ผืนผ้า มิตรภาพ วัฒนธรรม ‘กิโมโนเฟสติวัล’ เชื่อมสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทย

งานประกวดกิโมโนเฟสติวัล ครั้งที่ 46 จัดที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 133 ปีแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นและไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน

โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมนั้น ทั้งสองประเทศมีตัวแทนเชื่อมร้อยอย่าง ฮิโรโกะ มัตสึชิมา ประธานสถาบันนิฮอนวาโสกากุเอน (Nihonwasou Gakuen) หรือสถาบันที่อนุรักษ์และสอนการแต่งกายชุดประจำชาติญี่ปุ่น (กิโมโน) พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมานานเกือบ 50 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันนิฮอนวาโสกากุเอน ได้ร่วมกับ สมาคมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น (กิโมโน) จัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ทั้งในประเทศไทย และบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปจัดกันที่ดินแดนอาทิตย์อุทัย เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อเนื่อง

พุทธศักราช 2563 นี้เป็นฤกษ์ดีที่งานแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น จะเวียนกลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้งในชื่อ งานมิตรภาพวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น Kimono Festival Thailand 2020 & Muay Thai Art (กิโมโนและศิลปะมวยไทย) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ห้องบอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์

Advertisement

พล.ต.อ.ดร.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงาน เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้มี 2 ประเด็นสำคัญคือ หนึ่ง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสมาคมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น (กิโมโน) กับสถาบันนิฮอนวาโสกากุเอน ซึ่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมครั้งนี้มีทั้งวัฒนธรรมญี่ปุ่นและไทย และสอง ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สมาคมได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ 2 ประเทศได้รับ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การรื้อฟื้นวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณและวัฒนธรรมไทย เช่น การไหว้ครูมวยไทยโบราณ การแสดงการแต่งกายชุดภูษาพัสตราภรณ์ การแสดงวัฒนธรรมการแต่งกายกิโมโนของญี่ปุ่น รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์กีฬาโอลิมปิก 2020 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

“ที่ผ่านมาเรามักจะมองมวยไทยเป็นการต่อสู้ หรือกีฬาที่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ 2 สมาคมนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่ากีฬามวยไทยเป็นศิลปะ คือ Sport And Arts ทั้งนี้ ผลสุดท้ายของทุกๆ เรื่องล้วนเป็นผลดีกับทั้งคนไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ระบุว่า จากจํานวนโครงการต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนระหว่างเดือนมกราคม-กันยายนของ ปี 2562 ‘ญี่ปุ่น’ มีจํานวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด คือ 167 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 24 ของโครงการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด และมีเงินลงทุนสูงที่สุดเช่นกัน คือ มูลค่ารวม 59,187 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29 ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้นที่ยื่นขอรับการส่งเสริม สิ่งนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เดินทางเข้ามาในไทยได้เป็นอย่างดี”

งานแถลงข่าวจัดงาน เมื่อเดือนธันวาคม 2562

พล.ต.อ.ดร.วุฒิกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้รับประโยชน์ ด้วยญี่ปุ่นมองว่าไทยคือลูกค้าคนสำคัญที่ทั้งเดินทางไปท่องเที่ยว ซึ่งเมื่ออ้างอิงสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย เดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2562 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามามีกว่า 1.19 ล้านคน อีกทั้งคนไทยที่เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งร้านอาหาร สปา ล้วนแล้วแต่เป็นภาพลักษณ์ด้านวัฒนธรรม เช่น การนวดไทยโบราณ สังเกตได้ว่าร้านนวดไทยในญี่ปุ่นจะมีสัญลักษณ์หรือภาพของประเทศไทยทั้งสิ้น เช่น ภาพการแต่งร้าน ภาพผ้าไทย ภาพชุดไทย วัฒนธรรมไทย

Advertisement

“ทั้งหมดนี้ประเทศไทยมีแต่ได้กับได้ ไม่มีอะไรเสียหายเลย” พล.ต.อ.ดร.วุฒิย้ำ

สำหรับงานมิตรภาพวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น กิโมโนและศิลปะมวยไทยกลางเดือนนี้ คณะกรรมการสานสัมพันธ์มิตรภาพวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น เตรียมต้อนรับ “ฮิโรโกะ มัตสึชิมา” ทูตวัฒนธรรมสถาบันกิโมโนชื่อดังแห่งญี่ปุ่น “นิฮอนวาโสกากุเอน” ซึ่งจะนำคณาจารย์วัฒนธรรมกว่า 100 คน จากทุกเมืองของญี่ปุ่นมาประเทศไทย เชื่อมสัมพันธ์มิตรภาพ-วัฒนธรรม 2 ชาติ ด้วยการแสดงวัฒนธรรมการแต่งกายในราชสำนักและการแต่งกายกิโมโนในฤดูกาลต่างๆ และเทศกาลที่สำคัญ

รวมทั้งเชิญ “มิสกิโมโน 2019” ในงานกิโมโนเฟสติวัล ครั้งที่ 48 ปีล่าสุดมาร่วมงาน พร้อมรณรงค์เผยแพร่กีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นางแบบกิตติมศักดิ์ นักศึกษา และเยาวชนไทย รวมกว่า 30 คน แต่งกายชุดกิโมโนโชว์บนเวทีในงานอีกด้วย

ด้านการแสดงของประเทศไทยที่นำไปโชว์ในงานดังกล่าวมีทั้งการต่อสู้แบบศิลปะมวยไทยโบราณ ซึ่งเป็นการต่อสู้กันบนเวที ทั้งนักมวยไทยชายและมวยไทยหญิง, การแสดงการต่อสู้ด้วยกระบี่กระบอง, การแสดงวัฒนธรรม 4 ภาค, การแสดงการแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย-ผ้าไหมไทย, การแสดงชุดมิตรภาพวัฒนธรรม-กีฬา-ท่องเที่ยว

