หนอนอ่านนัว : ‘สุจิตต์’ ค้นตู้หนังสือ กวักมือย้อนอ่าน ‘โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง’

ร้อนแรงในโลกออนไลน์แข่งกับไวรัสโคโรนา เมื่ออยู่ดีๆ ก็มีผู้กล่าวหาว่า ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ฉบับออนไลน์ เข้าข่ายสื่อ ‘ขี้ลอก’ เหมารวมค่าย ‘มติชน’ เพราะไปก๊อบปี้งานของตนจากเพจ ‘สยามสุวรรณภูมิ’ ที่มีผู้ติดตามล้นหลามตั้งเฉียด 400 คน สุดท้าย ศิลปวัฒนธรรมเปิดหลักฐานรัดกุมออกชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าไม่เคยลอกใคร

งานนี้ คอลัมนิสต์ดังที่ออกตัวว่ายัง ‘ออฟไลน์’ อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งและอดีตบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ไม่เพียงออกมา ‘ขำก๊าก’ จนพุงกระเพื่อม เพราะประเด็น โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง ที่กลายเป็นมาม่าชามใหญ่ในถ้วยสังคโลกนั้น

‘เขาเขียนกันมาตั้งนานแล้ว’ สุจิตต์เล่า พร้อมค้นตู้หนังสือ ชวนให้สังคมไทยร่วมกันย้อนอ่าน ‘BLACK DEATH โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง’ ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2553 โดยเป็นสูจิบัตรประกอบงานเสวนาชื่อเดียวกัน ซ้ำยังจัดยิ่งใหญ่ ไม่ใช่งานแนวเวียนกันอ่าน วานกันดู เกณฑ์กันอวย

Advertisement

เจ้าภาพ ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ โครงการสนทนาวันศุกร์ ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงมติชน และข่าวสด

บรรณาธิการเล่ม ชื่อว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ

เนื้อหาด้านใน รับรองว่า หนอนทุกตัว อ่านแล้ว ‘นัว’ แน่นอน เพราะประกอบด้วยบทความอันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นโรคห่า กาฬโรค ในหลากหลายแง่มุม อาทิ BLACK DEATH โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ ได้ราชอาณาจักรสยาม, รัฐกับการค้าโลก ความเปลี่ยนแปลงเมื่อกาฬโรคระบาด, กีโฌม เดอ มาโชต์ ศิลปินผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคกลาง, ความรุ่งเรืองของภาษาอังกฤษ ความเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตความตายสีดำ แม้กระทั่ง บทลิเกเสภา เรื่อง ท้าวอู่ทอง ปราบนาคมังกรระบาด ก็ยังมี!

Advertisement

ล่าสุด มือโพสต์กล่าวหาออกมา ‘ขอโทษ’ พร้อมยอมรับว่า ใจร้อน และ ‘อคติ’

มาถึงจุดนี้ งานขายต้องมา สุจิตต์ แนะอ่าน ‘ขวัญเอย ขวัญมาจากไหน’ โดย สำนักพิมพ์ ITUIBOOKS

เจ้าตัว ‘อินจัด’ เพราะค้นคว้ามานานในประเด็นเรื่องขวัญ อันเป็นนามธรรมที่ ‘ไม่ง่าย’ ในการนิยาม แต่เพิ่งอธิบายอย่างจัดเต็มไปในรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ครั้งเยือน ‘ล้ง 1919’

“คนจีนโบราณไม่มีความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอย่างพุทธศาสนา แต่เชื่อว่าเมื่อคนตายแล้วขวัญยังคงอยู่ มีสถานะเป็นเทพประจำวงศ์ตระกูล ขวัญมี 2 ภาคอยู่ร่วมกัน ได้แก่ 1.หุน เสียงจีนโบราณว่า กูน, กวัน เป็นคำร่วมรากกับไทยว่าขวัญ และเป็นฝ่ายหยาง หรือฝ่ายจิต ทำให้คนมีความนึกคิดและอารมณ์ 2.พ่อ หรือ ภูต เป็นฝ่ายยิน หรือฝ่ายกาย ทำให้คนเคลื่อนไหว มีกิจกรรมทางกาย แต่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด

เมื่อเจ็บป่วยหรือตกใจ ขวัญทั้ง 2 ภาค อาจออกจากร่างชั่วคราว พอคนตายขวัญทั้ง 2 ภาค จะออกจากร่างอย่างถาวร ฝ่ายหุนหรือขวัญจำญาติมิตรได้ แต่พ่อหรือภูตถ้าไม่มีหุนหรือขวัญอยู่ด้วยจะกลายเป็นผีดิบ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี” สุจิตต์อธิบาย

พูดง่ายๆ ว่า อ่าน 2 เล่มนี้แล้วความรู้เพิ่มแน่นอน ส่วนโรคระบาดใหม่ที่เกิดจาก ‘อคติ’ ในใจ ไม่ชัวร์ว่าอ่านเล่มไหนแล้วอาการจะทุเลา

ดุสิตา รชตวิมาน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image