ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ ปั้นแบรนด์มะพร้าวไทย จากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะภาคส่งออกที่หลายต่อหลายรายบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งล้มหายตายจากกันไป มะพร้าวกลับเป็นผลไม้ที่ถือได้ว่ามีอนาคตมากที่สุดชนิดหนึ่งในขณะนี้

ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ทำให้สถานะของ มะพร้าวŽ จากผลไม้ เครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่น หรือเครื่องปรุงคู่ครัวไทย ถูกจัดเข้าไปอยู่ในหมวดอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกของผู้ค้ากลุ่มเอสเอ็มอี สามารถนำไปปรับเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มีมูลค่าเพิ่มอีกมากมาย เช่นในงาน ไทยเฟค-เวิลด์ ออฟ ฟู้ด เอเชีย ที่เมืองทองธานี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ของมะพร้าวฟีเวอร์

มีผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมากมาย และผู้ค้าบางรายแม้สินค้าหลักเป็นชนิดอื่น ยังมีผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวติดอยู่ในบูธสำหรับให้บริการลูกค้า

สำหรับแขกรับเชิญสัปดาห์นี้ แค่เปิดตัวก็เรียกเสียงฮือฮาด้วยการสร้างความต่างจาก กะทิกล่องŽ สู่ กะทิขวดŽ สัญชาติไทยแบรนด์แรกของโลก

Advertisement

หลังจากประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศประเภทผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวมานานกว่า 22 ปี ใน 77 ประเทศทั่วโลก ทั้งในฐานะรับโออีเอ็ม รับจ้างผลิตและอีกหลายแบรนด์ของตัวเองที่ไปเติบโตขยายตลาดในต่างประเทศ

วันนี้ เอเซียติคฯŽ หันกลับมาสร้างแบรนด์ของตนเองในประเทศ ชูจุดเด่นของการเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันมีด้วยกัน 3 แบรนด์ คือ โคโค่แม็ก กะทิอัมพวา และมิลกี้ โคโค่

ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ ในวัย 39 ปี อดีตสถาปนิกหนุ่มที่วันนี้ขึ้นแท่นเป็นทายาทรุ่นที่ 2 รับไม้ต่อจากคุณพ่อ-วิจัย วิสุทธิไกรสีห์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด ผู้ผลิตแปรรูปและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรายใหญ่ของประเทศไทย

Advertisement

ถือว่าไม่ง่ายŽ สำหรับการที่ต้องเข้ามาเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ศูนย์ เพื่อก้าวขึ้นมายืน ณ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เป็นลูกคนจีนเกิดในย่านเยาวราช บุตรชายคนโตของคุณพ่อวิจัยและคุณแม่ศรีนวล วิสุทธิไกรสีห์

หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นสถาปัตยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานในสายสถาปนิกอยู่ได้เพียง 2-3 ปี จึงเข้ามาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เรียนรู้ระบบธุรกิจ หลังคุณพ่อเข้าเทกโอเวอร์กิจการต่อจากเจ้าของเดิมซึ่งดำเนินธุรกิจอาหารกระป๋องประเภทฟรุตสลัด เบนเป้าหมายมาจับที่ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นหลักได้ 5 ปี โดยเข้ามาจัดการสร้างแบรนด์ของตนเอง และแจ้งเกิดจากน้ำมะพร้าว โคโค่แม็กŽ

กระทั่งมาถึงภารกิจล่าสุด การเปิดตัว กะทิอัมพวาŽ กะทิคั้นสด 100% ในรูปแบบขวดแบรนด์แรก ที่หวังครองใจกลุ่มคนเมือง และต่างจังหวัดที่ต้องการความสะดวกในการทำอาหาร แต่ต้องการวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารปรุงแต่ง โดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือ ธรรมชาติ

ถามว่าคุ้นเคยกับมะพร้าวขนาดไหนก่อนเข้ามา ศูนย์ คือทานอย่างเดียว พอเข้ามาก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำ จากสวน การรวบรวมมะพร้าวเข้ามาที่โรงงาน ฯลฯ

