อาศรมมิวสิก : อารมณ์เพลงของปีที่แล้ว : โดย สุกรี เจริญสุข

การติดตามฟังเพลงไทยสมัยนิยม ตลอดปี พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นเพลงที่มีคนฟังหลายล้านครั้ง เลือกมาได้ 10 เพลง ทั้งนี้ ก็เพื่อค้นหาอารมณ์ของสังคมว่าเป็นไปอย่างไรบ้าง จากความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า เพลงเป็นภาพสะท้อนอารมณ์ของสังคม “สังคมเป็นอย่างไร บทเพลงในสังคมก็เป็นอย่างนั้น เพลงเป็นอย่างไร สังคมก็เป็นอย่างนั้นด้วย” แต่สำหรับโลกสมัยใหม่ที่มีโลกส่วนตัวแยกย่อยลงไปและมีความซับซ้อน สังคมได้ถูกแบ่งเป็นส่วนๆ โดยไม่ได้สื่อสารกันแต่อย่างใด แต่ละกลุ่มมีโลกของตัวเองโดยไม่ได้เชื่อมโยงต่อกัน แถมยังไม่แยแสกันอีกด้วย

เพลงนั้นประกอบด้วยคำร้อง ที่เป็นเรื่องราวหรือเนื้อหา ซึ่งเนื้อเพลงจะบอกความเป็นไปของสังคมนั้นๆ แต่ก่อนแยกเป็นสังคมเมืองกับสังคมชนบท ปัจจุบันแบ่งเป็นวัยรุ่น วัยกลางคน และผู้สูงวัย เมื่อเพลงมีความเป็นเฉพาะกลุ่มแยกจากกัน ในเพลงนั้นยังมีทำนองเพลง มีเสียงร้อง และเสียงดนตรีที่เรียบเรียงประกอบให้เป็นเพลง บรรยากาศของเพลง ที่น่าสนใจมากก็คือ ทำไมเพลงสมัยนิยมเหล่านี้ จึงมีคนวัยรุ่นติดตามมากมายถึงเพียงนี้

บทเพลงสมัยนิยมจำนวน 10 เพลง เป็นการจัดอันดับจากวิดีโอยอดนิยมบนยูทูบ (YouTube) ซึ่งมีผู้ฟังหลายร้อยล้านวิว (ตั้งแต่ 100 ล้านขึ้นไปถึง 300 กว่าล้านวิว) ซึ่งเพลงดังที่ถูกจัดลำดับไว้ เมื่อปลายปี พ.ศ.2562 มีเพลงดังประกอบด้วย ดังนี้

(1) เพลงเลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว ขับร้องโดย นารีนาท เชื้อแหลม และเก้า เกริกพล เนื้อร้องมีว่า “จะเอาเธอแค่คนเดียว อย่าทำให้เสียวแล้วเลี้ยวหลบได้ไหม เพราะรักเธอจนหมดใจ จะมอบให้เธอไปทั้งกาย…” (2) เพลงชอบแบบนี้ ผลงานของหนามเตย สะแบงบิน เนื้อร้องมีว่า “ชอบแบบนี้ ก็ชอบที่เป็นแบบนี้ ชอบแววตาแบบนี้ ชอบรอยยิ้มแบบนี้ ก็ชอบคนนี้ โฮ้ว จะเอาแบบนี้ จะเอาที่เป็นแบบนี้ จะเอาแววตาแบบนี้…” (3) เพลงขอบใจเด้อ ผลงานของศาล สานศิลป์ คำร้องโดย ปรีชา ปัดภัย เนื้อร้องมีว่า “กะขอบใจเด้อ ที่เฮ็ดให้เฮา บ่เหงามาช่วงหนึ่ง กะขอบใจเด้อถ้อยคำซึ้งๆ ที่ปลอบใจยามบ่มีไผ…”

