ตามหา ‘วัดร้างในบางกอก’ ประภัสสร์ ชูวิเชียร’ กับหลักฐานการเกิดขึ้น กรุงเทพฯ-กรุงธนบุรี

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร (แฟ้มภาพ)

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางโลกโซเชียล และโลกจริงสำหรับข่าว “อ.โบราณคดี ‘เดินเท้า’ 2 ปี ตามรอยแผนที่สมัย ร.5 พบ ‘วัดร้าง’ ที่สูญหายเกือบ 20 แห่ง”

สำหรับโลกโซเชียล ด้วยยอดแชร์ล่าสุดที่มากถึง 116,400 ครั้ง พร้อมขึ้นแท่นเป็นข่าวยอดนิยมอันดับ 1 ของทางเว็บไซต์มติชนออนไลน์ คือ หลักฐานยืนยัน

สำหรับโลกจริง การถามถึงและหาคว้าหนังสือ “วัดร้างในบางกอก” มาครอบครองเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

นี่คือผลงานจากความพยายามถึง 2 ปี ในการเสาะสำรวจวัดร้างต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและกรุงธนบุรีของ ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ที่สุดก็ได้เรียบเรียงประสบการณ์นี้มาเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว

Advertisement

งานเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าวจะมีขึ้นในวันนี้ (18 มิถุนายน) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ หลังเสวนา ประภัสสร์จะเป็นผู้พาทัวร์วัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ สองวัดร้างฝั่งธนบุรีอีกด้วย

พ้นไปจากนี้ นี่คือหลากคำถามที่สังคมมีต่อประเด็น “วัดร้าง” และความพยายามในผลงานที่กำลังได้รับการจับตาของอาจารย์หนุ่มผู้นี้

จุดเริ่มต้นของงาน “วัดร้างในบางกอก”?

ความจริงหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่จุดประสงค์หลัก แต่เป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมทำอยู่ คือการสำรวจเกี่ยวกับวัดวาอารามในกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรี ที่มีศิลปกรรมที่เก่าแก่มากๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) ชื่อว่าศิลปกรรมในบางกอก ที่เป็นการสำรวจติดตามศึกษาว่าวัดในฝั่งธนบุรีมีศิลปกรรมอะไรอยู่บ้าง แล้วก็พบว่ามันเก่ากว่าฝั่งกรุงเทพฯมาก อยู่ในรุ่นอยุธยาเลยทีเดียว

Advertisement

ด้วยความที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯอยู่แล้ว เลยใช้เวลาว่างออกเดินสำรวจ ไม่ได้เป็นการออกเดิน 2 ปีนะครับ ผมไม่ใช่ฟอเรสต์ กัมป์ (หัวเราะ) แต่เป็นการใช้เวลาทีละเล็กทีละน้อย รวมเวลาแล้วก็ 2 ปี ซึ่งเดิมจุดประสงค์คือการเก็บข้อมูลวัดวาอารามในกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรี บังเอิญว่าวันหนึ่งก็ไปเจอหลักฐานตรงนี้ขึ้นมา เลยกลายเป็นประเด็นว่า มันมีวัดร้างอยู่ วัดที่ไม่มีการใช้งานแล้ว เลยลองสำรวจ เอามาเขียนเป็นบทความเสนอตีพิมพ์ในนิตยสารเมืองโบราณ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม จากนั้นศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชนรวมเล่มให้ หนังสือเล่มนี้จึงถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการทำงานหลักของผม (ยิ้ม)

วัดร้างทั้งในกรุงเทพฯและในฝั่งธนบุรียังมีมากกว่าที่สำรวจมาหรือไม่?

ผมว่าอาจจะมี แต่ไม่ได้ปรากฏตัวให้เราเห็นว่าอยู่ที่ไหน เท่าที่ผมสืบมามีหลักฐานอยู่ อย่างการปรากฏชื่ออยู่บนแผนที่เก่า หรือว่ามีคำบอกเล่าว่าตรงนี้มีอยู่ แต่จะมีมากกว่านี้หรือไม่อันนี้ไม่รู้ อย่างที่บอกคืองานชิ้นนี้ไม่ได้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่สามารถที่จะตามหาวัดที่เคยมีอยู่ได้ครบถ้วนจริงๆ

นอกจากแผนที่เก่าในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ใช้อะไรเพื่อที่จะตามหาอีก?

