สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบก๊กเจ้าพระฝางในฐานะเป็น ‘นิมิตอุบาทว์’

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดวังพิกุลวราราม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก (ถ่ายโดย ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก พ.ศ. 2562)

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ของสยาม “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ด้วยทรงกอบกู้แผ่นดินจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310

เริ่มตั้งแต่ทรงรวบรวมไพร่พลเพื่อกลับมาต่อสู้กับพม่า และทรงสามารถขับไล่พม่าออกจากพระราชอาณาจักรได้ในที่สุด จากนั้นก็ทรงปราบปรามชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ จนถึงการศึกสงครามกับเขมร พม่า หลังจากนั้นอีก

พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงเป็นที่จดจําและโจษจันจนถึงปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากผลงานของนักวิชาการ, นักเขียน ฯลฯ ที่นําเสนอผลงานเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกมาเป็นระยะตามสื่อต่างๆ หนึ่งในจํานวนนั้นก็คือ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาอย่างต่อเนื่อง และฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ก็ได้งานของ ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ที่ชื่อว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรง ปราบก๊กเจ้าพระฝางในฐานะเป็น นิมิตอุบาทว์”

Advertisement

แต่ก่อนที่จะไปดูว่าเกิดนิมิตอุบาทว์อย่างไร ขอกลับไปฟื้นความจําเกี่ยวกับเจ้าพระฝางกันก่อน

วัดพระมหาธาตุเมืองฝาง (ปัจจุบันใช้ชื่อ “วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ” จังหวัดอุตรดิตถ์) ศูนย์กลางอำนาจก๊กเจ้าพระฝาง (ถ่ายโดย ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก พ.ศ. 2561)

ท่านใดเป็นแฟนคลับ “ศิลปวัฒนธรรม” กลับไปดูบทความชื่อ “ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ.2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ พวกสงฆ์อลัชชี ที่เมืองสวางคบุรี” ของ ธีระวัฒน์ แสนคํา ในฉบับเดือนมีนาคม 2559 ตอนหนึ่ง อธิบายถึงชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรีพอสรุปได้ว่า

เมื่อเกิดสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 เมืองสวางคบุรีนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ต่อมา เมืองสวางคบุรีตั้งตัวเป็นอิสระในการปกครอง ภายใต้การนําของพระพากุล-เถระสังฆราชแห่งเมืองสวางคบุรี หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “เจ้าพระฝาง”

Advertisement
แม่น้ำน่านบริเวณข้างวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ (ถ่ายโดย ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก พ.ศ. 2561)

เจ้าพระฝาง เดิมชื่อ “เรือน” สอบเปรียญธรรมได้เป็น “มหาเรือน” เป็นภิกษุชาวเมืองเหนือ ที่ลงมาศึกษาเล่าเรียนในกรุงศรีอยุธยา จนได้เป็นพระพากุลเถระ พระราชาคณะ ณ วัดศรีอโยธยา ภายหลังพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งให้เป็นพระสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก เจ้าพระฝางก็ซ่องสุมผู้คนเป็นจํานวนมาก ด้วยมีตําแหน่งเป็นถึงพระสังฆราช และเก่งทางวิทยาคมเป็นที่เลื่อมใสของผู้คน บรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป ต่างก็เกรงกลัวนับถืออยู่ในอํานาจของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าพระฝางก็ยังไม่ได้สึกเป็นคฤหัสถ์ หากเปลี่ยนเป็นนุ่งห่มสีแดงเพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่พระภิกษุแล้ว แต่ยังเคร่งครัดในศีลบางข้อและยังไม่มีภรรยาได้

พระพุทธรูปพระฝางองค์จำลองภายในโบสถ์วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ (ปัจจุบันพระพุทธรูปพระฝางองค์จริงประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร) (ถ่ายโดย ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก พ.ศ. 2561)

