สุนทรภู่ จาก ‘อาลักษณ์’ สู่ ‘ผี’ จากกวีสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

เมื่อ 26 มิถุนายนมาบรรจบ วันสุทรภู่ก็เวียนมาครบรอบอีกปี นอกจากโรงเรียนทั่วสยามประเทศไทยจะจัดงานรำลึกคุณูปการของท่านสุนทรภู่ในฐานะครูกวี ประกวดอ่านทำนองเสนาะ

จากผลงานชิ้นเอก และอื่นๆ อีกมากมาย อีกหนึ่งกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ก็คือ “การบวงสรวง” ซึ่งหน่วยงานราชการหลายแห่งโดยเฉพาะในจังหวัดระยองต่างจัดพิธีกันอย่างคึกคักเป็นประจำแทบทุกปี เนื่องด้วยสุนทรภู่เคยเดินทางรอนแรมไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง (ไม่ใช่บ้านเกิด)

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ด้านหลังของอนุสาวรีย์สุนทรภู่ในอำเภอแกลงก็ยังมีศาลไม้ที่ดูคล้ายศาลผี หรือศาลปู่ตา ทว่า ด้านในมีรูปหล่อกวีเอกในท่านั่งถือสมุดข่อย ร่วมกับตุ๊กตาคนชรา พร้อมเครื่องสักการะคือ “น้ำแดง”

ยังไม่นับโปรแกรมท่องเที่ยวระยองที่ต้องพาลูกทัวร์มาสักการะอนุสาวรีย์ของกวีเอก

Advertisement

ทั้งพิธีกรรมการบวงสรวง สักการะ รวมทั้งการตั้งศาลเช่นนี้ บ่งชี้ถึงสถานภาพของสุนทรภู่ที่ไม่ใช่เพียงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง หากยังกลายเป็น “ผี” หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้สะท้อนในสังคม มาย้อนดูพัฒนาการของเรื่องราวไปพร้อมๆ กัน

สุนทรภู่
“บวงสรวง” ดวงวิญญาณสุนทรภู่ (ภาพจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน www.obec.go.th)

เริ่มต้นที่ “ศาลาไม้” กลายเป็น “อนุสาวรีย์”

ปักหมุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ในเทศบาลตำบลสุนทรภู่ ซึ่งหลังแนวรั้วด้านข้างเป็นที่ตั้งของบ้านไม้ของคุณตาคุณยายเจ้าของที่ดินเดิมก่อนมอบให้ทางการเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าว

คุณตาฉลาด สำเร็จ วัย 80 ปี เล่าว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน พื้นที่แถบนี้เป็นทุ่งนา มีศาลาไม้ รู้กันในหมู่ชาวบ้านว่าเป็นศาลสุนทรภู่ ต่อมาภาครัฐมีแนวคิดสร้างอนุสาวรีย์ ตนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงยินดีมอบให้ ต่อมาทางการได้หยิบยื่นสินน้ำใจให้ราว 20,000 บาท จึงนำไปซื้อวัวควาย ทำมาหากินต่อยอดทรัพย์สินในครอบครัวจนมีอยู่มีกินถึงทุกวันนี้ จึงยังรำลึกถึงบุญคุณสุนทรภู่มิรู้หาย

คุณตาโจ๊-ฉลาด สำเร็จ วัย 80 ปี เจ้าของที่ดินเดิมก่อนมอบให้สร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่
คุณตาโจ๊-ฉลาด สำเร็จ วัย 80 ปี เจ้าของที่ดินเดิมก่อนมอบให้สร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่

คุณยายบุญมี เสริมว่า สมัยก่อนที่ยังเป็นศาล มีคนมาไหว้เยอะ แต่ไม่เท่าทุกวันนี้ ที่มากันเป็นรถทัวร์ใหญ่ๆ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวออกโทรทัศน์

คำบอกเล่านี้ สอดคล้องกับข้อมูลและภาพถ่ายในอาคาร “นิทรรศการสุนทรภู่” ด้านหลังอนุสาวรีย์ที่ระบุว่า เดิมมีศาลาไม้ แล้วย้ายออกไปอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ดังที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ โดยมี เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดระยอง และ วิทยา เกสรเสาวภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองในยุคนั้นผลักดันการก่อสร้าง กระทั่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เดินทางมาเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2498 และเปิดอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2513 โดยมี ถวิล สุนทรศารทูล รมช.มหาดไทยเป็นประธาน

เรียกได้ว่าเป็นงานระดับชาติมาตั้งแต่ยุคอดีต

ศาลาสุนทรภู่เดิม ก่อนย้ายที่ตั้งแล้วสร้างอนุสาวรีย์
ศาลาสุนทรภู่เดิม ก่อนย้ายที่ตั้งแล้วสร้างอนุสาวรีย์

