หนังสือ การเมือง เรื่องชีวิต ขวัญจิต ศรีประจันต์ “ง้วนดิน (สุพรรณ) มันต้องมีบ้างแหละ”

ไม่จำเป็นต้องมีคำที่สื่อถึงเพลงพื้นบ้านบนพาดหัว

เพียงชื่อ “ขวัญจิต ศรีประจันต์” ก็เป็นอันได้ยินสุ้มเสียงสำเนียงเหน่อสุพรรณอันไพเราะจากบทเพลงมากมายทะลักล้นจากความทรงจำ

“จะต้องมีง้วนดินสินะว่าทำไม เด็กจะอยู่ตำบลไหนของสุพรรณ พอมันจะร้อง มันเป๊ะทุกคนเลย?”

คือความเห็นของ เกลียว เสร็จกิจ ชื่อที่ปรากฏบนบัตรประชาชนของ ขวัญจิต ต่อนักข่าวหลายสำนักที่นั่งรุมล้อมสอบถามเรื่องราวชีวิตของแม่เพลงพื้นบ้านภาคกลางผู้นี้ ในวันที่ภาครัฐ นำโดย องค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ผลักดันให้จังหวัดสุพรรณบุรีเข้าเป็น “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี” องค์การยูเนสโก

Advertisement

“แม่ขวัญจิต” รำลึกความหลัง ออกปากถึง “ง้วนดิน” ศัพท์โบราณที่หมายถึงดินที่มีกลิ่นหอม คล้ายสื่อถึงแหล่งเพาะเมล็ดให้ “ดีเอ็นเอ” คนสุพรรณ ล้วนมีเสียงดนตรีในหัวใจ เฉกเช่นเด็กหญิงคนหนึ่งผู้ขวนขวายขีดเส้นทางชีวิตตามฝันของตัวเองตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่วัยสาว ทั้งเฝ้าฝากตัวเป็นศิษย์ ทั้งครูพักลักจำ ทั้งฝ่าขวากหนามนานัปการ กระทั่งมีป้าย “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ.2535 ตั้งตระหง่านหน้าบ้านทรงไทยร่มรื่นของครอบครัวอบอุ่น โดยมี “หมูหยอง” สุนัขสีขาวขนปุยที่ไม่ชอบอาบน้ำ นั่งประจำการบนขั้นบันได

แต่บทสนทนากลุ่มใหญ่ในบรรทัดต่อไปนี้ ไม่ได้มีแค่ประวัติชีวิตที่ถูกบันทึกไว้แล้วอย่างมากมายในวิทยานิพนธ์ เว็บไซต์ รายงาน และคำเชิดชูเกียรติ จากภาคส่วนต่างๆ ทว่า แม่เพลงระดับตำนาน ยังเปิดใจบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดที่หล่อหลอมให้ นางสาวเกลียวในวันนั้น คือแม่ขวัญจิตในวันนี้ ผ่านหนังสือที่เคยอ่าน ประสบการณ์ที่เคยพบ การเมืองในหมู่บ้านที่เคยประสบ คัดกรอง และเคี่ยวกรำ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเข้มข้น งดงาม และไพเราะตราตรึงใจไม่ต่างจากบทเพลงที่ขับขานด้วยตัวเอง

Advertisement

เป็นบทสัมภาษณ์ที่ไม่ขอใส่ “คำถาม” แต่นำมาด้วย “หัวข้อ” ที่ขวัญจิต “เล่ายาว” ครอบคลุมหลากประเด็นสำคัญอันมีสีสันอย่างยิ่ง ภายใต้สรรพนามที่เรียกตัวเองว่า “แม่”

“สุพรรณ”คือ “เมืองดนตรี” กว่า “ร้อยปี”เป็นอย่างน้อย

อยากขอบคุณโครงการนี้ที่มาคิดทำให้สุพรรณเป็นเมืองดนตรี คนถามเยอะว่าทำไมสุพรรณ นักร้องมันเยอะ เราก็ถามและได้ฟังจากคนนั้นคนนี้มา อย่างพ่อของ แอ๊ด คาราบาว (มนัส โอภากุล) และยังคนอื่นๆ อีก เขาบอกว่าคนเก่าๆ ของที่นี่มีวงดนตรีไทย ต้นตระกูลของพ่อมนตรี ตราโมท ก็สุพรรณเป็นเนื้อ และอีกหลายๆ คนที่พอบอกนามสกุลมา ตอนนั้นเราไม่ค่อยรู้จัก อย่าง สุทรวิภาต มีครูเพลงเยอะ เขาบอกไว้เราก็จำมา ไม่ได้จดอะไร