แผนที่เก่าของกรุงเทพฯ ซึ่งมีหลายฉบับที่กรมแผนที่ทหารได้เอามาตีพิมพ์ใหม่อยู่ที่ห้องสมุดนี่แหละ เราก็เอามาดูว่าฉบับใดที่ใช้ได้บ้าง เพราะการสำรวจวัดในกรุงเทพฯต้องรู้ภูมิประเทศเก่าด้วยว่าพื้นที่บริเวณตรงนั้นเป็นอย่างไร วัดตั้งอยู่ตามคลอง ดังนั้น เราก็ต้องดูว่าเคยมีคลองอยู่ตรงนี้หรือเปล่า เราก็ต้องใช้แผนที่เก่า

แต่ความจริงตั้งต้นก็ใช้แผนที่ปกตินี่แหละ ใช้แผนที่กรุงเทพฯที่เขาขายกันเป็นแผ่นๆ (ยิ้ม) ก็ดูเป็นพื้นฐานว่าถนนหนทางทางเข้าเป็นอย่างไร แล้วเราก็ใช้แผนที่เก่ามาดูด้วยว่าภูมิประเทศเก่าเป็นอย่างไร พอเจอชื่อวัดที่ไม่ปรากฏในปัจจุบันแต่ปรากฏในแผนที่เก่าก็ต้องออกสำรวจ นอกจากนี้ก็ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของแนสด้า ซึ่งเป็นภาพถ่ายดาวเทียมของกรุงเทพฯ ช่วยในการสำรวจได้เช่นกัน

งานลักษณะนี้มีคนเคยทำมาก่อน?

มี และค่อนข้างเยอะด้วย ถ้าเป็นงานสำรวจในกรุงเทพฯและฝั่งธน คือ น. ณ ปากน้ำ กับอีกหนึ่งคือทีมงานของเมืองโบราณ ทีมงานของศรัณย์ ทองปาน, กฤช เหลือลมัย ก็เคยทำงานแบบนี้ เก็บข้อมูลวัดร้าง วัดในสวน ซึ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อเจอแล้วจะช่วยอธิบายการเกิดขึ้นของกรุงเทพฯได้ สำหรับความท้าทายของงานนี้คือ ต้องทำให้ได้อย่างที่เขาเคยทำและอาจจะต้องทำให้ดีกว่าด้วย เพราะ 1.การคมนาคมดีกว่า 2.เทคโนโลยีดีขึ้น และ 3.เรามีวิชาโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะจับไปตีความ อย่าง น. ณ ปากน้ำ แม้ท่านจะเป็นอาจารย์ แต่ก็ทำงานแบบศิลปิน ทางกลุ่มของวารสารเมืองโบราณก็เป็นงานเชิงสำรวจเป็นส่วนใหญ่ แต่เราอยากลงไปในเชิงวิเคราะห์

ประภัสสร์ ชูวิเชียร.02jpg

วัดร้างที่ไปสำรวจแล้วประทับใจที่สุด?

วัดนาค ประทับใจในตัวหลักฐานที่เก่ามากๆ ตั้งแต่อยุธยาตอนต้น อีกแห่งคือวัดสวนสวรรค์ ซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์มาก ยังมีโบสถ์หรือหลักฐานต่างๆ เหลืออยู่ ขณะที่บ้านเรือนผู้คนก็รายล้อมอยู่ โบสถ์และปูนปั้นสวย ให้บรรยากาศโรแมนติกมากสำหรับผม (ยิ้ม) วัดแห่งนี้ หลังๆ ชาวบ้านก็เข้าไปปัดกวาดเช็ดถู มีงานไหว้หลวงพ่อดำ

ส่วนใหญ่ของวัดร้าง พระพุทธรูปก็จะชื่อประมาณนี้ แสดงว่าวัดถูกตัดขาดจากอดีตไปแล้ว ไม่มีใครรู้ชื่อที่แท้จริง แต่เรียกตามหลักฐานที่เจอ เช่น พระพุทธรูปลงรักสีดำแล้วปิดทองแต่ทองลอกหมดแล้วเหลือแต่สีดำก็เรียกหลวงพ่อดำ ขณะที่ทำจากหินทรายสีแดงก็เรียกหลวงพ่อแดง เป็นต้น เป็นคำเรียกง่ายๆ ตามปากชาวบ้าน

คนในชุมชนมีส่วนช่วยในการทำงานนี้?

