมิ ดร.ไซเลอร์กัดไม่ปล่อยในการค้นคว้า เขามีพระไตรปิฎกทุกภาษา ถึงจะไม่รู้ภาษาบาลี แต่ไม่ละความพยายาม บุกไปหาคนที่รู้ ไปแทบทุกวัด ส่วนภาษาสันสกฤต เขายึด ดร.จิระพัฒน์ ประพันธวิทยา ที่ ม.ศิลปากร การสุกเอาเผากินไม่เคยอยู่ในความคิด เขามุ่งมั่นอย่างที่สุดที่จะเข้าถึงข้อมูล

ต้นฉบับของดร.ไซเเลอร์ที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน รื่อง A Buddha Tradition-Buddha Pada-Lanchana and Pada Buddha Footprtint and Feet เขียนภาพลายเส้นโดยนายเมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ระบุปี ค.ศ.1990 เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

ดร.ไซเลอร์มีบุคลิกค่อนข้างเฉพาะตัวซึ่งส่งผลบางอย่างต่อการทำงานเหมือนกัน ?

ดร.ไซเลอร์พูดภาษาไทยดีแต่เป็นคนพูดไม่เป็น อยู่มา 40-50 ปีก็พูดไม่ไพเราะ ฟังแล้วกระด้างหู สอนอย่างไรก็ไม่จำ ชอบพูดว่า นี่! ยูต้องอย่างงี้ๆๆ นะ บางทีคนมาบ่นกับดิฉันว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้น (หัวเราะ) บางครั้งจะได้พิมพ์หนังสือ แต่เรียกร้องมากเหลือเกิน ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ไม่เอา ดิฉันพยายามกล่อมแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายก็ไม่ได้พิมพ์

ได้ให้ความช่วยเหลือในช่วงชีวิตที่ค่อนข้างลำบากและมีปัญหาสุขภาพด้วย?

ในความเป็นเพื่อน มีหน้าที่ต้องเกื้อกูล แต่อย่าให้พูดเลยว่าเกื้อกูล นี่เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของมนุษย์ที่มีมิตรธรรม เขาเองก็ทำให้ดิฉันทุกอย่างในหน้าที่เพื่อนเช่นกัน ดร.ไซเลอร์ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่บ้านดิฉัน เขาก็รู้สึกขอบคุณ แต่ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินที่ได้ทำให้เขา

ทำไมตัดสินใจออกมาเปิดเผยเรื่องขุมทรัพย์ทางวิชาการที่ล้ำค่านี้แทนที่จะตอบตกลงกับมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศไปเลย?

ดิฉันเก็บทุกอย่างของเขาไว้เพื่อประเทศ เพื่อคนรุ่นหลัง ซึ่งจะสะดวกมากหากคุณได้ข้อมูลตรงนี้ เขาทำไว้หมดแล้ว และมีดิฉันที่จะให้ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ได้ อยากให้ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ อย่างรวมบทความประมาณ 30 ชิ้น และต้นฉบับอีกหลายเล่ม ถ้าสังคมจะเห็นคุณค่า พิมพ์ผลงานของเขาได้หรือไม่ ดิฉันจะช่วยทำให้ทุกอย่างไม่ต้องกังวล ดิฉันจะทำให้คนไทยไม่ลืมเขา ให้งานไม่สูญหาย สิ่งที่เขาทำให้ประเทศไทยมีมากมาย เราจะทิ้งผลงานของเขาหรือ นี่คือผู้ชายที่อุทิศทั้งชีวิต ไม่มีครอบครัว ชีวิตมีแต่งานๆๆ ตลอดเวลา เป็นคนเอ็กซ์ตรีมมากๆ ทำให้ชีวิตต้องเป็นเช่นนี้

กิตติศัพท์ของ ศ.ดร.นิยะดา ก็เลื่องลือกันว่าทำงานหนักมากเช่นกัน จึงเป็นจุดที่เชื่อมโยงความรู้สึกและทำให้เข้าใจ ดร.ไซเลอร์ ?

