อาศรมมิวสิก : ยูโซะ บ่อทอง ตายแล้ว แต่ปัตตานียังมีชีวิตอยู่ : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2562 ได้ทราบข่าวว่า ครูยูโซะ บ่อทอง หรือยูโซะ อุมาร์ เจ้าตำรับดิเกร์ฮูลูหรือลิเกฮูลู เสียชีวิตด้วยอาการถ่ายไม่ออก (10 วัน) เมื่อญาตินำส่งโรงพยาบาลปัตตานี มีอายุต่อได้อีก 2 วัน ก็เสียชีวิต และญาติได้นำศพไปฝังภายใน 24 ชั่วโมง ตามประเพณีทางศาสนาเรียบร้อย ที่กุโบร์ใกล้บ้าน ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อายุได้ 67 ปี

ครูยูโซะ บ่อทอง หรือยูโซะ อุมาร์ เกิดที่บ้านบางปลาหมอ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 ได้รับการศึกษาสูงสุดแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำงานทุกอย่างที่มีผู้ว่าจ้าง ด้วยวิสัยชอบงานร้องรำทำเพลง เล่นลิเกฮูลู ด้วยความรักสมัครเล่นกระทั่งกลายเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ มีคนหา มีคนว่าจ้างให้เล่นลิเกฮูลูตลอดมา ในที่สุดก็ประกอบอาชีพรับจ้างเล่นลิเกฮูลู.

เมื่อยูโซะ บ่อทอง ย้ายไปอยู่ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงได้ชื่อเรียกกันติดปากว่า
“ยูโซะ บ่อทอง” หมายถึง ลิเกฮูลูที่มีชื่อนายโรงคื

“ยูโซะ” จากตำบลบ่อทอง รับเล่นลิเกฮูลูทั่วพื้นที่ภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล และพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับเชิญ ยูโซะ บ่อทอง ได้รับเชิญไปแสดงลิเกฮูลู เป็นตัวแทน 3 จังหวัดภาคใต้บ่อยครั้ง เป็นดารารับจ้างโฆษณาสินค้า โดยใช้ลิเกฮูลูเป็นสื่อสร้างชื่อ

Advertisement

ลิเกฮูลู เป็นภาษามลายู เป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ ใช้ภาษามลายูหรือเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวมลายู เรียกว่า ดิเกร์ (Dikir) ในมาเลเซีย เรียกว่า “ลิเกปารัต” เดิมเป็นภาษาอาหรับหรือเปอร์เซีย ซึ่งหมายถึงการอ่านทำนองเสนาะ “ซีเกร์มีรฮาแบ” เฉพาะการอ่านจากบทกวี บทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เป็นเรื่องราวหรือเป็นนิทานประกอบดนตรี โดยเฉพาะใช้เครื่องประกอบจังหวะ อาทิ กลองบานออีบู (รำมะนาใหญ่) กลองบานออาเนาะ (รำมะนาเล็ก) ฆ้องหุ่ย กรับ มารากัส ฉิ่ง เป็นต้น นิยมเล่นในเทศกาลกำเนิดพระนบีมูฮัมหมัด

ต่อมาลิเกฮูลูเป็นการละเล่นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น ชาวบ้านนำไปร้องรำทำเพลงโต้ตอบ (ชาย-หญิง) ผูกเพลงรัก ผูกเพลงแก้ ใช้ปฏิภาณไหวพริบ กลายเป็นการละเล่นที่สนุกสนานของชาวบ้าน คือการร้องเล่นลำตัดเป็นภาษาอาหรับนั่นเอง เมื่อสังคมไม่มีความบันเทิงอย่างอื่นให้เลือก ลิเกฮูลูจึงเป็นความบันเทิงหลักของชุมชนมุสลิมภาคใต้ ความบันเทิงอื่นก็เข้าไปไม่ถึง เพราะติดขัดต่อข้อห้ามทางศาสนา