…พอเรามาเหมือนเป็นรุ่นที่ 2 เข้ามาทำต่อ ซึ่งทุกคนไม่ได้อยู่นิ่งๆ เขาวิ่งกันหมดแล้ว และเราเข้ามาโดยไม่มีพื้นฐานธุรกิจ ทำอย่างไรจะตามเขาทัน ก็ต้องใช้ความพยายามมาก เพราะต้องเรียนรู้ใหม่หมด จากทุกแผนก ผมเข้ามาก็อายุ 28-29 ปี มีเวลาไม่มากถ้าเราจะเข้ามาทำและเป็นหัวหน้าได้ จึงต้องสปีดอัพตัวเองให้ทันŽ ณัฐพลเปิดใจ

นับจากนี้ไปรู้จักนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทายาทรุ่น 2 ของเอเซียติคฯ ในวันที่มะพร้าวราคาแพงจับหัวใจ

ทำไมต้องเป็น อัมพวาŽ?

พูดถึง อัมพวาŽ เรามักจะนึกถึงวัฒนธรรม อาหารไทย มีภาพของสวนมะพร้าวชั้นดีที่เชื่อมโยงกับกะทิ และที่สำคัญโรงงานของเราก็ตั้งอยู่ที่อัมพวา แหล่งปลูกมะพร้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศที่ทุกคนรู้จัก จึงนำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ของเราเป็น กะทิอัมพวาŽ

วัตถุดิบจากอัมพวา?

อัมพวา แม้จะเป็นแหล่งมะพร้าวที่ดี แต่เป็นอำเภอที่เล็ก มีมะพร้าวไม่เพียงพอ เราจึงรับตั้งแต่อัมพวาลงไปจนถึงทางใต้ ตั้งแต่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ลงไปจนถึง 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะมะพร้าวไม่เพียงพอก็ต้องขยายพื้นที่รับซื้อมะพร้าว

สถานการณ์มะพร้าวในปัจจุบัน?

เมืองไทยยังมีไม่เพียงพอ ช่วงที่ผมเข้ามาทำงานแรกๆ เมื่อ 10 ปีก่อน ยังมีบางฤดูกาลที่มะพร้าวล้นตลาด และราคาตกต่ำเหมือนพืชหลายๆ อย่างตอนนี้ มา 5 ปีที่แล้วเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่า ซัพพลายมันไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ในภาวะที่มะพร้าวขาดแคลนจัด ลูกละ 40-50 บาท ช่วงนั้นที่มันสะสมมา ราคาขึ้นแบบมีเงินก็หาซื้อไม่ได้ โรงงานเสียหายไปหลายแห่ง เพราะพอรับออเดอร์เหมือนเราขายไปล่วงหน้าแล้ว แต่ราคาวัตถุดิบ ณ เวลานั้นกลับแพงขึ้น 2-3 เท่า จนในที่สุดรัฐบาลเห็นปัญหาตรงนี้ เปิดให้นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ หลังจากนั้นสถานการณ์มะพร้าวก็เริ่มดีขึ้น

ฤดูไหนที่เพียงพอ เราก็ใช้มะพร้าวไทยทั้งหมด แต่ถ้าฤดูไหนไม่เพียงพอก็จะนำเข้ามาเสริม มีทั้งจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่าก็เริ่มมีแล้ว เป็น 3 แหล่งหลักๆ

การรับมือกับสถานการณ์มะพร้าวขาดแคลน?

แท้จริงแล้วคู่แข่งของเราคือ ธรรมชาติล้วนๆ ดังนั้นเราจึงต้องบริหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ต้นน้ำ เริ่มตั้งแต่การทำ contact farming เริ่มให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยในการวางแผนการผลผลิตในแต่ละฤดูกาล รวมถึงการพัฒนาดูแลพันธุ์ ต้นกล้ามะพร้าว และการดูแลดิน น้ำ และอากาศ เพื่อเป็นการบรรเทาการขาดแคลนของมะพร้าว

และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นที่ปลายน้ำ นั่นก็คือการทำให้มะพร้าวสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ซึ่งปัจจุบันเราสามารถทำได้แล้วเกือบ 80% ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าว น้ำกะทิ แป้งจากมะพร้าว รวมทั้งส่วนอื่นๆ ที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง และในอนาคตเราจะพัฒนาสู่สินค้าในกลุ่มที่เป็น non food เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของมะพร้าวแบบ 100% ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มเกษตรกร คือเราเติบโตได้ เขาก็เติบโตได้แบบยั่งยืน

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวบูมมาก?