(หัวะเราะ) ดร.ไซเลอร์ดีใจมากที่ดิฉันชำระจารึกวัดโพธิ์ 2,000-3,000 กว่าหลัก ซึ่งไม่ใช่ง่าย ดิฉันไปตั้งแต่เช้า 6 โมงเช้า ใครผ่านไปคงเห็นผู้หญิงคนหนึ่งหิ้วบันได มีผู้ช่วยคือเด็กอนุบาลอ้วนๆ ของวัดโพธิ์ ปีนขึ้นไปคัด ต้องมีทั้งแว่นขยาย ผ้าขี้ริ้ว ปากกา ดินสอ ไฟฉายคาดศีรษะ คงเป็นความโชคดีทีสุดที่ไม่ตกลงมา ถ้าคงตกตาย เพราะสูง 4-5 เมตร ก่อนไปเตรียมข้อูลไปแล้วว่าศาลานี้จารึกว่าด้วยเรื่องอะไร พอจำได้ เราก็พอแกะได้ถึงจารึกจะลบเลือน ส่วน “รัตนมาลา” (พจนานุกรมศัพท์โบราณ) เก็บข้อมูลมา 50 ปี ทำเองกระทั่งพิสูจน์อักษร ทำงานแบบนี้ ใจต้องโปร่ง สงบ นิ่ง เพราะใช้สมาธิสูง สามารถนั่งอยู่บนเก้าอี้ทำงานเงียบๆ คนเดียว โดยไม่ต้องรับรู้อะไร 2-3 อาทิตย์ ทีวีไม่ได้ดูมา 30 ปีแล้ว หนังเรื่องสุดท้ายที่ดูคืออนาคอนด้า จริงๆ ก็อยากมีชีวิตทั่วไป แต่ไม่มีโอกาส ดิฉันมีชีวิตที่ลูกต้องไปโวยกับพ่อว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เวลาจะโทรหาแม่ พ่อต้องโทรไปบอกว่าให้โทรเวลานั้นเวลานี้

ทุกวันนี้ยังทำงานตลอดเวลา มีประชุมที่ราชบัณฑิต งานประจำคือเขียนหนังสือ งานอดิเรกคืออ่านหนังสือ หรือจะกลับกันก็ได้ ยิ่งทำงานยิ่งมีความสุข โชคดีที่ดิฉันเขียนหนังสือได้โดยใช้ปากกาเขียนทีเดียวเลย ไม่ต้องลบ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ ยังเป็นแบบโบราณอยู่ ตอนเช้าเขียนบทความเรื่องหนึ่ง พอทำไม่ได้ก็เก็บ บ่ายทำอีกเรื่องหนึ่งเพราะฉะนั้นถึงทำงานได้มาก

ดิฉันกับ ดร.ไซเลอร์ เวลาทำงาน คุยกันมธุรสวาจา บอกว่าไม่รีบนะ แต่ขอเย็นๆ อีกฝ่ายบอก ไม่รีบเหมือนกัน แต่ขอพรุ่งนี้ (หัวเราะ) สามีดิฉันต้องมาเตือนว่า อย่าไปทำอย่างนี้กับลูกศิษย์นะ

เวลาสอนหนังสือ ถือเป็นอาจารย์ที่”ดุ”ไหม?

เป็นที่เล่าขานกันว่าดุก็ดุ แต่ใจดีที่สุด ลองคิดดู เวลาสอนจารึกให้เด็กปี 2 สมมุติว่าเป็นจารึกสุโขทัย เรามีคำว่า ฉิบหาย อัปรีย์ คนสอน สอนในความหมายเก่า คือ ฉิบ แปลว่า หาย หายแปลว่า ฉิบ ดิฉันบอกพวกคุณกินขนมในห้อง พวกคุณอัปรีย์ ซึ่งมาจากคำว่า อปิยะ แปลว่าคุณไม่เป็นที่รัก เด็กก็หัวเราะ มีความสุข (หัวเราะ)

ในบรรดาผลงานนับไม่ถ้วน ภูมิใจงานไหนที่สุด?