ลิเกฮูลู คำว่า “ฮูลู” แปลว่า ทิศต้นน้ำ หรืออยู่เหนือน้ำ หมายถึงพื้นที่บริเวณต้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี พื้นที่อำเภอบันนังสตาและอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่นิยมเล่นลิเกฮูลู ส่วนพวกปลายน้ำหรือพวกปากแม่น้ำนั้น เรียกว่าพวกทิศฮิเล ไม่ได้เล่นลิเกฮูลู ซึ่งพอเข้าใจว่าการละเล่นลิเกฮูลูนิยมจากพวกที่อยู่ต้นแม่น้ำปัตตานี

Advertisement

ลิเกฮูลูคณะหนึ่งประกอบด้วย พ่อเพลงและลูกคู่ พ่อเพลงนั้นเป็นนักร้องต้นเสียง เป็นผู้ว่าบท ขับกลอน อาจจะมี 2-3 คน ส่วนใหญ่จะเป็นนักขับที่มีเสียงดี ส่วนลูกคู่อาจจะมีถึง 8-9 คน มีหน้าที่รับร้อง ตีเครื่องจังหวะ ปรบมือ บางครั้งก็ออกท่า ร่ายรำ ออกลีลาด้วย

เมื่อก่อนลิเกฮูลูไม่ได้แต่งตัวอะไรนัก เป็นแค่นักขับเสียงดี ลูกคู่ก็ไปหาเอาข้างหน้า แบบเดียวกับพวกขับเพลงบอก ซึ่งเป็นพวกว่ากลอนที่พัทลุงและนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อมีผู้หาว่าจ้างลิเกฮูลูไปแสดงในงานบ่อย ก็นิยมแต่งตัวหรูเป็นนักแสดงเพื่อให้มีราคา โพกหัวห้อยผ้า ใส่เสื้อลาย นุ่งโสร่งสวยงาม เสื้อผ้ามีสีสันสะดุดตา นอกจากประกอบความสวยงามแล้ว ยังสามารถเรียกราคาค่าตัวได้สูงขึ้นด้วย

ลิเกฮูลูได้ขยายความนิยมไปเล่นในงานต่างๆ อาทิ งานแต่งงาน งานพิธีสุหนัต (งานขลิบหนังปลายอวัยวะเด็กผู้ชาย) งานเมาลิด (งานยกย่องพระนบีมูฮัมหมัด) งานฮารีรายอ (วันรื่นเริงของชาวมุสลิม) และงานบุญอื่นๆ รวมทั้งงานแก้บนด้วย ลิเกฮูลูขยายอิทธิพลขึ้นไปทางส่วนทางเหนือ โดยเฉพาะที่สุพรรณบุรี อยุธยา ซึ่งนิยมเล่นลำตัดกระทั่งปัจจุบัน

ได้ลองถอดเนื้อเพลงลิเกฮูลู จากภาษามลายู คำร้องของยูโซะ (อุมาร์) บ่อทอง ดังนี้

“ชีวิตที่ต้องทำตามกฎเกณฑ์เหมือนโดนบังคับ มันลำบาก ไม่รู้เหมือนกัน อยากจะปฏิบัติตามไหม แต่ก็ให้ความร่วมมือเสมอมา (ลูกคู่ร้องรับ)

สวัสดีครับคืนนี้ขอให้ทุกคนมีความสุข อยากให้ผู้ชมฟังเพลงของผม สวัสดีลิเกฮูลูเป็นของดั้งเดิมนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณแต่เก่าก่อน (ลูกคู่รับ)

ขอให้วัฒนธรรมลิเกฮูลู ของชาวมลายูรุ่งเรือง เป็นศิลปะมลายู เป็นของโบราณ ช่วยสร้างความสามัคคีในประเทศ ประเทศจงเจริญ จงเจริญ (ลูกคู่รับ)

ขอให้วัฒนธรรมลิเกฮูลูเจริญเจริญ การปรับตัวให้ทันกับความเจริญ มันยาก เพราะวัฒนธรรมของเรา แต่ถ้าส่วนราชการเข้าใจ ช่วยสนับสนุนสิ่งดีๆ ก็จะพัฒนาได้ การพัฒนาให้เจริญมันยาก (ลูกคู่รับ)”

