(ยัง)มืดมนบน”วิกฤตฝุ่น”? วาระแห่งชาติในวันที่ฟ้าเป็นสีเทา

นับเป็นปมปัญหาแปะป้าย “วาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก ซ้ำโฆษกฯยังออกมาบอกคนไทยอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะสถิติดีกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด นายกฯ มาเอง ตัอพ้อ อย่าเอาแต่ว่า ‘รัฐบาลไม่ทำอะไร’

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องอื่นใด นอกจากฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ทำเอาฟากฟ้าเมืองไทยกลายเป็นสีเทา คล้ายเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในหนังรักโรแมนติก แต่ความคันยุบยิบบนผิวหนัง ความป่วยไข้ในระบบทางเดินหายใจ ความแดงก่ำในดวงตาของผู้คน ไม่ใช่ฉากภาพยนตร์หากแต่เป็นชีวิตจริง

เช่นเดียวกับภาพหน้ากากกันฝุ่นพิษชนิดที่ไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่าวันหนึ่งคนไทยต้องลุกมาสวมใส่คล้ายหลุดจากหนังไซไฟกู้วิกฤตโลก

Advertisement

20 มกราคม ในช่วงเช้า สภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรฐาน US AQI อยู่ที่ 171 PM2.5 อยู่ที่ 95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทะยานขึ้นอันดับ 8 ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

21 มกราคมต่อเนื่อง 22 มกราคม ประกาศหยุดโรงเรียนชั่วคราวเนื่องด้วยคาดสถานการณ์ฝุ่นยังหนักไปอีก 2-3 วัน

ไม่ใช่ภาวะปกติที่อาจเพิกเฉย แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบอกว่า ‘คนแข็งแรง’ พอสู้ไหวดังเช่นตน ใครรู้ตัวว่าเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงโดย ‘ปาดจมูก ใส่หน้ากากไป’ 

Advertisement

‘บิ๊กตู่’ยันเร่งแก้ แต่ยัง’มึน’

“วัวพันหลัก” คือนิยามจากปาก ‘บิ๊กตู่’ ในช่วงก่อนหน้าที่ที่ยืนยันหนักแน่นว่ารัฐบาลเร่งแก้ไขวิกฤตฝุ่นครั้งนี้อย่างเต็มที่ แต่แก้มาแก้ไปกลายเป็นวัวพันหลัก ครั้นหันมองกรณีศึกษาในต่างประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเคยประสบปัญหาหนักเช่นกัน แต่ไทยแลนด์นั้นหรือจะทำอย่างเขาก็ไม่ได้ เนื่องด้วยติดประเด็น “สิทธิมนุษยชน” เพราะระบบการปกครองคนละอย่าง จะมาสั่งเด็ดขาดก็หวั่นกระทบชีวิตประชาชน

อย่างไรก็ดี บิ๊กตู่ไม่นิ่งนอนใจ โพสต์เฟซทันใดในวันค่าฝุ่นสูงว่าตนขอให้ตำรวจเร่งรัดออกข้อกำหนดสั่งห้ามใช้รถที่ปล่อยควันดำ รถที่ถูกจับจะต้องถูกขึ้น watch list เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถเพื่อต่อทะเบียน

สำหรับการดำเนินงานในรายละเอียด มีข้อมูลว่า

กรมการขนส่งทางบกส่งผู้ตรวจการลงพื้นที่ตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก ตามมาตรการป้องกันค่าฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,560 คัน พบรถมีค่าควันดำเกินกว่าร้อยละ 45 จำนวน 29 คัน ซึ่งค่าควันดำสูงแต่ไม่เกินกำหนดต้องอยู่ระหว่าง ร้อยละ 30-45 จึงออกใบเตือนให้ไปแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ จำนวน 127 คัน

“ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนส่งข้อมูลรถปล่อยควันดำไปที่สายด่วน 1584 และช่วงนี้ต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งด้วยนะครับ” คือคำขอจากบิ๊กตู่ผู้พยายามกู้วิกฤตในขณะนี้

คนที่’แพ้’ก็ต้อง’ดูแลตัวเอง’ เมื่อคนไทย’ใส่หน้ากาก’เข้าหากัน

หันมาดูภาคประชาชน ต่างคนก็ดูแลตนเองกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะคน “แพ้” ฝุ่นควันเป็นทุนเดิม ยิ่งเจออณูจิ๋ว 2.5 ก็ยิ่งหนัก พากันใส่หน้ากากเข้าหากันในความหมายที่ไม่ใช่สำนวนเปรียบเปรย

รวย จน คนธรรมดา หรือเซเลบ ประสบภัยอย่างเท่าเทียม ดังเช่น ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ นักร้องดังที่ล่าสุดเผยแพร่ภาพตัวเองในสภาพตาแดงก่ำ พร้อมตั้งคำถามถึง “คุณภาพชีวิตคนไทย” ว่าเรามาถึงจุดที่เหมือนโดนคำสั่งกักตัวให้อยู่แต่ในบ้านแล้วหรือ?