แม่บัวผัน (บัวผัน จันทร์ศรี ครูเพลงพื้นบ้าน) ก็เล่าว่า ตั้งแต่แกยังเด็กไว้ผมจุก ไปวัดป่าเลไลยก์ ที่ไหนเขาเล่นเพลงกัน จะผูกคบไฟไว้ตามต้นไม้ แกก็ตามคบไฟไป แกบอกมีหลายทำนอง อีแซวเอย ปรบไก่เอย อะไรเอย เพราะฉะนั้น ที่นี่เป็นเมืองร้องรำมานาน ทำให้รู้ว่าเพลงพวกนี้มีมาเป็นร้อยปี เลยแต่งให้เด็กร้องหน่อยหนึ่งว่า “ประมาณร้อยกว่าปีตามที่มีหลักฐาน ที่ครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านกล่าวไว้” คิดว่า จะต้องมีง้วนดินสินะ เด็กจะอยู่ตำบลไหนของสุพรรณ พอมันจะร้อง มันเป๊ะทุกคนเลย

ฝันสู่ศิลปิน กับความคิด “นอกกรอบ”

การแสดงคือความฝัน ได้พบได้เห็นอะไรในสิ่งที่เราอยากได้ ต้องเป็นทางศิลปิน แม่ฝันว่าจะไปตรงนี้ แล้วมาดูว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้านิ่งอยู่กับที่ ทำเฉพาะที่เหมือนกับครูวางกรอบให้มา ก็อยู่เท่านั้น ไม่รู้คนอื่นคิดเหมือนกันหรือเปล่า การที่มาถึงทุกวันนี้ ยังนึกว่าฝัน ไม่ใช่เรื่องจริง

เบอร์ท้ายในยุคนั้น “ยืนหนึ่ง” ในยุคนี้

ในยุคเดียวกัน แม่เป็นเบอร์ท้ายๆ เริ่มต้นมาจากความใฝ่ฝันของตัวเอง อยากร้องเพลงอีแซว อยากร้องเพลงฉ่อย ก็ไปขอฝึก จนได้แสดง ครั้งแรกไม่ค่อยตื่นเต้นนะ เพราะมุ่งแต่จะทำงาน ความตื่นเต้นไปอยู่กับการ

เตรียมๆๆ ว่าจะแต่งหน้ายังไง ใส่กระโปรงตัวนี้ไหม อะไรอย่างนี้ ยังเป็นวงดนตรีเล็ก คนไม่ได้มืดฟ้ามัวดิน จริงๆ แล้วความตื่นเต้นมันคงมี แต่ตัวเองไม่ยอมรับ คิดว่าไม่เป็นไรน่า คือดื้อ นั่นแหละ หัวหน้าก็ปากหวานมาก หวานกับทุกคน บอกว่า วันนี้หนูทำได้ดีมาก ได้รับคำชมตั้งแต่วันแรก เพราะฉะนั้นความตื่นเต้นมันไม่เท่าไหร่ แต่มาตื่นเต้นตอนขึ้นเวทีพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ โอ้ยย ทำไมคนมันถึงเยอะแยะมากมายอะไรอย่างนี้

ค่า “เสียง” 300 บาท เมื่อ 53 ปีก่อน@

ตอน พ.ศ.2510 ได้งานที่วิทยุยานเกราะ หัวหน้าสถานีชื่อ จำรัส วิภาตะวัต เป็นทหารม้า เขาให้พูด ให้พูดขานหัว พูดคั่น เช่น วันอาทิตย์จะมีการแสดงสด เราก็ขึ้นประกาศต่อ ว่าที่นี่สถานีวิทยุยานเกราะ ที่ฟังจบไปนั้น คือโขนคณะสังวาลย์ เจริญยิ่ง อะไรอย่างนี้ หรือหนึ่งชั่วโมงต่อไปนี้พบกับลิเกคณะนั้น คณะนี้ เชิญฟังค่ะ เขาก็ให้ตังค์ วันละ 300 มั่ง อะไรมั่ง ถือเป็นเงินเยอะสำหรับแม่ในตอนนั้น

นอกจากนั้นก็มีเปิดเพลง พูดเรื่องยา สมัยก่อนยังไม่มี อย. เราก็พูดไป อัดเสียงให้ไปตัดต่อเอง พูดเฉยๆ กลัวจำเจก็ร้องสดไปบ้าง ได้เดือนละ 5 พัน 8 พัน แล้วก็ได้งานจากบริษัทต่างๆ มาอีก เช่น ยาธาตุน้ำแดงตรามือ