ยูโซะ บ่อทอง นอกจากจะเป็นศิลปิน เป็นนักแสดง เป็นนักโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้ว ยังอุทิศตัวเป็นครูลิเกฮูลู ศึกษาสืบทอดและสอนต่อเพลงให้แก่เด็กรุ่นใหม่ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ยูโซะ บ่อทอง เป็นคนที่มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี สามารถที่จะแต่งบทลิเกได้เอง โดยนำเอาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ทั้งบ้านเมือง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา มาเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ

การท่องเที่ยว นักการเมือง ผู้ปกครองเมือง นักประชาสัมพันธ์ ได้ใช้ลิเกฮูลู คณะของยูโซะ บ่อทอง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและประชาสัมพันธ์สินค้าที่ตนต้องการ ทั้งนี้ เพราะว่ายูโซะ บ่อทอง และลิเกฮูลู เป็นสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากคนในภูมิภาคอื่นของประเทศ

ยูโซะ บ่อทอง เป็นศิลปินที่มีนิสัยดี มีอัธยาศัยดี มีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
รู้จักตอบแทนบุญคุณ ทำให้ยูโซะ บ่อทอง เป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในวงการ ยูโซะได้รับยกย่องให้เป็นครูลิเกฮูลู เรียกติดปากว่า ครูยูโซะ บ่อทอง เมื่อมีการประกวดลิเกฮูลูที่ไหน ก็จะมีครูยูโซะ บ่อทอง เป็นกรรมการจัดการหรือกรรมการตัดสิน เพราะเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจและนับถือในความยุติธรรม บ่อยครั้งก็จะเห็นครูยูโซะเป็นโฆษกในงานประกวดลิเกฮูลู ถือว่า ครูยูโซะ บ่อทอง เป็นศิลปินที่ครบเครื่อง คือทำได้ทุกอย่าง

เมื่อปี พ.ศ.2554 ครูยูโซะ บ่อทอง ได้รับรางวัล “สุกรี เจริญสุข” จากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้อุทิศตนเป็นครูลิเกฮูลู เป็นผู้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมดนตรี เป็นผู้ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ครูภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นผู้รักษาและสืบทอดศิลปะของท้องถิ่นลิเกฮูลูเอาไว้

จากข้อมูลในการรับรางวัลจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนั้น ได้มีการบันทึกเสียงและภาพของลิเกฮูลูคณะครูยูโซะ บ่อทอง เอาไว้ อาจจะเป็นวิดีโอที่สมบูรณ์สุดเท่าที่มี รวมรวมเพลงเอก เพลงครู และเพลงที่ครูยูโซะ บ่อทอง เป็นผู้ประพันธ์เอง และเป็นผู้ขับร้องเองด้วย

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ครูยูโซะ บ่อทอง ได้ร่วมมือกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานเทศกาลดนตรี ศิลปะ และการแสดง (Pattani Heritage City) โดยจัดให้มีการประชันลิเกฮูลูที่มีชื่อเสียงจากทั่วภาคใต้ แสดงบนเวทีลานริมแม่น้ำปัตตานี ครูยูโซะ บ่อทอง เป็นโต้โผในการจัดงานครั้งนั้น ด้วยคำขวัญที่ว่า “อยู่เมืองไทย สบายใจ สบายดี”

ครูยูโซะ บ่อทอง มักจะเล่าเรื่องราวของชีวิตให้เพื่อนที่ใกล้ชิด (นายนุ ร้านทำป้ายโฆษณา) ฟังอยู่เสมอๆ เรื่องการได้รับรางวัลจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ เป็นสิ่งที่ชุบชีวิตให้ครูยูโซะ บ่อทอง โดยเฉพาะลิเกฮูลู ให้กลับมีพลังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การสนับสนุนจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นการสร้างให้คณะลิเกฮูลูฟื้นขึ้นมา

ลิเกฮูลูเป็นขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติและของปัตตานี

ไม่มีหลักฐานว่าสมัยอยุธยานั้นมีซอสามสายใช้ในวงดนตรีไทย แต่มีหลักฐานชัดเจนว่า รัชกาลที่ 2 ทรงซอสามสายชื่อ “สายฟ้าฟาด” ทรงสีซอเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” และมีหลักฐานชัดเจนว่า ซอสามสายเป็นซอที่มีรากฐานมาจากซอ “ระบับ” ซึ่งเป็นซอแขกปัตตานี พระอาจารย์ที่สอนซอสามสาย รัชกาลที่ 2 นั้น ชื่อครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ) เป็นลูกแขกปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยพวกแขกปัตตานีได้ตั้งรกรากที่กุฎีต้นสน อยู่ริมคลองบางหลวง ตรงข้ามวัดกัลยา ยังมีคำบอกเล่าว่า “คุณย่าของจางวางทั่วเป็นแขก” ซึ่งเป็นต้นตระกูล
พาทยโกศล เป็นตระกูลสำคัญของดนตรีไทย ยังมี “ปี่ท่านพระ” หรือปี่พระอภัยมณี ที่เป็นสมบัติของครูมีแขก ก็ตกเป็นสมบัติของบ้านกระทั่งปัจจุบัน

ชาวแขกที่กุฎีต้นสนยังสืบเชื้อสายวัฒนธรรมปัตตานีอยู่ วิถีชีวิตและอาหารการกิน ก็ยังคงสืบทอดแบบแขกปัตตานี หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เพลงแขกที่ปะปนอยู่ในเพลงไทย อาทิ บุหลันลอยเลื่อน บุหลันลันตู บุหลันซาลา บุหงาปัตตานี บุหงารำไป บุหงาตันหยง เป็นต้น เป็นมรดกชิ้นทองคำทั้งสิ้น

ปัตตานี มีตำนานมาหลายร้อยปีแล้ว หากรัฐบาลมีความเฉลียวฉลาดกว่านี้ ก็ควรจะยกคุณกรวย คุณบังเกอร์ คุณลวดหนาม คุณกระสอบทราย พร้อมถอดคุณยามถือปืนที่ยืนเฝ้ากลางถนน ออกจากเมืองปัตตานีเสีย แล้วให้นำเอาเงินงบประมาณเหล่านั้นไปบำรุงเมืองปัตตานีเสียใหม่ ทำนุบำรุงปัตตานีให้เป็นเมืองปัตตานีที่ฟื้นฟูอารยธรรมเก่าขึ้นมา ทั้งอารยธรรมแขก (เปอร์เซีย) อารยธรรมจีน อารยธรรมฝรั่งยุโรป อารยธรรมไทย จะทำให้ปัตตานีกลายเป็นเมืองมรดกโลก อย่างอิสตันบูล (Istanbul) ที่คนทั้งโลกจะเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมเมืองโบราณ

อย่าลืมว่ามีการค้นพบมรดกคัมภีร์อัลกุรอ่าน (Quran) ที่เก่าแก่สุด 78 ฉบับในเมืองปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นมรดกของอารยธรรมโบราณ รัฐบาลควรเข้าไปอุ้มชูเร่งรัดการสร้างพิพิธภัณฑ์คัมภีร์อัลกุรอ่านให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อคารวะต่อแผ่นดินและสร้างปัตตานีให้เป็นเมืองสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมของโลกต่อไป ในทางกลับกัน ความกลัวและความขัดแย้งก็มีอานุภาพสูง ได้รักษาธรรมชาติ รักษาป่า รักษาผลไม้ ต้นไม้แต่ละต้นอายุเป็น 100 ปี ซึ่งยังมีอยู่ แถมยังรักษากุ้งหอยปูปลาทะเลเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ครูดนตรีคนสำคัญๆ ทยอยตายกันไปตามชะตากรรม แต่มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองปัตตานีนั้นยิ่งใหญ่ยังคงเหลืออยู่ อดีตที่ขมขื่นก็คืออดีต ซึ่งมันก็ผ่านไปแล้ว “หากว่าเรามัวแต่ทะเลาะกันเกี่ยวกับเรื่องเมื่อวานนี้ ฝังใจอยู่กับอดีต แล้วเราจะมีพรุ่งนี้ได้อย่างไร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image