อาศรมมิวสิก : RCO Brass Concert คืนนี้ไม่มีพระเอก : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

จากการประเมินทางสายตาราวๆ 80% ของผู้ชมคอนเสิร์ตในคืนวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ณ หอแสดงดนตรี มหิดลสิทธาคาร โดยกลุ่มนักเล่นเครื่องลมทองเหลือง (Brass Section) ของวง “รอยัลคอนแชร์ตเกบาว ออร์เคสตรา” (Royal Concertgebouw Orchestra) เป็น “กลุ่มผู้ชมวัยรุ่น” เราอาจได้ยินทรรศนะของผู้ฟังดนตรีบางส่วน มีทรรศนะในเชิงลบต่อกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง (กลุ่มแตร) ในวงซิมโฟนีออเคสตรา พวกเขาบอกว่าเครื่องดนตรีกลุ่มนี้ส่งเสียงดังจนแสบแก้วหู อย่าว่าแต่ผู้ฟังดนตรีบางส่วนเลย แม้แต่วาทยกรผู้กำกับวงออเคสตราเองก็มักจะออกปากขอให้กลุ่มเครื่องดนตรีนี้เล่นเบาลงอยู่เสมอๆ (วาทยกรผู้ยิ่งใหญ่บางคนถึงกับกล่าวว่า แค่เพียงส่งสายตามองไปแวบเดียวก็พากันบรรเลงดังจนเกินพอดีเสียแล้ว ไม่ต้องถึงกับยกไม้ Baton ให้คิวกันหรอก!)

ถ้าจะเปรียบดนตรีกับชีวิตจริง สังคมมนุษย์ก็ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายรูปแบบ บางคนนิสัยเรียบร้อยพูดน้อยเสียงเบา บางคนโผงผางเสียงดังตรงไป-ตรงมาก็อาจเป็นที่น่ารำคาญในสายตาของบางคนได้โดยไม่น่าแปลกใจ แต่ถ้าเรายอมรับบุคลิกภาพคนเสียงดังโผงผาง (แต่สูงด้วยความจริงใจ) ได้ว่าเป็นสีสันหนึ่งในความมีชีวิตชีวา เราก็คงลดความรำคาญไปได้บ้าง และถือเป็นสีสันประดับสังคม กลุ่มนักเล่นเครื่องลมทองเหลือง ก็อาจเปรียบเทียบได้ดังเช่นว่านี้ พวกเขาคือสีสันอันเจิดจ้า (และสง่างาม) ทางดนตรีในภาพรวม

อย่างไรก็ดี คอนเสิร์ตโดยกลุ่มแตรของวง RCO ในคืนวันนั้นอาจเปลี่ยนทรรศนะของผู้ฟังดนตรีบางคนที่มีต่อเครื่องดนตรีกลุ่มนี้ไปตลอดกาล

ประสบการณ์อันสำคัญประการหนึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเองก็คือ นี่เป็นการเขียนพรรณนาถึงเสียงดนตรีในกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองด้วยคำคุณศัพท์ คำวิเศษณ์ ที่ไม่ค่อยจะปกติสำหรับการพูดถึงเครื่องดนตรีประเภทนี้ เอาเสียเลยเช่น ละเมียดละไม, กลมกล่อม, นุ่มนวล, กลมกลืน, ระรื่นหู…ฯลฯ ซึ่งนี่มักไม่ใช่คำพูดที่เราเอ่ยถึงเสียงแตรในวงดนตรี แต่กลุ่มเครื่องลมทองเหลืองของวง RCO ทำให้โลกทัศน์ของเราต่อเสียงเครื่องดนตรีกลุ่มนี้เปลี่ยนไป