เจ็บแทน ร้องแทน สแตนอิน “ผู้หญิงไทย”

(เนื้อหาเพลงหลายครั้งคล้ายเป็นตัวแทนผู้หญิง) เพราะแค้นเคืองมาจากบ้านใต้ เรือนเคียง พวกนักร้องด้วยกันมีเมียน้อยมาตีเมียหลวง ถึงไม่เชื่อเรื่องของเรา แต่ก็ไม่ชอบ ถ้าเขามีใหม่ แต่ไม่ทิ้งเก่า ก็โกรธเขาไม่ได้ เขามีกำลังเลี้ยงดูของเขา แต่ถ้าไม่ใช่ แม่ก็รู้สึกเจ็บปวดแทน เคยโดนด่า ว่าร้องด้นเรื่องนี้ได้เป็น ชม. เอาอะไรมาร้อง (หัวเราะ)

ห่วงสูญหาย แต่ไม่อาจเรียกร้อง

ถามว่ากลัวเพลงพื้นบ้านหายไปไหม กลัว แต่ไม่สามารถเรียกร้องได้ แต่ยังดีใจที่นักร้องแร็พหลายคนเคยมาขอให้แต่งเพลง แม่ก็ทำเป็นตัวอย่างไป ว่ามันจะต้อง 4 คำ 5 คำ ไม่ใช่นึกจะร้องก็ร้องไป ไอๆ อีๆ ต้องมีให้สวยหน่อย ตอนหลังลูกมาบอก เด็กคนนี้ดังแล้ว แม่จำได้ไหม (ยิ้ม) อีแซว เพลงฉ่อย ใกล้กับแร็พเลย

เพลงพวกนี้มีคนสืบสานอยู่ แต่มันจะเป็นมหรสพไหม ยังไม่แน่ใจว่าจะเหมือนกับที่ผ่านมาหรือเปล่า เพราะยุคสมัยเปลี่ยน ความนิยมของเด็กรุ่นใหม่ๆ คิดว่าต้องเลือนๆ ไป นอกจากบังเอิญเป็นชะตาชีวิตของเพลงที่มีอีกสักคนสองคนขุดจุดเด่นขึ้นมาแล้วพากันไปได้อีกระยะหนึ่ง

แม่ปรึกษา ผศ.บัวผัน สุพรรณยศ ที่เป็นลูกศิษย์อยู่เรื่อยๆ ว่าจะทำอะไรให้เด็กๆ ดี ต้องหาอะไรให้เด็กยุคใหม่เขาเดินได้

บ้านเรือนไทยร่มรื่นของแม่ขวัญจิต


“สมหญิง ศรีประจันต์” เลือดแม่ร้อยละ 80

เดิมคิดว่าที่ลูกมาทางนี้ เพราะแค่มาดูแลแม่ เพราะเวลาแม่ไปร้อง จะเป็นลมอยู่เรื่อย นึกว่าเขาแค่ห่วงใย แต่วันนี้เขามาทำเพลง ก็เป็นเรื่องที่ผิดคาด แม่จะมีอะไรที่คาดไม่ถึงมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเขาได้สายเลือดแม่ไป 80 เปอร์เซ็นต์แน่ๆ และถ้ามีอะไรที่เกี่ยวกับวิชาการ เกี่ยวกับยุคสมัยปัจจุบัน เขาทำได้ดีกว่าแม่ อย่างเวลาโฆษณาอะไรต่างๆ แม่ต้องคอยถามว่า พรีเมียม คืออะไร ดียังไงลูก เขาก็อธิบาย โซเชียลเขาก็เอาให้ดูสำหรับอะไรที่ต้องดู

ทุกวันนี้อยู่ด้วยกัน ใช้โทรศัพท์โทรหากันนะ แม่ขี้เกียจเดินขึ้นไปเรียก (หัวเราะ)

สอนต่างชาติ ต้อง “เพลงเกี่ยวข้าว”

ถ้าสุพรรณได้เป็นเครือข่ายเมืองดนตรี แล้วจะสอนต่างชาติ ต้องเป็นเพลงเกี่ยวข้าวซึ่งจะง่ายต่อเขา เพราะร้องไปพยางค์หนึ่ง ก็ เอ้า เฮๆ แล้ว

