วินาทีอันยาวนาน “ร.ต.ธรรมปพน ปรีชารณเสฏฐ์” ปฏิบัติการยื้อมัจจุราช

ทุกวันนี้ทหารเรือมิได้มีเพียงหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและรักษาความมั่นคงทางทะเลอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเท่านั้น หากแต่การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประมงมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นแกนหลักในการหลอมรวมหลายหน่วยงานในการเป็นพี่เลี้ยงประคับประคองผู้ประกอบการประมงทุกประเภทให้มีการดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการทำประมงอย่างถูกวิธี ตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก อันจะทำให้เราไม่ถูกกีดกันทางการค้า ทั้งหมดที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของทหารเรือ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การนำพาประมงไทยผ่านการตรวจประเมินของสหภาพยุโรป (อียู) ไปให้ได้

ต้นปีที่ผ่านมาหลังจากผ่านพ้นวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ ขณะที่ทุกคนเตรียมกลับเข้าทำงานด้วยความสดชื่น ห่างออกไปกลางทะเลอันดามัน บริเวณน่านน้ำในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกห่างจากแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต ระยะทางราว 9 ไมล์ทะเล เวลา 07.50 น. ของวันที่ 4 มกราคม เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เมื่อ สุเมธ บัวบูชา นักวิชาการชำนาญการ สำนักปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปปฏิบัติราชการร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยเรือหลวงปัตตานี ที่ได้ทำการตรวจเรือประมงทรัพย์เพิ่มนาวี 2 และเรือประมงชัยนาวี 17

ขณะที่สุเมธได้ก้าวข้ามจากเรือประมงทรัพย์เพิ่มนาวี 2 ไปยังเรือประมงชัยนาวี 17 ที่จอดเทียบกันกลางทะเล เป็นช่วงที่คลื่นลมแรง ทำให้เรือมีอาการโคลงจนเป็นเหตุให้นายสุเมธเสียหลักล้มศีรษะกระแทกกราบเรืออย่างแรงจนหมดสติ พลัดตกลงน้ำทะเลระหว่างช่องว่างของเรือประมงทั้งสองลำ

ร.ต.ธรรมปพน ปรีชารณเสฏฐ์ ซึ่งยืนอยู่ใกล้เหตุการณ์ได้กระโดดลงไปช่วยเหลือในทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นของเรือหลวงปัตตานีกับลูกเรือประมงในบริเวณที่เกิดเหตุได้เข้าช่วยเหลือขึ้นจากน้ำทะเลในเวลาต่อมา และนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จนกระทั่งปลอดภัย

Advertisement

เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นวีรกรรม เป็นที่กล่าวขานกันถึงความหาญกล้า ตัดสินใจได้อย่างฉับไว ของ ร.ต.ธรรมปพน ปรีชารณเสฏฐ์ แห่งเรือหลวงปัตตานี ที่ได้เสี่ยงอันตรายกระโจนลงสู่ท้องทะเลเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงสิ่งใดแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง

หลังห้วงเวลาแห่งความเป็นความตายผ่านพ้นพร้อมกับชีวิตของสุเมธ บัวบูชา นักวิชาการชำนาญการ สำนักปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งพลัดตกจากเรือสู่ทะเลขณะปฏิบัติงาน ยังคงอยู่เป็นหลักชัยให้แก่ครอบครัว ชีวิตของ ธรรมปพน หรือ “พาย” อดีตนักเรียนนายเรือจากรั้วสามสมอ ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ

ทั้งที่เส้นทางการรับราชการของนายทหารเรือหนุ่มเพิ่งเริ่มต้นได้เพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น

Advertisement

อยากให้ลำดับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวได้ทราบรายละเอียดอีกครั้ง?

วันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา เรือหลวงปัตตานีได้นำคณะสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคงในทะเล หลายหน่วยออกปฏิบัติงานร่วมกัน โดยมีพี่สุเมธ นักวิชาการจากสำนักปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินทางไปด้วย

จนกระทั่งเวลาประมาณเจ็ดโมงครึ่ง ขณะที่เรือหลวงปัตตานีอยู่ห่างจากแหลมพรหมเทพประมาณ 9 ไมล์ เราพบเรือประมง 2 ลำ จึงส่งสัญญาณให้เข้ามาเทียบทางกราบซ้าย จากนั้นก็เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนปกติคือการตรวจสอบบุคคลและเอกสาร ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โดยย้ายลูกเรือประมงทั้งหมดขึ้นมาบนดาดฟ้าของเรือหลวงปัตตานี

อุบัติเหตุที่ทำให้มีคนพลัดตกจากเรือเกิดขึ้นได้อย่างไร?

จังหวะที่พี่สุเมธก้าวข้ามจากเรือประมงลำที่สองไปยังเรือประมงลำที่สาม โดยเอื้อมมือไปโหนตัวกับท่อนเหล็กที่ยื่นออกมาจากเรือ ด้วยความที่พี่สุเมธตัวใหญ่และท่อนเหล็กดังกล่าวเกี่ยวไว้กับกราบเรือแบบไม่แข็งแรง ท่อนเหล็กที่ขึงผ้าใบทำเป็นห้องส้วมจึงหลุดจากตำแหน่ง ทำให้พี่สุเมธเสียหลักร่วงลงไปโดยปลายคางกระแทกกับกราบเรือประมง ก่อนจะหล่นลงน้ำ

วินาทีนั้นคุณยืนอยู่ตรงไหน ทำหน้าที่อะไร?

ผมอยู่บนเรือประมงลำที่สอง (ลำกลาง) ที่พี่สุเมธเพิ่งเสร็จภารกิจ หน้าที่ของผมคือการเก็บภาพการทำงานด้วยกล้องดิจิตอล เมื่อได้ยินเสียงคนกระแทกกับของแข็ง ผมจึงหันไปด้วยสัญชาตญาณแล้วก็เห็นร่างของพี่สุเมธร่วงลงน้ำแล้วคว่ำหน้าแน่นิ่ง มือกางเท้ากางในลักษณะที่บอกให้รู้ว่าสลบไปแล้ว เหมือนนักมวยถูกน็อกและมีเลือดไหลออกมาจากใบหน้า

ผมเคยรู้มาก่อนว่าถ้าคนเราขาดออกซิเจนเกินกว่า 3 นาที สมองจะเริ่มถูกทำลายและถ้าคนเราสำลักน้ำจนน้ำท่วมปอด คนคนนั้นก็จะไม่รอด ซึ่งสภาพของพี่สุเมธตอนนั้นกำลังจะเข้าสู่สภาวะนี้ ผมจึงตัดสินใจกระโดดลงน้ำ ทั้งที่อยู่ในชุดฝึกสวมรองเท้าคอมแบตบูต การที่ตัดสินใจแบบนั้นเพราะผมสำนึกได้ว่าคนที่เห็นอยู่ตรงหน้ากำลังจะตายและต้องตายแน่ถ้าผมนิ่งเฉยโดยไม่เข้าไปช่วย

สิ่งแรกที่ทำตอนอยู่ในทะเลคืออะไร?

ผมจับร่างของพี่สุเมธให้หงายขึ้น ใช้แขนซ้ายช้อนที่ต้นคอ แขนขวาก็ว่ายน้ำประคองตัวไม่ให้จม พร้อมกับร้องตะโกนสุดเสียงให้คนรู้ เพราะในตอนนั้นแทบจะทุกคนไปอยู่บนเรือหลวงปัตตานี ซึ่งมีความยาว 97 เมตร ขณะที่เรือประมงมีขนาด 200 ตันกรอส ความยาว 50 เมตร

เป็นโชคดีของผมที่พี่สุเมธสลบไปแล้ว ผมจึงไม่ถูกดึงให้จมน้ำ เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่ตกน้ำมักจะตะเกียกตะกายดิ้นรนคว้าคนที่เข้าไปช่วย จนเป็นเหตุให้จมไปด้วยกันทั้งคู่ แต่เมื่อพี่สุเมธไม่ไหวติง ผมจึงไม่เจอกับสภาพนั้น

