อาศรมมิวสิก : พิพิธภัณฑ์ดนตรีที่มีชีวิต ครูเบเย็ง เซ็ง อาบู : สุกรี เจริญสุข

ผมได้ทำงานบันทึกเสียงเพลงรองเง็งปัตตานี ร่วมกับครูขาเดร์ แวเด็ง คณะเด็นดังอัสลี จากเมืองยะหริ่ง ปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2535 กระทั่งครูขาเดร์ แวเด็ง ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2536 เป็นศิลปินจากปัตตานีคนแรก ครูขาเดร์ แวเด็ง นั้น เล่นไวโอลิน ส่วนนักดนตรีคู่ใจเป็นคนที่เล่นแมนโดลิน ครูเบเย็ง เซ็ง อาบู ชื่อว่า เบเย็ง เป็นชื่อเรียกกันทั่วไป ส่วนชื่อ เซ็ง อาบู เป็นชื่อจริง ปัจจุบันครูเบเย็งมีอายุ 68 ปีแล้ว

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้พยายามติดต่อหาตัวครูเบเย็ง เพื่อจะสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะได้พบ ต้องอาศัยพรรคพวกและลูกศิษย์ในยะลาลงพื้นที่เพื่อค้นหาครูเบเย็ง เนื่องจากครูเบเย็งไม่มีเงินจ่ายค่าโทรศัพท์ จึงยกเลิกโทรศัพท์เดิมไป ทั้งนี้ ครูเบเย็งเป็นคนเดียวที่ยังรักษาเพลงเก่าของปัตตานีเอาไว้ได้สมบูรณ์ที่สุด อย่างน้อย 300 ทำนอง ส่วนศิลปินคนอื่นต้องไปต่อเพลงจากครูเบเย็งอีกทอดหนึ่ง และต่อเพลงเฉพาะที่ตัวเองต้องการเท่านั้น

เมื่อได้คุยทางโทรศัพท์แล้วก็ถามว่า ยังเล่นแมนโดลินอยู่หรือเปล่า ได้คำตอบว่า ได้ขายแมนโดลินให้แก่ลูกศิษย์ไปแล้ว เนื่องจากไม่มีงานเล่น ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ แต่ก็ยังสอนลูกศิษย์ทั้งที่ปัตตานี ยะลา สงขลา สอนด้วยมือเปล่า โดยไม่มีเครื่องดนตรี ลูกศิษย์จะเชิญไปให้ช่วยต่อเพลงให้ลูกศิษย์และหลานศิษย์ โดยได้ค่ารถ ค่าน้ำมันบ้าง ได้ฟังเรื่องราวแล้ว ตัดสินใจไปหาครูเบเย็งที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562

ก่อนจะเข้าพื้นที่ก็ต้องอาศัยคนในพื้นที่นำทาง เพื่อความปลอดภัยและไม่ผิดพลาด ได้ท่านนายกเทศมนตรีนครยะลา (คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ) ซึ่งรับผิดชอบดูแลวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา ก่อตั้งกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ให้ความอนุเคราะห์ ท่านนายกเอาจริงเอาจังกับการศึกษา ดนตรี และงานศิลปะมาก ทำให้เทศบาลนครยะลาพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีเสน่ห์ขึ้นมาก วงซิมโฟนีออเคสตราของเด็กยะลาได้ออกไปแสดงตามเมืองต่างๆ อาทิ ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ สงขลา ภูเก็ต กรุงเทพฯ เป็นต้น ทำให้เมืองยะลาแตกต่างไปจากเมืองอื่น ทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้