มี เพราะบางครั้งเราเจอวัดพวกนี้ได้ก็ด้วยการถามทาง ชาวบ้านช่วยบอกว่าอยู่ตรงไหน แต่จุดอ่อนที่สุดของผมคือ ผมทำงานกับคนไม่เป็น เนื่องจากเราไม่ใช่นักมานุษยวิทยา ก็เลยไม่ค่อยชอบคุยกับคน จึงยังขาดเรื่องความคิดคนกับโบราณสถาน ความเชื่อคนกับโบราณสถาน เชื่อไหมว่าผมไปสำรวจมา 20 กว่าวัด ไม่ได้ผูกมิตรหรือรู้จักกับชาวบ้านสักคน เข้าไปเดินถ่ายรูป ไม่ได้ลงไปในมิติคุยกับคน ซึ่งน่าเสียดายเหมือนกัน ถ้ามีมิตินี้ด้วยจะทำให้งานสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

การมีอยู่ของวัดร้างเหล่านี้สะท้อนอะไรบ้าง?

สะท้อนว่ากรุงเทพฯไม่ได้เกิดมาจากความว่างเปล่า แต่แรกเริ่มเป็นชุมชนขนาดเล็กมาก่อน ชุมชนกระจายตามลำน้ำลำคลอง แล้วค่อยๆ ใหญ่ขึ้น สุดท้ายพอเป็นราชธานีศูนย์รวมมาอยู่ตรงนี้ ทำให้รอบนอกกลายเป็นชานเมือง

วัดร้างบางแห่งทำให้เข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์ เส้นทางต่างไป อย่างวัดนาค ที่บอกว่าอยู่ริมคลองสนามชัย คลองนี้เคยถูกกล่าวถึงว่าเป็นเส้นทางการเดินทางจากอยุธยาไปสู่หัวเมืองทางใต้ เป็นทางออกทะเลเก่า แต่ยังไม่เคยมีใครพูดถึงหลักฐานเก่ามากขนาดนี้ ซึ่งปรากฏว่าพอมาเจอวัดนี้ ก็ชัดเจนเลยว่าอยุธยาใช้เส้นทางนี้มาออกทะเลอ่าวไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น

หลักฐานที่เราเจอทั้งวัดร้างและไม่ร้างวันนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจว่ากรุงเทพฯเกิดขึ้นมาอย่างไร เกิดมาจากส่วนไหนก่อน ตรงไหนเก่ามากๆ แล้วค่อยๆ ขยายไปทางไหน พูดง่ายๆ คือทำให้เราเห็นพัฒนาการของกรุงเทพฯ และภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯนั่นเอง

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้วัดร้าง?

ผมสรุปเป็นสาเหตุใหญ่เลยคือ

1.สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เพราะธนบุรีเป็นฐานที่มั่นของพม่าที่ยกทัพมาจากทางใต้ มังมหานรธา ตีหัวเมืองต่างๆ ราบคาบมาเลยตั้งแต่ชุมพร เพชรบุรี ราชบุรี ตีทวนลำน้ำขึ้นมา และก็ตีเมืองธนบุรีได้ เพื่อบีบอยุธยาจากด้านนี้ ทำให้วัดแถบนี้ร้าง ขึ้นไปจนถึงเมืองนนทบุรีด้วย วัดในกรุงเทพฯหลายแห่งเคยเป็นวัดร้างมาก่อน เพิ่งมาฟื้นฟูตอนหลัง

