จากนักฟุตบอลทีมชาติ สู่ นักวิชาการรัฐศาสตร์ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร “เกลียดมากที่สุดคือความไม่เป็นธรรม”

“ภาพของฟุตบอลยูโรในคราวนี้คือความเป็น 24 ทีม มันทำให้เหนื่อยมากขึ้น ทุกทีมจึงระมัดระวังเรื่องความฟิต ในขณะที่แต่ก่อนใช้เวลาประมานเดือนหนึ่งเท่ากัน และมีเพียง 16 ทีม..”

“คราวนี้เราจะเห็นทีมโนเนมที่เพิ่งเข้ามาเป็นครั้งแรก แต่คอฟุตบอลหลายคนลืมไปว่าฟุตบอลยุโรปนี่ใกล้เคียงกันมาก ฝีมือไม่ได้เหลื่อมกว่ากัน ในขณะที่หลายทีมที่เรามองว่าเก่งอย่างโปรตุเกส แต่ความจริงแล้วมี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เพียงคนเดียว พอไม่มีกองกลางที่เป็นเพลย์เมกเกอร์แบบเดียวกับ อิวาน ราคิติช ลูกา โมดริช สองห้องเครื่องของโครเอเชีย คอยปั้นบอลก็เล่นได้ยาก…”

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยกับ “อัษฎางค์ ปาณิกบุตร” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่อธิบายภาพรวมของฟุตบอลยูโร 2016 ได้อย่างฉะฉานได้ราวกับเป็น “กูรูฟุตบอล” คนหนึ่ง

“คู่เวลส์กับรัสเซีย ผมว่าเวลส์น่าจะเอาชนะได้ เพราะรัสเซียต้องการแต้มจึงต้องบุกเข้าใส่ ซึ่งเข้าทางของเวลส์ที่ถนัดเกมสวนกลับโดย แกเร็ธ เบล ในขณะที่คู่อังกฤษกับสโลวาเกีย ผลจะออกมาเสมอกัน”

Advertisement

นั่นคือการวิเคราะห์ของเขาถึงผลฟุตบอลในค่ำคืนนั้น ซึ่งผลที่ออกมาปรากฏว่า “ถูกเผง” ราวกับรู้ล่วงหน้า

แน่นอนว่าภาพจำในระยะหลังของ อัษฎางค์ นั้น คือ นักวิชาการผู้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยผ่านสื่อต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาหลายต่อหลายครั้ง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งหากย้อนกลับไป ชายคนนี้เป็นถึงนักฟุตบอลทีมชาติไทย เจ้าของฉายา “จิ้งเหลนไฟ” อันโด่งดัง!

เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2482 เติบโตในชุมชนบริเวณสนามกีฬาศุภชลาศัยที่ลงเสาเข็มในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนที่จะเริ่มเตะฟุตบอลตั้งแต่วัย 8 ขวบ และใช้ชีวิตในวัยเยาว์ในฐานะเด็กเก็บบอล

จบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเทศบาลวัดช่างแสง ก่อนสอบเข้าศึกษาในระดับมัธยมโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้ในลำดับที่ 5 จากคนที่้มาสอบเข้าทั้งหมด

และที่นั่นได้กลายเป็นที่เริ่มต้นชีวิตนักฟุตบอลและฟูมฟักให้เป็น “อัษฎางค์” อย่างที่เห็นทุกวันนี้

“เทพศิรินทร์เป็นสถานที่บ่มเพาะให้ผมเป็นคนแบบนี้ ผมนับถือครูอาจารย์ที่นั่นมาก พวกเขาเป็นเหมือนพ่อแม่ของเราคนหนึ่ง สอนด้วยความรักเหมือนลูกหลาน คำขวัญของโรงเรียนคือ “ไม่ควรเป็นคนรกโลก” ซึ่งผมเองก็ต้องท่องจำคำนี้ แม้จนกระทั่งวันที่จบการศึกษาไปแล้ว”

จากนั้นได้ตัดสินใจศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์แทนในภายหลัง ซึ่งระหว่างนั้นได้ทำงานที่ธนาคารออมสิน พร้อมเตะฟุตบอลในฐานะนักกีฬาทีมชาติไปด้วย

