สุจิตต์ วงษ์เทศ : สุพรรณเมืองเพลงมีพลัง แต่ไม่มีบรรยากาศสร้างสรรค์

สุพรรณเมืองเพลงดนตรี มีพลังจากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต (จากซ้าย) 1.สมยศ ทัศนพันธ์ เชื้อสายลาวพวน บางปลาม้า 2. สุรพล สมบัติเจริญ เจ๊กปนลาว 3. ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ลาวเวียง บางปลาม้า (ข้อมูลได้จาก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต)

“สุพรรณเมืองเพลง” เป็นชื่อเรียกอย่างสั้นๆ ถ้าเรียกอย่างยาวก็ได้ว่า “สุพรรณเมืองเพลงดนตรี”

ซึ่งเป็นที่รู้กันมาแต่ไหนแต่ไร เสียแต่ไม่ถูกค้นหาความหมายแท้จริง แล้วไม่ถูกสร้างสรรค์บรรยากาศเพลงดนตรีเพื่อใช้งาน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ของปัจจุบันและอนาคต

สุพรรณชาวเพลง

คนสุพรรณกลุ่มหนึ่งทั้งหญิงและชายเข้าไปในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

“ร้องเพลงเก็บดอกไม้ร้อย และเพลงไก่ป่าต่างๆ” เป็นข้อความในพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงคนสุพรรณที่เป็นเครือญาติและข้าหลวงเดิมจากบ้านพลูหลวง พร้อมสิ่งของเครื่องทูลเกล้าถวายพระเพทราชาที่ได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ความสามารถที่มากประสบการณ์การเล่นเพลงของหญิงชายชาวเมืองสุพรรณ น่าจะเป็นที่รับรู้ทั่วไปสืบเนื่องตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วเป็นที่รับรองต้องกันในกลุ่มคนชั้นนำสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึง “จงใจ” แทรกข้อความการละเล่นเพลงต่างๆ ของคนสุพรรณไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินพระเพทราชา

พลังเพลงจาก “เหน่อลาว”

Advertisement

เพลงที่คนสุพรรณสมัยโบราณชำนาญเล่นกันทั่วไป แล้วมีผู้นิยมดูเป็นมหรสพในชีวิตประจำวัน เรียกกันสมัยหลังๆ ว่า “เพลงโต้ตอบแก้กัน” ของหญิงชาย แต่เรียกง่ายๆ ว่า “เพลงโต้ตอบ”

เพลงเก็บดอกไม้ร้อย, เพลงไก่ป่า (ที่เอ่ยในพงศาวดาร) เป็นเพลงโต้ตอบในตระกูลเพลงฉ่อย-ปรบไก่ ซึ่งมีฉันทลักษณ์กลอนหัวเดียวเหมือนกลอนเพลงทั้งหลายที่ยังสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

เพลงโต้ตอบมีมาก แล้วพบทั่วไปในบ้านเมืองท้องถิ่นฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา (หลักฐานเรื่องนี้มีในหนังสือเล่มสำคัญ เพลงนอกศตวรรษ ของ เอนก นาวิกมูล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2521) มีเหตุจากพื้นที่แถบนี้เป็นหลักแหล่งดั้งเดิมของ “สยาม” เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ซึ่งเป็นต้นตอของภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยสืบเนื่องจนทุกวันนี้

สยามเป็นชื่อดินแดน (ไม่ใช่ชื่อคนหรือเผ่าพันธุ์) จีนเรียกว่า เสียน หรือ เสียม หมายถึงดินแดนฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา มีศูนย์กลางอำนาจสำคัญอยู่รัฐสุพรรณภูมิ (ต่อมาเรียกเมืองสุพรรณบุรี) ถึงรัฐเพชรบุรี คนในดินแดนสยามเป็นชาวสยามโดยไม่จำกัดเผ่าพันธุ์ แต่สื่อสารเข้าใจกันด้วยภาษากลางทางการค้า คือภาษาไต-ไท (ต้นตอภาษาไทย) มีประเพณีขับลำแบบลุ่มน้ำโขง (ปัจจุบันเรียกเหน่อ ซึ่งเป็นต้นตอสำเนียงเจรจาโขนสืบเนื่องจนปัจจุบัน) มีประเพณีเล่นเพลงขับลำเรื่องขุนแผน (ต้นตอขับเสภาสมัยรัตนโกสินทร์เรื่องขุนช้างขุนแผน)

หลัง พ.ศ.2370 กวาดต้อนคนลาวไปอยู่สุพรรณ จากหลวงพระบาง, เวียงจัน, และสองฝั่งโขง ลงไปตั้งหลักแหล่งภาคกลาง โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน เมืองสุพรรณบุรี เป็นต้นตอ สำเนียงเหน่อลาว พบหลักฐานในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เมื่อนั่งเรือถึงเมืองสุพรรณ บอกว่าสองฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนของพวกลาวสำเนียงเหน่อ ว่า “ลาวอยู่รู้เสียงสนอง เหน่อช้า”

“เหน่อสุพรรณ” เป็นสำเนียงที่มี “ดีเอ็นเอ” ลุ่มน้ำโขง ผลักดันคนเพลงสุพรรณ (และกลุ่มฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา) จำนวนไม่น้อย “แก้วเสียง” มีพลังสร้างสรรค์ เป็นนักร้องลูกทุ่งโดดเด่นพิเศษ (เรื่องนี้มีพยานนับไม่ถ้วนอยู่ในคลังข้อมูลของเจนภพ จบกระบวนวรรณ)

ทบทวนแนวทาง

“เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดสุพรรณบุรี ผ่านกิจกรรมดนตรี” เพื่อมุ่งเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีของยูเนสโก มีแนวคิดแล้วผลักดันร่วมกับชุมชนโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

แต่สาระสำคัญของ สุพรรณเมืองเพลงดนตรีมีคุณค่าในตัวเอง โดยไม่ต้องพะยี่ห้อยูเนสโก

บรรยากาศเพลงดนตรีที่สุพรรณสืบเนื่องรากเหง้ายังมีในวิถีปกติ เพียงไม่อยู่บนเวทีห้องประชุมของราชการ แต่อยู่ในชุมชนหมู่บ้าน ได้แก่ งานบวช, งานวัด, งานวันเกิด จนถึงงานศพ

ดนตรีกับเพลงเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น “เมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรี” ในเนื้อแท้คือ “เมืองสร้างสรรค์แห่งเพลงดนตรี” จึงควรให้ความสำคัญกิจกรรมแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้รากเหง้าของเพลงโต้ตอบที่เกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาษาไทย ควบคู่ไปกับเรื่องราวของเพลงดนตรีทั้งแบบประเพณีและแบบป๊อปซึ่งล้วนมีกว้างใหญ่ไพศาล เป็นพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แนวคิดเมืองสร้างสรรค์ของ อพท. ควรแก่การสนับสนุน แต่ต้องทบทวนแนวทางกิจกรรมเกี่ยวกับเพลงดนตรี ไม่ควรเหมือน “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” แล้วทำเจ้าขุนมูลนาย “ขี่ช้างจับตั๊กแตน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image