จุดเทียนบรรเลง บทเพลงแห่งหวัง ‘Rise of melody’ ดนตรีกับการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน

บัตรหลากสีสันปรากฏชายถือแซกโซโฟน มีวลี ‘Rise of Melodies’ เด่นหรา น่าแปลกใจที่บัตรเชื้อเชิญร่วมงานดนตรีใบนี้ไม่ได้มาจากค่ายดนตรี ทว่ามาจาก “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่แสวงหาความยุติธรรมในสังคม

เมื่อไม่นานมานี้ เย็นย่ำ ณ ลาน RCB เฮลิแพด เหนือสุดของศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก โอบรอบด้วยวิวทิวทัศน์ของมหานคร หญิงชายหลากหลายวัย เด็ก-ผู้ใหญ่หลั่งไหลร่วมดื่มด่ำท่วงทำนองหลังมื้อค่ำ กับวงออเคสตร้าระดับโลก The IHS World Orchestra เพื่อระดมทุนจัดพิมพ์ “หนังสือเล่มเล็ก-ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”

คือหนแรกที่แอมเนสตี้จัดงานลักษณะนี้ แต่น่ายินดีว่าเงินทุกบาททุกสตางค์จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ “เปิดอนาคตที่ยิ่งใหญ่ด้วยหนังสือเล่มเล็ก” มอบแก่โรงเรียน มหาวิทยาลัยและชุมชนทั่วประเทศ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า “ถ้าไม่เริ่มทำอะไร ก็ยังคงห่างไกล”

Advertisement

เมื่อ 70 ปีที่แล้ว นานาประเทศร่วมมือกันทำให้เกิด ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขึ้น หลังพ้นความโหดร้ายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

และเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เกิดขึ้นเพื่อทวงคืนความยุติธรรม ซึ่งทุกๆ วันก็มีคนกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และผู้อื่น แม้ว่าจะต่อสู้อย่างยากลำบากเพียงใด มีการคุมคามหลากหลายรูปแบบที่อาจทำให้ย่อท้อกับการต่อสู้ใน สงครามการเลือกปฏิบัติ โดยปราศจากความรับผิดชอบ แต่ทุกคนก็ยังคิดที่จะต่อสู้

The IHS World Orchestra วงออเคสตร้าระดับโลก


“ทุกคนที่นี่ หรือแม้แต่วงดนตรีที่เดินทางมาจากทั่วโลก มาร่วมกันบรรเลงดนตรีและร่วมฟังบทเพลงแห่งความหวัง
ทุกคนที่นี่ คือผู้สนับสนุนให้เกิดการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราเห็นเพื่อนใหม่หรือคนที่อยู่เบื้องหลังก็ยินดีมาช่วยทำกับข้าว เสิร์ฟน้ำในงานนี้” ปิยนุชกล่าวต้อนรับด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะเผยถึงความหวังที่จะทำให้เกิดหนังสือเล่มเล็กให้ได้อย่างน้อย 70,000 เล่ม เพื่อเผยแพร่ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้เข้าใจเรื่องสิทธิ

Advertisement

“เพราะพวกเขาคือส่วนหนึ่งของโลก โลกที่พวกเราอยากเห็นว่ามีการเคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยกัน
ถ้าเราทุกคนจุดเทียนเล่มหนึ่ง ขอให้รู้ว่านี่คือการจุด ‘เทียนแห่งความหวัง’ เพื่อสิทธิมนุษยชน ให้เราฝ่าฝันความมืดในอุโมงค์ไปด้วยกัน” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย

บรรยากาศค่ำคืนแห่งเสียงเพลง กลางวิวแม่น้ำเจ้าพระยาแบบ 360 องศา


“ฉันมีเสียง ไม่ได้เงียบ” คือคำกล่าวทักทายจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ว่ากันตามเอกสาร มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถถูกพรากจากเรา หรือให้ผู้อื่นซื้อขาย หรือสืบทอดกันได้ คนทุกเชื้อชาติ เพศ และศาสนา ได้รับสิทธิเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่ากฎหมายของประเทศจะไม่รับรอง หรือละเมิดสิทธิเหล่านี้ ประชาชนของประเทศนั้นก็ยังถือสิทธิทั้งหมดนี้อยู่

สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น จะต้องไม่ถูกแยกออกจากกัน จะต้องมีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ สีผิว ภาษา หรือสถานภาพอื่นๆ ใดก็ตาม

สิทธิเหล่านี้จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สร้างความมั่นคง และส่งเสริมให้ชีวิตได้รับการพัฒนา

เหล่านี้คือ ‘หลักสิทธิมนุษยชนสากล’ ซึ่ง หน้าที่ของรัฐ ได้แก่การ เคารพ-ไม่ละเมิดสิทธของประชาชน, ปกป้อง-ไม่ให้บุคคลที่ 3 ละเมิดสิทธิของประชาชนของตน และจัดสรร-นโยบายและบริการสาธารณะที่ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ส่วน หน้าที่ของประชาชน คือการ เคารพ-ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น รับผิดชอบในการกระทำของตน และร่วมปกป้องสิทธิของผู้อื่น

ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์


ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งอังกฤษ ด้วยอุทิศตนเพื่อการด้านสิทธิมนุยชนมาโดยตลอด ขึ้นเวทีกล่าวถ้อยความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“วันนี้เรามาร่วมตระหนักถึง และฉลองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีหนึ่งคำถาม ทำไม ‘แอมเนสตี้’ ถึงมีสัญลักษณ์เทียนไขและลวดหนาม? คำตอบคือ ท่านผู้ที่สร้างแอมเนสตี้ฯ วันหนึ่งเซ็งมากที่มีนักโทษการเมืองอยู่ในโลกนี้ จึงเข้าไปสวดมนต์ในวัด และจุดเทียนเพื่อขอไอเดียทางจิตใจว่าจะทำอย่างไรดี จากนั้นจึงเกิดเป็น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

“เรื่องสิทธิมนุษยชน-ใช่ เรื่องกฎหมาย-ใช่ เรื่องเกณฑ์-ใช่ แถมด้วยเรื่องความจริงใจและการเอื้อเฟื้อต่อเพื่อมนุษย์ เรามาร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์โดยมีแอมเนสตี้เป็นส่วนหนึ่ง วันนี้เราต้องการร่วมกันสร้างสิทธิมนุษยชนศึกษาให้มากขึ้นในประเทศของเรา ซึ่งความจริงก็มีอยู่แล้วไม่ว่าใน แผนวาระแห่งชาติ แผนสิทธิมนุษยชน ฯลฯ แต่ที่ต้องฝากในยุคนี้เพราะมีอีกคลังเกิดขึ้นและค่อนข้างเป็นที่ยอมรับทั่วโลกรวมถึงเมืองไทย คือ เกณฑ์พัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยวางกรอบไว้ 15 ปี ตั้งแต่ ปี 2015-2030 ซึ่งพูดถึง ‘สิทธิมนุษยชนศึกษา’ เอาไว้ จึงมีความชอบธรรมว่า รัฐต้องทำ และ รัฐสัญญาว่าจะเน้นสิทธิมนุษยชนศึกษามากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิตบอกว่า มีหลายลำดับ หลายวิธีการ เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ต่อต้านความรุนแรง และเคารพสิทธิของมนุษย์

ง่ายๆ เริ่มจาก วัยก่อนเรียน เด็กๆ ทั้งหลายมาร่วมกันข้ามวัฒนธรรม

“กะเปี๊ยกพุทธ มุสลิม คริสเตียน มาเล่นด้วยกันตั้งแต่เด็กโดยไม่เลือกปฏิบัติ ชาย-หญิงแบบไหนก็ได้ เล่นและปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์ด้วยกัน เพราะ 0-6 ปี สำคัญมาก นี่คือวิธีการลำดับแรกของ ‘สิทธิมนุษยชนศึกษา’ โดยไม่จำเป็นต้อมีคอร์สพิเศษใดๆ”

ระดับที่ 2 ประถม และมัธยม มีอย่างน้อย 2 ประเด็นที่ปวดหัวอย่างมาก และต้องขจัด คือ 1.การตีเด็ก ที่ยังเกิดขึ้นทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน 2.รังแกคนที่อ่อนแอ หรือมีความหลากหลายทางเพศ

ขั้นที่ 3 มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิตมองว่า แม้จะมีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นรายวิชา หรือคอร์สพิเศษ แต่เรื่องเล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งท่องเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การเน้นให้นิสิตนักศึกษาทำกิจกรรมที่เอื้อเฟื้อต่อสังคม” ซึ่งคืนนี้ก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่มีนักศึกษาของตน 2 คน แอบมาเป็นอาสาสมัครนอกมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยแอมเนสตี้ฯ

“สุดท้ายขอให้เน้นทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เดินควบคู่กันไป คอร์สทั้งหลายไม่จำเป็นต้องอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ยังรวมไปถึงการตระหนักรู้ กระตุ้นเตือนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘การต่อต้านความเกลียดชังทั้งหลาย’ ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเรื่อง่ายๆ ที่เริ่มได้จากตัวเรา ทีละนิด ไปสู่สังคม

ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ หลีกเลี่ยงความรุนแรง หลีกการเลือกปฏิบัติ เอื้อเฟื้อกับคนที่ไม่ใช่ชาติเดียวกัน ไม่มีค่าใช่จ่ายอะไร เพียงสวดมนต์ตั้งจิตที่เอื้อเฟื้อเพียงนิดหน่อย จุดเทียนอันเล็กน้อยในใจของเราก่อนออกสู่สังคม” คือถ้อยคำอันเปี่ยมด้วยความหวัง ที่ผู้ทรวงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนฝากไว้
ก่อนที่เยาวชน และศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเปิดฟลอร์ชวนผู้ร่วมงานคละเชื้อชาติศาสนา ลุกขึ้นส่ายสะโพกโยกเคล้าทำนองอันหลากหลาย

“แจ๊ส แซมบ้า แมมโบ้ โพลกา วอลทซ์”

หวังว่าสังคมไทยจะเคารพความแตกต่าง และตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงในเร็ววัน”

