คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : 5G หัวเชื้อปลุกลงทุน

ยิ้มร่าสบายอกสบายใจอย่างยิ่ง สำหรับ “กสทช.” เมื่อ 5 ค่าย ไล่มาตั้งแต่ “ทรู-ดีแทค-แคท-ทีโอที-เอดับบลิวซี ในเครือเอไอเอส” เข้ามายื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าประมูลคลื่น 5G เรียบร้อย ครบทุกเจ้าเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากที่เคยหวั่นๆ ว่า “ดีแทค” อาจถอยเมื่อ “ซีอีโอหญิง” ขวัญใจ กสทช.เจ้าของวลี “เราสัญญาว่าจะไม่หยุด” มีเหตุให้พ้นตำแหน่งไปแบบสายฟ้าแลบ

ระทึกกันอยู่พักใหญ่ แม่ทัพคนใหม่ของดีแทค “ชารัด เมห์โรทรา” ก็นำทีมมายื่นเอกสาร เป็นการยืนยันด้วยตนเองว่า “ดีแทคจะไม่หยุดลงทุนพัฒนาเครือข่ายและการบริการ” อย่างที่ร่ำลือกัน ซึ่งคงไม่มีอะไรการันตีคำสัญญาได้ดีเท่ากับการตัดสินใจเกาะขบวนร่วมประมูลคลื่น 5G รอบนี้

อันที่จริง ไม่เฉพาะ “ดีแทค” ค่ายอื่นๆ ก็ไม่อยากลงทุนในเวลานี้ เรื่องที่ยังไม่มียูสเคสชัดเจน และราคามือถือยังแพงมาก ก็ว่ากันไป แต่ทุกรายเพิ่งใช้เงินมหาศาลไปกับการลงทุน 4G ยังไม่ทันเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้แต่บริษัทที่ฐานะการเงินแข็งแกร่งก็ยังไม่อยากควักกระเป๋าเร็วนัก

Advertisement

ที่ต้องเข้าประมูลโดยพร้อมเพรียง ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่รู้ดีว่าถ้าตกขบวนรถไฟ 5G รอบนี้จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์และการบริการอย่างแน่นอน

ที่แน่ๆ ทีมการตลาดจะต้อง “ฝันร้าย” และเปิดช่องโหว่ให้คู่แข่งแย่งชิงลูกค้าไปได้โดยง่าย เพราะผู้บริโภครับรู้ถึงสรรพคุณของ 5G ไปแล้วไม่ใช่น้อย จากการตีปี๊บของรัฐบาล โดย “กสทช.”

มี 5G แล้วจะใช้ไม่ใช้แค่ไหนเป็นคนละเรื่องกัน สำหรับลูกค้า ขอให้มีไว้ก่อนเป็นพอ

Advertisement

เมื่อมากันครบทุกเจ้า “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะโต้โผจัดประมูลคลื่น 5G จึงขยับตัวเลขประมาณการ “รายได้” ในทันที

จาก 50,000 กว่าล้านบาท เป็น 70,000 กว่าล้านบาท เมื่อเห็นแล้วว่าทั้ง 5 รายยื่นขอประมูลในจำนวนใบอนุญาตที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

“คลื่น 700 MHz มี 3 ไลเซนส์ และ 2600 MHz มี 19 ไลเซนส์ น่าจะขายหมด ส่วนคลื่น 26 GHz ที่มี 27 ไลเซนส์ เดิมประเมินว่าน่าจะขายได้สัก 4-5 ใบอนุญาต แต่ ณ เวลานี้ เชื่อว่าจะขายได้มากกว่านั้น เบ็ดเสร็จแล้วน่าจะมากกว่า 30 ใบอนุญาต จากที่มีทั้งหมด 56 ใบอนุญาต”

“ฐากร” อธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการถัดจากนี้ด้วยว่า จะเป็นการตรวจเอกสารคำขอรับใบอนุญาต โดยจะยังไม่มีการเปิดเผยว่าบริษัทใดจะเข้าประมูลในย่านคลื่นใดบ้าง

“ต้องรอจนกว่าที่ประชุมบอร์ด กสทช.จะพิจารณาเห็นชอบให้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลได้ ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ และในวันที่ 10 ก.พ. และ 14 ก.พ.นี้ จะมีการเปิดการประมูลรอบสาธิต หรือ Mock auction” เลขาธิการ “กสทช.” ย้ำว่า กสทช.จะพยายามทำให้บริการ 5G เกิดขึ้นโดยด้วยการทำให้กระบวนการในการให้ใบอนุญาตใช้คลื่น รวมถึงการให้ใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ เสร็จเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถเปิด 5G ได้ ภายในเดือน ก.ค.นี้