ในช่วง พ.ศ.2501-2510 เขาได้สร้างชื่อในตำแหน่งกองกลางทีมชาติ พร้อมเป็นผู้พาทีมชาติไทยลุยศึกโอลิมปิก ที่สมัยนั้นเรียกกันติดปากว่า “สุพจน์ฮาล์ฟซ้าย-อัษฎางค์ฮาล์ฟขวา” พร้อมสร้างความประทับใจแก่แฟนบอล ด้วยสไตล์การเล่นบอลที่ฉลาด แต่ทว่าบู๊ดุดัน วิ่งไม่มีหมด

และมีทีเด็ดคือลูกยิงไกลอันทรงพลัง จนได้อีกหนึ่งฉายาว่า “จอมลักไก่”

เพราะครึ่งสนามก็ยิงเข้ามาแล้ว!

จนภายหลังได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 11 อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยในรอบศตวรรษ

ตัดสินใจ “แขวนสตั๊ด” ในวัยเพียง 28 ปี และออกเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ก่อนที่จะกลับมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สร้างชื่อเสียงในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะ “การกระจายอำนาจ” ที่เขายังคงพยายามทำมาจนถึงปัจจุบัน

จากบรรทัดนี้เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและรสชาติของ อัษฎางค์ เท่านั้น เพราะหากจะบันทึกทั้งหมด ตรงนี้คงจะไม่พอ…

เล่าถึงชีวิตในวัยเด็ก?

ผมเป็นเด็กหลังสงคราม ค่อนข้างยากจน รองเท้าก็ไม่มีใส่เพราะว่ามันหาไม่ได้ (ยิ้ม) อาหารก็ต้องเก็บผักหญ้ามากินกันเอง ทีนี้พอหมดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมก็ต้องไปหาโรงเรียนใหม่เข้าเพราะไม่มีเงินค่าเล่าเรียน จึงไปสอบเข้าที่โรงเรียนเทศบาลวัดช่างแสง บริเวณสนามกีฬา ตอนก่อนสงครามก็เรียนไปบ้างแล้ว หลังสงครามจบก็มาเรียนต่อจนจบ ป.4 แล้วก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์

เริ่มเล่นและฝึกฝนฟุตบอลอย่างไร?

ก็เล่นตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เอากระดาษมาขยุ้มเป็นก้อนแล้วเอาหนังสติ๊กมาพันเล่น เอาลูกเทนนิสที่เขาทิ้งมาเตะเล่นกัน พอดีบ้านผมอยู่ข้างสนามกีฬา เวลาที่ฝรั่งชาวต่างชาติมาแข่ง เราก็เป็นเด็กเก็บบอลให้เขาอยู่หลังโกล์และคอยดูเขาเล่น พอฟุตบอลเลิกยังไม่มืด ก็เอาเทคนิคที่เขาใช้ เขาทำท่าอะไรเราก็เอามาฝึกกันกับฟุตบอลจริง เมื่อกี้เขาไขว้หลังแบบนี้ เราก็เอามาฝึก คือลูกแปลกๆ เด็กสนามกีฬานี่เล่นก่อนทีมชาติอีก (หัวเราะ)

พอโตขึ้นมาเรียนเทพศิรินทร์ก็เล่นรุ่นเล็ก ม.5-ม.6 ก็สูงแค่ 150 ตัวนิดเดียวเอง พอเรียน ม.7-ม.8 สูงพรวดเดียว จาก 150 เป็น 175 เลย

ชีวิตในฐานะเด็กเก็บบอล?

คือเป็นเด็กเก็บบอลก็ต้องระวัง เวลาทีมชาติแข่งอย่าง ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ นี่เขายิงแรง พอเขาเงื้อเท้าขึ้นมาแต่ละทีก็ต้องวิ่งหลบกัน เพราะสนามเทพหัสดินที่แต่ก่อนเป็นอัฒจันทร์ไม้ คือหลังโกล์ก็เป็นอัฒจันทร์เลยมีที่ว่างนิดเดียว พวกเราก็ต้องคอยหลบ พอเขายิงเข้ามาเราก็เตะออกไปให้เขา ได้แค่นั้นก็ดีใจแล้ว

สิ่งที่น่าจดจำในวัยเยาว์?