ไฮไลต์ที่ควรจับตามองคือการแสดงดนตรีไทยผสานแซกโซโฟน ในเพลงซูบารุ, สุกี้ยากี้, จันทร์ และรักคุณเข้าแล้ว ขับร้องโดย พล.ต.อ.ดร.วุฒิ ลิปตพัลลภ ประธานการจัดงาน, ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิรัชกิจ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ต๋อง-เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ศิลปินแซกโซโฟนมือ 1 ของไทยร่วมบรรเลง

นอกเหนือจากการแสดงมากมายแล้ว ในงานเดียวกันนี้ สมชาย พหุลรัตน์ เลขาธิการสมาคมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น (กิโมโน) ในฐานะประธานอำนวยการจัดงาน ได้เปิดเผยถึงกิจกรรมการประกวดการแต่งชุดกิโมโนฤดูร้อน หรือยูกาตะ โดยคุณสมบัติผู้เข้าแข่งขันเป็นนักเรียน หรือนักศึกษา อายุ 15-25 ปี ผู้ชนะจะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมประกาศนียบัตร และยกให้เป็น “มิสกิโมโนไทยแลนด์” ตลอดจนได้รับชุดยูกาตะที่สวมใส่กลับไปเป็นของขวัญพิเศษอีกด้วย

สมชายกล่าวส่งท้ายสั้นๆ ว่า งานนี้สร้างมิตรภาพถึง 3 บรรยากาศของประเทศไทย 1.ความสัมพันธ์ที่มีกันมายาวนานกว่า 133 ปี 2.เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดีที่สุด เพราะมีวัฒนธรรมเป็นตัวนำ และ 3.เป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านกีฬา ซึ่งปีนี้มีการจัดแข่งโอลิมปิก 2020

เหลือเวลาอีกไม่กี่วันแล้วที่การจัดงานซึ่งผสาน 3 วัฒนธรรมกำลังจะเกิดขึ้น หลังจากนี้คงต้องรอให้กำลังใจ พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้งานเช่นนี้ดำเนินไปอีกยาวนาน

ฮิโรโกะ มัตสึชิมา

‘เฟรนด์ ออฟ ไทยแลนด์’ คนแรก

ผู้สนใจวัฒนธรรมการแต่งกายชุดประจำชาติญี่ปุ่น หรือ “กิโมโน” น่าจะรู้จักผู้รับผิดชอบการจัดประกวดการแต่งกายชุดกิโมโนทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่าง ฮิโรโกะ มัตสึชิมา ประธานสถาบันนิฮอนวาโสกากุเอน (Nihonwasou Gakuen) หรือสถาบันที่อนุรักษ์และสอนการแต่งกายชุดกิโมโน เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าจาก สมชาย พหุลรัตน์ เลขาธิการสมาคมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น (กิโมโน) ในฐานะประธานอำนวยการจัดงานมิตรภาพวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น Kimono Festival Thailand 2020 & Muay Thai Art แล้ว เรื่องราวของ “มาดามฮิโรโกะ” ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

เลขาฯสมชายบอกว่า เธอสร้างครอบครัวกับคุณหมอมัตสึชิมา ซึ่งเป็นนายแพทย์ที่ทางการญี่ปุ่นส่งมาประจำประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากมีครอบครัวด้วยกันแล้ว หมอมัตสึชิมารู้สึกรักและผูกพันกับประเทศไทยมาก กระทั่งสั่งเสียไว้กับมาดามฮิโรโกะว่า หากตนเองเสียชีวิตไม่ต้องนำเถ้ากระดูกกลับมาตุภูมิ แต่ให้นำไปบรรจุไว้ที่วัดสุวรรณดารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมบอกให้มาดาม ในฐานะประธานสถาบันฯตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทยด้วยการพาคนญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทยเยอะๆ สร้างมิตรภาพ สานสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับคนไทยไว้มากๆ ซึ่งมามาดามฮิโรโกะได้ดำเนินตามคำขอของคุณหมอมานานหลายสิบปี รวมทั้งการให้ทุนนักศึกษาไทยไปเรียนตัดเย็บชุดกิโมโนที่ญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน

หญิงในชุดกิโมโนคือ “ฮิโรโกะ มัตสึชิมา” ถ่ายภาพร่วมกับคณะจัดงานมิตรภาพวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น


นอกจากนี้ สถาบันนิฮอนวาโสกากุเอนยังเคยนำคณาจารย์ของสถาบันมาแสดงการแต่งกาย “กิโมโน” ในประเทศไทยเนื่องในโอกาสสำคัญถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา และครั้งที่ 2 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

ด้วยความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยนานหลายสิบปี ทำให้ในเวลาต่อมา “ฮิโรโกะ มัตสึชิมา” ได้รับรางวัลเฟรนด์ ออฟ ไทยแลนด์ (Friends of Thailand) คนแรกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมี “ชวน หลีกภัย” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้มอบรางวัล

อีกทั้งเธอยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลไทย ตลอดจนได้รับเกียรติให้เป็นทูตวัฒนธรรมกิตติมศักดิ์ของญี่ปุ่น เป็นผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่ไปเผยแพร่แสดงกิโมโนมาแล้วทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา และงานเอ็กซ์โปเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีนมาแล้ว

โดยวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์นี้ คณาจารย์จากสถาบันนิฮอนวาโสกากุเอนมีกำหนดการเดินทางมาแสดงวัฒนธรรมในประเทศไทย

ซึ่งในช่วงบ่ายจรดเย็นย่ำของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะเป็นการจัดงานมิตรภาพวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น Kimono Festival Thailand 2020 & Muay Thai Art ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ อย่างเป็นทางการ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image