Advertisement

เมื่อได้พบกับครูเบเย็ง วันนั้นท่านใส่เสื้อใหม่ดูหรูมาก หน้าตาอิ่มเอิบด้วยความดีใจ นัดเจอกันที่มัสยิดกลาง ปัตตานี ครูเบเย็งได้ชักชวนคณะรองเง็งของหลานศิษย์มา 2 คณะ คือ โรงเรียนวัดสุวรรณากร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และคณะโรงเรียนเทศบาล 3 เมืองปัตตานี เพื่อมาเล่นรองเง็งให้ฟัง เนื่องจากไม่ได้นัดเรื่องพื้นที่แสดง จึงชักชวนไปแสดงที่ร้านอาหาร (I’m Greenplus) ซึ่งเด็กๆ ทั้ง 2 วงก็ได้กินอาหารด้วย ครูเบเย็งบอกว่า เด็กดีใจมาก เพราะไม่มีโอกาสได้กินอาหารแบบนี้มาก่อน เพราะว่าแพงเกินไปสำหรับชีวิตประจำวันในปัตตานี ความจริงแล้ว ท่านนายกเทศมนตรีนครยะลาเป็นคนเลี้ยง

คณะรองเง็งของปัตตานีนั้น มีเครื่องดนตรีหลักดำเนินทำนองอยู่ 3 ชิ้น คือ ไวโอลิน แอคคอร์เดียน และแมนโดลิน นอกนั้นก็เป็นเครื่องประกอบ เครื่องเคาะ กลองบานอ ฆ้องหุ่ย และมารากัส ในการแสดงนักดนตรีทุกคนก็จะออกลีลา หากมีนางรำด้วยก็จะมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะในสมัยโบราณ วงในวังเมืองยะหริ่งนั้น วงรองเง็งเป็นวงดนตรีสำหรับการเต้นรำของราชสำนัก “ยะหริ่ง” จึงต้องมีนางรำ

วันนั้น ผมได้ชวนเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปด้วย เพื่อจะนำเสนอครูเบเย็งให้เป็นผู้รับรางวัล “สุกรี เจริญสุข” ในฐานะที่ครูเบเย็งเป็นนักดนตรีเล่นแมนโดลินที่เก่ง ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ในฐานะผู้รักษาทำนองเพลงปัตตานีจากวังเมืองยะหยิ่ง เคยเป็นหัวเมืองสำคัญของคาบสมุทร ในฐานะผู้สืบทอดบทเพลงและเป็นผู้ถ่ายทอดเพลงให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไป ในฐานะนักดนตรีผู้แทนจากเมืองปัตตานีที่มีแต่เสียงปืนและเสียงระเบิดอยู่รอบตัว เบเย็งจึงเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์เพลงที่มีชีวิตของ 3 จังหวัดภาคใต้

Advertisement

เมื่อรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว ก็ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนวงรองเง็งได้เล่นดนตรีให้ฟังทั้ง 2 วง ต่อมาก็ให้วงครูเบเย็งกับลูกศิษย์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมวงเด็ก ได้เล่นร่วมกับครูเบเย็งด้วย ผมได้ถือโอกาสมอบแมนโดลินตัวใหม่ให้เป็นของขวัญ แล้วได้กำชับว่า มอบแมนโดลินให้ไว้เล่นกับวงรองเง็ง เพื่อรักษามรดกเพลงของปัตตานีเอาไว้ นายกเทศมนตรีนครยะลารำพึงว่า “คนเดียวเก็บเพลงไว้ 300 เพลง วงผมได้แค่ไม่กี่เพลง”

ครูเบเย็ง เป็นพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่มีชีวิต จำเพลงโบราณไว้ 300 กว่าเพลง โดยไม่ต้องบันทึกไว้ที่ใด วันหนึ่งข้างหน้า ความจำเหล่านี้ก็จะถูกลบเลือนหมดไปด้วยกาลเวลา การที่มีเครื่องแมนโดลินอยู่ในมือของครูเบเย็ง ได้ฝึกซ้อมเล่นเพลงทุกวัน สามารถตอกย้ำความจำเพลงเอาไว้ สามารถสร้างความสุขให้แก่ผู้เล่นและมอบความสุขให้แก่ผู้ฟัง ในเวลาเดียวกัน ลูกศิษย์ก็สามารถต่อเพลง เพื่อสืบทอดมรดกเพลงเอาไว้ได้

หลังจากเล่นดนตรีเสร็จ ครูเบเย็งปรารถนาจะให้ไปเยี่ยมที่บ้านอย่างจริงใจ จึงได้ชักชวนทั้งคณะไปเยี่ยมที่บ้านครูเบเย็ง ซึ่งจะต้องผ่านมัสยิดกรือเซะ ตั้งติดกับสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญของปัตตานี ชาวมุสลิมทั้งฝั่งไทย ฝั่งมาเลเซีย และฝั่งอินโดนีเซีย จะเข้ามาเพื่อสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านครูเบเย็งพอดี

