ปากน้ำประแสร์ ศูนย์การเรียนรู้สร้างจิตสำนึกการดูแลป่าชายเลน

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าผืนป่าในบ้านเราเหลือน้อยลงทุกที แล้วถ้ายิ่งเอ่ยถึงผืนป่าที่สมบูรณ์แล้วนั้นคงน้อยลงกว่าเดิมอีก หากนับจากนี้ไปอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าหรืออาจจะไม่ถึง ถ้าเรายังไม่ดูแลหรือฟื้นฟูป่าจะหมดไปจากบ้านเราแน่ๆ วันนี้เรามีหนึ่งโครงการดีๆ ที่เป็นการฟื้นฟูป่าชายเลนที่เป็นแหล่งธรรมชาติทางทะเล อีกทั้งยังเป็นแหล่งทำมาหากินเพื่อให้อยู่กับลูกหลานต่อไป โครงการนี้มีชื่อว่า “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” นอกจากมีการปลูกป่าชายเลนแล้วนั้นยังมีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน ที่อนุสรณ์เรือรบหลวงประแสร์ ต.ปากน้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง โครงการนี้ยังเป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี โดยโครงการนี้เป็นการจับมือ 3 หน่วยงาน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน (CPF) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ อบต.ปากน้ำประแสร์

พื้นที่ในการปลูกป่าครั้งนี้มีจำนวนถึง 40 ไร่ และยังมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 1,000 ตัว โดยโครงการมีจุดประสงค์ที่จะให้คนละแวกนั้น ได้รู้ถึงความสำคัญของป่าชายเลน อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเป็นการให้เห็นถึงการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม

พิธีเปิดป้ายศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนปากน้ำประแส
พิธีเปิดป้ายศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนปากน้ำประแสร์

นสพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟเล่าถึงโครงการนี้ว่า ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนปากน้ำประแสร์นี้เป็นศูนย์แรกของเรา ป่าชายเลนของเราจะทำทั้งหมด 5 จังหวัดและก็ทุกจังหวัดจะมีศูนย์การเรียนรู้ ระยองเป็นที่แรกที่เริ่มก่อน ในปีนี้เราจะเปิดอีกศูนย์หนึ่งที่ชุมพร และในอีก 3 แห่งภายในปี 2561 จะเปิดให้ครบ

“เราได้วางยุทธศาสตร์อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนตั้งแต่ปี 2557-2561 นำร่องยุทธศาสตร์ 5 แห่งใน จ.ระยอง ชุมพร สมุทรสาคร สงขลา และพังงา ล่าสุดในปีนี้ได้มีการต่อยอดไปสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ป่าชายเลนที่ถูกต้องให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจทั่วไป แหล่งการเรียนรู้นี้ยังมีสถานีให้ความรู้เรื่องพืชและสัตว์โดยแบ่งออกเป็น 9 สถานี นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มียุวมัคคุเทศก์คอยหมุนเวียนกันให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน พร้อมวางเป้าหมายจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 1,000 คนในปีนี้ และคาดว่าในอนาคตจะตั้งกองทุนให้ชุมชน เพื่อเป็นเงินทุนในการดูแลและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ให้ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน”

Advertisement

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ บอกอีกว่า พื้นที่การปลูกที่ตั้งเป้าทั้งหมดของโครงการนี้มีถึง 2-3 พันไร่ เราก็มองว่าถ้ามีศักยภาพพอและก็สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้ อาจขยายเพิ่มตอนนี้ไม่ได้ปลูกแล้วทิ้งแต่มีการประเมินผล เช่น ผืนป่าบริเวณสมุทรสาคร สำเร็จประมาณ 60% ซึ่งก็ยังไม่เต็ม 100 เราต้องเข้าไปแก้ไข อย่างภาคใต้ก็ 85% ของการอยู่รอดของต้นไม้ ก็จะเข้าดูแลพลิกฟื้นให้ได้

“ในทุกจุดก็จะร่วมพูดคุยกับชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันว่า เรามาช่วยในเรื่องของงบประมาณ สถานที่ ทางชุมชนมีหน้าที่ช่วยกันดูแลกับเรา ทางเทศบาลประแสร์ก็ทำงานอย่างใกล้ชิด ท่านนายกเทศบาลเองก็เข้มแข็งมาก จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกของประเทศที่นี้”

นายไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแสร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ภาคประชาสังคมร่วมกันดำเนินโครงการนี้ทำให้ปัจจุบันปากน้ำประแสร์มีศูนย์การเรียนรู้ด้านป่าชายเลนเกิดขึ้น ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ซีพีเอฟจึงถือเป็นบริษัทแบบอย่างที่ดีในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อฟื้นฟูวิถีชุมชนให้มีความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน

Advertisement

ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

บรรยากาศชาวบ้านปากน้ำประแสเข้าร่วมโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน"
บรรยากาศชาวบ้านปากน้ำประแสร์เข้าร่วมโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image