คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : SCB 10X ภารกิจพิชิตดวงจันทร์

(ภาพ-CNSA)

หลังจาก 2 ปีก่อน “ธนาคารไทยพาณิชย์” (เอสซีบี) เล่นท่ายากประกาศใช้กลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา” (Going Upside Down) พร้อมเป้าหมายใหญ่มาก คือ การมุ่งไปสู่การเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุดในใจลูกค้า” (The Most Admired Bank) ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และข้อมูล ภายในปี 2020

ในแผน 3 ปี (2561-2563) รับมือดิจิทัลดิสรัปชั่นทั้งในระดับประเทศ และระดับอุตสาหกรรม “เอสซีบี” ตั้งเป้าว่าจะทำใน 5 เรื่อง คือ 1.Lean The Bank เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ 2.High Margin Lending ให้สินเชื่อในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง 3.Digital Acquisition การดำเนินธุรกิจในโลกดิจิทัล 4.Data Capabilities เพิ่มความสามารถในการใช้ข้อมูล และ 5.New Business Model มีธุรกิจรูปแบบใหม่

ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากการไหลบ่าเข้ามาของดิจิทัลแพลตฟอร์มระดับโลก และคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยังไม่ทันครบตามแผน 3 ปี

ต้นปี 2563 “เอสซีบี” ขยับอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวบริษัทใหม่ “เอสซีบี เท็นเอกซ์” (SCB 1OX) ขึ้นมาดูแลบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งหมด ได้แก่ ดิจิทัล เวนเจอร์ส, เอสซีบี อบาคัส และมันนิกซ์ (บริษัทร่วมทุนกับสตาร์ตอัพในจีน) รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีที่จะจัดตั้งขึ้นหรือลงทุนในอนาคต

Advertisement

หลังลองผิด ลองถูกอยู่พักใหญ่ จาก “กลับหัวตีลังกา” จึงนำไปสู่ภารกิจใหม่ ที่เรียกว่า “Moonshot Mission”

“ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด และผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ภารกิจ “Moonshot Mission” คือการคิดและทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นหรือมีมาก่อน เพื่อให้มองเห็นความต้องการของตลาดในอนาคต และนำพาองค์กรไปถึงจุดนั้นก่อนใคร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างขีดความสามารถใหม่ด้านเทคโนโลยีผ่านการลงทุนที่จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ใน 3 ธุรกิจหลัก

1.venture builder (VB) ลงทุนร่วมสร้างธุรกิจเทคสตาร์ตอัพใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมธนาคาร และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางธุรกิจของบริษัทในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด

Advertisement

“เราจะให้การสนับสนุนผู้ที่มีความคิดหรือผู้ประกอบการที่มองเห็นอนาคต ทั้งด้านการเงินเพื่อทดลองจนไปถึงจุดที่บริษัทสเกลและระดมทุนจากภายนอกได้ เพื่อให้เจ้าของไอเดียโฟกัสการสร้างธุรกิจได้เต็มที่ และถ้าสร้างไอเดียจนสำเร็จได้ก็จะมีโอกาสร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้ด้วย”

2.strategic investment and partnership คือ การร่วมลงทุนทางยุทธศาสตร์ และร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและสร้างคุณค่าให้ธุรกิจของธนาคาร

และ 3.venture capital (VC) การลงทุนในเทค คัมปะนี และสตาร์ตอัพทั่วโลก เน้นการลงทุนที่ช่วยให้บริษัทหรือสตาร์ตอัพเหล่านั้นเติบโตยิ่งขึ้น

“ดร.อารักษ์” ย้ำว่า SCB 1OX ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อแข่งขันในประเทศไทยเท่านั้น แต่หวังไปไกลถึงการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียนด้านการลงทุนร่วมสร้าง และการลงทุนดิจิทัลเทคโนโลยี ภายใน 5 ปีจากนี้

