อาศรมมิวสิก : เวทีดนตรีของไทย เคยเป็นพื้นที่เป้าหมาย วันนี้เหลือแค่เป็นทางผ่าน : โดย สุกรี เจริญสุข

30 ปีก่อน เวทีดนตรีของไทยเป็นแค่ทางผ่าน มีนักดนตรีระดับโลกวิ่งผ่านข้ามพื้นที่ประเทศไทยไป ทั้งจากตะวันออกและตะวันตก นักดนตรีระดับโลกจากตะวันตกเดินทางไปแสดงที่ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย ก็จะแวะเที่ยวและเยี่ยวในประเทศไทย ลาว เขมร เวียดนาม และพม่า ขณะเดียวกัน นักดนตรีจากตะวันออกอย่างออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เดินทางผ่านไปตะวันตก ทั้งไปยุโรปและอเมริกา ก็จะแวะพักเที่ยว สำรวจพื้นที่ ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในไทย ลาว เขมร เวียดนาม และพม่า เช่นเดียวกัน

ในช่วงปี พ.ศ.2540-2560 เวทีดนตรีประเทศไทยมีฐานะดีขึ้น มีความน่าเชื่อถือสูงขึ้นสำหรับเวทีดนตรีต่อประชาคมดนตรีโลก มีความแจ่มจรัสเปล่งแสงมากขึ้น เวทีไทยได้ขยับตัวกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายได้อย่างเหลือเชื่อ เวทีไทยกลายเป็นพื้นที่การแสดงดนตรีระดับโลก ประเทศไทยมีเงิน สังคมไทยมีนักดนตรีที่สามารถจะรองรับศิลปินระดับโลก มีการแสดงระดับโลกในประเทศไทย มีคนดูมีผู้ชมที่มีรสนิยม มีเงินซื้อรสนิยม มีบรรยากาศดนตรีระดับนานาชาติ สังคมดนตรีของไทยมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีคนทำงานดนตรี มีห้องบันทึกเสียง มีบริษัทนานาชาติมาจ้าง มาตั้งโรงงานผลิตเครื่องดนตรี กระทั่งเวทีโลกหลายๆ กิจกรรมมุ่งหน้าสู่เวทีในประเทศไทย การศึกษาดนตรีในประเทศไทยรุ่งเรือง ดนตรีเป็นอาชีพที่มีเกียรติเชื่อถือได้

คุณปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ เป็นนักประพันธ์เพลงชาวไทยที่ได้รับทุนไปเรียนที่สถาบันดนตรีในอังกฤษในระดับปริญญาโท แล้วได้รับทุนไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ความจริงที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ก็ไม่ได้เป็นเป้าหมายของคนที่จะเรียนดนตรีมากนัก แต่เมื่อมีครูที่เก่ง มีทุนให้แก่นักศึกษาคนเก่ง คนเก่งของโลกก็ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เพราะมีการลงทุนเรื่องการศึกษาที่สูง มหาวิทยาลัยมีเงิน มีคนจากนานาชาติ คนมีปัญญา ใช้ปัญญาสร้างผลงาน ซึ่งจะทำอะไรก็ดูดีไปหมด

คุณปิยวัฒน์เล่าให้ฟังว่า “มหาวิทยาลัยเขาจ่ายให้ทุกอย่าง ค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ ค่าขนม และค่าเดินทางนำผลงานไปแสดงทั่วโลก ผมได้สร้างงาน ได้ทดลองงาน ผลงานผมได้นำไปแสดง”

Advertisement

เมื่อมีผลงานที่ดี ส่งผลงานแล้วชนะการประกวด ได้รับรางวัลในเวทีโลก ซึ่งคุณปิยวัฒน์มีฝีมือในการประพันธ์เพลงและมีคุณภาพสูง ทำให้ได้มีโอกาสสูงด้วย สิ่งสำคัญก็คือได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนเต็มที่ คุณปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ จึงได้โอกาสที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิต อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยของคนที่อยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว แต่เป็นโอกาสทั้งชีวิตของคุณปิยวัฒน์ เป็นโอกาสและความหวังทั้งประเทศในพื้นที่ด้อยโอกาสด้อยพัฒนาอย่างไทย

คุณปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ ได้รับเชิญไปแสดงผลงานที่มหาวิทยาลัยโทโฮ (Toho University) ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ผลงานการประพันธ์สำหรับไวโอลิน ทรอมโบน และแสงสีเสียง (Multimedia) โดยมีนักไวโอลิน อเรียน่า
คิม (Ariana Kim) เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เป็นศาสตราจารย์สอนไวโอลินที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ได้รับรางวัลแกรมมี่ด้านผลงานการแสดง คุณปิยวัฒน์ได้ชักชวนเพื่อนคนไทย คุณฤทธิฉัตร เพชรมุนินทร์ ซึ่งเรียนดนตรีที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปร่วมแสดงด้านเทคโนโลยีและแสงสีเสียงในงานด้วย “เขาเชิญไป เขาจ่ายทุกอย่าง และมหาวิทยาลัยที่ผมเรียน เขาก็จ่ายอยู่แล้ว ผมจึงได้ทำงานเต็มที่”

“เด็กศิษย์เก่าเด็กไทยที่เรียนดนตรีในต่างประเทศ ทั่วยุโรปและในอเมริกา มีอยู่หลายคนฝีมือเก่งมากครับ ได้รับทุนและมีโอกาสได้สร้างผลงานสูง” คุณปิยวัฒน์ เล่าให้ฟัง

Advertisement

“ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรจากญี่ปุ่น ไปแสดงผลงาน ‘Music and Sonic Migration’ ผมอยากจะแวะแสดงผลงานที่ประเทศไทยด้วย แต่ไม่รู้ว่าจะแสดงที่ไหนดี ไม่มีพื้นที่รองรับ ไม่มีคนที่เกี่ยวข้องสนใจงานดนตรี ไม่มีบรรยากาศที่จะรองรับการแสดงดนตรีสมัยใหม่ ผมต้องจัดการหาที่เองทั้งหมด แต่ถ้าไม่ทำก็น่าเสียดาย อยากให้โอกาสกับเด็กไทยที่เรียนดนตรีได้ดู เพราะครูไวโอลินก็เก่งมากครับ” คุณปิยวัฒน์ รำพึง

คุณปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ เลือกให้ศาสตราจารย์ไวโอลิน อเรียน่า คิม สอนเด็กเล็ก (Master Class) เรียนไวโอลินที่โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ต่อมาเปิดแสดงและสอนที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สำหรับนักศึกษาดนตรีที่โตขึ้น ในวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา

สําหรับนักไวโอลินเด็ก 3 คน ที่มีโอกาสแสดงให้ศาสตราจารย์อเรียน่า คิม ได้ดูและปรับการเล่น คนแรก เด็กหญิงกานต์ธิดา ปัญจปภาวิน อายุ 10 ขวบ เล่นเพลง Praeludium and Allegro เล่นเก่งมาก คนที่สอง เด็กชายทยากร เมฆสุต อายุ 11 ขวบ เล่นเพลง Concerto in A minor เล่นได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานของวิวาลดี (Vivaldi) และคนที่สาม เด็กหญิงกัญ ชัยลาภศิริ อายุ 14 ปี ก็เล่นเพลงได้อย่างดีเยี่ยม ผลงานของวิวาลดีเช่นเดียวกัน ซึ่งเด็กทั้ง 3 คน เท่ากับได้เปิดโอกาสแสดงให้คนระดับโลกได้ดู ประหนึ่งเป็นเวทีนานาชาติทันที เพราะฝีมือเข้าไปอยู่ในความทรงจำของครูระดับโลกทันที