2.การสร้างกรุงเทพฯ วัดบางวัดได้รับการฟื้นฟู ขณะที่บางวัดไม่ได้รับ อันเนื่องมาจากประชากรยุคแรกเริ่มนั้นยังเบาบางอยู่ บางวัดก็ถูกทิ้งร้างไป รวมศูนย์อยู่ในชุมชนใหญ่ๆ เป็นต้น

และ 3.สงครามโลกครั้งที่ 2 บางวัดก็โดนทิ้งระเบิดเสียหาย อย่างวัดน้อยทองอยู่ ตรงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี วันนี้เหลือมณฑปหลังเดียว พื้นที่บางส่วนเป็นถนน

ชุมชนกับวัดร้างปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันไหม?

ก็มี วันนี้วัดร้างเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน แม้ไม่มีพระสงฆ์ แต่ประชาชนก็ยังให้ความนับถือ บางที่ถูกเพิ่มเติมความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการบนบานศาลกล่าว ขอหวย ถูกหวยสักงวดพระก็ศักดิ์สิทธิ์แล้ว (หัวเราะ) ก็เป็นวัดหนึ่งของเขาแหละ เพียงแต่ไม่มีพระจำวัดอยู่

ผมแบ่งเป็นระดับต่างๆ ได้ว่า 1.ชุมชนใช้เป็นพื้นที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ 2.ปล่อยปละละเลย แต่คนในชุมชนก็ไม่ได้ทำลายอะไรให้เสื่อมตามสภาพ กับ 3.คือเปลี่ยนไปเลย อย่างวัดพระยาไกร ซึ่งปัจจุบันเป็นเอเชียทีค, วัดกระดังงา ฝั่งธนบุรี ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านเรือนคน

อย่างหลังนี่เป็นปัจจัยที่น่าคิด คนกับพื้นที่ไม่สัมพันธ์กัน คนมีการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่พื้นที่มีเท่าเดิม ความต้องการใช้พื้นที่สูง ดังนั้น ขอให้มีพื้นที่อยู่เขาก็อยู่ ไม่กลัวหรอกว่าเป็นวัดหรืออะไร ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าวัดที่ไปสำรวจมาเหล่านี้ อนาคตก็อาจจะไม่เหลืออะไรเลย ถ้าเกิดปรากฏการณ์ขยายตัวประชากรเยอะขนาดนี้ และไม่ได้อนุรักษ์ไว้

หน่วยงานทางราชการควรที่จะมีบทบาทอย่างไรกับกรณีนี้?

ก็ต้องทบทวนว่าหน่วยงานราชการไหนที่ต้องมีบทบาท 1.กรุงเทพมหานครที่เป็นเจ้าของพื้นที่โดยตรง 2.ถ้าพูดถึงความเป็นโบราณสถานก็ต้องเป็นศิลปากร 3.ผู้ถือครองสิทธิในพื้นที่ศาสนสถานก็คือกรมการศาสนา ทั้ง 3 หน่วยนี้น่าจะเป็นหน่วยงานราชการหลักที่หากให้ความสำคัญกับหลักฐานตรงนี้ก็น่าจะเกี่ยวข้อง และมีบทบาทกับพื้นที่จริงๆ หน่วยงานที่คิดว่ามีบทบาทมากที่สุดก็คงเป็นกรมการศาสนา เพราะต้องเป็นคนดูแลที่ ไม่ว่าจะเป็นที่มีวัดอยู่ หรือเคยมีวัดอยู่แต่ร้างไปแล้ว

หากเราพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์แล้วพัฒนาด้วยแล้ว ทั้ง 3 หน่วยงานนี้จะต้องมีการประสานงานกัน แบ่งการรับผิดชอบ และปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเห็นความสำคัญหรือไม่

สำหรับคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ใช้เป็นข้อมูลเข้าถึงวัดที่เขียนได้ทุกที่เลยไหม?