สรุปว่า เจ้าพระฝางที่พูดถึงกันบ่อยจึงไม่ใช่เป็นเจ้าเมือง แต่เป็นอดีตพระภิกษุที่มีตําแหน่งถึงสังฆราช

กลับมาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบก๊กเจ้าพระฝางกันต่อ ผู้เขียน (ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก) อธิบายถึงทัพของเจ้าพระฝางว่า

“เจ้าพระฝางตั้งแต่งนายทัพนายกองแต่พื้นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คือพระครูศิริมานนท์ 1 พระครูเพชรรัตน 1 พระอาจารย์จันทร์ 1 พระอาจารย์ทอง 1 พระอาจารย์เกิด 1 แต่ล้วนเป็นอลัชชีมิได้ละอายแก่บาปทั้งนั้น”

นอกจากนี้เมื่อเจ้าพระฝางรู้ข่าวว่า เจ้าเมืองพิษณุโลกเสียชีวิต เจ้าเมืองคนใหม่ยังขาดประสบการณ์ ก็ยกทัพมาตีเมือง

โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ภาพ “ตีเมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง)” ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมนุมเจ้าพระฝาง เขียนโดย หลวงฤทธิจักรกำจร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในภาพวาดเจ้าพระฝางนั่งเปลให้ทหารหามหลบหนีออกจากเมือง

“…พระอินทรเจ้าเมืองพระพิษณุโลกใหม่นั้นฝีมืออ่อน มิได้แกล้วกล้าในการสงคราม ต่อรบต้านทานอยู่ได้ประมาณสามเดือน ชาวเมืองไม่สู้รักใคร่นับถือก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมือง เปิดประตูรับข้าศึกในเพลากลางคืน ทัพฝางก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระอินทรเจ้าเมืองพระพิษณุโลก เจ้าพระฝางให้ประหารชีวิตเสีย แล้วเอาศพขึ้น ประจานไว้ในเมือง

จึงให้เก็บเอาทรัพย์สินสิ่งของทองเงินต่างๆ ของเจ้าเมืองกรมการและชาวเมืองทั้งปวงได้เป็นอันมาก แล้วให้ขนเอาปืนใหญ่น้อย และกวาดต้อนครอบครัวอพยพชาวเมืองพระพิษณุโลกขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรีแล้ว ก็เลิกทัพกลับไปเมือง ขณะนั้นบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวงนั้น ก็เป็นสิทธิแก่เจ้าพระฝางทั้งสิ้น”

ซึ่งพฤติกรรมของชุมนุมเจ้าพระฝาง ถือเป็นหนึ่งใน “นิมิตอุบาทว์”

นิมิตอุบาทว์นั้นมีทั้งหมด 8 ประการ มีการรวบรวมบันทึกไว้ในตําราพิไชยสงคราม โดยเทวดาที่รักษาทิศทั้ง 8 องค์จะสําแดงให้รู้ถึงเหตุร้ายล่วงหน้า ตามบทบาทหน้าที่ของเทวดาแต่ละองค์

สําหรับกรณีของเจ้าพระฝางนั้น เรียกว่า “อุบาทว์พระนารายณ์” ปรากฏนิมิตต่างๆ เช่น เครื่องดนตรีบรรเลงเอง พระพุทธรูปหรือเทวรูปแตกหักเอง สายน้ำไหลเป็นเลือดแล้วหายเป็นปกติดังเดิม พระพุทธรูปหรือเทวรูปมีเหงื่อเลือดไหลออกจากพระองค์ อาวุธตีกันเอง และพระสงฆ์สะสมอาวุธ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ภายหลังปราบก๊กเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงโปรดให้ชําระพระสงฆ์หัวเมืองเหนือ ส่วนนิมิตอุบาทว์อื่นๆ และความรู้เรื่องดังกล่าวในตําราพิไชยสงคราม กล่าวไว้อย่างไร ขอได้โปรดติดตามเพิ่มจากบทความของ ดร.ปฐมพงษ์ ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image