คอลัมน์ โลกสองวัย : ต้นสายปลายจวัก จาก กฤช เหลือลมัย

ข้างเคียงของบทรายงานหน้า “ประชาชื่น” มติชนรายวัน 5 กุมภาพันธ์ 2563 “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” ทอดน่อง “ล้ง 1919” เปิดตำนานชุมชนจีนริมเจ้าพระยา “ไชน่าทาวน์ยุคแรก” ก่อนเยาวราช บันทึกให้ทราบว่า “ล้ง 1919” คืออะไร ที่ไหน มีความเป็นมาอย่างไร

ท้ายเรื่อง ขรรค์ชัย บุนปาน บอกว่า ย่านนี้มีความหมายมาก หากพัฒนาให้ดี มีความเป็นระเบียบ สะอาดสอ้าน จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา อย่าง ล้ง 1919 ซึ่งเพิ่งเคยเดินทางมาครั้งแรก รู้สึกประทับใจมาก เพราะพัฒนาพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมไว้อย่างดีเช่นกัน หน่วยงานราชการควรมาศึกษาแนวทาง

“สมัยเป็นวัยรุ่น เคยมาย่านคลองสานเป็นประจำ เนื่องจากสามารถนั่งรถไฟจากบ้านย่านโรงพักบางขุนเทียนมาลงสถานีปากคลองสาน ยังจำชื่อพนักงานตรวจตั๋วบนรถไฟได้ถึงทุกวันนี้” ขรรค์ชัยรำลึกความหลังที่ผ่านมากว่า 60 ปี แต่ไม่บอกว่าพนักงานตรวจตั๋วคนนั้นชื่ออะไร

ล้อมกรอบเคียงคอลัมน์ “ประชาชื่น” เป็นเรื่อง “อาหารจีน ชื่อไท้ยไทย” กฤช เหลือลมัย พาชิมข้าวพระรามลงสรง ซึ่งแจ้งไว้ว่า “กฤช เหลือลมัย คือคอลัมนิสต์ด้านอาหารชื่อดัง และแขกรับเชิญพิเศษที่จะมาร่วมรายการ “ขรรคชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” นับจากนี้เป็นต้นไป (5 กุมภาพันธ์ 2563) โดยในทริปแรกของปี เปิดประตูบานแรกที่ “ร้านข้าวพระรามสรง ย่านท่าดินแดง”

Advertisement

น้องหนูรู้จักข้าวพระรามลงสรงไหม แต่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) พอจะเดาได้ว่า น้องหนูต้องรู้จักพระรามแน่ เพราะน่าจะรู้จักเรื่องรามเกียรติ์ ที่มีหนุมานเป็นตัวเอก รับรองว่าไม่มีน้องหนูคนไหนที่เคยดูโขนเรื่องรามเกียรติ์แล้วไม่รู้จักหนุมาน แต่จะรู้จักพระรามหรือไม่ อาจเป็นไปได้ที่ยังไม่รู้จักวันนี้

อาหารที่ชื่อ “พระรามลงสรง” กฤช เหลือลมัย บอกว่า “ชื่อ ไท้ย ไทย” แต่แท้ที่จริงแล้วคืออาหารจีน ชื่อ “ซาแต๊ปึ่ง” ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารในวัฒนธรรมมุสลิม คือ สะเต๊ะ

“ข้าวพระรามลงสรงที่ได้รับอิทธิพลมาจากสะเต๊ะของมุสลิม ซาแต๊ คือ สะเต๊ะ ปึ่ง คือ ข้าว ในอดีตมีสถานะคล้ายข้าวแกง ตั้งแต่เยาวราช วรจักร สะพานเหล็ก มีขายเต็มไปหมด จากผู้หาบขายทั่วไป ชื่อพระรามลงสรง เชื่อว่าตั้งขึ้นโดยนำสีเขียวของผักบุ้งมาเปรียบกับพระราม เป็นจินตนาการของคนไทยในการตั้งชื่อ” กฤชสันนิษฐานอย่างนั้น

Advertisement

เครื่องเคียงคอลัมน์ประชาชื่นคู่ “ทอดน่องท่องเที่ยว” เรื่องแรก กฤช เหลือลมัย นำเสนออาหารจีนชื่อไท้ยไทย พระรามลงสรง บอกด้วยว่า “ใครเริ่มน้ำลายไหล เชิญแวะได้ที่ร้านข้าวพระรามลงสรง ริมถนนท่าดินแดง ใกล้ปากซอยท่าดินแดง 1 รับรองไม่ผิดหวัง”

ส่วนหนังสือ “ต้นสายปลายจวัก” แจ้งไว้ว่า ลองลิ้มวัฒนธรรมรสอร่อยตามรอยสำรับอาหาร สำนักพิมพ์มติชน นำเสนอ แจ้งไว้ใน “คำนำสำนักพิมพ์” ว่า

นี่ไม่ใช่ตำราสอนทำอาหาร….โดยเฉพาะตำราในความหมายของเครื่องชี้แนะวิธีการที่ถูกต้องจริงแท้

เราขอเรียกมันว่าบทสนทนา-บทสนทนาระหว่างเรา กับ กฤช เหลือลมัย

เริ่มต้นเมื่อเขาบอกกับเราว่าอาหารก็เหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ บนโลกใบนี้ ล้วนไม่อาจอยู่เหนือกาลเวลา ทว่า ดำรงอยู่และดำเนิน ไปอย่างมีสัมพันธ์สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ซ้ำยังถูกนิยามใหม่ได้นับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งไปกว่านั้น อาหารยัง “สนุก” เหลือหลาย โดยเฉพาะเมื่อได้ลอง “สืบสาย” ขุด-ค้น

คำถามจากคำนำเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ “ต้นสายปลายจวัก”-สำรับที่มาจากการเอาแกงสามสี่อย่างมารวมกันจะมีรสชาติเป็นอย่างไร? ทำไมซุปหน่อไม้จึงไม่มีน้ำให้ซด? ข้าวมัน ส้มตำไทย แกงไก่ ฯลฯ มาจากไหน? ผัดฉ่ามาจากเสียงฉี่ฉ่าในกระทะจริงไหม? ต้มยำกุ้งสูตรดั้งเดิมหน้าตาเหมือนปัจจุบันหรือไม่? ขาไก่ซูเปอร์มีต้นกำเนิดจากที่ใด? ขนมจีนญี่ปุ่นเกี่ยวอะไรกับญี่ปุ่น? ฯลฯ

“ต้นสายปลายจวัก” ทำให้รู้จักอาหารอีกหลายอย่างมากกว่า 30 อย่าง ราคา 350 บาท อ่านสนุก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image