ครับ มีทั้งน้ำมันมะพร้าว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ทั้งกิน ใส่ผม ทาหน้า ฯลฯ จริงๆ ตัวสารอาหารที่อยู่ในน้ำมันเหมือนสารอาหารที่อยู่ในกะทิ คือสารอาหารตัวหนึ่งที่เรียกว่า ลอริกแอซิด (Lauric acid) มีเยอะมากในมะพร้าว ฉะนั้นจะเอาเนื้อมะพร้าวมาทำน้ำมัน มาทำกะทิ หรือทำนมมะพร้าว (มิลกี้ โคโค่) แบบของเรา ก็ยังมีสารตัวนี้อยู่ จึงเป็นทางเลือกของการบริโภค

ตอนนี้ในต่างประเทศตื่นตัวเรื่องประโยชน์ของ

ลอริกแอซิดซึ่งดีต่อร่างกาย นอกจากนี้ในน้ำมะพร้าวยังมีเกลือแร่จากธรรมชาติ พวกนี้พอมากๆ เข้ามันกลายเป็นว่า มะพร้าวมีอิมเมจที่ดี เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

เป็นจุดขายในตลาดต่างประเทศ?

ในต่างประเทศก็มีหลายแบบ ถ้าในเมืองหนาวไม่ได้รับประทานมะพร้าวในชีวิตประจำวัน เพราะดื่มน้ำแครนเบอรี่อยู่แล้ว ทำไมต้องดื่มน้ำมะพร้าว ก็จะมองที่ประโยชน์ที่ได้จากมะพร้าว ในมะพร้าวมีผลวิจัยที่วิเคราะห์มาแล้วว่ามีเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงนิยมดื่มกันแทนน้ำเกลือแร่ แทนเครื่องดื่มที่ดื่มเวลาเสียเหงื่อ ส่วนใหญ่จะเป็นทางยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งญี่ปุ่นก็มองอย่างนี้ เพราะว่าพอเขาอยู่นอกเหนือเขตร้อน ก็ไม่ได้คุ้นเคยกับน้ำมะพร้าวอยู่แล้ว

อย่างเราคนไทยหรือคนอินโดนีเซีย แถวๆ นี้เราดื่มน้ำมะพร้าวไม่ได้คิดอะไรมาก อยากดื่มเพราะอร่อย แต่พอคนทางเขตอื่นเขาไม่ได้คุ้นเคยก็ดื่มเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ถ้าเป็นเอเชียด้วยกันอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น อากาศหนาว ไม่มีมะพร้าวก็จะมองเหมือนยุโรปว่าทำไมต้องดื่มน้ำมะพร้าว

ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์

ภาพลักษณ์ของกะทิในตลาดต่างประเทศ?

ที่ชัดเจนกับภาพลักษณ์คือ กะทิ เวลาเราขายกะทิไปต่างประเทศใน 70 กว่าประเทศ สุุดท้ายมันก็ไปจบลงที่อาหารไทย คือเข้าไปในร้านอาหารไทย และถึงจะเป็นครัวฝรั่ง แต่ถ้ามีการปรุงอาหารไทยก็จะซื้อกะทิไปปรุง เพราะในอาหารไทยโดยมากจะมีส่วนประกอบของกะทิ ตรงนี้เราจึงคิดว่าถ้าเราสร้างแบรนด์อัมพวาจากฐานที่ว่าเป็นออเทนติก (Authentic) เหมือนเป็นของแท้จากสินค้าท้องถิ่นของไทย มันน่าจะไปในทิศทางนี้ได้ เพราะสุดท้ายแม้จะเป็นฝรั่งไปซื้อกะทิเขาเห็นภาพอะไร เขาก็เห็นภาพว่าเขาจะซื้อไปทำอาหารไทย เพราะต้องการรสชาติความเป็นไทย

มองภาพรวมทิศทางผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว?