อย่างไรก็ตาม สภาพคลื่นและช่องว่างระหว่างเรือสองลำที่ห่างกันไม่มาก ทำให้ผมกับพี่สุเมธมีโอกาสที่จะถูกกระแทกเมื่อเรือสองลำโยนตัวเข้าหากันตามจังหวะคลื่น ผมจึงตัดสินใจว่ายน้ำออกไปยังจุดที่มีช่องว่างระหว่างเรือมากที่สุดเพื่อลดอันตรายดังกล่าว จากนั้นคนอื่นๆ ที่อยู่บนเรือจึงวิ่งเข้ามาช่วยด้วยการโยนชูชีพโยนเชือกลงมาให้เกาะ ทุกคนตกใจเมื่อเห็นสภาพของผมกับพี่สุเมธ เพราะตอนแรกที่ได้ยินผมตะโกนขอความช่วยเหลือ คนบนเรือคิดว่าเป็นการตกน้ำธรรมดา ไม่ได้สลบหมดสติอย่างที่เกิดกับพี่สุเมธ

ได้ยินมาว่า พอขึ้นเรือได้แล้ว คนที่กระโดดไปช่วยก็แย่เหมือนกัน?

ครับ… (หัวเราะ) ผมจะเป็นลม มือสั่น ซึ่งคงเป็นเพราะตื่นเต้นสุดขีด ตกใจที่เห็นคนกำลังจะจมน้ำตายต่อหน้าต่อตา แต่ก็รอดมาได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ทำให้ผมหมดแรง แทบจะนอนแผ่บนดาดฟ้าจนเจ้าหน้าที่พยาบาลต้องเอาแอมโมเนียมาให้ดม แต่อาการของผมยังไม่หนักหนาสาหัสเท่าพี่สุเมธ ซึ่งมีน้ำเข้าปอด ต้องใช้ยาขับน้ำและเมื่อฟื้นคืนสติขึ้นมาก็ยังอยู่ในอาการเบลอ

ผู้บังคับบัญชาว่าอย่างไรบ้างที่ได้ทำหน้าที่เสมือน “ฮีโร่” ของทหารเรือ?

ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมงานวันวีรชนกองทัพเรือที่โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 17 มกราคม ผู้บัญชาการ (พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.) มอบพระและเงินรางวัลให้ผม พร้อมกับกล่าวชมเชยและขอให้ผมรักษาความดีนี้ไว้เป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนนายเรือรุ่นน้องๆ ต่อไป

ร้อยตรีธรรมปพน


หลังเหตุการณ์วันนั้นชีวิตเปลี่ยนไป?

ครับ… (ยิ้มพร้อมกับสีหน้ามีความสุข) ผมมีพ่อแม่เพิ่มขึ้นอีก 2 ท่าน เพราะทางบ้านของพี่สุเมธขอรับผมเป็นลูกชายด้วยอีกคน ครอบครัวพี่สุเมธ รวมทั้งตัวพี่สุเมธขอบคุณผมอย่างมากที่กระโดดลงไปช่วยจนรอดมาได้

ส่วนหน้าที่การงานของผมยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรุ่งนี้ผมต้องกลับไปลงเรือหลวงปัตตานี เพื่อเดินทางไปประเทศศรีลังกา ผมคงจะปฏิบัติหน้าที่สมทบบนเรือหลวงปัตตานีในตำแหน่งนายทหารพลาธิการจนครบกำหนด จากนั้นถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็คงจะกลับสังกัดเดิม คือ เป็นต้นหนเรือหลวงสู้ไพรินทร์ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ


คิดว่าได้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้?

(นิ่งไปชั่วครู่) ได้เรียนรู้ว่าการตัดสินใจที่ฉับไวปราศจากความลังเล มีผลอย่างมากในเสี้ยววินาทีสำคัญ และสิ่งที่ได้พิสูจน์ด้วยตนเองอย่างแน่ชัดก็คือ การฝึกฝนปลูกฝังความเป็นทหารอย่างครบถ้วนสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความมั่นใจนำไปสู่ความกล้า ไม่พรั่นพรึงต่ออันตรายขณะปฏิบัติหน้าที่ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญจำเป็นสำหรับคนที่เป็นนายทหาร

อยากจะบอกอะไรกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะนักเรียนนายเรือรุ่นน้องๆ ในฐานะที่กลายเป็นต้นแบบไปแล้ว?