(หยุดพัก ตะโกนเรียกคนในบ้านขอน้ำหวาน 1 แก้ว)

ร้องโต้ กับ “เบาหวาน” ในวัยสู่ 73

สุขภาพตอนนี้ ก็ทะเลาะกับเบาหวาน นี่เหงื่อออก น้ำตาลลด (ดื่มน้ำหวานสีแดงจากแก้วใส)

การเมืองเรื่องหมู่บ้าน สู่บทเพลงสร้างสรรค์ “ไม่มีใครบังคับให้เก็บกด”

ชอบฟังเขาพูดกันเรื่องบ้านเมืองเป็นอย่างไร ตั้งแต่ยุคที่ธรรมศาสตร์ช่วงเขากำลังจะยุ่งๆ กัน แม่เก็บมาแต่งเพลง ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร มันก็เลยติดตัวมา ได้ไอ้นั่นหน่อย ไอ้นี่หน่อย ได้อ่านหนังสือ ไปหอประชุมธรรมศาสตร์ที่มีเสวนา มีอะไรกันไม่รู้ แม่ก็ร้องเพลงไป แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อใคร

ตอนนั้น ไม่มีบังคับให้เก็บกด มันอึดอัดเอง พอได้เปิดฉากตรงนี้ โอ้โห พอ 1 ชม.แล้วจะจบ ต้องมีต่อ จบไม่ได้ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เขียนเช็คให้ 5 หมื่น แม่ไม่เคยเห็นเช็ค ตอนนั้นไม่รู้ ไม่ได้เปิดอ่าน ถ้าเปิดน่ากลัวจะเป็นลม เราก็เก็บ ตอนแรกนึกว่าจดหมายบอกว่าจะให้เราร้องอะไร ปรากฏเป็นเช็คเงินสด มารู้ทีหลัง ไม่เคยเห็นตังค์ 5 หมื่นในวันเดียว นอนไม่หลับหลายวันเลย

ในความเจริญ แต่มันไม่ถึงเรา มันถึงแค่ปลายเข็มเท่านั้น ตรงนี้เราอึดอัดเองนานแล้ว ยุคที่บอกว่า “เขาทำได้ เราทำได้” แต่แม่ไปร้องว่า “เราทำ แต่เขาได้” มันปุดๆ จริงๆ อย่างเวลาลอกเหมือง คลอง คู เราเป็นคนรู้หนังสือในหมู่บ้าน บางทีพวกผู้ใหญ่บ้าน กำนันที่รู้จักครอบครัวใหญ่ของนักการเมือง มาวานให้เราทำบัญชีให้ เพราะเขียนมาสะกดไม่ถูกบ้างอะไรบ้าง แม่ลอกรายชื่อไป ก็อยากไปหาคนที่มารับจ้างลอกคู เพราะมีพี่น้องเรา มีขนมก็โตงเตงไป แต่พอถึงที่ ไม่เห็นมีคนในรายชื่อที่เอามาให้ลอก ครั้งแรกไม่เป็นไร อีก 2-3 วันไปอีก ขี่มอเตอร์ไซค์ไปดู รายชื่อ 50-60 คน พอไปถึงมีครึ่งเดียว แม่ก็เอ๊ะ! ยังไง ค่าแรงเมื่อก่อนวันละ 120 บาท ซึ่งก็เยอะนะในยุคนั้น อาทิตย์หนึ่งลอกวันละ 3 ครั้ง แต่ไม่ได้พูดกับใครนะ เพราะรู้ว่าพูดกับพี่น้อง เขาก็ไม่รู้เรื่องกับเรา เขาไม่รู้หรอก แต่ถ้าพูดกับพ่อของแฟน เขารู้ คนใต้ เรื่องนี้เขาคม

เราพูดถึงปากท้อง ประชาชน อนาคตของเมืองไทย อะไรต่ออะไร แม่รู้อะไรก็เก็บมาเรื่อย ต้องขอบคุณ นสพ.ชาวปักษ์ใต้ สยามรัฐ อ่านแล้วถูกใจก็พับไว้ ไม่ได้คิดว่าตัวเองมีปากมีเสียงหรอก ในวิทยุพูดถึงอันโน้นอันนี้สวยงาม แต่ที่เราอยู่ไม่เห็นสวยงามเลย

