อาศรมมิวสิก : อาณาจักรการศึกษาดนตรียามาฮ่า ความสุขคือหัวใจของการเรียนดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

ความจริงแล้วการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่หลักของรัฐ เพราะว่ารัฐเป็นผู้ถือนโยบาย ปรัชญาการศึกษา การสร้างบุคลากร การควบคุมคุณภาพ รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณ ในความเป็นจริงอีกมุมหนึ่ง รัฐกลับทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์นัก รัฐทำได้แค่พื้นๆ แกนๆ เน่าๆ เท่านั้น ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการจะพัฒนาความเป็นเลิศทางดนตรีของลูก จึงต้องดิ้นรนไปหาความเป็นเลิศเอาเอง ตั้งแต่โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนพิเศษ รวมถึงครูสอนพิเศษ เพื่อให้ลูกได้มีความก้าวหน้าหรือทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ดร.ยุทธพงศ์ แสงสมบูรณ์
ผู้อำนวยการดนตรี สถาบันดนตรียามาฮ่า

ในกรณีวิชาดนตรีก็ยิ่งลำบากไปใหญ่ เพราะไม่ได้อยู่ในสายตารัฐ ไม่มีนโยบายจากรัฐ ไม่มีปรัชญาจากรัฐ ประชาชนเอกชนจึงต้องขวนขวายหาโอกาสพัฒนาลูกเอาเอง

วิชาดนตรีในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ดนตรีเป็นวิชาหนึ่งที่แปลกไปจากวิชาอื่น เพราะดนตรีเป็นวิชาที่รัฐไม่ได้จัดการอะไรนัก ทำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมสำหรับความบันเทิง แต่ไม่ได้เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความเจริญงอกงามของเด็กแต่อย่างใด ดนตรีเป็นวิชาที่ดำเนินไปอย่างยถากรรม มีหลักสูตรที่ล้าสมัย ไม่มีครูดนตรีเฉพาะทาง เด็กไม่มีโอกาสเรียนดนตรีตั้งแต่พื้นฐาน หมายความว่าจะพึ่งพาการศึกษาจากรัฐไม่ได้ ดนตรีจึงเป็นวิชาที่ตกอยู่ในมือของเอกชน จัดการโดยเอกชน ควบคุมคุณภาพโดยเอกชน พ่อแม่ผู้ปกครองมีเสรีภาพที่จะเลือกให้เด็กเรียนดนตรีได้ตามความสมัครใจ

สถาบันดนตรียามาฮ่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 82 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองหลักในต่างจังหวัด นอกจากจัดการศึกษาดนตรีทั่วไปแล้ว ยังมีหลักสูตรดนตรีที่ได้ขยายเข้าไปสู่โรงเรียนนานาชาติชั้นนำอีก 8 โรงเรียนด้วย โดยจัดเป็นรูปแบบสอนดนตรีเฉพาะ (Yamaha Music Course in International School Project) ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนดนตรีโดยหลักสูตร
ยามาฮ่าราว 20,000 คน

Advertisement

สถาบันดนตรียามาฮ่าและหลักสูตรดนตรียามาฮ่า มุ่งเอาใจใส่เรื่องคุณภาพและการเรียนการสอนเป็นสำคัญ ครูสอนดนตรีในหลักสูตรและในสถาบันดนตรีจึงต้องผ่านการฝึกอบรม โดยคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถทางดนตรีและประสงค์จะเป็นครูสอนดนตรี เมื่อผ่านการคัดเลือก ผ่านคุณสมบัติ ก็ต้องเข้าฝึกอบรมด้านดนตรี ด้านการสอน ด้านเจตคติที่ดีต่ออาชีพครู ซึ่งเป็นปรัชญาของยามาฮ่าที่เชื่อว่า ครูที่ผ่านการทดสอบ ต้องมีความรู้ความสามารถที่ดีเป็นพื้นฐาน สิ่งที่ครูทุกคนจะต้องเรียนรู้ คือ ปรัชญาดนตรีและหลักสูตรยามาฮ่า

