อาศรมมิวสิก : วงดุริยางค์โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ พ.ศ.2562 : โดย สุกรี เจริญสุข

โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนประจำระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ชายล้วน) เดิมคือโรงเรียนราชวิทยาลัย (King’s College) พระราชทานกำเนิดโดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อจัดการศึกษาให้นักเรียนชายมีความรู้ มีระเบียบ มีวินัย มีร่างกายที่แข็งแรง มีความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ที่มีรสนิยมที่ดี เป็นแบบอย่างของผู้ดี เพื่อว่าเมื่อจบการศึกษาแล้ว ออกไปรับราชการเป็นข้าราชการที่ดี

ต่อมาโรงเรียนราชวิทยาลัยถูกยุบรวมเข้ากับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดและจะได้จัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นนโยบายเพื่อที่จะประหยัดงบประมาณอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2507 โรงเรียนราชวิทยาลัยได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณารับโรงเรียนราชวิทยาลัยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญอักษรย่อพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประกอบกับชื่อของโรงเรียน

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียน จึงนับเป็นวันสถาปนาโรงเรียน ณ ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

Advertisement

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 คณะศิษย์เก่าโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้หารือกันที่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เพื่อปรึกษาเรื่องการพัฒนาหลักสูตรดนตรีของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรี เพื่อใช้ดนตรีให้เป็นพื้นฐานที่ดีของชีวิต เพื่อเตรียมตัวเด็กให้ได้พัฒนาฝีมือดนตรีเผื่อเป็นอาชีพในอนาคต และเพื่อใช้ดนตรีในการนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน โดยตั้งความหวังว่า โรงเรียนจะกลับมามีชื่อเสียงทางดนตรีภายในระยะเวลาอีก 3 ปี ระหว่าง พ.ศ.2562-2564

ความมุ่งมั่นของผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะศิษย์เก่า ถือว่าเป็นผู้วางนโยบายหลักสูตรดนตรีที่มีความตั้งใจสูง ต้องการช่วยกันสร้างวงดนตรีของโรงเรียนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อจะนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน โดยพัฒนาวงดนตรี อาทิ วงมโหรี วงปี่พาทย์ วงดนตรีพื้นบ้าน เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ วงดุริยางค์ วงโยธวาทิต เพื่อรองรับงานพิธีและงานพระราชพิธี ซึ่งเป็นภารกิจของโรงเรียน พัฒนาวงซิมโฟนีออเคสตรา เพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศในการเล่นดนตรี และพัฒนาวงขับร้องประสานเสียง เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนดนตรีในลำดับสูงต่อไป

ผู้บริหารโรงเรียนและคณะศิษย์เก่า มีความเชื่อมั่นในกิจกรรมดนตรีและกีฬา มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงเรียนอย่างจริงจัง จากโรงเรียนที่ต้องยืมเครื่องดนตรีเพื่อใช้ในงานแสดง คณะศิษย์เก่าจึงได้ลงขันกัน เพื่อซื้อเครื่องดนตรีให้ใหม่ ทำห้องฝึกซ้อมดนตรี ห้องเรียนดนตรีใหม่ ใช้เงินลงทุนไปเบื้องต้นปีแรกจำนวนมาก (10 ล้านบาท) เพื่อดึงความเชื่อมั่นและความรุ่งเรืองของโรงเรียนให้กลับคืนมา

Advertisement

จุดแข็งของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ เป็นโรงเรียนประจำ
นักเรียนกินนอนอยู่ที่โรงเรียน เด็กไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง เด็กมีเวลามาก โรงเรียนมีระเบียบที่เคร่งครัด เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง เมื่อเพิ่มกิจกรรมและการเรียนดนตรี มีการเรียนรวมวง โดยใช้วิชาเข้าแถว เดินซอยเท้าแล้วเล่นดนตรี ซึ่งนักเรียนทำได้อย่างแคล่วคล่อง เป็นระเบียบ และสวยงาม นอกจากนี้ โรงเรียนมีคณะศิษย์เก่าที่เข้มแข็งมาก มีสมาคมผู้ปกครองที่เอาจริงเอาจัง มีครูดนตรีที่เก่ง นักเรียนเชื่อถือ ทำให้วงดนตรีของโรงเรียนก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว

