สุวรรณภูมิในอาเซียน : BLACK DEATH ความตายสีดำ ‘โรคห่า’ กาฬโรค จากจีนถึงไทย กำเนิดอยุธยา โยงประวัติศาสตร์โลก

หลุมฝังศพเหยื่อจากการระบาดของ Black Death ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1889-1896 ถูกฝังรวมกันไว้ที่ธอร์นตัน แอบบี้ (Thornton Abbey) ในลินคอร์นไชร์ (Lincolnshire) สหราชอาณาจักร ผลการขุดค้นเมื่อ พ.ศ. 2559 พบผู้เสียชีวิตจากโรคห่ากาฬโรคในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 48 โครง (ภาพจาก: https://www.sciencealert.com/archaeologists-have-uncovered-a-mass-burial-pit-of-black-death-victims)

Black Death ผมได้ข้อมูลกว้างขวางในวงเหล้าวงข้าวนานหลายเดือนจากคุณ ไมเคิล ไรท์ (นักปราชญ์ “ฝรั่งคลั่งสยาม” ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยผจญภัยหัวหกก้นขวิดหลายปีในลังกา ก่อนตัดสินใจปักหลักอยู่สยามประเทศไทย แล้วถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ หลายปีแล้ว) จึงขอให้เขียนภาษาไทยด้วยตนเองของเขาเกี่ยวกับกาฬโรค เมื่อรับต้นฉบับผมก็เอาลงพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 5) เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 (คัดบางตอนมาแบ่งปันไว้ด้วยแล้ว)

เมืองจีนเป็นต้นทางโรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วเอเชียและยุโรป เรียก Black Death หรือความตายสีดำ คือ กาฬโรค ส่งผลให้มีคนตายนับล้าน เป็นเหตุการณ์สำคัญมีในประวัติศาสตร์โลกเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (คริสต์ศตวรรษที่ 14)

ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงมากกับตำนานไทยเรื่องพระเจ้าอู่ทองพาไพร่พลอพยพหนีโรคห่า (คือ อหิวาตกโรค) จากเมืองใดเมืองหนึ่ง ไปสร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 แล้วถูกครอบงำเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยสืบเนื่องราว 100 ปีมาแล้ว ปัจจุบันยังใช้งานอยู่อย่างเคร่งครัด

พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่าไปสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นวรรณกรรมที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญเรื่องโรคระบาดที่มีคนตายจำนวนมาก เรียกโรคห่า โดยมิได้ระบุว่าเป็นโรคชนิดใด? เพราะไม่รู้เหตุแท้จริงของโรคนั้น

Advertisement

ก่อนโรคระบาด กรุงศรีอยุธยาเป็นรัฐใหญ่ มีศูนย์กลางฟากตะวันออกของอยุธยา โดยมีชื่ออื่นว่า ?อโยธยาศรีรามเทพ? อยู่ใกล้อ่าวไทย บนเส้นทางการค้ากับจีนซึ่งเชื่อมโยงการค้าโลก ย่อมหนีไม่พ้นจะรับผลกระทบรุนแรงจากโรคระบาด หรือเป็นบ้านเมืองส่วนหนึ่งของโรคระบาดใหญ่ในครั้งนั้น ดังนั้นพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่าในตำนานไทยเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกเรื่อง Black Death หมายถึงอยุธยาไม่ได้อยู่ดาวดวงอื่น และคนสมัยนั้นร้อยพ่อพันแม่รวมคนไทยไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว ย่อมล้มตายมากจากโรคระบาดครั้งนั้น

ส่วนโรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองหนีไปในครั้งนั้น คือ Black Death หรือความตายสีดำ คือ กาฬโรค ไม่ใช่อหิวาตกโรคตามที่บอกในตำราประวัติศาสตร์ไทย

Advertisement

นับแต่นั้น ผมทำและเขียนหนังสือนำเสนอข่าวสารแบ่งปันข้อมูลเรื่อง Black Death กระตุ้นให้เกิดการทักท้วงและถกเถียงเพื่อต่อยอดเพิ่มเติมความรู้ส่วนที่ขาดตกบกพร่องในประวัติศาสตร์ไทย