Advertisement

ผู้เขียนขอกล่าวถึงความรู้สึกโดยรวมๆ ก่อนว่า หลังจบคอนเสิร์ตในคืนวันนั้นรู้สึกได้ถึงสัมผัสทางดนตรีอันละเมียดละไมได้ราวกับฟังเสียงกลุ่มเครื่องลมไม้ (Woodwind Instrument) หรือแม้แต่อาจกล่าวได้ว่าละเมียดละไมราวกับฟังเสียงวงขลุ่ยเรคอร์เดอร์ (Recorder Ensemble) ขอยืนยันด้วยความจริงใจว่านี่ไม่ใช่คำพูดเชิงประชดหรือแดกดันใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่มันคือความจำเป็นที่จะต้องกล่าวในเชิงอุปมา เพื่อให้เข้าใจในความนุ่มนวลและความละเมียดของพวกเขาได้ชัดเจนที่สุด

แน่นอนที่สุดพลังแห่งความสง่างาม เจิดจ้าและผุดผ่อง ในกระแสเสียงนั้นยืนยันว่านี่เป็นเสียงเครื่องดนตรีกลุ่มแตรอย่างแท้จริง เสียงที่สร้างความปีติผุดผ่องบางอย่างในความรู้สึกภายในที่กลุ่มเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ไม่อาจให้กับเราได้

พวกเขาที่มาแสดงในคืนวันนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 11 คน (ทรัมเป็ต 4, ทรอมโบน 4, ฮอร์น 2 และทูบา 1) พวกเขาคัดเลือกบทเพลงที่มาแสดงในรายการได้เป็นอย่างดี พยายามเก็บรสชาติทางดนตรีให้ได้ครบถ้วน ทุกยุคสมัยทุกลีลา เริ่มเปิดรายการด้วยบทเพลง “สุวรรณภูมิ เพรลูด” (Suvarnabhumi Prelude) ผลงานเพลงแต่งใหม่เพื่อใช้ในการแสดงในครั้งนี้โดยเฉพาะประพันธ์โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ซึ่งมีการใส่ลีลา สำนวนเพลงพื้นบ้านของไทยเพื่อสร้างเอกลักษณ์พิเศษ

Advertisement

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์สามารถนำสำนวนลีลาดนตรีพื้นบ้านไทยผสานเข้ากับสำนวนดนตรีสากลได้อย่างกลมกลืน บางตอนให้ความรู้สึกราวกับเป็นสำนวนดนตรีเครื่องลมทองเหลืองของ “อันเดรียและโจวานนิ กาบริเอลิ” (Andrea, Giovanni Gabrieli) ในสมัยเรอเนซองส์ (Renaissance) บางตอนถึงกับออกสำเนียงแตรวงพื้นบ้านของไทย ความกลมกลืนสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันในลีลาเช่นนี้ มาจากประสบการณ์สั่งสมทางดนตรีอันยาวนานของผู้ประพันธ์ในทุกรูปแบบ แน่นอนที่สุดมันมาจากการศึกษาในระบบและ “อย่างเป็นระบบ” แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเรียนรู้และยึดเป็นแบบอย่างก็คือ มันมาจากประสบการณ์การฟังเพลงทั่วๆ ไป มาอย่างหลากหลายและยาวนานร่วมด้วย

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าการศึกษาวิชาการประพันธ์เพลงในระบบเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อการเป็น “ศิลปิน” นักประพันธ์ดนตรี เพราะมันยังต้องผสานกับประสบการณ์สะสมทางเสียงดนตรีที่ต้องรวบรวม, เก็บสะสมไว้ในคลังสมองอย่างมากมาย, หลากหลายเพียงพอที่จะคัดเลือกนำมา “ประยุกต์ใช้” ในการสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ๆ ซึ่งการศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจสร้างความหลากหลายลีลาได้มากพอ ความเป็นนักฟังเพลงตัวยงในทุกสไตล์, ทุกลีลาในอดีตของอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ คือองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความสำเร็จในการเป็นนักประพันธ์ดนตรีในทุกวันนี้อย่างแน่นอน

ก่อนและหลังจบเพลงแรกของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ มีเสียงปรบมือโห่ร้องให้กำลังใจจากกลุ่มผู้ชมวัยรุ่นในคืนวันนั้นอย่างกึกก้อง มันเป็นการส่งเสียงเชียร์ของวัยรุ่นราวกับเป็นคอนเสิร์ตร็อกหรือป๊อป เสียงเชียร์ที่แสนจะมีพลังและมีชีวิตชีวาจากกลุ่มวัยแรกแย้ม (ที่คงเป็นนักเรียนมัธยมในวงโยธวาทิต และนักศึกษาดนตรีเอกวิชาเครื่องเป่าในมหาวิทยาลัย) ซึ่งเราคงต้องยอมรับว่าเสียงเชียร์ประเภทที่ว่านี้ สร้างบรรยากาศและรอยยิ้มอันดีในการแสดงได้ดีกว่าเสียงปรบมือชื่นชมของผู้ชมรุ่นลุงๆ ป้าๆ ในคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกทั่วๆ ไป (ผู้เขียนสังเกตได้ถึงรอยยิ้มอันตื่นเต้นเป็นพิเศษของบรรดานักดนตรีที่มีต่อปฏิกิริยาเสียงชื่นชมของกลุ่มวัยรุ่นนี้) เสียงเชียร์ที่เปี่ยมด้วยพลังชีวิตวัยใสที่ผู้ชมวัยอาวุโสไม่อาจชดเชยให้กับศิลปินได้

บทเพลงในรายการมีความหลากหลายยุคสมัยและลีลา นักดนตรีใช้การเปลี่ยนสีสันทางดนตรี (Tone Colour) ด้วยการสลับเปลี่ยนเครื่องดนตรีเพื่อความหลากหลาย อาทิ ฟลูเกลฮอร์น (Flugelhorn), และพิคโคโลทรัมเป็ต (Piccolo Trumpet) ในกลุ่มทรัมเป็ต นักเล่นทูบาเปลี่ยนมาเล่นยูโฟเนียม (Euphonium)ในบางเพลง นอกจากนี้ยังมีการสลับตำแหน่งผู้บรรเลงแนวที่หนึ่ง หรือผู้นำ ในแทบจะทุกเพลง

สิ่งที่น่าทึ่งก็คือพวกเขาแสดงให้เห็นว่าทุกคนสามารถเป็นผู้บรรเลงนำได้เป็นอย่างดีทุกๆ คนอย่างทัดเทียมกันจนแยกไม่ออก ความเป็นเลิศของการบรรเลงดนตรีเป็นวง (แบบที่เราเรียกว่า “Team Work” หรือ “Ensemble”) นั้น ต้องมาจากความสามารถเฉพาะตัวขั้นสูงของทุกคนที่ทัดเทียมกันหรือใกล้เคียงกันอย่างมากเสียก่อน (ในชีวิตจริงแห่งการทำอาชีพการงานในบริษัทหรือหน่วยงานองค์กรต่างๆ บางทีเราก็มักเรียกร้องหาความเป็นทีมงานจากคนในองค์กรที่มักชอบกินแรงจากเพื่อนร่วมงานที่เก่งและขยันขันแข็งกว่า)

ในบทเพลง “Wachet auf” และ “Brandenburg Concerto No.3” ของ บาค(J.S.Bach) นั้นพวกเขาแสดงถึงวิธีการทางภาษาดนตรีที่แสนจะละเมียดละไม, นุ่มนวล สาธิตให้เห็นวิถีทางการปฏิบัติต่อเสียงดนตรีที่กระทำด้วยความทนุถนอม ราวกับการเด็ดดอกไม้ด้วยสัมผัสอันนุ่มเบาเพื่อมิให้เกิดความบอบช้ำต่อตัวดอกและลำต้น สำหรับบทเพลง “Concertgeblass” ที่ประพันธ์โดย “D.Glanert” มีการใส่มิวท์ (Mute คือ “เครื่องลดเสียง”) กันทุกคน แต่ในครั้งนี้พวกเขาทำให้เรารู้สึกได้ว่า มิวท์ที่ใส่นี้มิใช่เพื่อลดปริมาณเสียง (Volume) หากแต่พวกเขาใส่มันเพื่อเปลี่ยนสีสันทางเสียง (Timbre) ต่างหาก
ไม่บ่อยนักหรอกที่เราจะได้เห็นนักเล่นเครื่องลมทองเหลืองสามารถที่จะเปลี่ยนหน้าที่และนิยามความหมายของมิวท์ได้อย่างประจักษ์ชัดเช่นนี้