ต้นปี พ.ศ.2562 วงโยธวาทิตเริ่มตั้งขบวนเดินแถวฝึกซ้อม โดยมีเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ดนตรีที่พร้อม มีห้องฝึกซ้อมดนตรีที่สมบูรณ์ มีครูดนตรีครบทุกเครื่องมือ เป้าหมายอยู่ที่การลงประกวดแข่งขันเพื่อทดสอบในสนามจริง โดยทำตามนโยบายของผู้อำนวยการและคณะศิษย์เก่าที่ได้มอบให้ว่า ภายใน 3 ปี โรงเรียนจะต้องมีชื่อและเป็นแชมป์ในประเทศให้ได้ จากนั้นค่อยขยายผลและเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ

คณะศิษย์เก่าของโรงเรียนนั้น ผ่านการเล่นวงดนตรีของโรงเรียนมาก่อน ฝังใจว่าโรงเรียนมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ทำไมในปัจจุบันไม่มีผลงาน จึงไม่มีคนรู้จัก ไม่มีชื่อวงดนตรีจากโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในสารบบการแข่งขันใดๆ เลย คณะศิษย์เก่าจึงได้รวบรวมพละกำลังจากทุกคน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาททั้งในภาคราชการและภาคธุรกิจเอกชน ร่วมกันทำงานให้แก่โรงเรียน อาศัยความเป็นเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้องจากนักเรียนประจำ เป้าหมายสำคัญคือ ต้องการกอบกู้และสร้างชื่อเสียงของโรงเรียนให้กลับคืนมา ทำให้พลังของคณะศิษย์เก่ามีพลังเพิ่มขึ้นมหาศาล ด้วยความเอาใจใส่ตั้งใจทำ การสละเวลาให้แก่โรงเรียนอย่างเหลือเชื่อ

โดยพื้นฐานของโรงเรียนแล้ว เคยมีชื่อเสียงโด่งดังด้านวงดนตรีมาก่อน มีชื่อเสียงฐานะทางสังคมที่ดี เด็กมีความพร้อมสูง ครอบครัวให้การสนับสนุน ผู้บริหารและคณะศิษย์เก่ามีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะดึงชื่อเสียงของโรงเรียนด้านดนตรีให้กลับคืนมา สรุป โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความพร้อมทุกอย่าง เหลือแต่ทิศทางและการลงมือทำ

สนามแรก วงโยธวาทิตโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นรายการเข้าประกวดครั้งแรก (Thailand World Music Championship, TWMC 2019) ที่สนามกีฬา จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคม พ.ศ.2562 ซึ่งได้รับ 2 รางวัลด้วยกัน ประเภทเดินสวนสนามบรรเลง (Street Parade Division 2) ได้ถ้วยพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้คะแนน 88.45 ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง พร้อมใบประกาศและเงินรางวัล โดยมีวงโยธวาทิตเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 13 วงจากทั่วโลก ส่วนรางวัลที่ 2 เป็นรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 ประเภทโอ้อวด (Wood Winds Battle-Open Class) ได้รับรางวัลเป็นที่ 2 พร้อมใบประกาศและเงินรางวัล ซึ่งมีผู้เข้าประกวดทั้งหมด 4 วง

การเตรียมตัวโดยการวางแผนทำงาน 2 ปี ลงมือทำงานจริงจัง 1 ปีเต็ม ในขณะที่วงโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความพร้อมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยหัวใจ สมอง สองมือ จิตวิญญาณ และเงิน พร้อมสมบูรณ์ดังได้กล่าวมาแล้ว ความสำเร็จจึงทำได้ไม่ยากนัก แม้ว่าวงของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะเป็นวงม้ามืดที่ไม่มีใครรู้จักเลย ไม่มีใครมีความคาดหวังมาก่อน

