คอลัมน์ โลกสองวัย : ทอดน่องท่องเที่ยวพ่วงต้นสายปลายจวัก

สองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาค่อนไปทางปลายแม่น้ำ วันนี้มีแหล่งเรียนรู้ฝั่งละแห่ง ฝั่งพระนครมีแหล่งบันเทิงใหม่ที่เปิดมาหลายปีแล้ว ชื่อ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดิมคืออู่ต่อเรือชื่อ “อีสต์เอเชียติก” บริษัทเดินเรือสัญชาติเดนมาร์ก เปิดกิจการมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สร้างเป็น โกดัง โรงเลื่อย และนำเครื่องจักรขนาดใหญ่มาติดตั้ง สร้างท่าเรือขนถ่ายสินค้า

ช่วงสงครามมหาอาเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเข้ามายึดท่าเรือและคลังสินค้าของบริษัทเพื่อใช้เป็นฐานกำลังและคลังแสง ยังปรากฏถึงทุกวันนี้

ปี 2555 มีการพัฒนาปรับปรุงด้วยแนวคิด Festival Market and Living Museum เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและช้อปปิ้งที่มีจุดเด่นคือชิงช้าสวรรค์ “เอเชียทีค สกาย” สูง 60 เมตร เมื่อขึ้นไปจะมองเห็นทัศนียภาพรอบกรุงเทพมหานครมุมสูงได้รอบตัว

ส่วนอีกฟากฝั่งตรงข้ามคือฝั่งธนบุรี สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกไว้ในรายการ “ทอดน่องท่องเที่ยว” ว่าในอดีตเป็นย่านชาวสวน และโกดังสินค้าของชาวจีน “ขณะที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คือฝั่งกรุงเทพฯ หรือพระนคร เป็นย่านการค้าสำคัญ นับเป็นไชน่าทาวน์แรกสุด ก่อนเยาวราช แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่พูดถึง คนจึงไม่เข้าใจพัฒนาการ ไม่มีพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ ทั้งที่ กทม.ใหญ่มโหฬาร ทำให้ไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง…”

Advertisement

“ขรรค์ชัย สุจิตต์” ทอดน่อง “ล้ง 1919” พรรณราย เรือนอินทร์ บันทึกไว้ในหน้า 13 มติชน ฉบับวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คอลัมน์ “ประชาชื่น” เปิดตำนานชุมชนชาวจีนริมเจ้าพระยา “ไชน่าทาวน์ยุคแรก” ก่อนเยาวราช

ดังกล่าวแล้วข้างต้นต่อด้วยว่า “ย่านนี้ในรูปถ่ายสมัย ร.5 เต็มไปด้วยโรงเก็บสินค้า ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนฯ คือ โกดัง โรงสี โรงเลื่อย ส่วนฝั่งพระนครเป็นย่านการค้า จุดที่นั่งอยู่นี้คือย่านกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่มาตั้งรกรากทำธุรกิจใหญ่โต เป็นชุมชนที่เจริญขึ้นจากการค้านานาชาติบน 2 ฟากแม่น้ำ สินค้าจากต่างประเทศจะถูกขึ้นจากเรือย่านนี้ จากนั้นค่อยจัดสรรทยอยไปขายฝั่งพระนคร ยุคก่อนมีท่าเรือคลองเตย เรือจากต่างประเทศมาจอดกันตรงนี้”

ล้ง 1919 เป็นศูนย์การค้าตั้งอยู่ปลายสุดของถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน ดำเนินกิจการโดยตระกูลหวั่งหลี มีบ้านหวั่งหลีอยู่ติดบริเวณเดียวกัน ฝั่งตรงข้ามคือย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เปิดเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2560 เกิดจากการบูรณะอาคารเก่าทั้งหมด โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจีน ก่ออิฐถือปูนและการใช้โครงสร้างไม้ที่ยังเก็บรูปแบบอย่างเดิม

Advertisement

ล้ง 1919 มีลักษณะโครงสร้างคล้ายกับ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ที่ตั้งฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ห่างกันมาก ภายในประกอบด้วยโกดังเก่าของตระกูลหวั่งหลี ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ศาลเจ้าจีนเก่าแก่ในย่านคลองสาน ท่าเรือหวั่งหลี ลานกิจกรรมกลางแจ้ง และ Co Working Space

เดิมเป็นท่าเรือของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2393 ชื่อ “ฮวยจุ่งล้ง” แปลว่า “ท่าเรือกลไฟ” เป็นท่าเรือกลไฟและโกดังสินค้ารองรับเรือสินค้าจากต่างประเทศ เช่น มลายู สิงคโปร์ จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ต่อมาขายให้นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี พ.ศ.2462 ภายหลังบริษัท หวั่งหลี จำกัด เข้ามาบริหารดูแล

ตุลาคม 2559 ตระกูลหวั่งหลีมีโครงการเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดหมายตาริมฝั่งเจ้าพระยา จึงเข้ามาพัฒนาพื้นที่เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2560 เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ จุดถ่ายภาพ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและหัตถกรรม พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ความสัมพันธ์ไทย-จีน และสถานที่พักผ่อน

เปิดรายการ “ขรรค์ชัย สุจิตต์” ทอดน่องท่องเที่ยวซึ่งทั้งสอง (อดีต) กุมารสยาม จัดมานานนับปี ทั้งนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ในมติชนรายวันทุกครั้งที่ทั้งสองออกไป “ทอดน่องท่องเที่ยว”

เพิ่งจะมีครั้งนี้แหละที่ นำงานของ กฤช เหลือลมัย มาพิมพ์ไว้เคียงข้าง ขยายความเรื่องราวของ “อาหาร” อร่อยในแต่ละย่านมาให้ลองลิ้มชิมรสพ่วงด้วย

หนังสือชื่อ “ต้นสายปลายจวัก” ของ กฤช เหลือลมัย ราคาเล่มละ 350 บาท เป็นอย่างไร พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image