30 ข้อ ‘พาสปอรต์’เพื่อสิทธิมนุษยชน

หนังสือเล่มเล็กๆ นี้มีความสำคัญ เพราะเป็นสื่อประกอบการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในห้องเรียนสิทธิมนุษยชนศึกษา ว่าด้วยเรื่อง สิทธิที่ทุกคนมี สิทธิที่ต้องเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริม

ข้อ 1 เราทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มีอิสระที่จะคิดและฝัน และไม่มีใครมาพรากสิ่งนี้ไปจากเราได้

ข้อ 2 ไม่ว่าจะเกิดมารวยหรือจน เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ประเทศหรือสีผมอะไร เราทุกคนเท่ากัน

ข้อ 3 เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย และมีอิสระที่จะเลือกทางเดินให้กับตัวเอง

ข้อ 4 ไม่มีใครมีสิทธิบังคับให้เราเป็นทาสของผู้ใด

ข้อ 5 ไม่มีใครมีสิทธิที่จะทำร้ายหรือทรมานเรา

ข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย

ข้อ 7 กฎหมายไม่มีการแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ

ข้อ 8 หากถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

ข้อ 9 ไม่มีใครมีสิทธิที่จะจับกุม คุมขัง หรือเนรเทศเราออกไปจากประเทศของเราโดยพลการ

ข้อ 10 หากต้องคดีตามข้อกล่าวหาอะไรก็ตาม ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยศาลที่เป็นอิสระและไร้อคติ

ข้อ 11 ทุกคนถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิด

ข้อ 12 ไม่มีใครมีสิทธิที่จะละเมิดความเป็นส่วนตัวของเรา ทำลายชื่อเสียงของเรา หรือคุกคามครอบครัวของเรา หากสิทธิเหล่านั้นถูกละเมิด ทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

ข้อ 13 เราทุกคนมีสิทธิที่จะเดินทาง และเลือกที่อยู่อาศัยได้อย่างเสรีภายในประเทศของเราเอง

ข้อ 14 หากชีวิตของเราตกอยู่ในอันตรายเรามีสิทธิที่จะหนีภัย และขอความคุ้มครองจากประเทศอื่น

ข้อ 15 ทุกคนมีสิทธิที่จะมีสัญชาติ และมีสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของตัวเองได้

ข้อ 16 เมื่อถึงวัยอันควร ทุกคนสามารถแต่งงานและมีครอบครัว โดยการแต่งงานเกิดจากความพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ครอบครัวคือหัวใจของสังคม และย่อมได้รับสิทธิคุ้มครองจากรัฐ

ข้อ 17 ทุกคนมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สิน และที่ดิน และไม่มีใครมีสิทธิพรากสิ่งเหล่านี้ไปจากเราได้โดยพลการ

ข้อ 18 ทุกคนมี้เสรีภาพที่จะเลือกนับถือศาสนาของตัวเอง และปฏิบัติกิจตามความเชื่อและประเพณีเหล่านั้น

ข้อ 19 ทุกคนมีอิสระที่จะพูด คิด และแสดงออก

ข้อ 20 ทุกคนมีสิทธิรวมกลุ่มชุมนุม โดยสงบ ปราศจากอาวุธ และความรุนแรง

ข้อ 21 ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศโดยตรง หรือผ่านการคัดเลือกตัวแทน และรัฐก็มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคให้กับประชาชนทุกคน

ข้อ 22 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและคุ้มครองจากรัฐ และได้รับการสนับสนุนและโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

ข้อ 23 ทุกคนมีอิสระที่จะเลือกงานและมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ทุกคนมีสิทธิที่จะรวมกลุ่มเพื่อปกป้องผลประโยชน์สวัสดิการการทำงาน และการมีรายได้ของตน

ข้อ 24 เราทุกคนมีสิทธิที่จะได้ทำงานตามเวลาที่เหมาะสม และสามารถลาหยุดพักผ่อนได้

ข้อ 25 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และในยามว่างงาน ป่วย พิการ หรือเมื่อถึงวัยแก่ชรา รัฐก็มีหน้าที่ดูแลคุ้มครอง โดยเฉพาะแม่และเด็ก ที่รัฐมีหน้าที่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

ข้อ 26 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันที่จะได้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป การศึกษาต้องช่วยส่งเสริมศักยภาพและให้ความรู้เรื่องสิทธิและเสรีภาพ

ข้อ 27 ทุกคนมีอิสระที่จะแสวงหา เติมเต็มชีวิตด้วยศิลปะ วิทยาศาสตร์ ความรู้ และความบันเทิง

และเมื่อมีการนำความรู้ที่ได้มาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ก็ย่อมได้รับสิทธิคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ข้อ 28 ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่และเติบโตในสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมให้สิทธิทั้งหมดที่มีอยู่ในหนังสือเดินทางสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ เป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์

ข้อ 29 เราทุกคนมีหน้าที่ต่อส่วนรวม และไม่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน

ข้อ 30 สิทธิและอิสรภาพทั้งหมดนี้เป็นของเรา และไม่มีรัฐ หรือผู้ใดพรากมันไปจากเราได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image