กลยุทธ์สุดหรูก็คือ การเดินซอยเท้าสวนสนาม ซึ่งนักเรียนของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น ทำอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ทำได้เหมือนกินขนม เมื่อเพิ่มเสียงดนตรี เพิ่มเสียงกลองแต๊กให้ลงจังหวะเท้า ใส่สนับแข้งสีขาวเพื่อให้ดูโดดเด่น แค่นี้ก็ชนะขาดลอยอยู่แล้ว เพราะคู่แข่งที่เป็นโรงเรียนอื่นๆ ไม่ได้อยู่ประจำ ไม่ได้ฝึกซ้อมเข้าแถวเดินซอยเท้าอย่างเอาเป็นเอาตาย และถือเป็นเรื่องยาก ผู้ชมเมื่อเห็นวงโยธวาทิตของโรงเรียนที่เดินซอยเท้าสุดหรู ก็ได้เทคะแนนให้ไปหมดเลย

ความจริงแล้ว การได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน ได้เงินรางวัล และได้ชื่อเสียง เป็นเพียงผลพลอยได้สำหรับโรงเรียน แต่สิ่งที่เด็กนักเรียนได้รับโดยตรงและอยู่ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต คือ ประสบการณ์ชีวิต ความภาคภูมิใจในตัวเด็กเอง ความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมวง ความผูกพันที่มีต่อโรงเรียน ความเคารพนับถือ และความศรัทธาที่มีต่อรุ่นพี่รุ่นน้องที่มีอยู่จิตวิญญาณ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต เพราะการมีเพื่อนเป็นเรื่องสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน อยู่ได้ยาก” ในโลกปัจจุบัน

การตอกย้ำว่า “ดนตรีเป็นวิชาของนักปราชญ์” จึงมีความสำคัญยิ่ง การสร้างและพัฒนาให้เด็กเป็นทั้งคนเก่งและคนดีอยู่ในคนเดียวกัน โดยใช้ดนตรีเป็นตัวเชื่อมสมานกายกับจิตที่แข็งแกร่งและเหนียวแน่น การที่พิสูจน์ว่า “คนเก่งมาจากการฝึก” จึงเป็นความจริงและเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะเมื่อพระราชประสงค์ในการจัดตั้งโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็เพื่อสร้างผู้นำในสังคมให้เป็นผู้ที่มีเสน่ห์และมีรสนิยม โดยใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์การศึกษา เพื่อที่จะสร้างจินตนาการ เพื่อพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ และสร้างวิสัยทัศน์ให้แก่เด็ก ซึ่งจะเป็นผู้นำในอนาคต

ดังนั้น ความสำเร็จของวงโยธวาทิตโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเป็นบทพิสูจน์ เป็นหลักฐานสำคัญ เป็นตัวอย่างของการจัดการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคนอย่างชัดเจน และเป็นความสำเร็จของทุกคน ทุกฝ่ายมีส่วนให้การสนับสนุน โดยการเอาใจใส่และการตั้งใจทำ ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ทุกคนทำด้วยใจ” เป็นหัวใจของการทำงาน (Unity of Teamwork)

ขงจื๊อบอกไว้ว่า “ดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน” ไม่มีเครื่องมือใดที่จะใช้สร้างความสามัคคีของปวงชนได้ดีเท่ากับใช้ดนตรี ดนตรีจะรวบรวมจิตใจคนให้เป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่สังคมไทยขาดความรัก ขาดความอบอุ่น สังคมเกิดความแตกแยกทางความคิด สังคมขาดจินตนาการใหม่ สังคมขาดความคิดสร้างสรรค์ และสังคมขาดวิสัยทัศน์ เพราะการศึกษาไทยในช่วงของผู้ใหญ่ที่มีบทบาทอยู่ในปัจจุบัน ได้รับการศึกษาที่ไม่มีเสน่ห์ ไม่มีรสนิยม และไม่มีวิสัยทัศน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image