ทั้งนี้มีเหตุจากผมเองอ่อนแอมากถึงอับทึบโง่เง่าในภาษาอังกฤษจนศึกษาไม่ได้ด้วยตนเอง แต่เรื่องนี้มีในตำราภาษาอังกฤษ ผมจึงต้องพึ่งพาผู้รู้ แล้วอ้างอิงบอกทุกครั้งว่าได้จากใคร โดยไม่เคยตู่ว่าเป็นความคิดตนเอง (ดังได้เคยขอตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ให้ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ค้นคว้าเรียบเรียงเรื่อง Black Death)

แต่ฝ่ายจารีตนิยม, อนุรักษนิยม พากันต่อว่าด่าทอถากถางเพราะไม่พร้อมยอมให้มีความคิดต่างจากเดิม และไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงจากความเชื่อและความรู้เก่าแม้มีหลักฐานยืนยันตามประวัติศาสตร์สากลโลกก็ตาม

หมอยาที่ศึกษาการระบาดของกาฬโรคโดยต้องสวมหน้ากากที่มีจะงอยแหลมเหมือนปากนก ซึ่งภายในอัดแน่นไว้ด้วยเครื่องเทศรสฉุน และสมุนไพรที่เชื่อกันในยุคนั้นว่าสามารถป้องกันเชื้อจากโรคระบาดได้ [ภาพพิมพ์ทองแดง หมอจะงอยปากนกแห่งโรม (Doctor Beak from Rome) ผลงานของ พอล ฟูเอรสต์ (Paul Fuerst) ผลิตขึ้นที่กรุงโรมเมื่อ พ.ศ. 2199 หลังการระบาดของกาฬโรคในยุโรปราว 200 ปีเศษ (ภาพจาก:https://en.wikipedia.org/wiki/Plague_doctor#/media/File:Paul_F%C3%BCrst,_Der_Doctor_Schnabel_von_Rom_(coloured_version).png]

กาฬโรค แพร่ไปตามเส้นทางเดินเรือ

ไมเคิล ไรท์

[คัดบางตอนจาก เรื่อง “พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน” กับเรื่อง “พระนครหลวงทำไมจึงพัง”? ของ ไมเคิล ไรท์ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2527)]

โรคอหิวาต์เกิดจากเชื้อในอุจจาระไปปนกับน้ำกินจึงพอป้องกันได้ในเมืองที่อยู่ที่เนินที่ดอนเช่นสุโขทัย แต่กาฬโรคป้องกันไม่ได้เลย เพราะพาหะมันมิได้อยู่ในน้ำ หากอยู่ในบ้านและเรือของคนทั่วไป พาหะนั้นคือหนู เชื้อกาฬโรคจะเพาะตัวอยู่ในเลือดหนู เมื่อหมัดกินเลือดหนูแล้วมากัดคนเข้า คนนั้นจะได้รับเชื้อเข้าเลือด ต่อมน้ำเหลืองจะป่องขึ้นมาขนาดลูกส้มที่จั๊กแร้และต้นขา เลือดเป็นพิษตัวดำและเน่าในสามวัน หากใครสูดลมหายใจจากคนที่เป็นโรคจะเป็นที่ปอด ทรมานน้อยหน่อย แต่ตายในวันสองวัน

กาฬโรคนี้มาเล่นงานโลกในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ว่ากันว่าในยุโรปตายกัน 3 ใน 5 ผมเคยไปเที่ยวชมทุ่งหญ้าที่ยังมองเห็นหลุมเสาบ้าน แต่กลายเป็นทุ่งหญ้าไปเพราะตายกันสิ้นทั้งบ้านราวๆ ค.ศ. 1347-1350 (ตกราวๆ พ.ศ. 1890-1893)

จากการเปรียบเทียบหลักฐานนานาชาติ ปรากฏว่าโรคนี้เกิดที่เมืองจีนก่อนคือประมาณ ค.ศ. 1335 (พ.ศ. 1878) ฝนฟ้าในเมืองจีนเริ่มไม่ปกติหลายปีติดต่อกัน จนประชาชนอ่อนแอลง ล้มตายกันเป็นเบือด้วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะกาฬโรค แล้วกาฬโรคนี้ค่อยๆ แพร่ทั่วโลกตามเส้นทางเดินเรือ (เพราะหนูชอบอาศัยเรือสินค้าที่มักบรรจุข้าว) ค่อยผุดขึ้นมาที่ตะวันออกกลาง และแพร่ไปทั่วยุโรปราวๆ ค.ศ. 1347 (พ.ศ. 1890) อย่างรวดเร็ว แล้วแต่เรือสินค้าจะแล่นไปถึงที่ไหน และหมัดหนูจะได้กัดคนเร็วแค่ไหน

สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ หากสยามเทศและกรุงเขมรทำการค้ากับต่างประเทศในสมัยนั้น และหากมีเรือสำเภาเข้าจอด ซึ่งต้องมีกันแน่ๆ กาฬโรคก็จำเป็นต้องเข้ามาแผลงฤทธิ์ในแหลมทองนี้ และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางโครงสร้างจำนวนพลเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและทางการเมืองเป็นครั้งยิ่งใหญ่

ฝ่ายกรุงอโยธยาอาจจะโดนทั้งกาฬโรค ทั้งอหิวาตกโรคจนจำนวนพลเมืองตกฮวบฮาบ วัดวาอารามเริ่มร้าง เพราะไม่มีแรงงานจะบำรุงและข้าวผลิตได้น้อยมาก

ฝ่ายกรุงเขมรเกิดกาฬโรคตายกันเป็นเบือเช่นกัน แต่ในเมื่อยังมีแหล่งน้ำบริสุทธิ์ (บาราย) จึงพ้นโทษอหิวาต์

ในวิกฤตการณ์อย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น ชาวอโยธยาเกือบสูญพันธุ์ ส่งข้าวให้ใครไม่ได้ ฝ่ายเขมรหาเสบียงไม่ได้ และยังตายกันเป็นเบือ เขารู้จักโรคอหิวาต์จึงไม่กลัวนัก แต่กาฬโรคยังเป็นของใหม่ ไม่มีความรู้อย่างสมัยใหม่เกี่ยวกับเชื้อโรค เขาจึงต้องเข้าใจกันว่า เทวดาทอดทิ้ง ผีป่าเข้าเมือง

ผู้นำของเขมรจึงน่าจะคิดอพยพไปตั้งที่อื่น และถ้าหากว่าโรคระบาดกำลังซาลงแล้วที่ อโยธยา ฝ่ายการปกครองเขมรก็น่าจะเลือกที่จะอพยพไปที่นั่น จะได้เอาพลเมืองที่เหลืออยู่ไปทำนากัน

ไม่ควรลืมว่าพระเจ้าแผ่นดินเขมรสมัยนั้นน่าจะเป็นพระญาติกับชาวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและอาจจะมีเชื้อไทยมากกว่าเขมรเสียอีก ท่านอพยพเข้ามาอยู่ในอโยธยาร้าง พามาทั้งวังและกสิกรจะมาสมทบกับไทยเท่าที่เหลือทำมาหากินกันขึ้นใหม่ ท่านจึงได้พระนามว่า ?เจ้าอู่ทอง? คืออู่ข้าวแล้วยังสวมพระนามาภิไธยว่า ?รามาธิบดี? ตามชื่อพระรามในวรรณคดีอินเดีย เพราะพระรามครองราชย์ในอโยธยา

เมื่อท่านตั้งเมืองใหม่แล้ว (ฝ่ายเปอร์เซียเรียกกรุงศรีอยุธยาว่า “เมืองใหม่”) ท่านก็ไม่จำเป็นต้องราชาภิเษก เพราะท่านราชาภิเษกมาแล้วในพระนครธม——-

หลักฐานของพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ว่า “ศักราช 725 เจ้าแก้วเจ้าไทยออกอหิวาตกโรคตายให้ขุดขึ้นมาเผาเสีย…” ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน ผมเชื่อว่า “อหิวาตกโรค” นั้น ในที่นี้ต้องหมายถึงอหิวาต์บวกกับกาฬโรค แต่ “เจ้าแก้วเจ้าไทย” เป็นใคร หากว่าเป็นเจ้านายไทยหรือเจ้านายเขมร ก็น่าจะใช้คำที่สูงกว่า “ให้เผาเสีย” ผมจึงสงสัยว่าน่าจะหมายถึงศพจำนวนมากที่ขุดขึ้นมาแล้วเผาโดยมิได้ทำพระเมรุมาศ