สุดแล้วแต่ความสามารถ (หัวเราะ) ในเล่มมีแผนที่ มีกูเกิลเอิร์ธอะไรต่างๆ ให้หมดแล้ว และกรุงเทพฯ-กรุงธนบุรี ก็ไม่ได้ลึกลับขนาดนั้น สามารถเข้าถึงทุกวัดได้ แม้จะอยู่ในชุมชนก็จริง แต่ก็เป็นพื้นที่สาธารณะ เวลาไปอาจจะกลัวๆ กล้าๆ ก็จริง แต่เราเข้าไปโดยบริสุทธิ์ใจ ไปไหว้พระ ไปถ่ายรูป บอกชาวบ้านเขาหน่อย เขาก็ไม่ว่าอะไรหรอก

แต่พื้นที่พิเศษ อย่างวัดวงศมูล ซึ่งอยู่ในกรมอู่ทหารเรือ หน่วยราชการดูแลอยู่ ตรงนี้อาจต้องทำหนังสือขออนุญาต

สิ่งที่สนใจต่อยอดจากเล่มนี้?

ส่วนยอดนั้นเสร็จแล้ว (หัวเราะ) เป็นงานวิจัยเล่มหนึ่ง เรื่องศิลปะอยุธยาในกรุงเทพฯและปริมณฑล กำลังรอผู้ทรงคุณวุฒิตรวจอยู่ เรื่องวัดร้างในบางกอกนี้เป็นส่วนที่แยกมาทำเฉพาะประเด็นนี้

ชื่อเรื่อง “วัดร้างในบางกอก” อยากชี้ให้เห็นประเด็นน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ คนส่วนใหญ่รู้จักวัดร้างก็มีแต่อยุธยา สุโขทัยเป็นราชธานีที่ทิ้งร้างไปแล้ว แต่กรุงเทพฯเป็นราชธานีที่ยังมีชีวิตอยู่ การเกิดวัดร้างจึงมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ วัดเหล่านี้ให้ประโยชน์เยอะ มีหลักฐานบอกอะไรหลายอย่าง ถ้าไปดูวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ที่มีการบูรณะซ่อมแซมและเปลี่ยนตลอดเวลา แต่วัดร้างนั้นมันหยุด ของไม่ถูกเปลี่ยนแปลง หลักฐานยังนิ่ง ทำให้เราศึกษาความแท้ของหลักฐานได้

แต่ถ้าถามว่าต่อจากนี้กำลังจะทำอะไร ตอนนี้ผมกำลังเตรียมตัวจะทำวิจัยเกี่ยวกับ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งซึ่งหลักฐานเยอะแยะมากทั้งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ งานช่าง แต่ไม่ค่อยมีใครเขียนถึงในแง่วิเคราะห์เท่าไหร่

สิ่งที่ผมกำลังจะทำคือ เอาตัวศิลปะนี้ไปบอกความเป็นมาของชุมชน ซึ่งก็กำลังเตรียมอยู่ แต่ยังเริ่มได้ไม่เท่าไหร่

 

การพัฒนาและประวัติศาสตร์ที่หายไป ในมุมมองเด็กบ้านสวน ‘ฝั่งธนฯ’

ในฐานะที่ประภัสสร์ ชูวิเชียร เกิดและเติบโตในบ้านสวนฝั่งธนบุรี พื้นที่ซึ่งดั้งเดิมเป็นสวนและคลองมากมาย อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องการพัฒนาของกรุงเทพฯ-กรุงธนบุรีในปัจจุบัน

อาจารย์หนุ่มบอกว่า เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วการพัฒนาจะเน้นหนักทางฝั่งกรุงเทพฯเป็นหลัก จนระยะหลังมานี้เริ่มมีการข้ามมาพัฒนาฝั่งธนบุรี มีถนนใหญ่ๆ ตัดผ่าน มีการเปลี่ยนแปลงจากบ้านสวนเป็นหมู่บ้านจัดสรร บ้านสวนเก่าๆ วัดเก่าๆ ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหมด

จากวัดเล็กๆ กลายเป็นวัดใหญ่

ประภัสสร์ยกตัวอย่าง “วัดเพลงกลางสวน” ซึ่งอยู่ปลายสุดเขตตลิ่งชัน ปัจจุบันมีถนนราชพฤกษ์ตัดผ่านไปถึง แต่เดิมเป็นวัดเล็กๆ วันนี้ผ่านไปจะเห็นเป็นวัดใหญ่มาก มีศาลาใหญ่ๆ สร้างขึ้นมาในยุคหลัง

“การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เฉพาะ กทม. แต่เป็นตลอดทั้งธนบุรี นนทบุรี ไปจนถึงปทุมธานีด้วย เรือกสวนไร่นาหายเกลี้ยง เมื่อก่อนจะไปวัดเหล่านี้อาจต้องนั่งสองแถว นั่งเรือ แต่ปัจจุบันเข้าถึงได้ง่าย เป็นดาบ 2 คม คือทำให้เราไปสำรวจได้ง่ายขึ้นด้วย” อาจารย์หนุ่มกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ถามว่าทำไมต้องคุยกันเรื่อง “สวน” ในกรุงเทพฯ-กรุงธนบุรี

ประภัสสร์ตอบทันทีว่า ความเป็นสวนของกรุงเทพฯ-กรุงธนบุรีนั้นสำคัญ เพราะบริเวณนี้เป็นแหล่งป้อนผลผลิตจากสวนให้อยุธยา ในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ยังบอกเลยว่า บางกอกถึงนนทบุรีเป็นสวนผลไม้ทั้งหมดเลย และผลไม้เหล่านี้ชาวสยามชอบกินกันมาก ผลไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ ขณะที่อยุธยานั้นเป็นนาข้าว

“และที่สำคัญ ย่านนี้ก็เป็นสวนหมาก คนไทยเมื่อก่อนกินหมากกันแทบทุกคน พื้นที่นี้ปลูกหมากขาย เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ กรุงเทพฯ-กรุงธนบุรีเติบโตมาจากความเป็นสวนก่อน ดังนั้น เมื่อมีการขุดคลองลัดต่างๆ กลายเป็นเมืองท่าค้าขาย ผลักดันให้ตรงนี้เป็นเมืองหลวงสมัยหลัง

“คลองลัดนั้น ทางหนึ่งก็ได้ทำให้ส่วนที่เคยเป็นแม่น้ำเดิมอยู่ลึกเข้าไป ชุมชนเดิมถูกรักษาไว้ เป็นสวนเก่าๆ เป็นวัดเก่าๆ งานฝีมือช่างหลวง มีพระพุทธรูปอยุธยาองค์ใหญ่ๆ คือเป็นที่สวนก็จริง แต่มีเจ้านายเมื่อก่อนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ความเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง 10 ปีมานี้ การพัฒนาได้เปลี่ยนอะไรหลายอย่างมาก” ประภัสสร์กล่าว

เมื่อพื้นที่เกษตรกรรมอย่างสวนหายไป สิ่งที่ต้องสูญเสียตามมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราสูญเสียประวัติศาสตร์ปุ๊บ เรื่องอื่นๆ ก็ตามมา

ที่พูดอย่างนี้ ประภัสสร์บอกว่าไม่ได้ขัดขวางเรื่องการพัฒนา

แต่การพัฒนาควรคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์ด้วย

“ในเมืองไทย เวลาเราจะทำอะไรจะคิดถึงเรื่องการพัฒนามาก่อน ไม่ได้เอาเรื่องการอนุรักษ์ตั้ง เวลาจะไปก็ไปพรวดเดียวเลยไม่มีเบรก แต่ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เขาตั้งต้นด้วยการอนุรักษ์ เมื่ออนุรักษ์กันดีแล้วเขาจะพัฒนาสิ่งที่อนุรักษ์นั้นให้ดี ทำอย่างไรไม่ให้กระทบสิ่งที่อนุรักษ์”

เป็นเสียงสะท้อนจากเด็กบ้านสวน “ฝั่งธน” ที่น่าสนใจยิ่ง

 

วัดร้างในบางกอก ผลงานจากการสำรวจค้นคว้าโดยประภัสสร์ ชูวิเชียร
วัดร้างในบางกอก ผลงานจากการสำรวจค้นคว้าโดยประภัสสร์ ชูวิเชียร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image