สิ่งสำคัญก็คือ ครูดนตรีจะต้องมีความเชื่อก่อนว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมามีความสามารถทางด้านดนตรีอยู่แล้ว หน้าที่ของครูที่ดีก็คือ นำหลักการสอนที่ดีมาประยุกต์ใช้ บวกกับความสามารถในการสอนของตัวเอง เพื่อให้นักเรียนสามารถเล่นดนตรีได้อย่างมีความสุข เพราะปรัชญาของยามาฮ่าเชื่อว่าคุณภาพดนตรีที่ดีเกิดจากการเล่นดนตรีอย่างมีความสุข ความสุขจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนดนตรี

นอกจากการอบรมครูในเรื่องของปรัชญาทางดนตรีแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการอบรมการสอนสำหรับครูใหม่ โดยให้ความสำคัญในการสอนตั้งแต่เริ่มต้น หลักการก็คือ ครูต้องสามารถเล่นเป็นตัวอย่างให้นักเรียนได้ เพราะครูเป็นแบบ เด็กเรียนรู้โดยการเลียนแบบจากครู ครูต้องมีความสามารถสอนให้นักเรียนทำตามแบบครูได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งจะมีการฝึกอบรมครูดนตรีใหม่ทุกเดือน โดยจัดฝึกอบรมที่ศูนย์อบรม ที่สถาบันดนตรียามาฮ่า กรุงเทพฯ (Yamaha Music Academy Bangkok)

Advertisement

นอกจากการอบรมครูใหม่แล้ว ครูคนเก่าที่มีประสบการณ์ในการสอนหลักสูตรดนตรียามาฮ่า ก็ยังต้องพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยให้เลือกเข้าฝึกอบรมในหัวข้ออื่นๆ ตามยุคสมัย เทคนิคการสอน การเข้าอบรมพิเศษกับศิลปิน อบรมการสอบวัดผล หรืออบรมขั้นสูง ที่จัดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ครูดนตรีได้เพิ่มพูนความรู้ ให้ครูดนตรีมีความตื่นตัวในการเรียนรู้ และนำความรู้ไปปรับใช้กับการสอนได้

สำหรับเป้าหมายในการเรียนดนตรีนั้น มีกิจกรรมสำคัญก็คือ การแสดงความสามารถทางดนตรีของเด็ก หลักสูตรดนตรียามาฮ่า มีความตระหนักในเรื่องโอกาสของการแสดงมาก จึงต้องจัดกิจกรรมการแสดงให้สอดคล้องกับการเรียนดนตรีของเด็ก เพราะการเรียนดนตรีจะให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูง เด็กจะต้องแสดงหรือเข้าแข่งขันการแสดงดนตรี นอกจากนักเรียนจะต้องฝึกซ้อมอย่างจริงจังแล้ว เป็นโอกาสที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้ชื่นชมผลการเรียนดนตรีของลูกด้วย

ในการเรียนดนตรีตามหลักสูตรยามาฮ่า ไม่ได้คาดหวังให้นักเรียนมีความสามารถทางด้านการเล่นดนตรีแต่เพียงอย่างเดียว ยังส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กผ่านกิจกรรมดนตรี ซึ่งการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีของยามาฮ่า จึงได้แบ่งออกเป็นการแข่งขันและการแสดง

สถาบันดนตรียามาฮ่า จัดการแข่งขันประจำปี (Yamaha Thailand Music Festival) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้จัดมา 45 ปีแล้ว ปัจจุบันได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 33 รุ่น จาก 6 กลุ่มวิชา (Junior Course, Piano Course, Electone Course, Guitar Course, Violin Course และ PMC Course) โดยเปิดโอกาสให้แก่นักเรียนทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กเล็ก 4 ขวบ จนไปถึงระดับเยาวชน

การแข่งขันฝีมือในการบรรเลง ทั้งรูปแบบเล่นเดี่ยว การเล่นคู่ (Solo, Duet) และการรวมวงดนตรี สำหรับในปีต่อไปนี้ ยังได้เพิ่มกิจกรรมการแข่งขันประเภทครอบครัวขึ้น (Yamaha Family Contest) ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กเล็ก (Junior Course) ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นกิจกรรมดนตรีของครอบครัว เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เชื่อว่าจะทำให้ผู้ปกครองได้เข้าใจบทบาทของตัวเองในการสนับสนุนบุตรหลานให้เรียนดนตรี ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 2,500 คน ที่เข้าร่วมการประกวดดนตรี เพื่อชิงรางวัลถ้วยรางวัลพระราชทาน