คำว่า “เจ้าไทย” หมายถึงภิกษุอยู่แล้ว แต่ “เจ้าแก้ว” ผมอยากเสนอ (โดยเป็นการเดาแท้ๆ) ว่าเจ้าแก้วหมายถึงพระสงฆ์วิปัสสนาธุระ (สำนักสมเด็จพระวันรัตน) และเจ้าไทย จะหมายถึงพระสงฆ์คามวาสี เป็นการล้างป่าช้าพระสงฆ์ที่มรณภาพไปในครั้งที่โรคระบาด ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็พอใช้เป็นหลักฐานได้ว่า เมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ก็พึ่งได้ผ่านโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่ทีเดียว ซึ่งตรงกับหลักฐานสากลที่ว่า กาฬโรคโคจรจากเมืองจีนไปทั่วโลกระหว่าง ค.ศ. 1335 ถึง 1350 เหมาะเจาะพอดีกับการตั้งกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1350 (พ.ศ. 1893)


BLACK DEATH

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ภาพจิตรกรรมในยุคกลางของยุโรป แสดงภาพการปัดเป่าโรคห่ากาฬโรค หรือ Black Death ด้วยเวทมนตร์คาถา และความเชื่อที่งมงายจากการหาสาเหตุ และวิธีการรักษาโรคไม่ได้ (ภาพจาก: https://www.dkfindout.com/us/history/black-death/symptoms-and-treatment/)

เมื่อ พ.ศ. 1890 บันทึกเก่าแก่จากโลกตะวันตกอ้างว่า เรือสินค้าจากเมืองเจนัว กลับจากการเดินทางไปทะเลดำ แล้วเข้าเทียบท่าที่เมืองเมสซีนา เกาะซิซิลี ภายในท้องเรือนอกจากจะบรรทุกไว้ด้วยสินค้าต่างๆ แล้ว ก็ยังอุดมไปด้วยหนูนับร้อยๆ ตัว พร้อมกับหมัดหนู ซึ่งเป็นพาหะตัวจริงของโรคระบาดร้ายแรงอย่าง “กาฬโรค” หรือที่ชาวยุโรปเรียกว่า “Black Death” ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ความตายสีดำ”

เรือที่บรรทุก “ความตายสีดำ” ไม่ได้มีเพียงลำเดียว ดังนั้นในยุคสมัยที่ห่ากำลังลงหนักในครั้งนั้น เมื่อเรือเทียบท่าแล้วคนเรือจะต้องถูกกักตัวเอาไว้อยู่บนนั้น และห้ามไม่ให้ขึ้นฝั่งจนกว่าจะครบ 40 วัน ซึ่งก็ทำให้คำว่า “40” ในภาษาอิตาเลียนคือ “quaranta” นั้นกลายมาเป็นรากศัพท์ของคำว่า “Quarantine” ที่แปลว่า “การกักกัน” ในภาษาอังกฤษ

ในท้ายที่สุดกาฬโรคก็ค่อยๆ หายไปจากยุโรป หลังจากเล่นงานดินแดนแห่งนี้ไปเมื่อ พ.ศ. 1893 อันเป็นปีเดียวกันกับที่พระเจ้าอู่ทองปราบโรคห่าลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ห่าลงโลกมนุษย์ในครั้งโน้น ไม่ได้เริ่มที่เกาะซิซิลี หรือแม้กระทั่งทะเลดำเป็นที่แรก เพราะมันระบาดไปทั่วทั้งโลกเก่า (คือไม่นับทวีปอเมริกา กับออสเตรเลีย) มาแล้ว โดยที่แรกอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน จนมีผู้เสียชีวิตไปถึง 9 ใน 10 ส่วน ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 1874 หรือเป็นเวลานับ 16 ปีก่อนที่โรคร้ายที่ว่าจะแพร่ระบาดเข้าไปในยุโรป

จีนในยุคโน้น กำลังถูกพวกมองโกลปกครองในนามของจักรวรรดิหยวน ที่ก็เป็นยุคสมัยแห่งสงคราม และพอเจอเหตุการณ์ห่าลงแบบนี้ พวกทหารมองโกลก็ไม่คิดจะช่วยชาวจีนฮั่นเท่าไหร่นัก เลยปิดเมืองให้ตายกันอยู่เฉพาะในนั้นกันเอง

