PM 2.5 ฟุ้ง ‘เยาวราช’ สิ่งตกค้างจากความเชื่อ ที่วิทยาศาสตร์ต้องร่วมแก้

สิ่งตกค้างจากความเชื่อทั้งดอกไม้ ธูป เทียน และเครื่องกระดาษ แม้เป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องยาวนาน ทว่า ในขณะเดียวกัน หากไม่สามารถบริหารจัดการให้ดี ก็อาจกลายเป็นมลพิษได้ โดยเฉพาะฝุ่นควัน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ในขณะนี้

กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา ไม่ละเลยประเด็นสำคัญนี้ จึงร่วมประชุมกับคณะวิจัยโครงการ “การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช” นำโดย รศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการบริหารจัดการดอกไม้ ธูป เทียน และเครื่องกระดาษในการประกอบศาสนพิธีต่างๆ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุดได้มีการรณรงค์ให้ใช้ธูปไร้ควันเพื่อลด PM2.5 ในวันมาฆบูชา โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

อธิบดีกรมการศาสนาบอกว่า ศาสนพิธีเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการดึงคนเข้ามาในศาสนสถานเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งแห่งศาสนา จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะห้ามจุดธูปเทียนตามวัด รวมถึงการใช้เครื่องกระดาษในศาลเจ้า ซึ่งทำให้เกิด PM2.5 ดังนั้น ทางเลือกในการลดปัญหานี้ คือ จุดธูปเทียน เผากระดาษให้น้อยลงในช่วงเวลาสั้นๆ การใช้เทียนประดิษฐ์ไฟฟ้า รวมถึงระบบการจัดการระบายอากาศ และที่สำคัญคือผู้ผลิตซึ่งเป็นต้นทาง ซึ่งเราจะต้องสร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำแก่วัด

กิตติพันธ์ พานสุวรรณ

“อยากให้คณะวิจัยตรวจคุณภาพอากาศในวัดทางพุทธศาสนาด้วยว่ามีปริมาณ PM2.5 เท่าใด และเห็นด้วยกับการคงความหมายในการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์และวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษตกค้าง จากนี้กรมการศาสนาจะเพิ่มกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์วัดตัวอย่างที่มีการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน การบริหาร “สิ่งตกค้างจากความเชื่อ” ธูปเทียนและกระดาษที่ใช้แล้วจะจัดการอย่างไร ที่ไหน นอกจากนี้ ยังต้องหาวิธีการจัดการดอกไม้ต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้ว รวมถึงต้องมีการรณรงค์รักษาสุขภาพอนามัยและการจัดการสภาพแวดล้อมของศาสนสถานที่ยังคงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้เป็นรมณียสถานที่มีคุณภาพ”

Advertisement

ด้าน ผศ. ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง รายงานค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในพื้นที่ต่างๆ ย่านเยาวราช โดยพบว่าพื้นที่ข้างเคียงที่มีการเผากระดาษมีค่าสูงถึงเกือบ 250 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ศาลเจ้าต่างๆ ทั้งในอาคารและนอกอาคารล้วนมีค่าสูงเกินมาตรฐานทั้งช่วงปกติและช่วงเทศกาล

ขณะที่ รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล กล่าวว่า สิ่งที่ต้องปรับเป็นอันดับแรก คือ พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนยากที่สุด ทั้งนี้ ทัศนคติความเชื่อเกิดจาก “ความหมาย” ตามคติความเชื่อ “สัญลักษณ์” ที่สื่อผ่านศิลปวัตถุและศาสนสถาน และ “วิธีปฏิบัติ” ที่สะท้อนจากความหมายเชิงสัญลักษณ์ หลังจากดำเนินการวิจัยในระดับหนึ่งพบว่าหากรักษาสัญลักษณ์ว่ามีความหมายอะไรก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ เช่น ในประเทศจีนมีการสั่งไก่ทอดเป็ดทอดมาไหว้เจ้า แสดงถึงกระบวนการอธิบายชีวิตของคนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายและประหยัด แต่ได้ความหมายเช่นเดิม

Advertisement

แนวทางการจัดการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.การใช้กลยุทธ์ร่วมกันในการจัดกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้มากกว่าเพราะตระหนักถึงปัญหา PM2.5 2.วางแผนงานรายปีเพื่อรณรงค์ลด PM2.5 ในวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลต่างๆ ล่วงหน้า 3.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งด้านสถานที่ การจัดการพิธีกรรม และการจัดการวัสดุ

“จริงๆ แล้วเราพบว่าการใช้ธูปไร้ควันยังคงมีอันตรายจากโลหะหนักแม้ว่าจะมองไม่เห็น ส่วนเทียนนั้นมีผู้ประกอบการบางรายนำน้ำมันคุณภาพต่ำกลับมาใช้ในการหล่อเทียน จึงต้อ  งหาแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการโดยไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มและยังคงสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานครและแต่ละจังหวัดจะต้องหากระบวนการจัดการกำจัดธูปเทียนและเครื่องกระดาษที่ใช้แล้ว”

เป็นอีกประเด็นน่าสนใจที่ต้องติดตามความคืบหน้าในการจัดการมลพิษเหล่านี้ได้อย่างสมดุลกับวิถีชีวิตของผู้คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image