เมื่อไปถึงบ้านครูเบเย็ง รู้สึกได้เลยว่า มีพรมรองพื้นบ้านผืนใหม่ มีน้ำชากาแฟต้อนรับทุกคน มีขนมใส่ซอง ซื้อจากชายแดนเอามาต้อนรับ ได้สอบถามว่า เมื่อไม่มีดนตรีแสดงแล้ว ได้ทำอะไรในชีวิตประจำวัน ครูเบเย็งบอกว่า ได้เป็นผู้ช่วยภรรยารับจ้างซักผ้า ในการซักผ้ารับจ้าง ได้ค่าแรงราคากิโลละ 18 บาท ที่บ้านครูเบเย็งนั้น มีเสื้อผ้าแขวนเต็มทั้งหน้าบ้านและรอบบ้าน ธุรกิจซักผ้าก็ไปได้ดีนะ ท่านตอบว่า เสื้อผ้าที่แขวนอยู่นั้น เป็นของผู้ว่าจ้าง ซึ่งซักเสร็จแล้วไม่ได้มารับคืน เพราะไม่มีเงินจะจ่าย บางชุดแขวนอยู่ปีกว่าแล้ว เมื่อจะมารับก็ต้องซักใหม่อีกรอบ เท่ากับต้องซัก 2 รอบ แต่ได้ค่าจ้างเพียงครั้งเดียว

กรรมการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ลงความเห็นว่า ควรมอบรางวัล “สุกรี เจริญสุข” จากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2562 ให้แก่ครูเบเย็ง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เป็นตัวอย่างครูดนตรีผู้สร้างคุณงามความดี ผู้รักษาเพลงซึ่งเป็นมรดกของแผ่นดินเอาไว้ ครูเบเย็ง เป็นพิพิธภัณฑ์เพลงที่ยังเดินได้ ยังมีชีวิตอยู่ และยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งชาวปัตตานีและวงการดนตรีได้อีกมาก

รางวัล “สุกรี เจริญสุข” จะจัดขึ้นเพื่อจะมอบรางวัลให้แก่ครูเบเย็งที่ปัตตานี โดยมีวงไทยซิมโฟนีแสดงบทเพลงของปัตตานี ร่วมแสดงเดี่ยวแมนโดลินโดยครูเบเย็ง หมายมั่นว่าจะแสดงที่ลานวัฒนธรรม เมืองปัตตานี เพื่อชวนเชิญผูกจิตใจผู้คนให้มารับรู้ โดยใช้ดนตรีและศิลปะที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน เชื่อมจิตใจคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ขณะที่เดินทางไปรอบๆ เมืองปัตตานี พบว่ามีป้อมทหารทุกหัวมุมถนน มีลวดหนาม บังเกอร์ ทหารยืนถือปืน ตรวจรถที่ผ่านไปมาทุกคัน ปัตตานีกลายเป็นเมืองปิด ปิดทุกทิศทุกทาง ไฟปิด ความรู้สึกของคนปิด จิตใจหดหู่ ชีวิตถูกปิดไปหมด ซึ่งตอบไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ทางจะเปิด ป้อมปราการ กระสอบทราย บังเกอร์ เมื่อไหร่จะขนออกไป เมืองปัตตานีจะเป็นเมืองสว่างได้อย่างไร เป็นเมืองที่ได้รับการดูแลพัฒนา เมื่อไหร่จะเห็นรอยยิ้ม เมื่อไหร่จะได้ยินเสียงหัวเราะจากชาวปัตตานี ซึ่งเป็นคำถามและข้อสงสัยในใจ โดยไม่มีคำตอบ