ครั้งหนึ่ง ดิฉันได้ทำภาพชาดกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและระบุว่าเป็นภาพอะไร ให้สำนักพระราชวัง ได้เข้าไปใกล้พระพุทธมหาปฏิมากร เป็นสิริมงคลในชีวิต ด้านหลังพระแก้วมรกต มีชาดกอยู่เรื่องหนึ่ง รู้สึกจะเป็นเรื่องสิริจุฑามณี ได้เข้าไปใกล้พระพุทธมหาปฏิมากร เป็นสิริมงคลในชีวิต เป็นสิ่งที่ดิฉันภูมิใจ

สุดท้าย ขอย้อนมายังเงื่อนไขของหน่วยงานที่จะนำผลงานของ ดร.ไซเลอร์ไปดูแลต่อ มีอะไรบ้าง ?

งานนี้เก็บไว้เพื่อคนที่เห็นคุณค่า ดิฉันไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขอให้มั่นใจว่างานที่ได้มาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต จะไปอยู่ในที่เหมาะสม คุณจะเอางานเขาไปเก็บ ไปแช่ เหยียบย่ำไม่ได้

 

ราชบัณฑิตของแผ่นดินและนิสิตสาว ผู้ไม่เคย”เต้นรำ”

“สารภาพว่าไม่เคยมีบอยเฟรนด์เลย” ประโยคที่ตามมาด้วยเสียงหัวเราะสดใส ของสตรีชื่อว่านิยะดา เหล่าสุนทร ศาสตราจารย์ ระดับ 11 เมื่อย้อนเล่าถึงวันวานครั้งแรกรุ่น เป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2509 จบคว้าดุษฎีบัณฑิต เป็นผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยอันดับต้นๆ ของประเทศ

บุตรสาวของเปรื่อง และคณา สาริกภูติ เป็น “หลานตา” ของ พันตำรวจโท บี. โทวัลเซ็น (Berthel Thorvaldsen) ชาวเดนมาร์กที่เข้ามารับราชการในสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ต้นตระกูล “โทรางกูร” ผู้สร้างคุณูปการแก่เมืองเชียงราย

นี่คือที่มาของเค้าหน้า “ฝรั่ง” อันงดงามสะดุดตา ยากจะเชื่อว่าไร้หนุ่มข้างกาย

“ตอนนั้นสนุกกับการอ่านหนังสือ ประกอบกับพ่อเข้มงวด ไม่คอยอยากให้ใครเข้ามาในบ้าน พวกเราล้อๆ กันว่า 2 ทุ่มปิดประตูวัง แล้วเราจะกลับค่ำได้อย่างไร ยุคนั้นวัยรุ่นไปเต้นรำกัน ดิฉันคงเป็นคนเดียวที่ไม่เคยไปเต้นรำ แต่ไปเรียนภาษาสันสกฤตกับอาจารย์แสง มนวิทูร ที่ตึกแดง ตรงสนามหลวง ตอนนั้นราวๆ ปี 2512 ท่านบอกหนูแปลกจัง (หัวเราะ)” อดีตนิสิตสาวที่ในวันนี้นั่งเก้าอี้ “ราชบัณฑิต” ของแผ่นดิน ใช้ชีวิตครอบครัวกับ “หนุ่มวิศวะ” ที่ตัวบอกว่า “เขาไม่ได้จีบ” แต่โทรหาถามสารทุกข์สุกดิบ 19 ปี มีโซ่ทอง 2 เส้น หญิง 1 ชาย 1 ซึ่งให้กำลังคุณแม่ทำงานเพื่อประโยชน์ของชาติ

ดวงตาของ ศ.ดร.ยังเป็นประกาย มากมายด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขทุกครั้งที่เล่าถึงวรรณคดี ตำรับตำรา อีกทั้งคัมภีร์ต่างๆ อย่าง “ชินกาลมาลีปกรณ์” ของภิกษุล้านนา จนถึง “นาฏยศาสตร์” ของอินเดียซึ่งว่าด้วยการฟ้อนรำ กระทั่งวิธีการนับเลขอย่าง “กหังปายา”

ไม่ถามไม่ได้ว่า วรรณคดีใดกัน คือ ที่สุดในดวงใจของราชบัณฑิตท่านนี้

ได้รับคำตอบในทันทีว่า “พระไตรปิฎก”

เพราะทุกอย่างของชีวิตรวมอยู่ที่นั่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image