13 วัน ปรากฏการณ์ (เลิก) ถุงพลาสติก

ตื่นตัวและตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อร้านสะดวกซื้อชื่อดังพร้อมด้วยห้างร้านขนาดใหญ่ พร้อมใจงดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า ขานรับนโยบายรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมโลกที่กำลังวิกฤตหนัก นับแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา สังคมไทยปรับเนื้อปรับตัวและแก้ไขปัญหาหลังเลิกรากับถุงก๊อบแก๊บ บ้างก็มาแนวอารมณ์ขันแบบไทยๆ หอบหิ้วกระจาด กระบุง ตะกร้า ไปจนถึงกระเป๋าผ้าแบรนด์หรูเกินเบอร์ออกไปซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคกันคึกคัก

ยังไม่นับกลุ่มสื่อที่ลงชื่อร่วม ‘เซ็นเซอร์’ ถุงพลาสติกราวเป็น ‘ตัวอันตราย’ จนถูกตั้งคำถามในทำนองว่า ‘อะไรจะขนาดนั้น?’

ทว่า ที่สำคัญยิ่งกว่า คือความ ‘ย้อนแย้ง’ บางประการซึ่งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมงัดข้อมูลที่ถูกแชร์ต่ออย่างมากมายในประเด็นการนำเข้า ‘ขยะพลาสติก’ ที่ส่อเค้าเข้าข่ายน่าห่วงพ่วงกับการอ้าแขนรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเคยมีวงเสวนากันมาแล้วที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561

ฝ่ายการเมืองไม่น้อยหน้า ออกมา ‘คอมเมนต์’ ทุกฟากฝั่งในหลากมิติที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

กลายเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจในช่วงเวลาเพียง 13 วันอันเข้มข้น และชวนติดตามอย่างยิ่ง

งงในงง รณรงค์งดใช้ แต่ให้ ‘นำเข้า’ ขยะพลาสติกอื้อ!

Advertisement

เริ่มที่ประเด็นชวนตากระตุกด้วยความฉงนฉงาย เมื่อ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ในห้วงเวลาที่มีการยกเลิกแจกถุงพลาสติกนี้ ‘ขยะพลาสติก’ ถูกนำเข้าจากต่างแดนอย่างมหาศาล สืบเนื่องจากการที่หนึ่งในมหาอำนาจโลกอย่างจีนประกาศยกเลิกนำเข้าขยะอุตสาหกรรม หรือขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะเศษพลาสติกและกระดาษที่ยังไม่แปรรูป ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ดังนั้นประเทศที่เคยส่งขยะไปยังประเทศจีนเพื่อรีไซเคิล เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และอเมริกา ไม่สามารถนำเข้าประเทศจีนได้อีกต่อไป จึงมุ่งหน้ามายังแถบอาเซียน เนื่องจากกฎหมายไม่ได้มีความเข้มงวดมากนัก แถมยังมีบางประเทศมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอีกต่างหาก

ย้อนไปเปิดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 กำหนดให้โรงงานประเภท 101 (ปรับคุณภาพของเสียอันตราย), โรงงานประเภท 105 (คัดแยกกากของเสียอุตสาหกรรม) และโรงงานประเภท 106 (รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม) สามารถตั้งโรงงานได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องมีผังเมืองบังคับ โดยเฉพาะโรงงานประเภท 105 และ 106 ไม่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอ (ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) เพียงนำแค่รายละเอียดโครงการไปปิดประกาศที่สถานที่ราชการ 3 แห่ง หากประชาชนไม่คัดค้านในเวลาที่กำหนดไว้ ก็สามารถออกใบอนุญาต หรือใบ รง.4 ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ โรงงานประเภทดังกล่าวจึงตั้งได้ไม่ยากนัก เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งรัฐบาลหวังจะให้โรงงานดังกล่าวคัดแยกและรีไซเคิลขยะในประเทศให้มากที่สุด แต่ข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นโรงงานของต่างชาติที่ซื้อขยะจากต่างประเทศมารีไซเคิล

นักวิชาการท่านนี้ยังบอกอีกว่า ประเทศไทยไม่มีมาตรการ หรือกฎหมายบังคับให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำเพียงแค่การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเท่านั้น จึงไม่เกิดการ ‘แยกขยะ’ ที่ครัวเรือนเท่าที่ควร ขยะพลาสติกจึงถูกทิ้งปะปนไปกับสิ่งสกปรกต่างๆ ทำให้ขยะพลาสติกลักษณะนี้ไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานรีไซเคิล เนื่องจากต้องไปสร้างโรงคัดแยก บดย่อย และทำความสะอาดพลาสติกอีก ซึ่งยุ่งยากและต้นทุนสูง

