หนอนอ่านนัว : จากริมบึง ถึงหน้าเขียง ‘กฤช เหลือลมัย’ สืบต้นสาย ก่อนเป็นปลายจวัก

เปิดตัวกันไปอย่างเป็นทางการ สำหรับ กฤช เหลือลมัย วิทยากรพิเศษในโฉมใหม่ของรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ที่จะพาแฟนๆ ไปชิมเมนูเข้าธีมในทุกตอน

ก่อนจะเป็นคอลัมนิสต์อาหารงานชุกขนาดนี้ เจ้าตัวย้อนเล่าถึงหนังสือที่อ่านในวัยเยาว์ เปล่าเลย! ไม่ได้เกี่ยวกับอาหาร แต่เป็นผลงานแนวสัตว์ป่าของ นพ.บุญส่ง เลขะกุล เพราะคุณพ่อซึ่งเป็นครูชอบอ่านมาก่อน และรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัว

“สมัยพ่อเรียนวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี เคยเจอหมอบุญส่งช่วงที่หันมาเป็นนักธรรมชาติวิทยา แล้วพาฝรั่งไปเที่ยวป่าสวนผึ้ง ตอนนั้นบึงยังมีนกเป็ดน้ำบินมาลง มีดินโป่ง พ่อวาดรูปสัตว์ สะสมหนังสือธรรมชาตินานาสัตว์ ชุด 1-3 หนังสือเที่ยวป่ากับหมอบุญส่ง พอผมจำความได้ บ้านก็เต็มไปด้วยรูปวาดของพ่อ ที่วาดสัตว์ต่างๆ เต็มไปหมด เราก็ซึมซับไปโดยปริยาย เมื่อผมเริ่มอ่านหนังสือออก ก็อ่านพวกนี้ อย่างเล่ม ชีวิตของฉัน ลูกกระทิง เป็นหนังสือที่อ่านในช่วงต้นๆ ของชีวิต”

Advertisement

ไม่เพียงคอลัมน์อาหารในมติชนรายวัน “กฤช” ยังเขียนการ์ตูนการเมืองในมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งในภาวะการเมืองสับสนอลหม่านเช่นนี้ ในฐานะศิษย์เก่าคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร กฤชบอกว่า หนังสือน่าอ่านอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้คือ รายงานของชาวต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา อย่าง จดหมายเหตุ ลาลูแบร์

ก่อนจะมึนงงขนานใหญ่ว่า การเมืองไทยเกี่ยวอะไรกับบันทึกประวัติศาสตร์ หนอนกฤชชิงเฉลยให้ร้องอ๋อยาวๆ ว่า

Advertisement

“เอกสารของฝรั่งพวกนี้ น่าจะฉายภาพให้เห็นว่าเมื่อหลายร้อยปีก่อน บ้านเรามีคอร์รัปชั่น มีการใช้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรม ชาวต่างชาติเขาเห็นอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้น ต่างจากบันทึกของฝั่งไทยเองที่ปกปิดรอยด่างดำเอาไว้” กฤชเล่า ก่อนกล่าวสั้นๆ ว่า

“ดูเหมือนเราไม่ไปไหน”

ปิดท้ายด้วยเล่มที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ อย่าง ‘ต้นสายปลายจวัก’ ที่เพิ่งคลอดจากโรงพิมพ์สดๆ ร้อนๆ เป็นผลงานใหม่ล่าสุดของ “กฤช” ซึ่งรวบรวมจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม หน้าปกเก๋หนักมาก นึกว่าหนังสือแปลจากแดนอาทิตย์อุทัย

เล่าถึงความเป็นมาและเป็นไปของเมนูหลากหลาย คล้ายทำการ “ขุดค้นทางโบราณคดี” ในหลุมลึกของประวัติศาสตร์อาหาร เปี่ยมสีสัน แถมยัง “รสนัว”

เป็นอีกหนึ่งผลงานน่าสนใจ ที่ต้องมีไว้คู่ชั้นหนังสือในครัว

ดุสิตา รชตวิมาน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image