พินิจ จารุสมบัติ ทัพหน้า ‘งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563’ 8 ปีที่เหนือกว่า ‘กำไร’

และแล้วมหกรรมยางพารายิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสานอย่าง “งานวันยางพาราบึงกาฬ” ก็มีกำหนดจัดขึ้นอีกครั้ง

12-18 ธันวาคมนี้ จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ องค์กรหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน พร้อมใจกันแปลงโฉมสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ จัด “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563” ปีที่ 8 ด้วยแนวคิด “บึงกาฬโมเดล 2020”

ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 ได้ยกระดับการจัดงานให้ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน 5 ประการสำคัญคือ 1.ส่งเสริม จ.บึงกาฬ ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของภูมิภาคและประเทศไทย 2.ผลักดันให้เกิดการค้าขายและการลงทุนของอุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจของบึงกาฬเติบโต 3.ประชาสัมพันธ์นโยบายประกันรายได้ ยางพารา ข้าว และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัฐบาล เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร

4.ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว จ.บึงกาฬ เพื่อเสริมสร้างอาชีพ เพิ่มช่องทางการตลาด ให้ชาวบึงกาฬทุกกลุ่ม และ 5.เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนและคนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เพื่อตอกย้ำว่าจังหวัดบึงกาฬเป็นเมืองศูนย์กลางยางพาราของประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราระดับอาเซียนและระดับโลกต่อไป

Advertisement

ที่ห้องประชุม อาคารข่าวสด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะจัดงานเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แถลงข่าว “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 : บึงกาฬโมเดล 2020” ยืนยันความพร้อมจัดงานอย่างสมบูรณ์แบบ

ที่ห้องประชุม อาคารข่าวสด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะจัดงานเดินทางเข้ากรุงเมพฯ แถลงข่าว ‘งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 : บึงกาฬโมเดล 2020’ ยืนยันความพร้อมจัดงานอย่างสมบูรณ์แบบ

ยางพาราบึงกาฬ ชื่อเสียงขจรขจาย

“กำไรเหลือเกินที่ 8 ปีเราจัดงานมา”

“การจัดงานนี้ไม่ได้หวังผลตอบแทน หวังผลกำไร แต่เราหวังให้เกษตรกรสามารถขายยางพาราที่มีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่ขายน้ำยางสด”

Advertisement

ถ้อยคำสำคัญจาก พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ เน้นย้ำความสำเร็จของการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 8 โดยงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 ยังมุ่งดำเนินการต่อด้วยแนวคิด “บึงกาฬโมเดล 2020”

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลสำเร็จของการจัดงานซึ่งเกิดจากความร่วมมือหลายภาคส่วนล้วนเกิดเป็น รูปธรรม จับต้องได้ กระทั่งชื่อเสียงของ จังหวัดบึงกาฬ ขจรขจายไปไกลยิ่งกว่าประชาคมอาเซียน แต่ยังเลยไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลี ญี่ปุ่น

พินิจกล่าวว่า งานวันยางพาราบึงกาฬเดินทางมาเพียง 8 ปี 8 ฝน ถือว่าระยะเวลายังสั้นมาก แต่แค่ 8 ปี ผลของการจัดงาน ระหว่างจังหวัดบึงกาฬ อบจ.บึงกาฬ เครือมติชนร่วมกับทัพพันธมิตร ได้สร้างผลลัพธ์ที่เป็นคุณูปการต่อประเทศ ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องยางพารามากมาย ซึ่งมีนวัตกรรม มีการเผยแพร่การเรียนรู้ด้านต่างๆ แบบปีต่อปี อีกทั้งมีการเพิ่มพูนอยู่ตลอด ทำให้งานวันยางพาราบึงกาฬเป็นที่โจษขาน สามารถยกระดับเป็นงานเอ็กซ์โปนานาชาติ ต่างชาติเริ่มรู้ เริ่มมาที่บึงกาฬ

“ไม่นานมานี้ได้ไปเจอผู้แทนบริษัทยางรถยนต์บริดจสโตน เขาบอกว่า ถ้าเป็นยางพาราต้องบึงกาฬ นี่แสดงว่าชื่อเสียง เกียรติคุณของงานนี้ได้ขจรขจายไปแล้ว เพราะเราเคยเชิญผู้แทนจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่นร่วมงาน ให้หลายประเทศเหล่านั้นรู้ถึงศักยภาพของไทย นับว่ากำไรเหลือเกินที่ 8 ปีเราจัดงานมา

