เริงโลกด้วยจิตรื่น : พ้นไปจาก‘อ่อนแอ’ : โดย จันทร์รอน

สัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์เราคือ “การปกป้องตัวเอง”
ว่ากันว่าการปกป้องตัวเองนี้เป็นเพราะ “เกิดมาแล้วพึ่งพาตัวเองไม่ได้ทันที” ต้องอาศัยคนอื่นเพื่อช่วยให้อยู่รอด
ใช่อยู่ที่ว่าสัตว์ทุกประเภทย่อมล้วนพึ่งพาตัวเองไม่ได้ในวันแรกเกิด ต้องอาศัยคนอื่น สิ่งอื่นอุ้มชูให้อยู่รอด อย่างน้อยต้องพึ่งผู้ให้กำเนิด
แต่หากมองอย่างพิจารณา จะพบความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์อื่น
มนุษย์เราใช้เวลาที่ต้องอยู่ในความเกื้อกูลช่วยเหลือของคนอื่นยาวนานกว่าสัตว์อื่น
ลองนึกดูว่า กระทั่งอายุเท่าไรที่คนสักคนจะมีชีวิตพึ่งพาตัวเองได้ อย่างรู้สึกได้ว่ามีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่เป็นภาระของใครอีกแล้ว
ลองเทียบกับสัตว์อื่นๆ ดู จะพบว่าคนนั้นเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาในการพึ่งพาคนอื่นยาวนานมาก
ยิ่งมองผ่านชีวิตคนในยุคปัจจุบัน ยิ่งเห็นชัด
หากย้อนไปดูเรื่องราวชีวิตของมนุษย์ในอดีต จะพบว่าแค่อายุ 10 กว่าๆ สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองแล้ว ในวัย 20 ปี ถือเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เป็นพ่อเป็นแม่ที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบในการงานแล้ว
แต่ทุกวันนี้ จำนวนมากที่อายุ 25-30 ปี ยังมีสภาวะจิตที่ไม่พร้อมจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ยังรู้สึกนึกคิดในเชิงต้องพึ่งพาคนรอบข้างอยู่
อาจจะเลยไปถึงความรู้สึกต้องพึ่งพาอะไรต่ออะไรมากมาย ไปจนถึงสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในใจแล้วอ้อนวอนของพึ่งพา
จำนวนมากมีหน้าที่รับผิดชอบ อาจจะเป็นถึงผู้นำ แต่จิตใจยังไม่พ้นสภาวะโหยหาความช่วยเหลือจากใครต่อใคร
ซึ่งจะว่าไป สภาวะจิตที่อ่อนแอ พึ่งพาตัวเองได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลายาวนานขึ้นในการที่จะมีวุฒิภาวะอันหมายถึงเป็นผู้ที่พึ่งพาตัวเองได้นี่เอง ได้สร้างปมปัญหาใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมสังคมเดียวกันมากขึ้น
คนที่มีสภาวะจิตไม่พร้อมที่จะพึ่งพาตัวเอง เมื่อถูกผลักดัน บีบคั้นจากสัญชาตญาณปกป้องตัวเอง ไม่ว่าจะเผชิญอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าเป็นปัญหา จะเที่ยวโทษคนอื่น สิ่งอื่น
โทษว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้บ้าง ไม่ช่วยแก้ไขบ้าง
เพื่อให้ตัวเองพ้นไปจากความรู้สึกผิด ไม่มีความสามารถ คนที่ไม่เติบโตพอจะยังโหยหาความช่วยเหลือจากคนอื่น และเมื่อไม่ได้ตามโหยหา จะโทษคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้
สัญญาตญาณปกป้องตัวเองบดบังเอาไว้ ทำให้มองไม่เห็นว่าปมปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะแรงจากความรู้สึกนึกคิดในทางโหยหาความช่วยเหลือ เกื้อกูลจากคนอื่น สิ่งอื่น
และการมุ่งไปในทางปกป้องตัวเอง โทษคนอื่นนี่เองที่ก่อปัญหาตามมามากมาย ด้วยเมื่อต่างคนต่างโทษกันไปมา สังคมจะเกิดความตึงเครียดขัดแย้งขึ้น นำมาซึ่งความคิดที่จะหาอำนาจ เพื่อใช้บังคับคนอื่น สิ่งอื่นให้ยอมรับว่าเป็นผู้ผิด เป็นความบกพร่อง เพื่อปกป้องตัวเองจากความรู้สึกผิด
สังคมที่เคลื่อนไปด้วยการกระตุ้นให้เกิดสภาวะจิตโทษคนอื่นเช่นนี้ ไม่มีทางจะเป็นสังคมที่มีความสุขได้
ยิ่งผู้ที่เป็นผู้นำของสังคม กลับกลายเป็นตัวอย่างของ “ผู้ที่ถูกครอบงำด้วยสัญชาตญาณปกป้องตัวเอง” และ “โทษคนอื่น” โดยมองไม่เห็นว่า “พัฒนาการชีวิตของมนุษย์” ที่ดีที่สุด คือ “สร้างวุฒิภาวะให้เกิดขึ้นกับจิตตัวเอง”
“วุฒิภาวะ” อันหมายถึงความพร้อมที่จะเข้าตามความเป็นจริง พ้นไปเสียจากภาวะถูกครอบงำด้วยสัญชาตญาณแห่งความอ่อนแอ
ผู้นำที่เอาแต่โทษคนอื่น พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ย่อมนำความเสื่อมมาให้สังคมโดยรวม
แต่ที่เป็นโทษเป็นภัยต่อการอยู่ร่วมกันมากกว่า คือ
การดันทุรังสนับสนุนให้สังคมถูกครอบงำด้วยอำนาจของผู้นำที่เอาแต่ปกป้องตัวเอง โทษแต่คนอื่น เพราะเท่ากับส่งเสริมการสะสมจิตสำนึกที่อ่อนแอให้มาเป็นพลังครอบงำสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image