ช่วงเวลานั้นฟุตบอลไทยได้ไปโอลิมปิก 1956 ที่เมลเบิร์น คือตอน พ.ศ.2499 ทีนี้พวกเขาไม่มีคู่ซ้อม เลยเอาเด็กสนามกีฬามาไปซ้อมด้วย ไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นผมในวัย 17 ปี จะได้เคยเป็นคู่ซ้อมให้กับ สุชาติ มุทุกันต์ ซึ่งเป็นนักฟุตบอลที่ดังมากในสมัยนั้น แต่เด็กสนามกีฬานี่คล่องทุกคน เบสิกดีมาก เลี้ยงเก่ง พวกนักฟุตบอลโอลิมปิก ทั้ง สำเริง ชัยยงค์, วันชัย สุวารี, ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ นี่ปวดหัวเลย (หัวเราะ)

คนเหล่านั้นจะรู้จักผมหมด “ไอ้หนูๆ ทำไมเก่งจังวะ” เพราะผมนี่คล่อง ก็เอาลูกเล่นนี่ลักจำจากพวกนักบอลต่างชาติมาใช้นั่นแหละ (ยิ้ม)

ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติ?

พออยู่ ม.8 ระหว่างที่เล่นในสนามกีฬา ก็มีผู้ใหญ่มาถามว่าไอ้หนูอยากเล่นฟุตบอลพระราชทานถ้วยน้อยมั้ย? เขาก็ให้เราไปเล่นให้กับทีมช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ลงแข่งฟุตบอลถ้วย ข. ก็ได้ประสบการณ์มาและย้ายไปเล่นให้กับทีมศิษย์เก่าเทพศิรินทร์

ต่อมาระหว่างที่เรียนธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ.2501 ก็ติดทีมชาติชุดเยาวชนไทยไปแข่งรายการเยาวชนแห่งเอเชียครั้งที่ 1 ที่มาเลเซีย เป็นครั้งแรกที่ได้ไปต่างประเทศ ซึ่งผมใฝ่ฝันมานานแล้ว กลับมาก็เริ่มต้นเล่นทีมกรุงเทพ 11 ซึ่งหมายถึงทีมชาติไทย ก็ไปลงแข่งรายการเมอร์เดก้า คัพ ที่เป็นการฉลองเอกราชของมาเลเซีย สมัยนั้นเหมือนเป็นรายการชิงแชมป์เอเชียเลย

บรรยากาศการแข่งขันในช่วงเวลานั้น?

ตอนนั้นผมอายุ 19 หัวผมยังเกรียนอยู่เลย สมัยนั้นไม่มีโค้ชต้องดูแลกันเอง พวกรุ่นพี่ก็มักบอกให้ผมเตะไปข้างหน้าอย่าเลี้่ยง แต่ผมดูฝรั่งเล่นเยอะก็พยายามเลี้ยง ครองบอล ส่งไม่ให้เสีย เลยโดนจับนั่งสำรองเลย (หัวเราะ) แต่เราไม่สนใจและเล่นสไตล์ของเรามาตลอดจนได้รับการยอมรับ

ผมมักจะใส่ถุงเท้าสั้นและไม่ใส่สนับแข้ง แข้งเปลือยเลยถือเป็นเอกลักษณ์ของผม (ยิ้ม) ส่วนรองเท้านี่ต้องสั่งตัดเอง พื้นชั้นเดียว ทำยังไงก็ได้ให้เบาที่สุด ข้างหนึ่งไม่ถึงขีด แต่เวลาเราไปแข่งก็ต้องระวังตัว ไม่ว่าจะเป็นพม่า เวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย เผลอไม่ได้สักทีม เข้าบอลกันหนัก สมัยนั้นอินโดนีเซียนี่เก่งมาก ได้ที่ 4 โอลิมปิก แต่เราก็อาศัยใจถึงและสู้เวลาแข่ง เวลาเราไปเล่นเก็บตัวเพียง 15 วัน ขณะที่ทีมอื่นเขาเก็บตัวกันสามเดือน (หัวเราะ)

เวลาไปแข่งต่างประเทศใช้ชีวิตกันอย่างไร?