ในส่วนกิจกรรมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Junior Original Concert) เป็นกิจกรรมการแสดงที่หลักสูตร
ยามาฮ่าทั่วโลกได้จัดขึ้นพร้อมกัน ในแต่ละปีก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียนในหลักสูตรดนตรีได้ส่งบทประพันธ์ดนตรีเพื่อแสดงผลสัมฤทธิ์ทางด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นเวทีที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้จากการเรียนมาประพันธ์บทเพลง แล้วส่งบทเพลงไปร่วมประกวดกับนักเรียนดนตรีของหลักสูตรยามาฮ่าทั่วโลก บทเพลงที่ได้รับการคัดเลือกก็จะเปิดเวทีแสดง ทั้งในระดับประเทศ (Thailand Junior Original Concert) หรือเวทีระดับโลก (International Junior Original Concert) ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 40,000 บทเพลง นักเรียนผู้ส่งผลงานเข้าประกวด มีตั้งแต่ 5 ขวบถึง 15 ปี

กิจกรรมการแข่งขันและกิจกรรมการแสดง สถาบันดนตรียามาฮ่าจัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะต่อยอดความสามารถให้แก่นักเรียนดนตรี เพื่อยกระดับความสามารถและสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียน โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นนักวิชาการของสถาบันคอยให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ยังมีศิลปินที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท (Yamaha Artist) รวมทั้งคณาจารย์ดนตรีที่มีชื่อเสียงของไทยและต่างประเทศอีกด้วย เพราะหัวใจของการศึกษาดนตรีก็คือการให้โอกาสนักเรียนได้แสดงมากขึ้น การเพิ่มโอกาสเป็นตัวเร่งในการพัฒนาดนตรีในตัวนักเรียน

นอกจากนี้ สถาบันดนตรียามาฮ่ายังจัดกิจกรรมค่ายดนตรี (Music Camp) ร่วมกับมหาวิทยาลัยดนตรีชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจะได้เปิดโลกทัศน์นักเรียนดนตรี เป็นการพัฒนาต่อยอดในทิศทางที่เหมาะสมกับการศึกษาดนตรีของเด็กต่อไป

ปัจจุบัน สถาบันดนตรียามาฮ่า มี ดร.ยุทธพงศ์ แสงสมบูรณ์ เป็นผู้อำนวยการ (Music Director) เป็นช่วงเวลาของการปรับปรุงระบบการศึกษาดนตรีจากเดิม (Yamaha Music Education System) ไปสู่ระบบการศึกษาดนตรีแบบใหม่ (Yamaha Smart Education System) เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเป็นความคาดหวังของกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองในสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งสถาบันดนตรียามาฮ่าได้พัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์แทนการเรียนด้วยตำรา (Paperless Concept) อาศัยเทคโนโลยี (Multimedia) นำเข้ามาพัฒนาการศึกษาดนตรี การอบรมผ่านเทคโนโลยี (Streaming) การใช้สื่อการเรียนที่สมัยใหม่ (Cloud System)

สถาบันดนตรียามาฮ่า กำลังขยายการเรียนดนตรีรูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้าหมายการขยายโรงเรียนดนตรีไปสู่กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สำเร็จการศึกษาด้านดนตรี กลุ่มนักดนตรี หรือผู้สนใจในธุรกิจโรงเรียนดนตรี โดยสถาบันดนตรียามาฮ่าตั้งเป้าหมายที่จะขยายโรงเรียนรูปแบบใหม่ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครอบคลุมเมืองรองหรือเมืองขนาดเล็กในประเทศให้มากขึ้น

อาณาจักรการศึกษาดนตรีของไทย ซึ่งเป็นความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง ตกอยู่ในสถาบันดนตรียามาฮ่าเต็มมือ ซึ่งได้พัฒนาเชิงรุกและก้าวข้ามเงื่อนไข ก้าวข้ามข้อจำกัด จัดการศึกษาแบบบูรณาการเชิงรุกทางดนตรีอย่างไร้พรมแดน ซึ่งได้ช่วยให้เป็นทางเลือกสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่ด้อยการพัฒนา แน่นอนว่าวิชาดนตรีกลายเป็นวิชาที่เหลื่อมล้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ดนตรีเป็นความสุขของหัวใจ ความสุขที่ไม่มีพรมแดน”

ขอให้ทุกท่านจงมีความสุขความเจริญตลอดปี 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image