“เรามาถึงจุดนี้กันแล้วใช่ไหม ที่การไปออกกำลังกายข้างนอก คือการทำลายสุขภาพ การพาลูกออกไปเล่นข้างนอก คือการทำร้ายสุขภาพของเขา ท้องฟ้าข้างนอกมืดมัวปกคลุมไปด้วยละอองฝุ่นทั้งเมือง คนไทยจะมีคุณภาพชีวิตแบบนี้จริงเหรอ? นี่แค่ออกไปข้างนอก (และใส่มาส์กปิด) เพื่อแวะซื้อของแป๊บเดียวประมาณ 15 นาที แต่ผลที่ได้รับคือตาอักเสบจากมลพิษและฝุ่น PM2.5 ได้ขนาดนี้? เหมือนโดนคำสั่งให้ถูกกักบริเวณจับควบคุมตัวอยู่ในบ้าน”

อาจเป็นคำพูดแทนใจคนไทยมากมายในสถานการณ์นี้ที่ต่างพึ่งพาตัวเองในการเร่งซื้อหาหน้ากากอนามัยรูปแบบต่างๆ ตามกำลังทรัพย์ ซึ่งหน้ากากกันฝุ่นธรรมดาไม่อาจป้องกัน PM2.5 ที่มีขนาดเล็กจิ๋วได้ ครั้นเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักข่าวรุมถาม “ลุงป้อม” ถึงการแก้ปัญหาครั้งนี้ ก็เจอลุงบอกว่า รัฐบาลแจกหน้ากากแล้วไง และเมื่อย้อนไปในช่วงปลายปีེ ก็เคยบอกว่า เมื่อรถไฟฟ้าเสร็จในอีก 2-3 ปี สถานการณ์ดีขึ้นชัวร์

ฟากฝั่งอนาคตใหม่ ออกเดินสายแจกหน้ากากโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ฟิตจัดมาก ควง ปิยบุตร แสงกนกกุล จี้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

หมา แมว นก ห่าน เป็ด ไก่ ไม่รอด! เครื่องฟอกอากาศขายดี

ไม่เพียงส่งผลร้ายต่อมนุษย์เท่านั้น ทว่า แม้แต่น้องหมาก็ไม่มีข้อยกเว้น ดังที่เกิดประเด็นฮือฮาเมื่อมีผู้โพสต์ภาพฟิล์มเอกซเรย์ร่างกายสุนัขชื่อน่ารักว่า “ดอลลี่” ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรค COPD อันมีสาเหตุจากฝุ่นพิษ PM2.5 ส่งผลให้ไอหนักจนตัวโยกแบบไร้สัญญาณเตือนใดๆ มาก่อน สุดท้ายพบว่าเกิดการ “อักเสบแบบเฉียบพลันของถุงลมในปอด” ต้องเร่งรักษาและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ย้อนไปช่วงก่อนหน้านี้ก็เคยมีสัตวแพทย์ออกมาแจ้งเตือนว่าหมาแมวนั้นเสี่ยงภัยสูงมากเพราะ “หน้าสั้น” เช่นเดียวกับ เป็ด ไก่ นก ห่าน ก็ต่างอ่อนไหวกับฝุ่นพิษ กระทั่งกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพมีการนำเข้า “หน้ากากอนามัยสุนัข” จากประเทศจีนซึ่งเคยประสบปัญหามาก่อนไทย

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เดาไม่ยากคือ “เครื่องฟอกอากาศ” พากันขายดี ปรากฏภาพที่โซเชียลแห่ไลค์ล้นหลาม เมื่อ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบกเครื่องกรองอากาศส่วนตัวเข้าห้องสอน จำนวน 2 เครื่อง หวังคุณภาพชีวิตนิสิตและเจ้าหน้าที่ดีขึ้นบ้าง พร้อมติดแฮชแท็ก

#ต้องรอด #ไม่มาเรียนก้อมานั่งได้นะ #สอนไม่สนุกไม่มีความรู้แต่อากาศสะอาด

รัวหลากมาตรการ ขอ-คุม-ห้าม-ฉีดแก้วิกฤต รายวัน

หันมาดูแอ๊กชั่นภาครัฐอีกที วิกฤตนี่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งโพยว่าเร่งแก้ปัญหาอย่างเข้มข้น อาทิ

“กรมทางหลวง” คุมพื้นที่ก่อสร้าง ห้ามใช้เครื่องจักรที่มีเขม่าควันดำและน้ำมันเครื่องซ้ำ ระดมติดตั้งเครื่องปล่อยละอองน้ำจับฝุ่น 15 แห่ง

คลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย ตรวจสอบสภาพเครื่องจักร จัดการขยะโดยห้ามเผา ถ้าระดับปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จะปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูง (High Pressure Water System) ทั้ง 15 แห่งที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อดักจับ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังร่วมมือระหว่างตำรวจทางหลวงและกรมควบคุมมลพิษในการตรวจจับรถยนต์ที่มีเขม่าควันดำ และเข้มงวดไม่ให้มีการจอดรถในพื้นที่ผิวถนนที่มีการจราจรแออัด บำรุงรักษาต้นไม้ริมทางหลวงให้อยู่ในสภาพดี เพื่อช่วยจับฝุ่นละออง และเฝ้าระวังการเกิดปัญหาไฟป่า ฯลฯ

“กทม.” พ่นละอองน้ำฉีดล้างใบไม้ ผิวถนน ทางเดินเท้า บริเวณถนนสายหลักสายรองทั่วพื้นที่ ขณะที่จังหวัดสมุทรสาครมีการฉีดทำความสะอาดถนน พร้อมฉีดพ่นละอองน้ำจากเครื่องสูบระยะไกลทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อมกวดขันจับกุมรถจอดบนไหล่ทางที่กีดขวางการจราจรบนถนนคู่ขนานพระราม 2 ส่วนที่สมุทรปราการ ลงพื้นที่ตรวจวัดควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก

“กรมอนามัย” แจ้งเตือนพร้อมแนะนำประชาชนด้านการปฏิบัติตนในพื้นที่เฝ้าระวัง

“กรมอุตนิยมวิทยา” รายงานสภาพอากาศพร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นอย่างต่อเนื่อง

“กรมควบคุมมลพิษ” ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนสถานการณ์รายวัน

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลิสต์ 12 มาตรการ สรุปอย่างสั้นสุดสุด ได้แก่ 1.ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก

2.ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในวันคี่ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.63 3.ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขต 4.ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ 5.ตรวจสอบโรงงาน ถ้าไม่ได้มาตรฐานต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นสั่งหยุดกิจการ

6.กำกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ทำให้เกิดฝุ่น 7.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้เผา

8.จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุมการเผาในที่โล่ง เข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงาน และการก่อสร้าง 9.ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย

10.ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน และรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน

11.ให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง และสุดท้าย 12.สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง

ลด’ปัจจัยคุมได้’ ปลุกคนไทย’สมัครใจ’ร่วมแก้

ปิดท้ายด้วยภาคประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีหลายพื้นที่ยังคงเผาไร่ให้เกิดหิมะดำปลิวเกลื่อน แม้รณรงค์กันมากมาย ด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าหากเลือกใช้วิธีอื่น

ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.พลังประชารัฐเจ้าเก่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนนโยบายรัฐในการแก้วิกฤต แม้อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรม แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมาตรการที่จะได้ผลเร็วที่สุดในภาวะฉุกเฉินคือมาตรการแบบสมัครใจ

“ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 เกิดจากปัจจัยทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ การลดปัจจัยที่ควบคุมได้ ประชาชนสามารถช่วยกันได้เพื่อตัวเราเองโดยเน้นที่การลดการปล่อยควันจากท่อไอเสียของยานพาหนะต่างๆ ให้ได้มากที่สุด มาตรการสมัครใจดังกล่าว อาทิเช่น ลดการใช้พาหนะส่วนตัว ใช้เท่าที่จำเป็น ดับเครื่องยนต์เมื่อไม่ใช้รถ ใช้รถโดยสารสาธารณะ เดินทางแบบ car-pool โดยผ่านทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น LILUNA หรือใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดควันน้อยที่สุด ใช้น้ำมัน B10 สำหรับรถที่รองรับ เป็นต้น”

ในส่วนของต่างจังหวัด ประชาชนทุกคนสามารถร่วมด้วยช่วยกันหยุดเผาขยะมูลฝอย หญ้า ตอซัง หรือเศษวัสดุทางการเกษตรหรือสิ่งอื่นใดไม่ว่าจะเป็นที่ดินตนเองหรือที่สาธารณะก็ตาม โดยเฉพาะชาวไร่อ้อย

“สามารถนำกำแพงเพชรโมเดลมาใช้เป็นต้นแบบ โดยเกษตรกรในเขตอำเภอขาณุวรลักษบุรีริเริ่มลดปริมาณการเผาโดยเก็บใบอ้อยมาอัดแท่งขายเป็นวัตถุดิบส่งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะช่วย

ลดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ทางอากาศของพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น แทนการเผาใบอ้อยที่จะก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นหมอกควัน การเก็บใบอ้อยอัดแท่งนั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดีและรักษาสภาพแวดล้อมทางอากาศร่วมกันในสังคมที่ดี” ภาดาท์แนะ

เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์และความพยายามในการแก้ปัญหา ณ ห้วงเวลาแห่งความทึมเทานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image