เปิดโลกนวัตกรรม ‘เทคโนโลยีผลิตอาหารขั้นสูง’ นิยามใหม่แห่งอนาคต

ไม่เพียงแต่ช่วยให้ท้องอิ่มและมีพลังงานเพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ เท่านั้น ทว่า อาหาร ยังสำคัญในแง่ความรื่นรมย์ การเสริมสร้างสุขภาพ และยังเป็นโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญอีกด้วย

ไม่แปลกที่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกต่างพยายามแข่งขันกันในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ การเงิน และความอัจฉริยะของระบบอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (ไอโอที) แต่ความจริงแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันและจำเป็นต้องพัฒนาให้ก้าวไกลควบคู่กันคือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีในกลุ่มอาหาร หรือที่เรียกว่า อาหารแห่งอนาคต

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม เผยว่า เทคโนโลยีผลิตอาหารขั้นสูง หรือ Advanced Food ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิถีชีวิตความต้องการบริโภคอาหารของคนในปัจจุบันเริ่มมีความต้องการมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และดีต่อสุขภาพไปในคราวเดียวกัน โดยเทคโนโลยีการผลิตอาหารขั้นสูงถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายแก่อุตสาหกรรมอาหารและผู้ผลิตอย่างเลี่ยงไม่ได้

“เทคโนโลยีผลิตอาหารขั้นสูง” เกิดจากแนวโน้มการบริโภคของประชากรโลกที่มีความสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูง การเกิดภัยแล้ง และอุทกภัยจนเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนวงการอาหารให้พัฒนาและเกิดเป็นนวัตกรรมการผลิตอาหารขั้นสูง ซึ่งเป็นการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนโดยใช้วัตถุดิบการผลิตที่น้อยแต่ได้คุณค่าโภชนาการสูงด้วยเทคโนโลยี กระบวนการ หรือเทคนิคการแก้ไขดัดแปลงพันธุกรรม สามารถผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ มีความยั่งยืน และเพียงพอต่อความต้องการอาหารของประชากรทั่วโลก

Advertisement

สำหรับ ผลลัพธ์ทางนวัตกรรม ที่สำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตอาหารขั้นสูง ประกอบด้วย 1.ช่วยสร้างอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย เช่น อาหารที่ปลอดกลูเตน, อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง 2.เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยการเพิ่มระยะการสะสมน้ำหนักเมล็ด หรือความอวบของเมล็ด โดยการระบุหาตำแหน่งยีนควบคุมลักษณะเชิงปริมาณ ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้พืชสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีผลผลิตจำนวนมาก 3.เพิ่มความทนทานของพันธุ์พืช โดยเฉพาะภัยแล้งที่มักมีผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตร 4.เพิ่มความต้านทานโรคในพืช และ 5.ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น การสร้างผลิตภัณฑ์โปรตีนสังเคราะห์

ด้าน รูปแบบธุรกิจ ที่สามารถนำไปต่อยอดจากเทคโนโลยีดังกล่าว อาทิ การสร้างรายได้จากข้อมูลการเกษตร โดยเกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการรวบรวมข้อมูลจากระบบโซลูชั่นดิจิทัล AI และบิ๊กดาต้าที่ติดตั้งในฟาร์ม ข้อมูลที่รวบรวมได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับแต่งจีโนมเพื่อพัฒนาคุณภาพอาหาร เพิ่มผลผลิตพืช และเพิ่มความต้านทานต่อโรคพืช, สร้างเป็นธุรกิจการเปลี่ยนของเสียเป็นบรรจุภัณฑ์ นำเศษขยะหรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากการเกษตร ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการทำเป็นบรรจุภัณฑ์และหีบห่อที่มีมูลค่าได้, การพัฒนาตลาดดิจิทัล อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนในการช่วยจัดหาช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกรและลูกค้าโดยตรง

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

Advertisement

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า อนาคตเทคโนโลยีการผลิตอาหารขั้นสูงจะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารมีความปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และมีความยั่งยืน เพียงพอต่อความต้องการของประชากรทั่วโลก ซึ่งเอ็นไอเอได้ให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวทั้งการส่งเสริมสตาร์ตอัพด้านฟู้ดเทค และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลตกกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ, การผลิตโปรตีนทางเลือก, โครงการสเปซ-เอฟ : Space-F ซึ่งเป็นกิจกรรมการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมอาหารร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไทยยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

“การพัฒนาดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมุ่งหวังให้เป็นเครื่องจักรสำคัญสำหรับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มสตาร์ตอัพด้านอาหารเพื่อรองรับและแก้ไขสภาวะขาดแคลนอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากปัญหาผลกระทบจากสภาพแวดล้อม และปริมาณความต้องการบริโภคของประชาชนที่ไร้ขีดจำกัด ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบสูงในด้านอุตสาหกรรมอาหารอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะพัฒนานวัตกรรมอาหารให้เกิดขึ้นในหลากหลายมิติ

ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้ประโยชน์ในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถกระจายคุณค่าเหล่านั้นไปสู่นานาชาติในฐานะ ‘ครัวโลก’ ได้อีกด้วย”

ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือโทร 0-2017-5555 หรือเว็บไซต์ www.nia.or.th หรือเพจเฟซบุ๊ก niathailand

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image