สำหรับศาสตราจารย์ไวโอลิน อเรียน่า คิม (Ariana Kim) เธออายุยังน้อย 35 ปี เรียนจบปริญญาตรีสาขาไวโอลินจากสถาบันดนตรีซาน
ฟรานซิสโก (San Francisco Conservatory of Music) ต่อมาเรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอกที่จูลิอาร์ด (Juilliard School of Music) แล้วได้สอนพิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กระทั่งเธอได้เป็นศาสตราจารย์ดนตรี อยู่ที่คอร์เนลล์มา 10 กว่าปีแล้ว

“อาจารย์คิมประทับใจเด็กไวโอลินที่เอื้อมอารีย์มากครับ เธอบอกว่า ต้องเริ่มพัฒนาความสามารถตั้งแต่เด็กๆ แล้วจะเรียนดนตรีได้เร็ว เด็กไทยมีพื้นฐานที่ดีมาก มีอนาคตไกล เด็กเล็กควรสร้างพื้นฐานด้วยดนตรีให้เต็มที่ โดยเฉพาะฝึกเล่นดนตรี” คุณปิยวัฒน์ เล่าให้ฟัง

หากพิจารณาให้รอบคอบอย่างละเอียดลงไปแล้ว ประเด็นแรก เด็กไทยเก่งขึ้นมาก ได้เรียนดนตรี ได้พัฒนาฝีมือตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กก็ยิ่งมีโอกาส พ่อแม่ผู้ปกครองไทยทุกคนที่ให้ลูกเรียนดนตรีอย่างจริงจัง พ่อแม่เองก็ต้องเรียนด้วย สามารถที่จะชี้ผิดและบอกถูกได้ เพราะพ่อแม่เปรียบเสมือนเป็นนักฟุตบอลอาชีพ “รับลูก ส่งลูก และเฝ้าลูก” เมื่อลูกเรียนดนตรี พ่อแม่ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังลูกฝึกซ้อมเพลง ฟังลูกเล่นดนตรีทุกเพลงทุกรอบ ฟังจนขึ้นใจ ฟังทั้งเพลงและฟังทุกเพลง ฟังบ่อยๆ จนพ่อแม่มีความรู้ดนตรีเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมและเป็นพื้นฐานที่ดีมากสำหรับเด็กไทย หมายถึงพ่อแม่เชื่อมั่นในเรื่องฝีมือและความเป็นอาชีพจึงศรัทธาให้ลูกเรียนดนตรี

ประการที่สอง สถานที่ เวทีไทยที่จะเล่นดนตรีมีอยู่หลายแห่ง สถาบันที่จะเรียนดนตรีมีจำนวนมาก นักเรียนดนตรีก็มีหลายพันคนที่มีฝีมือ มีนักดนตรีอาชีพฝีมือดี เพียงแต่ขาดผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ขาดนักจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขาดนักบริหารมืออาชีพ แม้จะมีสถานที่ มีพื้นที่ มีเวที มีหอแสดงชั้นนำ แต่กลับทำให้สถาบันการศึกษาดนตรีของไทยกลายเป็น “ยาจกนั่งอยู่บนถุงทอง” มหาวิทยาลัยกลับไปเป็นหอคอยงาช้าง ผู้บริหารกลายเป็นพวก “คางคกขึ้นวอ” หรือ “ลิงได้แก้ว” ไปเสียหมด เด็กไทยเสียโอกาส เสียเวลาชีวิต และประเทศก็เสียโอกาสไปด้วย

ประการที่สาม เมื่อผู้บริหารหรือผู้ที่รับผิดชอบไม่ทำงาน จึงทำให้ศิลปินระดับนานาชาติไม่ได้เลือกประเทศไทยเป็นพื้นที่ทำงานแสดงอีกต่อไป เวทีในประเทศไทยหดหายจากเวทีโลก ไทยก็ไม่เป็นเป้าหมายเวทีดนตรีอีกต่อไป ประเทศไทยเป็นได้แค่ทางผ่าน กลับไปเป็นประเทศด้อยพัฒนา ผู้ฟังดนตรีก็หายหมด บรรยากาศศิลปวัฒนธรรมดนตรีเศร้าหมอง นักดนตรีตกงาน วงดนตรีตกต่ำ เพราะไม่มีเงิน สังคมกลับไปฟังเพลงประเทศกูมี เพลงประยุทธ์ออกไป เข้ามาแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่เศร้าที่สุด