“ประเทศไทยยังไม่ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ตาม พ.ร.บ.การส่งออกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2522 ที่ห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ดังนั้น หากเป็นเศษพลาสติกที่สะอาด ไม่ปนเปื้อนมีขนาดไม่เกิน 2.0 เซนติเมตร ซึ่งเป็นเงื่อนไขการนำเข้า ก็สามารถนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการลักลอบนำขยะเศษพลาสติกเข้าประเทศไทย ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังจำนวนมากอีกด้วย

“ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปี ทำให้โรงงานรีไซเคิลในประเทศนำเข้าเศษพลาสติกได้มากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเศษพลาสติกในประเทศของต่างประเทศจะราคาถูกกว่า สามารถนำมาผลิตสินค้าได้เลย

“ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขต้องทำงานร่วมกัน หาเจ้าภาพและกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ต่อไป” คือคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้

คาใจหนัก ผลักภาระประชาชน ต้นทุนลด เพราะงดถุง ทำไมต้องจ่ายเท่าเดิม?

จากภาพใหญ่ระดับโลกและชาติ เขยิบลงมาสู่คำถามในประเด็นผลกระทบต่อประชาชนในฐานะ ‘ลูกค้า’ กันบ้าง

งานนี้ นักการเมืองพรรคต่างๆ ร่วมแสดงความเห็นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เปิดปม ‘คาใจ’ ว่า แม้การให้ลูกค้านำถุงผ้าหรือภาชนะอย่างอื่นมาใส่ สินค้าเองจะเป็นเรื่องที่ดี โดยหวังลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติกที่ไทยมีปัญหาเรื่องนี้อย่างมาก และคนไทยกำลังปรับตัว

แต่ตนมีข้อกังขาว่า ทำไมไม่ให้ผู้ผลิตหรือร้านค้าร้านขายดังกล่าวรับภาระในการจัดเตรียมถุงกระดาษแบบบางๆ เป็นวัสดุรีไซเคิลที่ย่อยสลายง่ายไว้บริการลูกค้า ซึ่งอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์

“ที่น่าสนใจคือมีการผลิตถุงกระดาษ ถุงพลาสติกใส่ของจากธรรมชาติ เช่น มันสำปะหลังที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับถุงพลาสติก หากรัฐบาลส่งเสริมก็จะช่วยให้มันสำปะหลังมีราคาสูงขึ้น และใช้มาตรการจูงใจให้ผลิตและจำหน่ายในราคาที่ไม่แพง ส่วนลูกค้าคนไหนจัดเตรียม ถุงผ้าหรือวัสดุอื่นใดมาจากบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ดี

“เพราะขณะนี้มีการแสดงออกในลักษณะประชดประชันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ปรากฏเป็นคลิปและข้อความต่างๆ ในสื่อออนไลน์ เช่น การใช้กระป๋องตักน้ำ ถุงปุ๋ย ตะกร้าใบใหญ่ ฯลฯ มาใส่สินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ”

นอกจากนี้ ยัง ‘สะกิด’ ปมโดนใจของใครหลายๆ คนในประเด็น ‘ราคาสินค้า’ ว่าการงดแจกถุงก๊อบแก๊บ ทำให้ต้นทุนลด แต่ทำไมขายราคาเดิม

“การรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนที่จะร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ถุงพลาสติกนั้น เห็นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่สร้างภาระให้กับประชาชนจำนวนหนึ่งโดยที่พ่อค้าร้านขายของได้ประโยชน์และได้กำไรอย่างเดียว ปกติชาวบ้านก็มีชีวิตที่ลำบากอยู่แล้ว ทั้งปัญหาการเดินทาง การกินการอยู่ การตกงานขาดรายได้ การมีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ตนอยากให้รัฐบาลไปรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อว่าอย่าเอากำไร ลูกค้ามากเกินไปนัก” ลดาวัลลิ์กระตุกแรง

เช่นเดียวกับ ส.ส.พิษณุโลก พรรคอนาคตใหม่ อย่าง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่ทวีตข้อความถามปมค้างคาใจว่า การงดใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ภาระอยู่ที่ประชาชนต้องปรับตัวเอง ไม่มีการสนับสนุนอะไรจากรัฐ หรือจากผู้ประกอบการใหญ่ๆ เช่น เตรียมถุงกระดาษให้ เป็นต้น

“ถ้าแบบนี้ไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้ครับ” ปดิพัทธ์สรุป


อย่ามองแง่ร้าย อย่าจ้องแง่ลบ ‘เราอาจเป็นมนุษย์ยุคสุดท้ายที่ได้ปกป้องโลก?’