ว่ากันที่จริง คำว่า “กลับหัวตีลังกา” หมายถึงการทำอะไรที่สวนทางและตรงกันข้ามกับสิ่งที่แบงก์เคยทำมาตลอด ซึ่งก็ไม่ได้ต่างไปจาก “Moonshot Mission” เท่าใดนัก หากแต่ต่อไปสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำหรือไม่เคยมีมาก่อนจะไม่ได้อยู่ในแบงก์อีกต่อไป

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ซึ่งนั่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ด้วยอธิบายว่า องค์กรที่อยู่มานาน อาจไม่สามารถทำเรื่องการทดลองหรือดีลกับสิ่งที่อาจ “ไม่สำเร็จ” เพราะยิ่งทดลองเยอะ ลงทุนเยอะก็จะมีโอกาส “ไม่สำเร็จมาก” และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้ และกำไร ซึ่งบริษัทที่ก่อตั้งมานานจะมีผลประกอบการที่หลายฝ่ายคาดหวังชัดเจนว่าต้องเติบโตจึงมีแรงกดดันในการทดลองทำสิ่งใหม่ที่เป็น “อินโนเวชั่น” และยากมากที่จะยอมรับว่า อาจ “ล้มเหลว” ได้

เพื่อลดความเสี่ยงและทำให้ผู้ถือหุ้นสบายใจ “เอสซีบี เท็นเอ็กซ์” ซึ่งเป็นผลิตผลของการทรานฟอร์มองค์กรในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จากแผนก “10x” ภายในแบงก์ มาสู่การเป็น “โฮลดิ้ง คัมปะนี” จึงมารับภารกิจนั้นเสียเอง

“เราเรียนถูก เรียนผิด ล้มเหลวหลายเรื่อง เพราะเวลาองค์กรต้องทรานฟอร์มตัวเอง มีดิสรัปชั่นเกิดขึ้น จะได้เห็นความสำเร็จ ไม่สำเร็จมาถึงจุดที่ความตั้งใจที่จะสร้างความสามารถแบบใหม่ ก็คิดว่าที่ได้ลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และคนไปในช่วงที่ผ่านมา มีมากเพียงพอแล้วที่จะทำธุรกิจของธนาคารให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์อัพไซด์ดาวน์ (กลับหัวตีลังกา) ได้”

จากการทดลอง (Experiment) ไปสู่การสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (exponential) ในระยะเวลาอันสั้น ด้วยการใช้ศักยภาพที่ธนาคารมีอยู่ คือ ฐานลูกค้ากว่า 16 ล้านคน และฐานลูกค้าดิจิทัลกว่า 10 ล้านคน เข้าร่วมกับพันธมิตรหรือผู้ประกอบการที่มีไอเดียและความพร้อมในด้านที่ธนาคารไม่มี

“เฟซบุ๊ก, กูเกิล หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่บริษัทเหล่านี้มีเหมือนกัน คือ เป็นบริษัทเกิดใหม่ที่เริ่มต้นด้วยขนาดเล็ก มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม มีความสามารถรูปแบบใหม่ เขาจะเน้นขยายฐานลูกค้าทำให้มีรายได้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะขาดทุน บริษัทที่เกิดมานานอย่างเราจะเอาผลกำไรไปใส่ในบริษัทที่มีแต่รายได้ แต่ไม่มีกำไรได้ไหม คำตอบคือไม่ได้”

“เอสซีบี เท็นเอกซ์” เกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้ แต่การลงทุนในบริษัทต่างๆ จะมีขึ้นในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

สเต็ปต่อไปบริษัทเหล่านั้นจะต้องสามารถระดมทุนได้ด้วยตนเองด้วย

ซีอีโอแบงก์ไทยพาณิชย์ย้ำว่า “แบงก์ไม่ได้เป็นเจ้ามือหรือเจ้าบุญทุ่ม ธุรกิจใหม่หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ ไม่ได้แปลว่าต้องมีบริษัทเหมือนแบงก์เพื่อกลายเป็นแบงก์ใหม่ แต่จะเป็นอนาคต และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อที่สักวันหนึ่งจะกลายเป็นเครื่องยนต์แห่งการเติบโตรูปแบบใหม่ของธนาคารในอนาคต”

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image