เดินไปในเงาฝัน : เรียนรู้จากโลกที่แตกต่าง : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริงๆ แล้วเรื่องการทำเกษตรของประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่อาจมีจุดบกพร่องอยู่บ้าง จนทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไทยไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ทั้งในเรื่องการเตรียมดิน การเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว การบรรจุภัณฑ์ และการส่งออก ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไทยไม่ถูกยอมรับในตลาดต่างประเทศ

ยิ่งเฉพาะการใช้สารเคมี

ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันเกษตรกรหลายภาคส่วนของประเทศไทยหันมาใส่ใจในเรื่องการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี และการทำเกษตรอินทรีย์กันค่อนข้างมาก

Advertisement

แต่ทำไมถึงยังไม่ได้รับความนิยม?
ทั้งๆ ที่ตลาดมีความต้องการ

ผู้บริโภคอยากรับประทานอาหารปลอดภัย แต่ทำไมผลผลิตเหล่านี้จึงกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม เฉพาะชุมชน หรือถ้าถูกนำมาวางขายในมหานครกรุงเทพ

ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าระดับหรูราคาจะแพงมากไปกว่าความเป็นจริง ทำไปทำมาเกษตรกรไทยซึ่งเป็นต้นทางของการผลิตก็ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้อยู่ดี

Advertisement

เพราะถูกกดราคา

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง หากผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อโดยตรงกับเกษตรกรเขาก็จะได้เม็ดเงินมากขึ้น ทั้งยังนำเม็ดเงินเหล่านี้ไปลงทุนในครั้งต่อๆ ไป

ที่สำคัญหลายรัฐบาลต่างเพิกเฉยต่อการทำเกษตรอินทรีย์

ทั้งที่เรื่องของเกษตรอินทรีย์สำคัญต่อประเทศ
ชาติมากๆ สำคัญไปกว่านั้น ปริมาณตัวเลขการทำเกษตรอินทรีย์ในบ้านเรามีเพียงไม่ถึง 1%

ถ้าเทียบกับปริมาณประชากรทั่วประเทศ

หรือถ้าเทียบกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมชมชอบการบริโภคพืช ผัก หรือข้าวอินทรีย์ เพราะฉะนั้น ถ้าคิดอย่างไม่ต้องใช้ตรรกะอะไรในทางเศรษฐศาสตร์อุปทานมีมากกว่าอุปสงค์

ที่สำคัญ หากคิดจะบุกเบิกธุรกิจแบบนี้เชื่อว่ายังไงก็ขายได้ เพราะผู้บริโภคมีจำนวนมากกว่าผู้ผลิต ซึ่งบนพื้นฐานหลักคิดนี้เองจึงทำให้ผมนึกถึงฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองโทกาเนะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีโอกาสไปเมื่อไม่นานที่ผ่านมา

ตอนนั้นผมมีความรู้สึกว่าต้นทางระหว่างเขากับเราเหมือนกัน เพราะเขาเองก็ต้องการให้คนในครอบครัวทานอาหารปลอดภัย ปราศจากสารเคมี เขาจึงปลูกพืชผักตามฤดูกาลต่างๆ โดยไม่ใช้สารเคมีเลย

ซึ่งเกษตรกรบ้านเราก็คิดคล้ายกัน

แต่ที่แตกต่างคือเกษตรกรของเขาเป็นคนรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ต้นๆ ที่สำคัญ พวกเขาเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนกับเรา แต่วันหนึ่งเขาเริ่มคิดได้ว่าชีวิตมนุษย์เงินเดือนในมหานครโตเกียวลำบากมาก

ตื่นเช้าต้องนั่งรถไฟไปทำงาน กลางวันพักเที่ยง จากนั้นก็ทำงานจนถึงค่ำ และก็นั่งรถไฟกลับบ้านในสภาพอิดโรย ซึ่งเขาไม่อยากใช้ชีวิตอย่างนี้อีกแล้ว

พวกเขาจึงปรึกษากันในฐานะเพื่อน

พร้อมกับปรึกษาภรรยาว่าเราจะกลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านดีไหม บางคนมีที่ดินเป็นของตนเองไม่ใช่เรื่องยาก แต่บางคนต้องเช่าที่ดินคนอื่นเขาทำ จึงเป็นอุปสรรคด่านแรก

ด่านที่สองพวกเขาไม่มีความรู้ทางการเกษตรเลยจะทำอย่างไร

ที่สุดพวกเขาจึงตัดสินใจไปหาความรู้ทางด้านการเกษตรจากแหล่งความรู้อื่นๆ บางส่วนก็หาข้อมูลจากโลกอินเตอร์เน็ต บางส่วนก็เรียนรู้จากเกษตรกรรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย

จนเริ่มเกิดความมั่นใจ

สุดท้ายจึงรวมกลุ่มกันได้ทั้งหมด 11 คน ด้วยการไปเช่าที่ดินทั้งหมด 25 ไร่ เพี่อปลูกพืชผักอินทรีย์ โดย 5 คนแรกดูแลเรื่องการตลาด 6 คนที่เหลือดูแลการผลิต

แรกๆ เขายอมรับว่าล้มไม่เป็นท่า

แต่พอผ่านไปสักสองสามปีพวกเขาสามารถสร้างแบรนด์ฟาร์มไอโยะให้เป็นที่ประจักษ์สำหรับคนในเมืองโทกาเนะ เพราะนอกจากเขาจะส่งพืชผักตามฤดูกาลให้กับเกษตรกรโดยตรง

เขายังส่งตามร้านอาหารใกล้เคียงก่อน จนปัจจุบันพืชผักอินทรีย์ของเขาสามารถส่งไปขายยังร้านอาหารในชิบะ, โตเกียว, คานากาว่า และโอซากา รวมทั้งหมด 40 กว่าร้านที่ใช้ผลผลิตจากฟาร์มไอโยะเพื่อประกอบอาหารให้ลูกค้า
นอกจากนั้น พวกเขายังนำสินค้าไปขายตามตลาดนัดชุมชนต่างๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 200 ครั้ง/ปี

จนทำให้ผลผลิตของฟาร์มไอโยะถูกพูดถึงในวงกว้าง

ที่ไม่เพียงเป็นแหล่งศึกษาของคนในชุมชน หากหลายประเทศทั่วโลกต่างเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่ออยากรู้ว่ากุญแจความสำเร็จเกิดขึ้นจากอะไร

มูโรซูมิ เคนอิจิ ผู้ดูแลฝ่ายผลิตบอกว่า กุญแจความสำเร็จเกิดขึ้นจากเราเปิดเผยแหล่งที่มาที่ไปทุกอย่างเกี่ยวกับพืชผักแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลในการเพาะปลูก ใครเป็นคนปลูก เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ และปลูกบริเวณใด สิ่งเหล่านี้จะถูกแปะบนฉลากไปยังสินค้าทุกชนิดเพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลทุกอย่าง

ตรงนี้ไม่เพียงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเข้ามาดีลสินค้ากับเขาโดยตรง หากยังทำให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า
เป็นล็อตใหญ่ๆ ด้วย

ขณะที่ ชิโนะ ยูซุเกะ ผู้ดูแลการตลาดบอกว่าการที่เราโปร่งใสทุกอย่างตั้งแต่ขั้นตอนของการเตรียมดิน เพาะปลูก เก็บเกี่ยว และบรรจุภัณฑ์ จึงทำให้มีลูกค้าให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

จนทำให้ฟาร์มไอโยะสามารถสร้างยอดขายรวมประมาณ 30 ล้านเยน/ปี หรือประมาณ 10 ล้านบาท/ปี

ถามว่าคุ้มไหม?
คุ้มมากเขาบอก

เพราะนอกจากจะได้อยู่กับครอบครัว เขายังได้บริโภคพืชผักที่ปลอดสารพิษ สำคัญกว่านั้น ฟาร์มไอโยะยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวหลายคนในประเทศญี่ปุ่นเริ่มอยากกลับบ้าน

เพื่อหันมาทำเกษตรอินทรีย์

เพราะปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งจะคลอดกฎหมายใหม่ออกมาเพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกพืชปลอดสารเคมี โดยระยะพื้นที่ทุก 1,000 ตารางเมตร รัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรประมาณ 8,000 เยน/ปี

หรือเกษตรกรรายใดปลูกพืชปลอดสารเคมี และต้องการผู้จะมาฝึกงาน รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 1 แสนเยน เป็นเวลา 2 ปี สูงสุดไม่เกิน 2 คน/ฟาร์ม แต่ทั้งนั้นเกษตรกรรายนั้นๆ จะต้องมีประสบการณ์การทำฟาร์มอย่างน้อย 5 ปี

ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ดีมากสำหรับเกษตรกรชาวญี่ปุ่น

ผมจึงอยากให้รัฐบาลไทยให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้บ้าง
เพื่อเกษตกรไทยในวันนี้ และวันข้างหน้าพวกเขาจะได้ปลดแอกจากความยากจนเสียที

คุณเห็นด้วยกับผมไหม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image