หมูหยอง สุนัขคู่บ้านแม่ขวัญจิต

หนังสือพิมพ์ และปราศรัยในเรือแท็กซี่

แม่ฟังวิทยุ ตอนหลังไปตลาดมี นสพ.สยามรัฐ พิมพ์ไทย ไทยรัฐตอนนั้นยังไม่เห็น ก็ซื้อ 6 สลึง อ่านไป มีการเมืองติดมาทุกฉบับ เราก็ได้ตรงนี้ ย้อนไปตอนอยู่ประถม พรรคประชาธิปัตย์ผูกขาดสุพรรณ นายพีร์ บุนนาค มาพูด ครูให้แม่ไปร้องเพลงหัวเรือแท็กซี่ วันละ 10 บาท เพื่อนตีกลอง ระบำชาวเกาะ พอเขาพูด เราก็ได้หยุด ได้นั่ง ได้นอนในเรือ ยุคนั้นโรงเรียนก็ให้จำ ว่านายกรัฐมนตรีชื่ออะไร นายอำเภอชื่ออะไร ผู้ว่าฯชื่ออะไร เวลามีคนมาหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็ชวนไปทำกลองยาว รำกับเขา บ้านนู้นบ้านนี้ เขาพูดอะไรกันก็ไม่รู้ แจกอะไรกันก็ไม่รู้ แต่เรื่องการเมืองก็กรอกหูมา

ทุกวันนี้ ไม่รู้ว่าจะ “ต้องรู้” ไปอีกถึงไหน หนังสือเต็มห้องแม่ ใครเดินไปหกล้มได้เลย

เศรษฐกิจการเมือง เรื่องวันนี้

(อยากแต่งเพลงสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันไหม?) อยาก แต่ควรหยุด. (หัวเราะ)

 

ผลักดัน”สุพรรณบุรี” สู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี “ยูเนสโก”

21 มกราคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุพรรณบุรี คึกคักด้วยศิลปินจากหลากประเทศอาเซียน ด้วยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี อบจ.สุพรรณบุรี สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และภาคีเครือข่าย จัด “โครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียนในภูมิภาค พ.ศ.2563”

ในงานมีผู้เข้าร่วมอย่างคึกคักกว่า 200 ราย ทั้งคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี และนักเรียน นักศึกษาด้านดนตรี-นาฏศิลป์ไทย

“ต้องขอฝากครูอาจารย์ว่าจะทำอย่างไรในการกระตุ้นดนตรีในหัวใจของคนสุพรรณบุรีให้คนทั้งโลกได้รับรู้ ปัจจุบันการกีฬา การท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดสุพรรณบุรีของเรามีเมืองโบราณ ช่วงเสาร์อาทิตย์นักท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก”

คือคำกล่าวของ นิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อการผลักดันให้สุพรรณบุรีเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโก ซึ่งเคยร่วมชิงมงมาแล้วเมื่อปี 2562 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา เพราะขณะนั้นยังขาดองค์ประกอบอีกหลายด้าน

ด้าน ทวีพงศ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวออกไมค์ ได้ยินทั่วห้องประชุมว่า โครงการอบรมครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความรับรู้ให้แก่ภาคีเครือข่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการผลักดันยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโก

“เมื่อจังหวัดสุพรรณบุรีได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีแล้ว จะเกิดการไหลเวียนของการเดินทางจากประเทศสมาชิกและภาคีเครือข่ายจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก มาจัดกิจกรรม สัมมนา ศึกษาดูงาน และทำกิจกรรมต่างๆ โดยประเทศไทยและจังหวัดสุพรรณบุรีจะถูกบรรจุในปฏิทินกิจกรรมขององค์การยูเนสโกว่าในแต่ละปีมีกิจกรรมอะไรบ้าง?”

งานนี้ ศิลปินดังทั่วอาเซียนแปะมือเข้าร่วมถึง 18 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นเพชรเม็ดงามในแผ่นดินของตัวเอง อาทิ Sanankavie Keo นักดนตรีชั้นครูชาวกัมพูชา ผู้รื้อฟื้นพิณเขมร, Patricia Brillantes Silvestre คณบดีคณะดนตรีวิทยา วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์, คำสวน วงทองคำ ผู้บุกเบิกการสร้างวงดนตรีที่ผลิตด้วยไม้ไผ่ทั้งวง และศิลปินคนแรกของ สปป.ลาว ที่ริเริ่มวงโปงลางแบบอีสานในประเทศลาว, Dr.Ida Ayu Wimba Ruspawati อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาบัน Seni Indonesia บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์น่าจับตาที่ต้องร่วมลุ้นสุดแรงกล้าว่าจะสำเร็จดังหวังหรือไม่.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image