“งานวันยางพาราได้เผยแพร่ความจริงให้โลกได้รับรู้อย่างมาก ซึ่งการแถลงข่าววันนี้ไม่เฉพาะชาวบึงกาฬ หรือชาวสวนยางทั่วประเทศไทย แต่ในระดับอาเซียน ตลอดจนสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ดีใจว่างานนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาเรื่อยมา” พินิจกล่าว


สู่ผลสำเร็จที่จับต้องได้

นอกเหนือจากที่กล่าวมา รูปธรรมของการจัดงานวันยางพารายังไม่หมดเท่านี้ เพราะยังมีเรื่องการพัฒนาทักษะกรีดยาง เครื่องมือกรีดยาง ผ่านเวทีการแข่งขัน โดยเฉพาะทักษะการกรีดยางซึ่งพินิจมองว่าสำคัญมาก

เมื่อมีเวที ย่อมมีนักแสดง โดยนักแสดงเหล่านี้ประกอบด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ แสดงถึงความสนใจอยากเข้าร่วม มุ่งมั่นอยากเป็นแชมเปี้ยน

“เรื่องทักษะกรีดยางสำคัญมาก ทำให้มีเวทีการแข่งขัน ทุกคนอยากเป็นแชมป์ ได้รางวัล เดี๋ยวนี้ข้ามไปเป็นนานาชาติแล้ว คนลาว เวียดนาม กัมพูชาก็มาร่วมแข่งขัน เมื่อมีเวทีอย่างนี้ คนที่จะมาแข่งได้ต้องเก่ง ต้องฝึกซ้อม วันนี้ทุกสวน เกษตรกร หรือคนกรีดยางได้พยายามฝึกฝน เกิดเป็นเวที พอมีเวทีก็มีผู้แสดง ซึ่งผู้แสดงนี้ก็กระจายไป ทำให้คุณภาพการกรีดดีขึ้น สวนยางพาราดีขึ้น คุณภาพ น้ำยางดีขึ้น ทุกอย่างเพอเฟกต์” พินิจกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าราคายางพาราจะตกต่ำอย่างไร ชาวบึงกาฬก็ไม่เคยลงถนนประท้วง

เหตุที่ยังอยู่ได้ พินิจมองว่า ยุทธศาสตร์สำคัญคือเกษตรกรสวนยางพาราบึงกาฬได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง สหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด เพื่อนำน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ หมอนและที่นอนยางพารา ดังนั้น เมื่อเกษตรกรลงมือทำเอง ขายเอง หากได้กำไรก็รับกันไปตรงๆ

“บึงกาฬส่งเสริมให้เกษตรกร หรือสหกรณ์บึงกาฬแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางสดเป็นหมอนยางพารา โดยกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเจ้าของโรงงานเอง ผลประโยชน์หรือมูลค่าเพิ่มจึงตกกับเกษตรกร ไม่ใช่นายทุนมาแปรรูป เมื่อเกษตรกรรวมกลุ่มกันแล้วสามารถตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำได้ มูลค่าเพิ่มของเกษตรกรก็จะได้มาก ไม่ต้องคอยกังวลว่าราคายางจะต่ำ จะสูงเท่าไหร่ เพราะแปรรูปเอง ขายผลิตภัณฑ์เอง อีกทั้งราคาหมอนยาพาราในตลาดแน่นอนอยู่แล้ว ไม่เคยลดลง ยุทธศาสตร์นี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องที่สุด

“งานนี้อาจมีทีเด็ด ผมกำลังเจรจากับผู้นำเข้าหมอนยางพาราขนาดใหญ่ที่สุดของจีน มีสาขา/ตัวแทนอยู่ราว 2,800 แห่งในจีน ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจาเชิญชวนร่วมงาน ตลอดจนการเจรจาทำสัญญารับซื้อหมอนยางพารา เหล่านี้ล้วนเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ของการจัดงานยางพาราบึงกาฬ” อดีตรองนายกฯกล่าวอย่างมั่นใจ

ธวัชชัย ศรีทอง

ขานรับหลักการ
‘บึงกาฬรับเบอร์อีโคโนมิกคลัสเตอร์’
มุ่งสู่ฮับยางพาราระดับประเทศ

แม้ว่าพ่อเมืองบึงกาฬจะติดภารกิจอื่น จนพลาดการแถลงข่าวไป แต่ได้ส่งตัวแทนคือ ธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ผู้คลุกคลีกับงานวันยางพาราบึงกาฬเป็นอย่างดีเข้าร่วม