การช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นการทำความดีที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่ง สามารถกระทำได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ และไม่จำเป็นว่าคนที่เราช่วยจะต้องรู้จักกันมาก่อน ถ้าทุกคนยึดมั่นในสิ่งนี้และคิดถึงผู้อื่นก่อนตนเองจนเป็นนิสัย สังคมของเราก็คงจะปลอดภัยและเปี่ยมไปด้วยความสุข

และสำหรับนักเรียนนายเรือรุ่นน้องๆ ผมอยากจะบอกว่าบางครั้งความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากที่ต้องเผชิญอาจทำให้รู้สึกท้อแท้

แต่เมื่อข้ามผ่านมันไปได้และก้าวไปถึงปลายทางได้เป็นนายทหารเรือแห่งราชนาวี เราจะมีความสุขและมีความสุขมากยิ่งขึ้น เมื่อพบว่าความสำเร็จที่เราได้รับไม่ใช่เพื่อตนเองเพียงลำพังแต่ยังเพื่อคนอื่นๆ อีกมากมายที่อยู่ร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน

เส้นทางลูกประดู่
มีนิยายเป็นสารตั้งต้น แม่เป็นกองหนุนสำคัญ

ร.ต.ธรรมปพน ปรีชารณเสฏฐ์ หรือ พาย เล่าถึงเรื่องราวในชีวิตอย่างย่นย่อก่อนที่จะเข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ ว่า…

ผมเป็นเด็กสระบุรีครับ เกิดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2535 คุณพ่อชื่อ ยอดฉัตร ทำงานอยู่โรงปูนทีพีไอ คุณแม่เป็นครู ชื่อ สุดารัตน์ คุณแม่สอนคณิตศาสตร์ เลยตั้งชื่อเล่นผมว่า “พาย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตัวหนึ่งในวิชานี้ พี่ชายผมชื่อ ฐาปนา เป็นวิศวกรของ ปตท. ทำงานอยู่ที่ จ.ระยอง

ผมเรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม แล้วไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เป็น นตท.รุ่น 52

ส่วนเหตุผลที่เลือกเป็นทหารเรือ มาจากความประทับใจในอดีต “เคยอ่านนิยายเรื่อง ‘สามสมอ’ ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตนักเรียนนายเรือแล้วประทับใจ”

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เหตุผลสำคัญเท่ากับเชื่อคุณแม่ครับ (น้ำเสียงปนหัวเราะ)

“คุณแม่บอกว่าทหารเรือได้เห็นโลกกว้าง มีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศกับเรือ ซึ่งมันก็จริง เพราะผมได้ไปฝึกภาคต่างประเทศตั้งแต่เป็นนักเรียนนายเรือเหมือนรุ่นพี่ๆ ที่เคยไปมาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย จีน และประเทศในกลุ่มอาเซียน ถึงแม้จะต้องรอนแรมในทะเลหลายวัน เผชิญกับคลื่นลมและความยากลำบาก แต่ก็เป็นประสบการณ์เพาะบ่มความอดทนของร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่จะเป็นนายทหารเรือที่แข็งแกร่งควบคู่ไปกับความรู้ในวิชาชีพ”

เมื่อถามว่า ชีวิตการรับราชการที่เพิ่งเริ่มต้นยึดถืออะไรเป็นหลักนำและมีเป้าหมายส่วนตัวอย่างไร?

ฮีโร่หนุ่มบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ผมจำได้ว่าเคยมีพระบรมราโชวาทหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการรับราชการว่า ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่าทำเพื่อหวังสิ่งตอบแทน ให้คิดว่าเมื่องานสำเร็จลุล่วงอย่างดีแล้ว นั่นคือสิ่งตอบแทนของเรา ผมจึงตั้งใจที่จะยึดถือพระบรมราโชวาทนี้เป็นหลัก

ส่วนเป้าหมายในการรับราชการ คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือยุคใหม่ที่ผู้บัญชาการกำหนดทิศทางไว้ว่า TO BECOME THE BEST เป็นมืออาชีพที่ยอดเยี่ยมในวิชาชีพของเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image