ประการสุดท้าย คือ เวทีไทย สถานที่ในประเทศไทย คนไทย กลายเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือ “ราคาของความน่าเชื่อถือหายไป” เมื่อมีศิลปินมาแสดงในประเทศไทยแล้วไม่มีเงินจ่าย จ่ายช้า ไม่น่าเชื่อถือ “เบี้ยว” วาจาคำพูดตกลงไม่ชัดเจน ลดราคาค่าตัวนักดนตรี มีผลงานคุณภาพต่ำ อ้างว่าไม่มีเงิน ซึ่งแม้การกระทำเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งสองครั้ง ก็ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศไปหมด เพราะอยู่ท่ามกลางสายตานานาชาติ

เมื่อปี พ.ศ.2365 มีบันทึกของฝรั่ง อุปทูตอังกฤษ (Henry Burney) เขียนไว้ว่า “อันชนชาวสยามนั้น มีอุปนิสัยขี้เกียจ ฉ้อฉล และคดโกง” อ่านดูแล้วก็หดหู่และน่าสลดใจ แต่หากพิจารณาดีๆ ก็เข้าใจได้ เพราะข้อความยังชัดเจน มีหลักฐานพิสูจน์ได้ ซึ่งยังสามารถใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้อีกด้วย สิ่งที่ต้องปลูกฝังและต้องสร้างมากก็คือ “ราคาของความน่าเชื่อถือของคนไทย” ทำอย่างไรคนไทยจึงจะ “มีเกียรติเชื่อถือได้”

ในที่สุดก็ต้องกลับไปเริ่มต้นที่การศึกษาของเด็ก อย่าลืมว่า ศิลปะดนตรีเป็นเรื่องสัจนิยม ในเมื่อศิลปะดนตรีในประเทศเป็นอย่างไร สังคมไทยก็เป็นอย่างนั้น ศิลปะดนตรีจึงเป็นภาพสะท้อนจากกระจกที่ฉายภาพออกมาจากจิตใจของคนในสังคม บรรยากาศของเพลงประเทศกูมี หรือบรรยากาศเพลงประยุทธ์ออกไป เป็นคำตอบของสังคมไทยที่เห็นทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม สภาพของความเป็นจริงในปัจจุบัน เวทีดนตรีของไทยที่เคยเป็นพื้นที่เป้าหมายระดับนานาชาติ วันนี้เหลือแค่เป็นทางผ่าน ศิลปินนานาชาติหรือระดับโลกเดินทางข้ามไปข้ามมา แวะชมประเทศไทยได้แค่ทางผ่าน ชิมผัดไทย กินต้มยำกุ้ง แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายของคนระดับโลกอีกต่อไป กว่าจะฟื้นตัวได้อีกครั้งก็ต้องรอคอย อาศัยเด็กอายุ 10 ขวบ ที่มีฝีมือในปัจจุบัน ออกไปสร้างความน่าเชื่อถือให้กลับคืนมา หวังไว้ว่าเด็กจะโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพในเมืองอื่น แล้วขอวิงวอนให้กลับมาพัฒนาประเทศใหม่ เพราะว่ารุ่นลุงนั้นได้ทำให้ประเทศหมดความน่าเชื่อถือไปแล้ว

อย่าลืมว่า “ความน่าเชื่อถือ” เป็นต้นทุนที่มีราคาแพง ที่ไม่ต้องลงทุนเป็นเงิน แต่สามารถสัมผัสรับรู้ได้ด้วยความรู้สึก สังคมไทย คนไทย รับรู้ความรู้สึกได้ แต่ก็ต้องอยู่กันต่อไป ส่วนศิลปินนานาชาตินั้น เขารู้สึก สัมผัส รับรู้แล้ว เขาก็ไม่เข้ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image