ธวัชชัยกล่าวว่า จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 7 ของประเทศ มีพื้นที่การปลูกกว่า 8.8 แสนไร่ มีการผลิตเป็นยางถ้วยกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม และจำเป็นต้องแปรรูปเป็นนวัตกรรม อย่างไรก็ดี ส่วนของจังหวัดที่ดำเนินการไปแล้วด้านการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราคือ มีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเมื่อปี 2560 ได้รับงบประมาณ 193 ล้านบาท เพื่อทำโรงงานต่างๆ ให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น โรงผลิตน้ำยางข้น โรงผลิตนวัตกรรมเป็นหมอน ที่นอน หรือนวัตกรรมที่ส่งเสริมมูลค่ายางต่างๆ

“เป้าหมายที่จะดำเนินต่อไปคือตอบสนองความเห็นชอบในมติ ครม.สัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์ ในหลักการที่ให้เราเป็น “บึงกาฬรับเบอร์อีโคโนมิกคลัสเตอร์” หรือเป็นหัวหน้ากลุ่มยางพารา ได้งบประมาณราว 1,400 ล้านบาท ในการทำนวัตกรรมยางพาราให้เป็นระบบ ซึ่งเราประชุมติดตามงานตลอด เช่น การออกแบบโรงงาน จุดรับซื้อยาง นวัตกรรม รวมทั้งการทำการตลาด” รองผู้ว่าฯบึงกาฬกล่าว

ทั้งนี้ ผลสืบเนื่องจากการจัดงานวันยางพารายาวนานถึง 8 ปี ยังส่งผลให้จังหวัดได้รับประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะด้านความร่วมมือ ลงนามเอ็มโอยู ซึ่งฝ่ายราชการได้ร่วมกับสมาคมยางพาราในพื้นที่ ลงนามกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ในการช่วยเหลือเรื่องความรู้ รวมทั้งนวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนการเจรจาซื้อขายอีกจำนวนมาก

วันนี้ จ.บึงกาฬ จึงมีความพร้อม เต็มใจ และเต็มที่ ที่จะสนับสนุนการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 และรองผู้ว่าฯธวัชชัยยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานจะสามารถกระตุ้นเตือนให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าการผลิตมากขึ้นได้

นิพนธ์ คนขยัน

‘แปรรูปเพิ่มมูลค่า’ หนทางแก้วิกฤตยางพาราไทย

ไม่ว่าก่อนหน้านี้ นิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ จะพูดถึงการแก้ปัญหายางพาราไทยอย่างไร วันนี้เขายังยืนยันคำพูดเช่นเดิม นั่นคือ ต้องแปรรูป เพิ่มมูลค่า ระบายยาง

นิพนธ์เอ่ยถึงผลผลิตยางพาราของประเทศไทยซึ่งประมาณ 1 ปี มีผลผลิตราว 4 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 1 ล้านตัน แต่อีก 3 ล้านตันต้องขายออกนอกประเทศหรือให้นายทุน ฉะนั้น ความหวังของประเทศในวันนี้จึงอยู่ที่ “รัฐบาล” เพราะสถานการณ์ดีมานด์ ซัพพลายไม่ได้ต่างกันมาก และรัฐบาลซึ่งทำถูกทางแล้วแต่ยังไม่ถึงที่สุด จำเป็นต้องเร่งขันเกลียวให้เร็วกว่านี้

แน่นอน เจ้าตัวเสนอทางออกให้ นั่นคือการนำยางพารากว่า 3 ล้านตัน เข้ากระบวนการแปรรูป เพิ่มมูลค่าสินค้า เกษตรกรถึงจะอยู่รอด โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐทุกแห่งควรสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น หมอนและที่นอน และต้องซื้อจากสถาบันเกษตรกรเท่านั้น

“วันนี้ปริมาณยาง 3 ล้านตันในประเทศจิ๊บจ๊อย ใช้ในประเทศหมด หากทุกอย่างทำจากยางพารา เช่น ศูนย์เด็กเล็กจำเป็นต้องมีชุดเครื่องนอน ก็ให้ใช้หมอนและที่นอนจากยางพารา หรือส่วนตัวเกณฑ์ทหาร รับใช้ชาติ 2 ปี ก็สนับสนุนให้ทหารเกณฑ์นอนที่นอน หนุนหมอนยางพารา เมื่อปลดประจำการแล้วก็เอากลับไปด้วย หน่วยงานของรัฐต้องใช้ให้หมด