Advertisement

(4) เพลงอยู่บ่ได้ ผลงานเพลงโดยเต้ย อภิวัฒน์ เนื้อร้องมีว่า “หากได้ฟังเพลงนี้ กลับมาก่อนได้บ่ ฮู้บ่หนอลมหายใจของอ้ายคือเจ้า ขาดเจ้าไปแนวนี้เบิด
ลมหายใจคือจั่งสิตาย ขาดเจ้าอ้ายอยู่บ่ได้ฮักเจ้าหลาย…” (5) เพลงกรรม ผลงานของนครินทร์ กิ่งศักดิ์ เนื้อร้องมีว่า “เพราะฉันเคยทิ้งใคร นอกใจเขามาหาเธอ เขาก็ต้องเจอกับความเย็นชาจากฉัน…” (6) เพลงเฉยเมย ผลงานของยังโอม รัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์ เนื้อร้องมีว่า “ถึงจะรู้ว่าอย่าดีกว่า เธอรู้ฉันอยากจะทักตอนนี้เลย แต่ก็ทำได้แค่เพียงนิ่งเฉยเมย” (7) เพลงทางผ่าน ผลงานของเพียว เนื้อร้องมีว่า “สุดท้ายเธอก็มาทิ้งฉันไป มันเหมือนไม่มีความหมาย กับเธออีกต่อไป เธอทำให้ฉันตายใจ…”

(8) เพลงปี้ (จน) ป่น ผลงานของเอ มหาหิงค์ และบัว กมลทิพย์ เนื้อร้องมีว่า “แค่เธอเดินเข้ามา ก็ทำให้ใจของฉันละลาย…” (9) เพลงโสดจริงหรือเปล่า ผลงานของวงแทมมะริน และกุ้ง นนทิยา เนื้อร้องมีว่า “โสดจริงหรือเปล่าไม่ใช่ว่าเพียงแค่เหงา ไม่ใช่ทะเลาะกับเขามาบอกรักเราทันที โสดจริงหรือหลอกที่บอกว่าแฟนไม่มี โปรดเช็กสถานะเธออีกที…” (10) เพลงง้อ (ววว) ผลงานของ KT Long Flowing เนื้อร้องมีว่า “บางทีไม่เคยเข้าใจ เป็นอะไรอยู่ดีๆ เงียบไป คล้ายว่าเธอจะงอนต้องการอะไรน่าจะบอกฉัน คิดไปเองตลอดเลย…”

ทั้งนี้ ผู้อ่านบทความจะต้องไปหาฟังเพลงเอาเองจากยูทูบ ซึ่งที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น

Advertisement

ดนตรีที่เล่นประกอบเพลงก็ใช้ดนตรีง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อน โดยเน้นไปที่เสียงสังเคราะห์ เน้นที่เนื้อหาและอารมณ์ของเพลงเป็นสำคัญ ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การนำเสนอภาพที่ใช้ประกอบเพลง การที่มีภาพประกอบก็ทำให้เพลงดำเนินไปตามเนื้อเพลงได้ง่าย ยิ่งเนื้อหาของเพลงยั่วยวนให้มีภาพที่ต่ำกว่าสะดือหรืออาการวับๆ แวมๆ ก็ทำให้การนำเสนอเพลงเป็นที่สนใจมากขึ้น ใช้ต้นแบบของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเป็นแนวทาง ซึ่งดูแล้ว
กลายเป็นเพลงแบบสากลมากขึ้น แต่เสนอเพื่อวัยรุ่นไทยเป็นลูกค้าหลัก

เพลงไทยสมัยนิยมของปีที่แล้ว มีส่วนทำให้เกิดความเสมอภาคในเรื่องของโอกาส ใครจะอยู่ที่ไหนก็ทำผลงานเพลงได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพลงของท้องถิ่น เพลงปักษ์ใต้ เพลงอีสาน ซึ่งศิลปินสามารถทำได้โดยไม่ต้องสนใจผู้ฟังแต่อย่างใด เพราะศิลปินสามารถสร้างพื้นที่ของตัวเองได้ ในการทำธุรกิจของเพลงก็ไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายนัก เป็นเพลงต้นทุนต่ำ มีความเสี่ยงต่ำ หากประสบความสำเร็จก็ไม่ได้เป็นเงินที่ผ่านการขายเพลงหรือซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงอย่างแต่ก่อน แต่นักร้องสามารถไปร้องโชว์ในงานต่างๆ ที่ถูกเชิญไปได้ กลายเป็น “ศิลปินเพลงเดียว” หากได้รับเชิญไปร้องในงานสังสรรค์รื่นเริงวันละครั้ง ก็สามารถสร้างรายได้ที่ดีพอสมควร กรณีที่เพลงได้สื่อผ่านช่องหลายล้านวิว ก็จะมีค่าตอบแทนจากสินค้าที่ลงโฆษณาด้วย

ศิลปินเพลงเดียวในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือร้องเพลงอย่างเดียว แต่สามารถนำชื่อเสียงไปทำกิจกรรมบันเทิงอย่างอื่นได้ เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดังก็จะมีสินค้าจ้างให้เป็นนายแบบหรือนางแบบโฆษณาสินค้า ซึ่งก็เป็นช่องทางที่สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง หากว่าศิลปินมีหน้าตาดี ก็มีโอกาสที่จะได้แสดงละครโทรทัศน์อีกช่องทางหนึ่งด้วย

อารมณ์เพลงไทยสมัยนิยมของปีที่แล้ว ที่ได้รับการจัดอันดับสูง เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความรักของคนหนุ่มสาววัยรุ่น “ฉันรักเธอ เธอรักฉัน ฉันเกลียดเธอ เธอหักอกฉัน” เป็นสาระสำคัญ โดยมีเป้าหมายของผู้ฟังที่เป็นวัยรุ่น ประเภทรักแรกพบ เพลงยอดฮิตทั้งหมดมีเนื้อหาแค่นี้

ทํานองเพลงไทยสมัยนิยมของปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) หลุดออกไปจากทำนองเพลงดั้งเดิม “ทำนองไทยหรือเพลงพื้นบ้าน” เสียสิ้น ไม่เหลือทำนองเก่าๆ อีกต่อไป เพลงอาศัยอารมณ์กับเนื้อร้องเป็นตัวตั้ง ให้ทำนองเพลงไหลไปเรื่อยๆ ส่วนที่เป็นดนตรีนั้น ใช้เสียงสังเคราะห์ ใช้เทคโนโลยี และจะมีนักดนตรีเล่นเองบ้าง หากจะใช้นักดนตรีเล่นจริงก็เป็นเพียงส่วนประกอบ เนื่องจากการบันทึกเสียงใช้ระบบทำเองที่บ้านคนเดียว สามารถจะทำเพลงได้อย่างประหยัด ดังได้ก็ดี ไม่ดังก็ลงทุนน้อย ซึ่งเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในโลกส่วนตัว โอกาสที่นักร้องหรือวงดนตรีออกแสดงโชว์เป็นรายได้จริงจังน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินเดี่ยวและศิลปินร้อง (ดัง) เพลงเดียว

ในการทำเพลงสามารถทำแค่เพลงเดียวก็ส่งออกสื่อได้เลย ไม่ต้องทำเพลงเป็นชุดๆ ต่อไป ซึ่งโดยภาพรวมของศิลปินเหล่านี้ ศิลปินสามารถร้องเพลงเดียวก็ดังได้เลย “เพลงเดียวดัง” โดยทำเพลงที่มีการลงทุนน้อย ก็เป็นอีกมิติใหม่ เพราะศิลปินก็จะดังเป็นพลุ ดังแบบลูกประทัด ลอยแบบลูกโป่ง ดังแล้วก็หายจากไปเลย บางคนสามารถทำเพลงออกสื่อได้ปีละเพลง

เพลงดังสมัยใหม่นี้ เป็นเพลงดังเฉพาะกลุ่ม เฉพาะวัย โดยไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอื่นและวัยอื่น แต่ผู้ฟังที่มีจำนวนหลายล้านวิว ก็เป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก บางทีก็เป็นการฟังซ้ำหลายๆ ครั้ง ประหนึ่งว่าเพลงกลุ่มนี้ทำให้ชีวิตตกอยู่ในความลุ่มหลง อยู่กับอารมณ์ที่ถอดไม่ออกจากชีวิต แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ จมปลักอยู่กับห้วงอารมณ์ แต่ก็มีเพลงอีกเหมือนกันที่ฉันไม่แคร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นอีกต่อไป เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ

ในมุมมองจากพฤติกรรมสังคมไทยแล้ว เพลงไทยสมัยนิยมของปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เด็กเยาวชนไทยไม่สนใจความเป็นไปของสังคมหรือเรื่องที่เป็นสาธารณะ “ไม่สนใจลุง” ไม่สนใจเศรษฐกิจ ไม่สนใจเรื่องคุณภาพชีวิต ไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจการศึกษา ไม่สนใจการปกครอง ไม่สนใจความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม แต่สนใจเฉพาะอารมณ์ส่วนตัวที่ประสบอยู่เฉพาะหน้า ซึ่งเพลงสมัยนิยมไม่ได้สะท้อนสังคมไทยโดยรวม แต่ก็สะท้อนว่า “ต่างคนต่างอยู่” หรือ “ช่างศีรษะมารดามัน” มากกว่า

พฤติกรรมเพลงสมัยนิยม สะท้อนสังคมย่อยที่ไร้แก่นสาร หล่อหลอมเยาวชนให้งมงายอยู่กับชีวิตที่ไม่สนใจอนาคต โดยไม่แยแสความเป็นไปของสังคม ไม่สนใจการทำมาหากิน บทเพลงไม่ได้สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ได้สะท้อนสภาพความยากจน การเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ในสังคม

สังคมไทยโดยรวมเปลี่ยนไปหมดแล้ว เป็นสังคมที่แยกย่อยโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเส้นกั้น แม้จะมีเขตแดนกั้นระหว่างประเทศ แต่เทคโนโลยีทำให้คนเชื่อมถึงกันหมด แถมทุกคนในสังคมยังมีโลกเป็นของตัวเอง สามารถที่จะเลือกวิถีชีวิตได้เอง เลือกสิ่งที่ชอบ หาสิ่งที่ต้องการเฉพาะ เลือกของใช้ หาอาหารกิน เลือกเพลงที่ต้องการฟัง และเลือกสังคมที่ต้องการจะอยู่

คนจำนวนหนึ่งกลายเป็นประชาคมโลกโดยไม่แยแสกับความเป็นไปในท้องถิ่น แม้แต่คนข้างบ้านหรือห้องข้างเคียงก็ไม่รู้จักกันอีกต่อไป

คุณภาพเพลงและดนตรียังไม่สามารถแสดงศักยภาพถึงความเป็นสากลได้ เสียงร้องของนักร้องก็เป็นเพียงนักร้องที่พื้นเสียงดี แต่ไม่ได้รับการฝึกเพื่อให้เป็นนักร้อง ประกอบกับสถานภาพร้องเพลงเดียวดังเลย ก็ทำให้โอกาสที่จะพัฒนาก็จะยากขึ้น เพราะมีชื่อเสียงเสียแล้ว ดนตรีที่เรียบเรียงประกอบเพลงก็ทำได้ประมาณหนึ่ง เพราะกระบวนการผลิตที่ลงทุนต่ำ โดยเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะลงทุนไปมากกว่านั้น ทำให้เพลงสมัยนิยมของไทยตกอยู่ในสภาพ “ตามมีตามเกิด” ทั้งๆ ที่บทเพลง ทำนองเพลง และดนตรีทำได้อย่างน่าชื่นชม แต่เมื่อมองว่าตลาดแคบ สังคมแคบ โลกแคบ จึงทำให้เพลงไทยสมัยนิยมอยู่ในวงที่จำกัด

เชื่อว่าเพลงไทยสมัยนิยมในปีต่อไป พ.ศ.2563 นี้ ก็ยังคงอยู่ในรูปแบบเพลงขนาดเล็ก อย่างมากก็ขนาดกลาง ยังไม่มีใครคิดจะลงทุนเพลงในรูปแบบขนาดใหญ่ อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีต เพราะมีบริษัทที่ลงทุนทำธุรกิจเพลงอย่างจริงจัง วันนี้บริษัทเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว

เพลงไทยสมัยนิยมจึงยังคงค้นหาช่องทางธุรกิจต่อไป จนกว่าจะพบว่าอารมณ์และเพลงที่เกิดขึ้นในสังคม สามารถที่จะถ่ายทอดให้เป็นสินค้า สามารถจะสะท้อนสังคม และสามารถสร้างพลังให้เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ เพลงจะช่วยเติมเต็มช่องว่างให้สังคมเข้มแข็งและอบอุ่น เพราะว่าบทเพลงและศิลปะทุกสาขาจะเป็นสื่อถ่ายทอดอารมณ์ของสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา

ใช่เพียงสะท้อนอารมณ์ที่โง่เขลาเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image