สมัยก่อนเราต้องทำกันเองทุกอย่าง จัดตารางในการซ้อม ตารางกินอาหาร คนนี้ดูแลเรื่องซักผ้า คนนี้ดูแลเรื่องอุปกรณ์ เราทั้งนั้น นักฟุตบอลเป็นคนทำ ไม่เหมือนสมัยนี้คนละเรื่องกันเลย บางทีไปเล่นทัวร์นาเมนต์ 10 วัน เสื้อมีชุดเดียว แข่งเสร็จก็ต้องรีบซักรีบตาก บางทีมีเสื้อไม่มีกางเกงก็มี (หัวเราะ) รายได้บางทีเก็บเงินในสนามได้แสนหนึ่ง พวกเราก็ได้แมตช์ละ 10 บาท

ผมไม่ได้อยากให้เอาเปรียบเทียบกับสมัยนี้ เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่นี่เป็นเรื่องจริง นักฟุตบอลสมัยก่อนต้องเล่นด้วยใจรักจริงๆ และสปิริตของนักฟุตบอลทีมชาติ

กับ “สุพจน์ พานิช” คู่หูที่ยืนเคียงคู่กันในสนาม?

ตอนนั้นเรามีฉายาคู่กันคือ “สุพจน์ฮาล์ฟซ้าย-อัษฎางค์ฮาล์ฟขวา” เล่ากันจริงๆ เลย สุพจน์เพื่อนรักผมเนี่ย เรียนตั้งแต่โรงเรียนเทพศิรินทร์ห้องเดียวกัน เล่นด้วยกันมาตลอด ถ้ามีการเก็บสถิตินี่น่าจะระดับโลกเลยนะ (หัวเราะ) เล่นทีมชาติก็เล่นด้วยกันร้อยกว่าแมตช์ แต่เล่นกันคนละสโมสร พจน์เนี่ยไปอยู่ทหารอากาศ ส่วนผมอยู่ธนาคารกรุงเทพ ก็ต้องลงแข่งกันเองในนัดชิงหลายครั้ง

ถ้าเก็บสถิติเอาไว้คงเป็นเรื่องที่สนุกน่าดู แต่บ้านเราสมัยนั้นยังไม่ได้จดบันทึกเอาไว้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ทุกวันนี้ผมยิงได้กี่ประตูก็ไม่มีใครรู้ ตัวผมเองยังจำไม่ได้เลย จำได้แต่นัดสำคัญๆ อย่างยิงเกาหลีได้ในการแข่งเอเชี่ยนเกมส์ในปี 2505 หรือยิงฮ่องกงได้

การติดทีมชาติถือเป็นการเปลี่ยนชีวิต?

แต่ก่อนผมเล่นแรง เกเร มึงเตะมากูเตะไป พักครึ่งก็ออกมาสูบบุหรี่ แต่วันหนึ่งเราได้มีโอกาสปรึกษากับ นพ.ประกอบ บุรพรัตน์ เขาก็เตือนเราว่าสูบบุหรี่ไม่ดีนะ มันทำให้เหนื่อยเร็ว พอเราติดทีมชาติมันมีความหมายมาก เพราะเป็นยาก หลังจากนั้นก็เลิกบุหรี่เลยเพื่อที่จะเล่นให้เก่งขึ้น แล้วก็เคารพกติกา เลิกตุกติก เราถือว่ากรรมการเป็นคิง ออฟ เดอะ ฟิลด์ เมื่อก่อนนี่ไม่มีใบแดงใบเหลืองนะ ถ้ากรรมการเป่าปรี๊ดแล้วชี้ออกไปนอกสนาม คือคุณต้องออกเลย

ผมเองไม่ค่อยโดนไล่ออกหรอก ถ้าอยากรู้ว่าใครเคยโดนไล่ออกบ้างต้องให้ไปถาม ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง (หัวเราะ)

ถือเป็นความภาคภูมิใจ?

มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เป็นความภูมิใจครั้งแรกของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญมีคนมาเชียร์มาให้กำลังใจ ดังนั้น เราต้องฟิต เลยกลายเป็นคนที่วิ่งเยอะที่สุดในทีมจนเป็นฉายาจิ้งเหลนไฟ (หัวเราะ) ตอนนั้นตัดสินใจว่าอย่างอื่นไม่เอาเลยให้ฟุตบอลเป็นหลัก หางานทำเพื่อเล่นฟุตบอลและเรียนหนังสือให้จบ สมัยนั้นรัฐศาสตร์ต้องสอบเข้า ผมก็สอบได้และเรียน 4 ปี จบนะ ไม่ใช่ขี้ไก่ (ยิ้ม)