เครื่องรำลึกความจำ สู่นาม “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

อีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญบางประการ คือศาลไม้เล็กๆ ทรงหน้าจั่วแบบเรือนไทย ไม่ต่างจากศาลผี หรือศาลปู่ตา ด้านในมีรูปหล่อครูกวีเป็นประธาน พร้อมด้วยตุ๊กตาคนชรา มีเครื่องสักการะพร้อมพรั่ง ป้ายด้านบนระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2549 โดยครอบครัวหนึ่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร วิเคราะห์ตั้งต้นตั้งแต่การเป็นศาลา สู่อนุสาวรีย์ แล้วมาถึงศาลผีมีผ้าผูกเสาว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่าสุนทรภู่ไม่เพียงเป็น “บุคคล” สำคัญ แต่ได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพบูชา ซึ่งในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การนับถือคนตายเป็น “ผี” ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่ “ประหลาด” คือ สุนทรภู่ไม่มีเรื่อง “เฮี้ยนๆ” ให้กล่าวขาน แต่ก็ยังถูกยกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ศาลไม้สร้างเมื่อ พ.ศ.2549
ศาลไม้สร้างเมื่อ พ.ศ.2549

การนับถือคนที่ตายไปแล้วเป็นผีได้ไม่แปลกในอุษาคเนย์ แต่ปกติมีเงื่อนไขอยู่อย่างหนึ่ง คือต้องเฮี้ยน เช่น ผีนัตในพม่าต้องตายแปลกๆ ต้องเฮี้ยนมากๆ จึงจะถูกยกเป็นผีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สุนทรภู่ตายปกติ ไม่ได้แสดงฤทธิ์เดชอะไร ไม่ได้เฮี้ยน แต่ก็ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นกวีชั้นยอด ดูพิเศษ เลยทำให้สุนทรภู่กลายเป็นผีในแบบเดียวกับผีที่เฮี้ยน ซึ่งเป็นสิทธิของชาวบ้านที่จะเคารพนับถือ”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม วางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ เมื่อ พ.ศ.2498
จอมพล ป.พิบูลสงคราม วางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ เมื่อ พ.ศ.2498

สำหรับกรณีศาลาเดิมก่อนการสร้างอนุสาวรีย์ จนมาถึงศาลผีในปัจจุบัน คมกฤชวิเคราะห์ว่า คนไทยในอดีตเวลาจะรำลึกถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ อาจสร้างเป็นพระพุทธรูป เทวดา หรือศาล ซึ่งจุดประสงค์ดั้งเดิม อาจเป็นความตั้งใจสื่อถึงบุคคลที่เคารพนับถือซึ่งเคยมีชีวิตหรือเกี่ยวพันกับสถานที่ตรงนั้น โดยไม่เน้นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์มากนัก แต่ต่อมาเมื่อเกิดอนุสาวรีย์แบบใหม่ ซึ่งไปเปลี่ยนความหมายบางอย่าง นำไปสู่การเป็นรูปเคารพสักการะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจไม่สามารถตอบโจทย์ของความเชื่อแบบอย่างที่คนต้องการได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ยังเป็นอนุสาวรีย์

รูปหล่อสุนทรภู่ในศาลไม้ พร้อมเครื่องสักการะ
รูปหล่อสุนทรภู่ถือสมุดข่อยในศาลไม้ พร้อมเครื่องสักการะ

“กรณีนี้ทำให้เห็นพัฒนาการของความเชื่อเกี่ยวกับตัวบุคคลในสังคมไทยอย่างชัดเจน ว่าเริ่มต้นจากแค่หมุดหมายหรือสัญลักษณ์บางอย่าง ซึ่งคงมีคนนับถือ แต่เมื่อกลายเป็นอนุสาวรีย์ที่มีคนเคารพแบบทางการ ก็เริ่มเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นความศักดิ์สิทธิ์แบบทางการ สุดท้ายคนคงมองเห็นแล้วพยายามจะย้อนไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิม ทีนี้สุนทรภู่ก็กลายเป็นผีในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากผี คือกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

ท้องถิ่นนิยมผสมความเชื่อดั้งเดิม

คมกฤชยังวิเคราะห์อีกว่า การยกสุนทรภู่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ “ท้องถิ่นนิยม” ซึ่งไม่ได้มีแค่กรณีของกวีเอกเท่านั้น แต่ในประวัติศาสตร์ ยังมีเจ้าเมืองอีกมากมายที่ได้รับการสถาปนาเช่นนี้

“ท้องถิ่นนิยมที่ยกเอาบุคคลในท้องถิ่นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำถิ่นมีเยอะมาก เช่น เจ้าเมืองต่างๆ สมัยโบราณ เขาก็ยกเป็นผีอารักษ์ แต่บางเมืองไม่มี เพราะฉะนั้น เจ้าเมืองยุคที่ใหม่ขึ้นมาหรือคนสำคัญในท้องถิ่น ก็จะถูกเล่าผ่านตำนานเพื่อให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำหน้าที่แบบเดียวกันกับผีอารักษ์ดั้งเดิม เข้าใจว่าเมืองแกลง ก็คงมองหาภาพแทนของสิ่งนั้นแล้วก็ได้สุนทรภู่ เช่นเดียวกับที่เมืองตรัง เขาก็มีพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ซึ่งท่านก็เป็นขุนนางเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์บางอย่างของเมืองซึ่งมันทำหน้าที่คล้ายๆ แบบผีเจ้าเมืองในอดีต”

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของสุนทรภู่ ที่เป็นคนธรรมดาเมื่อครั้งมีลมหายใจ แล้วกลายเป็นผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนกราบไหว้ในปัจจุบันกาล

สุนทรภู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image