ถ้ามองในต่างประเทศหรือในโลกเวลามีเทรนด์ใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ผมคิดว่าตอนนี้ทั้งในจุดใหญ่ของโลก ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของเราเป็นที่ยอมรับ อย่างน้อยในกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพซึ่งค่อนข้างชัดเจน เช่น กลุ่มกินคลีน เล่นโยคะ แต่ในส่วนที่เป็นแมสจริงๆ ในฝรั่งจะไม่ค่อยรู้จัก เราก็ต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจให้ความรู้

ถ้ามองใกล้ตัวมาในเมืองไทย ผมคิดว่าน้ำมะพร้าวตอนนี้ภาพค่อนข้างดี ทุกคนเห็นว่าดื่มแล้วดี แต่ตัวกะทิยังมองค่อนข้างลบอยู่ ซึ่งกะทิที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีคอเลสเตอรอลสูง ทำให้เป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผลจากการวิเคราะห์วิจัยมีชัดเจน ซึ่งมาในระยะหลังมีการอธิบายแตกย่อยลงไปว่าในไขมันอิ่มตัวมีทั้งไขมันตัวดีและตัวไม่ดี มีการพิสูจน์กันว่ามีตัวไหน ตัวที่เรียกว่าเป็นห่วงโซ่สายกลาง มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า แต่คนไทยยังติดกับความเชื่อตรงนี้อยู่ ก็เป็นจุดที่ถามว่าเราแก้ได้ทั้งหมดมั้ย ก็ต้องใช้เวลา

ภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลสะเทือนธุรกิจส่งออก เอเซียติคฯ กระทบด้วย?

อาจเป็นเพราะเทรนด์มันช่วย ยอดขายเราก็เพิ่มขึ้นตลอด เพราะส่วนหนึ่งมะพร้าวยังอยู่ในช่วงที่เติบโตเยอะ ทั้งในต่างประเทศด้วย จึงมีความต้องการสูง เราจึงยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบสักเท่าไหร่ แต่ก็ได้ยินข่าวว่าในอุตสาหกรรมทางการเกษตรอื่นได้รับผลกระทบ ซึ่งหลายเจ้าทำข้าวโพดหรืออะไรก็เริ่มมาทำมะพร้าวกันมากขึ้น เพราะเขาก็ต้องหาทางรอดให้ได้ เราก็ต้องมูฟของเราให้เร็ว ซึ่งแต่ละก้าวมันต้องมั่นคง ถ้าเราไปแตกกระจายขยายทุกอย่างมากเกินไป อาจจะไม่ส่งผลดี

มีวิธีสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างไร เพราะยุคนี้ถ้าไม่โดนก็ขายยาก?

ผมมองที่ตัวผลิตภัณฑ์มากกว่า บางตัวออกมาแล้วพยายามดันด้วยโฆษณา แต่ได้เพียงระยะเดียวก็ตก เพราะสินค้าไม่ได้ตอบโจทย์จริง มันเป็นการอัดฉีดเพื่อให้ซื้อ เหมือนคนไม่ได้ซื้อเพราะอยากได้ผลิตภัณฑ์จริงๆ ซึ่งควรจะคิดว่าผู้บริโภคอยากได้อะไรจริงๆ และทำผลิตภัณฑ์ออกมา เพราะถ้าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ตอบโจทย์ คนใช้แล้วชอบ อย่างไรก็สามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง

มาที่เรื่องส่วนตัว จากสถาปนิกมาเป็นนักธุรกิจ ชีวิตเปลี่ยนมาก?