จากข้อกังขาผสมการ ‘แซะ’ เบาๆ ข้างต้น ภาดาห์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ โต้ทันควันว่า เป็นการมองในแง่ลบเกินไป อีกทั้งการดำเนินการเรื่องการลดขยะพลาสติกนั้น รัฐบาลดำเนินการมาเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการทำลายระบบนิเวศ โดยเฉพาะหากจำกันได้คือการสูญเสียสัตว์ทะลหายากอย่าง พะยูนน้อย มาเรียม หรือสัตว์บกอย่างกวาง เรื่องราวเหล่านั้นปดิพัทธ์หลงลืมไปแล้วหรือ?

“หากไปมุ่งมองแต่ในแง่ลบว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ก็จะทำให้เป้าหมายใหญ่ในการลดขยะพลาสติกเสียไปด้วย มาช่วยกันมองที่ภาพใหญ่ของประโยชน์ที่จะย้อนกลับมาสู่ประชาชน ให้ด้านของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีประเมินมูลค่าไม่ได้จะดีกว่า อีกทั้งก่อนที่จะดำเนินมาตรการงดแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆ ได้มีการประกาศข่าวล่วงหน้าออกมาแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 และมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

“ไม่อยากให้ไปมองว่าใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ อยากให้มองว่าพวกเราทุกคนคือคนที่ใช้และทำร้ายทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด ให้คิดเสียว่าถ้าเราทำสิ่งนี้แล้วสังคมโดยรวมได้ประโยชน์ ดีต่อประเทศชาติและดีต่อโลกใบนี้ก็ช่วยกันสนับสนุนเถิด เราอาจจะเป็นมนุษย์ยุคสุดท้ายที่จะสามารถปกป้องโลกได้ หากเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้เราอาจจะไม่มีโลกเหลือให้ปกป้องแล้วก็ได้” ภาดาห์จัดหนัก

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลน่าสนใจที่เจ้าตัวท้วงติงด้วยความห่วงใย หวั่นเกิดความเข้าใจผิดในการหันมาใช้ ‘ถุงผ้าสปันบอนด์’ ซึ่งแม้มีคำว่า ‘ผ้า’ ในชื่อเรียก แต่แท้จริงแล้วทำจาก ‘พลาสติก’ ซ้ำเมื่อย่อยสลายจะแตกตัวเป็น ‘ไมโครพลาสติก’ ขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิกรัม เข้าสู่ระบบนิเวศเมื่อใด มีสิทธิวนมาสู่ร่างกายมนุษย์ไปอีก!

“ขณะนี้ประชาชนตื่นตัวกับการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือถุงก๊อบแก๊บกันค่อนข้างสูง และมีการนำถุงผ้าหรือวัสดุอื่นๆ มาใช้ทดแทนซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการลดขยะพลาสติกของประเทศไทย เชื่อว่าไม่นานประชาชนจะสามารถปรับตัวได้ แต่ปรากฏว่ายังมีความเข้าใจผิดของประชาชน และผู้ประกอบการบางส่วน ที่แม้จะงดใช้ หรือให้ถุงก๊อบแก๊บ แต่กลับไปนำถุงผ้าสปันบอนด์มาใช้หรือจำหน่ายและแจกจ่ายให้กับประชาชนเป็นการทดแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากถุงผ้าสปันบอนด์แม้จะมีชื่อเรียกเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ถุงผ้าจริง ตรงกันข้ามกลับทำมาจากพลาสติก ที่สำคัญคือเมื่อมันย่อยสลายแล้วจะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิกรัม ซึ่งหากเข้าสู่ระบบนิเวศก็จะเป็นอันตรายและมีโอกาสวนกลับเข้ามาสู่ร่างกายของเราได้”

ท้วงติงฉับไว สมโปรไฟล์ไม่ธรรมดา มาแนวสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ จบปริญญาโท Master of Environmental Policy Management YALE UNIVERSITY สหรัฐอเมริกา และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สิ่งแวดล้อม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นและปรากฏการณ์ใน 13 วันประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทยที่ต้องจับตากันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image