ทำไมถึงย้ายมาเรียนรัฐศาสตร์

เดิมทีเรียนบัญชีเพราะที่บ้านอยากให้เรียน แต่พอเรียนจบปีหนึ่ง มีวิชาหนึ่งที่เราสอบไม่ผ่าน คือที่เหลือสอบได้ไม่มีปัญหา แต่ธรรมศาสตร์ในตอนนั้น ถ้าวิชาปีหนึ่งยังไม่ผ่าน ปีที่สองนี่้ถึงสอบได้กี่วิชาเขาก็ไม่นับ ผมเลยตัดสินใจสอบเข้ารัฐศาสตร์ และเรียนในช่วงเช้า ส่วนการทำงานก็ตกลงกับธนาคารออมสินไว้ว่าจะเข้างาน 10 โมง เลิก 3 โมงเย็น ถ้าวันไหนไม่มีซ้อมบอลแล้วมีวิชาเรียนก็กลับเข้าไปเรียนต่อ นี่เป็นชีวิตผมเลย เพราะฉะนั้นชีวิตแบบเด็กมหาวิทยาลัยนี่ไม่มีเลย

เวลาสอบก็ลางานไปสอบ ลางานไปอ่านหนังสือ พักร้อนมีเท่าไรใช้หยุดไปอ่านหนังสือหมด ก็ถือว่าเอาตัวรอดมาได้ ผ่านชีวิตช่วงนั้นมาได้อย่างดี

ทำไมถึงเลิกเล่นทีมชาติ?

ช่วงนั้น ต้นปีเพิ่งไปเอเชี่ยนคัพมาได้หมาดๆ แต่อย่างที่บอกชีวิตในการเล่นทีมชาติก็ตรากตรำพอสมควร และคิดว่าตนเองไม่สามารถที่จะฟิตไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ประกอบกับรุ่นน้องที่อยู่ที่สหรัฐได้ชักชวนให้ไปเรียนต่อ จึงตัดสินใจลาออกจากทีมชาติใน พ.ศ.2510 ก็อายุได้ 28 ปี แล้วก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

ส่วนที่เลือกเรียนสาชาอาชญาวิทยา เพราะตอนนั้นอยากเป็นตำรวจ อยากช่วยคน เพราะเกลียดมากที่สุดคือความไม่เป็นธรรม ผมก็ไปสอบเข้า ซึ่งมีแต่ตำรวจเข้ามาเรียนทั้งนั้น ช่วงเวลานั้น เราก็ทำทุกอย่างส่งหนังสือพิมพ์ ล้างรถ เป็นพ่อครัวบ้าง ล้างชามบ้าง สุดท้ายก็จบอย่างดี เกรดก็ดี

กลับมาจากเรียนต่อ ตอนแรกก็จะไปสมัครเป็นตำรวจ แต่พอดียื่นใบสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อน ซึ่งเขากำลังหาคนสอนอาชญาวิทยาอยู่พอดี เลยได้เป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ เพราะสมัยนั้นรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นสาขาในคณะนิติศาสตร์

จนกระทั่งมีการตั้งคณะรัฐศาสตร์ใน พ.ศ.2516-2517 จึงได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ พอเราต้องมาอยู่ในคณะนี้ก็ต้องอ่านหนังสือมากขึ้น เรื่องการเมืองการปกครองต้องอ่านอย่างละเอียด จนมีความรู้ความเข้าใจ

มุมมองต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน?

น่าเป็นห่วง ใครว่าเราไม่วิกฤต เราวิกฤตมากๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทุกวันนี้สังคมเรายังขาดความเข้าใจในการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางประชาธิปไตย เห็นได้จากการทำรัฐประหารยึดอำนาจมาโดยตลอด และทั้งหมดทำให้ประเทศถอยหลังทุกครั้ง ครั้งนี้ถือว่าหนัก ยังไม่รู้เลยว่า 10 ปีหลังจากนี้จะกู้ไหวหรือไม่

ทุกวันนี้สิ่งที่เราได้ยินจากรัฐบาลเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้น เพราะหากเราบอกว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ความเป็นจริงเราต้องเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นหลัก

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง และยังคงไม่มีการสร้างระบบที่เป็นธรรมชาติและเป็นประชาธิปไตยขึ้นมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image