“ดังนั้น จึงฝากให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา โดยซื้อจากสถาบันเกษตรกรเท่านั้น หากเดินสูตรนี้ วิกฤตยางพารา 3 ล้านตันที่ไทยมีอยู่จะหมดลงแน่นอน” นิพนธ์กล่าวย้ำ

ก่อนสุดท้ายจะเปิดพื้นที่ให้ “ขายของ” นายก อบจ.ไม่พลาดจัดเต็ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด จะนำไปจำหน่ายในงานคือ “หมอนยางพารา” ราคา 299 บาท จำนวน 10,000 ใบ และ “ที่นอนยางพารา” ขนาดยาว 6 ฟุต หนา 10 เซนติเมตร จำหน่ายในราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท หากสนใจจองในจำนวนมาก สามารถลงชื่อในงานและจะมีบริการจัดส่ง พร้อมคิดค่าจัดส่งเล็กน้อยให้ในภายหลัง

ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่นำมาจำหน่าย หากแต่ “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563” ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมให้ความรู้ ความบันเทิงมากมาย รอให้ไปพบกันวันที่ 12-18 ธันวาคมนี้ ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬพราะถ้าพลาดครั้งนี้…รออีกทีปีหน้า

 

12-18 ธันวา ‘งานวันยางพาราบึงกาฬ’ กิจกรรมแน่น 6 คืน 7 วัน

ตลอดระยะเวลาการจัดงานยางพาราบึงกาฬ 2563 ทั้ง 6 คืน 7 วัน เต็มไปด้วยกิจกรรมสร้างความรู้ ส่งเสริมรายได้ และความบันเทิงครบครัน

ตั้งแต่ โซนนิทรรศการ อาทิ สวนไฟเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และนิทรรศการขบวนเรือพระราชพิธี “พระเสด็จโดยแดนชล”, บึงกาฬโมเดล 2020 นำเสนอ 7 ปีกับความก้าวหน้า “เมืองศูนย์กลางยางพารา” แบบอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหา และพัฒนายางพาราอย่างเป็นระบบ, ผลงานนวัตกรรมจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

กิจกรรมสร้างความรู้ เสริมรายได้ อาทิ เสวนา “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ, เสวนาแผนการพัฒนาเมือง สู่เมืองแห่งความสุข, กิจกรรมมากมายในโซนบึงกาฬลานเด็กเล่น เช่น กิจกรรมประกวด และสอนวาดรูป-ระบายสี สำหรับเด็ก โดย สมาคมการ์ตูนไทย, กิจกรรม “เก่งวิทย์ คิดสนุก”, ดูเมฆ ดูท้องฟ้า, พับไดโนเสาร์ 3 มิติ และพับกระดาษโอริงามิ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ, โซนบึงกาฬจานเด็ด เปิดห้องอบรมอาหาร ทำง่าย ขายได้ สร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว โดย เชฟจารึก ศรีอรุณ และเชฟทรงพล วิธานพัฒนา

เวทีแข่งขัน แข่งขันกรีดยางพารา กองเชียร์ยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย และการแข่งขันลับมีดกรีดยาง, “ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2020” การประกวดหาสุดยอดวงดนตรีเยาวชนภาคอีสาน, ครั้งแรกกับเวที “คาราบาวบึงกาฬลั่นทุ่ง 2020” ประกวดร้องเพลงน้องใหม่ เฟ้นหาสุดยอดนักร้องเสียงอีสาน, แข่งขันกีฬาวันยางพารา จ.บึงกาฬ ประจำปี 2562

ช้อปปิ้ง สินค้าโอท็อปของดีเด่นไม่ควรพลาด รวมทั้ง “บึงกาฬมอเตอร์โชว์” จัดจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ราคาพิเศษ

จัดเต็ม คอนเสิร์ตมอบความบันเทิง อาทิ คืนแรก 12 ธันวาคม พบกับ “คาราบาว” เต็มวง, 15 ธันวาคม พบกับ “เสก โลโซ”, วันที่ 18 ธันวาคม มันส์ไปกับ “หมอลำคณะระเบียบวาทะศิลป์”

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 วันที่ 12-18 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ

แล้วพบกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image