เรียกว่าเร่งกันเต็มสตรีมทุกขั้นตอน

สำนักงาน กสทช.ประเมินว่า เมื่อค่ายมือถือกดปุ่มสตาร์ตเร่งเปิด 5G กันแล้ว จะทำให้มีการลงทุนเกิดขึ้นในปีนี้เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1.3 แสนล้านบาท และอีกราว 2 แสนล้านบาท ในปีถัดไป

เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่นอาจมีปัญหา แต่กับ 5G สตาร์ตติดแน่ การันตีโดย “กสทช.”

ในการประมูลคลื่น 5G รอบนี้จะมีด้วยกัน 4 ย่านความถี่ คือ 700 MHz, 1800 MHz, 2600MHz และ 26 GHz

ว่ากันว่า แถบคลื่นที่น่าจะไม่มีใครสนใจ คือ 1800 MHz เนื่องจาก “ราคาเริ่มต้น” ตั้งไว้สูงถึง 12,486 ล้านบาทต่อชุด ซึ่ง “กสทช.” เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว โดยจะนำกลับไปทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นใหม่เพื่อกำหนดราคาประมูลใหม่

ส่วนความถี่ย่าน 26 GHz หากมีเหลือก็จะนำมาประมูลพร้อมกับคลื่น 3400 MHz ในรอบถัดไป

ช่วงคลื่นที่น่าจะแข่ง “ราคา” กันดุเดือดที่สุด คือ คลื่น 2600 MHz เพราะในหลายประเทศนำแถบคลื่นช่วงนี้ไปพัฒนาบริการ 5G แล้ว ขณะที่จำนวนคลื่นที่ “กสทช.” นำออกมาประมูล มีอยู่เพียง 190 MHz ไม่เพียงพอสำหรับทุกราย

“แต่ละรายต้องใช้คลื่นอย่างน้อย 60 MHz จึงจะให้บริการ 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ตามเงื่อนไขการประมูลกำหนดให้แต่ละรายประมูลคลื่นย่านนี้ได้สูงสุด 10 ชุด หรือ 100 MHz”

หมายความว่า หากรายหนึ่งรายใดตัดสินใจเคาะราคาชิงคลื่น 2600 MHz ให้ได้เต็มเพดาน ที่ 100 MHz ก็จะเหลืออีกแค่ 90 MHz สำหรับแบ่งกันกี่รายก็ว่ากันไป

ศึกชิงคลื่น 2600 MHz จึงดุเดือดแน่อย่างไม่ต้องสงสัย

ลำพังแค่ 3 ค่ายมือถือ “เอไอเอส-ทรูมูฟเอช และดีแทค” ไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว ถ้ามี “ทีโอทีและแคท” ร่วมผสมโรงด้วยก็คงยิ่งร้อนฉ่าไปกันใหญ่ แม้จะเป็นการเข้าร่วมประมูลตามนโยบายรัฐบาล โดยการกำกับของกระทรวงดีอีเอสก็ตาม

พลันที่ทุกเจ้าตัดสินใจลงสนามสู้ศึกชิงคลื่น 5G แน่แล้ว เชื่อว่าระหว่างนี้ไม่ใครก็ใครคงต้องซุ่มเตรียมความพร้อมกันทุกๆ ด้าน เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในการเปิดให้บริการก่อนใคร

มวยคู่เอก หนีไม่พ้น “เอไอเอส และทรูมูฟเอช” จากที่ผ่านมาขับเคี่ยวกันมาตลอด ตั้งแต่การทดลองทดสอบเทคโนโลยีกับพันธมิตรในแวดวงต่างๆ รวมไปถึงการทุ่มทุนจัดโชว์เคสเพื่อประกาศความพร้อมในการพัฒนาบริการ

บนเกมการแข่งขันก็ว่ากันไป แต่การปักธงเป็นผู้นำอาเซียนในการเปิด 5G ก่อนใครจะทำให้ “ไทย” ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น หรือพลิกประสิทธิภาพสร้างประสิทธิผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องดูกันไปยาวๆ

ที่ได้ไปก่อนเลย คือ บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งหลาย เพราะไม่ว่าจะในยุคกี่ G “ไทย” ไม่เคยเป็นประเทศผู้ผลิตอุปกรณ์หรือเจ้าของเทคโนโลยีใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image