คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ในมิติและบริบทความเป็นสตรีเพศ ตอน 3 (จบ)

หลังจากนำเสนอภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี ที่ว่าด้วยบทบาทของ “สตรีในนามการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางสังคม” ไปจนถึงเรื่องราวของ “สตรีที่ต้องอยู่ในกงล้อหมุนของเพศชาย” ผ่านผลงาน 9 เรื่อง…ในตอนสุดท้ายของ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี ที่มีแก่นแกนขับเน้นไปที่เรื่องราวของผู้หญิงนี้จะปิดท้ายด้วยบทสรุปเรื่องราวของ “สตรีกับพลังภายในอันเปี่ยมล้น” ผ่านผลงาน 4 เรื่อง ที่ถ่ายทอดออกมาได้น่าจดจำ

ทั้ง 4 เรื่อง คือตัวแทนของผู้หญิงหลากช่วง หลายชีวิต มีทั้งเรื่องราวจากชีวิตจริงที่มีแง่มุมงดงาม หฤหรรษ์ โศกนาฏกรรม และตระหนักในคุณค่าของตัวเอง

เริ่มจาก “Unicorn Store” คือภาพยนตร์ที่เล่าถึงการก้าวข้ามความเป็น “เด็กหญิงฟรุ้งฟริ้ง” สู่ “ผู้หญิงวัยทำงาน” ที่ต้องเผชิญหน้ากับความจริง มีความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่

แง่มุมที่ภาพยนตร์หวังจะสื่อถึงคือ ผู้ใหญ่ที่เติบโตแล้วคนนั้นจะยังคงหลงเหลือความเป็นเด็กไว้ในตัวได้อย่างไรบ้างเพื่อจะได้มองชีวิตอย่างมีความหวัง ความฝัน และสนุกสนานกับชีวิตอยู่เสมอ

Advertisement

หนังดำเนินเรื่องผ่าน “คิท” หญิงสาวที่เพิ่งเข้าสู่ชีวิตผู้ใหญ่วัยทำงาน หลังเพิ่งสอบตกถูกรีไทร์จากโรงเรียนศิลปะ ด้วยเหตุที่เธอวาดภาพที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไปผิดจากโจทย์ทุกครั้ง งานศิลปะของคิทมีแต่สายรุ้งและยูนิคอร์น “คิท” ถูกประเมินว่าล้มเหลวต่อมาตรฐานที่ถูกขีดไว้

“สายรุ้ง” และ “ยูนิคอร์น” คือภาพแทนค่าเฉลี่ยที่เด็กหญิงตัวน้อยโดยมากต่างหลงใหล และสลัดทิ้งความชอบนี้ได้เมื่อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับ “คิท” เธอชื่นชอบสายรุ้งและยูนิคอร์นไม่เสื่อมคลาย

หนังจึงพยายามมองทางสายกลางของหญิงสาวคนหนึ่งระหว่าง “ความเป็นเด็ก” และ “ความเป็นผู้ใหญ่” ในตัว

เรื่องราวระหว่างทางจึงพาตัวละครเข้าสู่ความตระหนักรู้ จากสถานะเด็กหญิง สู่หญิงสาวผู้กำลังเติบโตจะต้องสู้กับ “ภาระความรับผิดชอบ” ในการเป็นผู้ใหญ่ ทั้งยังต้องเติมเต็ม “จิตวิญญาณความฝัน” ของตัวเองด้วย

ถัดมาคือภาพยนตร์สารคดีชีวิตจริง “Whitney” เรื่องราวของนักร้องหญิงพลังเสียงดีว่าทรงเสน่ห์ “วิทนีย์ ฮุสตัน” ผู้แบกรับความสำเร็จอันล้นหลามที่เธอถวิลหาพร้อมกับที่มันก็ยังมอบความผุพังในชีวิตให้เธอด้วย

“วิทนีย์ ฮุสตัน” ไม่แตกต่างจาก “ตำนานศิลปิน” อีกหลายคนที่มอบทั้งความสุข และทิ้งความเศร้าอาลัยให้โลก

ชีวิตของ “วิทนีย์” ฉายแสงเรืองรองโด่งดังตั้งแต่กลางยุค 80 และโจนทะยานสุดขีดในทศวรรษ 90 โดยเฉพาะผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอใน “The Bodyguard” หนังปี 1992 ที่ยิ่งส่งให้น้ำเสียงและเพลงของเธอดังเป็นพลุแตกจนเป็นตำนาน ก่อนจะอำลาโลกนี้ไปในปี 2012 แบบช็อกโลกและคนทั้งวงการดนตรีสหรัฐ

สิ่งที่สารคดี “Whitney” สะท้อนออกมาคือ ระหว่างทางของความรุ่งโรจน์นั้น กลับมี “บางอย่าง” ในส่วนลึกที่กำลังร่วงหล่นแตกสลายไปเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าวิทนีย์ขาดภูมิคุ้มกันชีวิตด้วยตัวเองที่ดีพอ

เธอว้าเหว่ และติดกับดักความสำเร็จที่ได้รับมาตั้งแต่อายุยังน้อย การก้าวเข้าสู่ชีวิตคู่ที่ล้มเหลวอย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเพื่อนสาวที่ถูกจับจ้อง การถูกพ่อแท้ๆ หักหลัง ความไม่ลงรอยกับลูกสาว ชีวิตที่เข้าออกกับเส้นทางยาเสพติด ทั้งหมดกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ

หนังสารคดีชีวิตเรื่องนี้ได้เปิดมุมมองอันน่าเห็นใจของ “นักร้องหญิงที่โลกจดจำ” แม้เธอจะดูมีพลังเปี่ยมล้นแค่ไหน แต่ในอีกแง่มุมเธอก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกจองจำชีวิตตัวเองจากความสำเร็จไว้ด้วยเช่นกัน

มาต่อกันที่เรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของ “หญิงวัยใกล้เกษียณ” ในภาพยนตร์ “Gloria Bell” ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเหงา การต้องประคับประคองจิตวิญญาณตัวเองในวัยใกล้เกษียณช่างต่างกับการต้องอยู่คนเดียวในช่วงวัยที่สาวกว่านี้ และไม่ใช่สิ่งที่รับมือได้ง่าย

ตัวเอกคือ “กลอเรีย” หญิงวัยใกล้หกสิบที่หย่าร้างมาหลายปี ลูกๆ เติบโตไปมีวิถีชีวิตของตัวเอง หญิงม่ายวัยที่ทำงานออฟฟิศได้อีกไม่กี่ปี มีเวลาเหลือเฟือมากพอราวกับสาวโสดไร้ภาระครอบครัว และแน่นอน “กลอเรีย” ก็ไม่เลือกใช้ชีวิตเรียบๆ ทำงานกลับบ้านไปวันๆ แต่ขอสนุกกับจิตวิญญาณแบบสุดเหวี่ยงของตัวเองนั่นคือ การออกไปตามผับบาร์ยามค่ำคืน เต้นรำ และมีไลฟ์สไตล์แบบ “One Night Stand” ไม่ผูกมัดกับใคร

แต่แล้ววิถีชีวิตแบบนี้ก็กลายเป็นกิจกรรมแก้เหงาที่เริ่มจะซ้ำซาก นับวันเธอดูเหมือนมีชีวิตที่ไม่ได้ยึดโยงกับความสัมพันธ์ใดๆ กับใครทั้งสิ้น แม้แต่กับลูกๆ ของเธอเอง กระทั่งได้พบกับชายสูงวัยไล่เลี่ยกัน มีความเหมือนกันบางอย่างที่ดึงดูดและยึดโยงทั้งสองให้เข้ากันได้โดยเร็วนั่นคือ “ความเหงา” ในที่สุดความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็พัฒนาไปไกลก่อนจะลงเอยแบบหักมุม

หนังเรื่องนี้พาเราไปสัมผัสพลังของผู้หญิงคนหนึ่งที่แม้กำลังจะแก่ด้วยตัวเลขอายุ แต่ก็ยังสนุกกับชีวิต มีชีวิตชีวา หาจุดที่เป็นตัวเองเจอ ไม่ว่าจะเผชิญทุกข์แค่ไหน อายุจะผ่านเลยไปเร็วเหมือนดีดนิ้วแค่ไหน ตัวตนที่แท้จริงภายใน “จิตวิญญาณอิสระ” ก็ยังอยู่กับเธอตลอดไป

ปิดท้ายที่ภาพยนตร์สารคดีจากชีวิตจริง “Joan Didion The Center Will Not Hold” สารคดีที่เล่าเรื่องราวการตกผลึกแต่ละห้วงชีวิตของ “โจน ดิเดียน” นักเขียนหญิงชาวสหรัฐอเมริกา หนึ่งในตำนาน “นักเขียนสารคดี” ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งแห่งยุค ด้วยผลงานอย่าง “The Year of Magical Thinking” ที่ถูกยกย่องในฐานะหนังสือที่สำแดงเรื่องเล่าอันทรงพลัง ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเยียวยาต่อผู้ที่ยังอยู่ และต้องใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปให้ได้

ในสารคดีเราจะได้เห็นความพยายามยืนหยัดและใช้ชีวิตเพียงลำพังของหญิงผู้สูญเสียสามีคู่ชีวิต ผู้เป็นทั้งคู่ทุกข์คู่ยาก คู่คิดทางปัญญา จิตวิญญาณ และทุกอย่างของกันและกัน ทั้งยังต้องเผชิญความเศร้าโศกกับสถานการณ์ที่ลูกสาวบุญธรรมที่เลี้ยงดูตั้งแต่แบเบาะเสียชีวิตไล่เลี่ยกับผู้เป็นสามี

หนังสารคดีได้ถ่ายทอดบริบทชีวิตของ “โจน ดิเดียน” ให้เราได้เห็นทุกช่วงชีวิตสำคัญ ความรู้สึกนึกคิดในห้วงต่างๆ พร้อมตัวอย่างบางถ้อยคำในงานเขียนที่เธอกลั่นออกมาในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง 5 ขวบ เติบโตเป็นสาวสะพรั่งผ่านการทำงานเขียนหลายรูปแบบทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนบทความนิตยสาร นักเขียนสารคดี นักเขียนบทภาพยนตร์ และนักเขียนนิยาย กระทั่งจวบจนในวัยชรา

เป็นหนังสารคดีที่ฉายให้เห็นวิถีของผู้หญิงคนหนึ่งตลอดห้วงชีวิตที่มีทั้งสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรมคละเคล้ากันไปได้อย่างลุ่มลึก

นี่คือเรื่องราวหลากรสชาติหลายชีวิตที่มีสีสันโดยดำเนินแก่นเรื่องผ่านบทบาทของเหล่าสตรีเพศที่เผยให้เห็นแง่มุมพลังภายในอันเปี่ยมล้นของพวกเธอ ถือเป็นผลงานภาพยนตร์และสารคดีที่ควรค่าแก่การหาโอกาสรับชม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image