การที่เมืองปัตตานีปิดนานเกินไป ผู้คนในเมืองถูกตัดขาดจากสังคมภายนอก ทั้งคนภายนอกและคนภายในก็ไม่มีใครไว้วางใจกัน ทุกคนมีความกลัวเป็นพื้นฐาน คนข้างในก็อยู่ในโลกอดีต ยังรักษาจารีตไว้อย่างมั่นคง แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เห็นว่า “โลกของความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว” โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดของคนปัตตานี ส่วนคนภายนอกก็ไม่กล้าเข้าไป เพราะสื่อโฆษณา ได้ยินเสียงปืนและเสียงระเบิด “น่ากลัว”

ขณะเดียวกัน หากได้ดูความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของสังคมมาเลเซีย สังคมอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสังคมมุสลิมเหมือนกัน แต่ก็มีความเจริญมากกว่า จะพบว่าสังคมเปลี่ยนไปหมดแล้ว เป็นสังคมที่เปิดกว้างกับความเปลี่ยนแปลงของโลก จิตใจคนเปิด แต่ในสังคมปัตตานีนั้น ถูกเก็บแช่แข็งไว้ในตู้เย็นนานเกินไป ซึ่งผู้นำหรือผู้บริหารประเทศควรจะให้ความเอาใจใส่อย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ผมเคยถามนักดนตรีจากจีนที่มาแสดงในเมืองไทย นักดนตรีจีนทุกคนเรียกร้องและอยากไปเดินที่เยาวราช เมื่อมีโอกาสก็ได้ถามว่า “ทำไมคนจีนจากแผ่นดินใหญ่จึงอยากไปเยาวราช” คำตอบที่ช็อกหนักก็คือ “เพราะว่าเยาวราชเป็นสภาพเมืองจีนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งยังดำเนินวิถีชีวิตและดำรงกิจการอยู่”

ลึกๆ ผมก็เชื่อว่า การที่มีคนจากมาเลเซียและอินโดนีเซียมาเที่ยวปัตตานี แน่นอนเขามาด้วยความศรัทธาความเก่าแก่และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา แต่สิ่งที่อยู่ลึกๆ ภายในใจของทุกคน ก็ไม่น่าจะต่างไปจากคนจีนที่ไปเที่ยวเยาวราชแต่อย่างใด ไปเที่ยวปัตตานีก็เพราะต้องการสัมผัสเมืองมุสลิมเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ที่ยังคงดำรงอยู่ มีวิถีชีวิตดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ผมเคยผลักดันสุดตัว เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่ผมเคยทำงานอยู่ สร้างพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่มีชีวิต (Living Museum) ได้วิ่งเต้นและได้ลงทุนทำงานไปแล้ว 600 กว่าล้านบาท เป็นอาคาร 5 ชั้น ประกอบและประดับด้วยเครื่องดนตรีของอาเซียน ผมใช้เวลาร่วม 20 ปี สะสมเครื่องดนตรีหลักๆ เอาไว้ มีโปงราว 1,200 ชิ้น (โปงเป็นระฆังไม้ มีใช้ประจำวัด เป็นไม้ซุงขนาด 200-1,000 กิโลกรัม ปัจจุบันวัดใช้ระฆังโลหะหมดแล้ว) ได้เขียนหนังสือเรื่องดนตรีของอุษาคเนย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นอย่างดี วันนี้ เมื่อคุณสุจิตต์ถามถึงพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่มีชีวิตไปถึงไหนแล้ว ผมก็ได้แต่ตอบไปว่า “เขาได้ไล่ผมออกแล้วครับ”

สำหรับครูเบเย็งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่มีชีวิต เสียงดนตรี เสียงเพลง ที่ครูเบเย็งจดบันทึกไว้ในหัวใจ 300 กว่าเพลงนั้น เล่นด้วยแมนโดลิน เป็นการบอกเล่าด้วยเสียงที่ยังมีชีวิต บอกถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความเป็นไป บอกประวัติศาสตร์ของชุมชนปัตตานี บทเพลงที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ประวัติศาสตร์จะตายไปแล้ว แต่บทเพลงเป็นร่องรอยที่ยังอยู่อย่างมีชีวิต อยู่อย่างโหยหาอดีต และปรารถนาว่าสักวันหนึ่งจะถูกนำมาบรรเลงอย่างไพเราะ สดใส และมีชีวิตชีวา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image