บทเพลง “Elza’s Procession to the Cathedral” ของ R.Wagner นั้น สังเกตได้ถึงวิธีการเปล่งเสียง (Articulation) ที่ระมัดระวังในทุกๆ พยางค์ ในช่วงขึ้นเสียงสูงเราไม่รู้สึกถึงความเครียดหรืออัดอั้นใดๆ แบบการฟังแตรเป่าเสียงสูงโดยทั่วๆ ไป แต่พวกเขาบรรเลงเสียงขึ้นสูงด้วยความรู้สึกในแบบการชมบัลเลต์ (Ballet) ในตอนที่พระเอกยกร่างนางเอกชูขึ้นสูงสุดแขนอย่างพลิ้วเบา (จากสายตาผู้ชม) มีการปลดปล่อยความดังของเสียงอย่างกึกก้องก่อนจบครึ่งแรก ความกึกก้องที่ทิ้งหางเสียงลอยกังวานอยู่ในหอแสดงดนตรีได้อย่างน่าประหลาดใจทีเดียว

บทเพลงโหมโรง “Festive Overture” ของชอสตาโควิช (D.Shostakovich) ที่เปิดการแสดงในครึ่งหลังนั้น พวกเขายอมให้เกิดความคม, กระด้างหูบ้างเพียงเล็กๆ น้อยๆ ตามรูปแบบ, ลีลาและสำนวนดนตรีแบบชอสตาโควิชที่แท้จริง แต่ครั้นพอเข้าเพลงที่สองคือ “The Arrival of the Queen of Sheba” ของเฮนเดิล (G.F.Handel) พวกเขาก็สามารถสับสวิตช์กลับคืนสู่ภาษาดนตรียุคบาโรคอันนุ่มนวลละเอียดอ่อนได้รวดเร็วแบบพลิกฝ่ามือ

ในบทเพลง “Maria de Buenos Aires Suite” ของ “A.Piazzolla” เป็นดนตรีละตินที่แสนจะเป็นผู้ดีทางภาษาดนตรีมีลักษณะ Latin Fugue คือใช้เทคนิคดนตรีแบบฟิวก์ในสมัยบาโรค แต่สำนวนดนตรีเป็นละตินในศตวรรษที่ 20 ในบทเพลงรวมฮิต “Gershwin Selection” ในลีลาดนตรีสวิง (Swing) ที่แม้จะแรงขึ้นคมคายขึ้นแต่พวกเขาไม่ยอมหลุดจากกรอบแห่งความละเมียด, ระมัดระวังในทางดนตรี ตรงนี้เองที่ทำให้ต้องฉุกคิดเล็กน้อยไปถึงแนวคิดทางดนตรีของ “เลโอนาร์ด เบอร์นสไตน์” (Leonard Bernstein) ที่มักจะกล่าวเตือนไปถึงการบรรเลงดนตรีคลาสสิกที่มีรากฐานมาจากดนตรีพื้นบ้าน หรือดนตรีชนิดอื่นๆ ในทำนองที่ว่า “…อย่าพยายามทำให้ช่วงดนตรีที่ว่านี้ สะอาดหรือเป็นผู้ดีจนเกินควร เมื่อนำมาจากรากฐานพื้นบ้านก็ควรแสดงคุณลักษณะเดิมให้ชัดเจนด้วย…”

แต่อย่างไรก็ดีความละเมียดของนักดนตรีกลุ่มนี้ก็อาจทำให้เราลืมคำเตือนของเบอร์สไตน์ไปได้ชั่วคราว

บทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในลักษณะเมดเลย์ (Medley) ที่อัญเชิญมาปิดท้ายรายการ (เรียบเรียงโดย ดร.วานิช โปตะวนิช) มีกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ (โดยคณาจารย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล) เข้ามาร่วมสมทบ เราได้เห็นแนวทำนองเพลงต่างๆ ที่ได้รับการประคับประคองในการบรรเลงประสานจากเพื่อนๆ ร่วมทีมเสมอๆ แม้จะเป็นแนวทำนองหลักแต่เราจะเห็นเพื่อนร่วมงานมาช่วยประคับประคองแบบ “เคียงบ่า-เคียงไหล่” ในทันที พวกเขาตอกย้ำโดยตลอดในรายการแสดงว่า พวกเราไม่มีดาราใหญ่ (Super Star), ไม่ดาราแสดงนำ พวกเราคือทีมงานที่มีความสำคัญ (และความเป็นเลิศเฉพาะตัว) ที่ทัดเทียมกัน

ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสชมการบรรเลงของวง RCO นี้ ซึ่งเป็นการบรรเลงวงใหญ่เต็มอัตราที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2560 ยังคงจดจำเสียงของวงดนตรีวงนี้ได้ดีอยู่ในโสตประสาท โดยเฉพาะตอนจบ (Coda) จากซิมโฟนีหมายเลข 4 (Romantic) ของบรูคเนอร์ (A.Bruckner) ที่ให้ความรู้สึกอย่างที่ไม่ต้องระวังที่จะใช้คำว่า “มหัศจรรย์” เสียงที่ยิ่งใหญ่ก้องกังวานนั้นให้ความรู้สึกเสมือนว่าพวกเขาทั้งวงกำลังล่องลอยขึ้นเบื้องสูง และกำลังจะลอยพ้นไปจากโลกใบนี้ เสียงดังกึกก้อง (ระดับ FFF) ที่ปราศจากแรงบีบอัด หรือความเครียดใดๆ ทั้งปวง มันคือพลังทางเสียงที่เกิดขึ้นจากการทบทวีคูณของหางเสียงดนตรีทุกๆ แนวอันก้องกังวาน (Harmonic) มิใช่ความดังที่เกิดจากการตะเบ็ง บีบเค้นหรือตะโกนแบบที่พวกเราอาจเรียกมันว่า “แหกปาก” ไม่ใช่เลยจริงๆ ผู้เขียนเรียกพวกเขาในการบรรเลงครั้งนั้นว่าเป็น “ชีวดุริยางค์” (Organic Orchestra)

แม้ว่าในครั้งนี้พวกเขามากันเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งก็ตาม หากแต่ปรัชญาดนตรีหลักของวงใหญ่มิได้ขาดหายไปไหน ปรัชญาแห่งความเป็นเลิศในการบรรเลงดนตรี “ร่วมกัน” (Ensemble) หลังเลิกงานผู้เขียนบังเอิญเดินผ่านกลุ่มผู้ฟังวัยเยาว์จับกลุ่มคุยกัน 4-5 คนเกี่ยวกับ “ข้อผิดพลาด” ของการแสดงในคืนนั้น อดเป็นห่วงไม่ได้ถ้าหากเราเชื่อในเรื่อง “กฎแห่งแรงดึงดูด” มาตรฐานการแสดงระดับนี้ โดยศิลปินดนตรีระดับนี้ เด็กๆ บางคนยังแสดงความฉลาดด้วยการเลือกหยิบเอาข้อผิดพลาดมาเป็นหัวข้อหลักในการสนทนากันจนได้

ทั้งๆ ที่มีแบบอย่างและคุณความงามความดีทางดนตรีให้เห็นประจักษ์มากมายหลายเท่าทวีคูณ การเลือกเห็น เลือกหยิบเอาข้อผิดพลาดมาอยู่ในความทรงจำ มาเป็นหัวข้อสนทนาในทำนอง “รู้ทัน RCO” จึงเป็นเรื่องที่แม้จะเล็กน้อย แต่ก็น่าเป็นห่วงสำหรับบรรดาผู้มีทัศนคติแบบ “รู้ทัน” ทั้งหลาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยแห่งการสะสมประสบการณ์ชีวิต) ตามกฎแห่งแรงดึงดูดก็คือ เมื่อเราเลือกที่จะรับรู้หรือมองเห็น จดจำอะไรไว้มากๆ ต่อไปสิ่งเหล่านั้นจะหลั่งไหลเข้ามาในชีวิตเราในกาลข้างหน้า

เสียงดนตรีที่เราเลือกที่จะจดจำก็เช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image