เปลี่ยนเยอะ โดยเฉพาะเมื่อมีลูก (หัวเราะ) ผมคิดว่ามันเป็นวิธีการทำงาน ในความเป็นจริงสถาปนิกทำงานหนักมาก ตี 3 ตี 4 เป็นเรื่องปกติของชีวิต มันมีเดดไลน์ที่ต้องเสร็จ และงานบางอย่างไม่ได้ทำตามขั้นตอน 1-2-3 แล้วออกเลย ถ้าคิดไม่ออกก็ต้องไปคิดวันสุดท้ายแล้วออกเลย ผลงานที่ผ่านมาที่เป็นพับลิคจะมีโรงเรียนนานาชาติ ปากซอยสุขุมวิท 53 ผมทำตึกที่เป็นตึกก่อตั้ง และที่ รพ.วิชัยยุทธที่ได้ทำในส่วนของการตกแต่งภายใน ทำตอนที่ทำเป็นฟรีแลนซ์ ถ้าเป็นหลังส่วนใหญ่จะเป็นบ้านส่วนตัวเสียมาก

ความรับผิดชอบต่างกันแค่ไหนระหว่างสถาปนิกกับนักธุรกิจ?

จุดที่เหมือนกันคือ สถาปนิกเวลาที่ออกแบบอะไรก็ตาม เราไม่ได้สร้างเอง มีผู้รับเหมา คนงานก่อสร้าง ฯลฯ มันมีโอกาสมากที่จะผิดพลาด เช่น ถ้าสถาปนิกออกแบบมายากจนสร้างไม่ได้ และสุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน เพราะมันมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่เขาไม่ได้คิดไว้ก่อน

นักธุรกิจก็จะคล้ายกัน เวลาเราทำโครงการอะไรสักอย่าง เราบอกว่าเราจะทำอย่างนี้ แต่มันต้องมีคนที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องมาทำต่ออีกเยอะมาก ตั้งแต่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง ฝ่ายขาย ยังมียี่ปั๊วซาปั๊วจนไปจบที่ร้านค้า ฉะนั้นถ้าเราไม่ได้คิดถี่ถ้วนจะสร้างความลำบากกับคนที่ต้องรับไปทำต่อเยอะมาก มันเป็นบทเรียน แต่ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไป เพราะตอนที่เราเข้ามาครั้งแรกเราอาจจะมีไอเดียอะไรต่างๆ มากมาย แต่พอทำไปจริงมันไม่ใช่อย่างที่คิด

คุ้นชินหรือยังกับการเป็นนักธุรกิจ?

เริ่มจะคุ้นชิน (หัวเราะ) ในธุรกิจมันเหมือนกับว่า เราเริ่มอะไรขึ้นมามันก็จะอยู่อย่างนั้นต่อไป อย่างเราเริ่มโคโค่แม็ก เราทำให้ดีดูแลให้ดี มันก็จะเป็นพื้นฐานของบริษัทต่อ พอเราเริ่มกะทิอัมพวามันก็จะเป็นเหมือนต้นไม้ต้นใหม่ให้เกิดดอกออกผลในอนาคต แต่ถ้ามองกลับไปตอนที่เป็นสถาปนิก ทุกๆ งานคือการเริ่มต้นใหม่หมดเลย พอจบงานได้รับค่าตอบแทนแล้วก็จบ ไปเริ่มต้นงานใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ มันก็มีความสนุกของมัน

ขึ้นมารับไม้ต่อ คุณพ่อสอนอะไร?

จริงๆ ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเวลาที่มีงานที่เราสามารถไปจอยได้ อย่างรับรองแขกต่างประเทศก็จะพาเราไปตลอด และเวลาที่เรานั่งอยู่ในรถด้วยกัน คุณพ่อก็คุยกับคุณแม่ (ดูแลด้านบัญชีของบริษัท) เรื่องธุรกิจ เราก็จะได้ยินตลอด พอเราเข้ามาทำธุรกิจมันก็พอมีเซนส์อยู่บ้าง

คุณพ่อให้หลักของความสำเร็จ?

น่าจะเป็นในเรื่องของการมอบหมายงาน เพราะความสำเร็จต้องมาจากทีมเวิร์กที่ดี ต่อให้เราทำงานเก่งที่สุด หากทำอยู่คนเดียวความสำเร็จหรือการเติบโตก็เกิดขึ้นเท่าที่กำลังเราจะทำได้ แต่หากเรามีคนเก่งๆ ช่วยทำหลายๆ คนแล้ว ความสำเร็จก็ย่อมขยายตัวและเติบโตได้ไม่มีที่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image