แต่พวกมองโกลไม่ได้ปล่อยให้คนพวกนี้ตายไปเปล่าๆ เปลี้ยๆ เพราะทัพมองโกลยังเอาศพคนตายพวกนี้มาใช้เป็นอาวุธชีวภาพ คือพอเวลาไปรบเมืองไหนแล้ว ไม่รู้จะตีเมืองเข้าไปยังไง ก็เอาศพพวกนี้โยนข้ามกำแพงเข้าไปในเมืองเหมือนเป็นผีห่านี่เอง (ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เวลานั้น Black Death ระบาดไปทั่วโลก ทั้งในเส้นทางการค้าทางทะเลอย่างในกรณีของท่าเรือที่เมืองเมสซีนา และทางบกตามเส้นทางเดินทัพของพวกมองโกล)


การระบาดของกาฬโรค จึงมีผู้คนล้มตายอย่างกว้างขวางทั่วภูมิภาคและทั่วโลก อันเกิดจากหมัดที่เกาะติดตัวหนู ซึ่งเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อกาฬโรค และอยู่ในเรือบรรทุกสินค้า จอดแวะรับส่งสิ่งของตามเมืองต่างๆ ใกล้ทะเล

หลักฐานทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่าบริเวณอยุธยาก็เป็นทั้งเมืองท่า ซึ่งก็ย่อมจะเป็นชุมชนเมืองหนาแน่นมาตั้งแต่ก่อนที่พระราชพงศาวดารอยุธยาจะจดบันทึกเอาไว้ว่าพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893

ดังนั้นเมื่อพื้นที่แออัด โดยเฉพาะของคนชั้นสูงถูกกาฬโรคคุกคามผู้คนล้มตายก่ายกอง ซึ่งถือเป็นอุบาทว์ และคงต้องแก้ไขด้วยพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผสมกลมกลืนระหว่างศาสนาผีกับศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ ก็จึงอาจจะเป็นที่มาของพิธีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นปีที่โรคห่าคือกาฬโรคได้บรรเทาลง

บางทีพระเจ้าอู่ทองอาจจะไม่ได้หนีโรคห่ามาจากที่ไหนก็ได้ บ้านเมืองต่างๆ ที่พระองค์จากมาหรือเดินทางผ่านในตำนานสำนวนต่างๆ คงจะเป็นเส้นทางแพร่กระจายของโรค ไม่ต่างอะไรกับการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าในปัจจุบันนี้ที่ก็แพร่กระจายจากจีน (เช่นเดียวกับในสมัยพระเจ้าอู่ทอง) ผ่านเส้นทางคมนาคม เส้นทางการค้า เช่นเดียวกับการกระจายผ่านเส้นทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในปัจจุบันนั่นเอง

ชาวเมืองตูร์แน (Tournai) ประเทศเบลเยียม ช่วยกันฝังศพเหยื่อจากการระบาดของกาฬโรคที่มีเป็นจำนวนมาก เมื่อช่วงระหว่าง พ.ศ. 1892-1895 ภาพประกอบในหนังสือ The Chronicles of Gilles Li Muisis ที่เขียนขึ้นในช่วงหลังคาบเกี่ยวกับการเกิดเหตุการณ์ระบาดของ Black Death ในยุโรป (ภาพจาก: https://www.sciencemag.org/news/2016/04/how-europe-exported-black-death)



ซากศพชนะศึก

ในบันทึกของ กาบิเอเล่ เด มุสสิ (Grabriele Dé Mussi) ทนายความจากเมืองเจนัว (Genoa) ประเทศอิตาลี ที่ได้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1891 ได้ระบุถึงการที่ทัพของชาวมองโกลได้รุกรานเข้ามาในยุโรป ที่เมืองท่าคาฟฟา (Caffa, ปัจจุบันคือเมืองฟีโอโดเซีย [Feodosia] ในประเทศยูเครน) เมื่อ พ.ศ. 1889 โดยใช้ “ศพ” ของผู้ติดเชื้อกาฬโรค เป็นอาวุธในการตีเมือง ดังนี้

“พวกตาร์ตาร์ (Tartar, หมายถึงทหารในทัพมองโกล) ที่กำลังมึนงงและนิ่งงันจากหายนะที่เกิดจากโรคนี้ (กาฬโรค) และตระหนักดีว่าพวกตนเองไม่มีหวังที่จะหนีพ้น (จากชะตากรรม) ทำให้พวกเขาหมดความสนใจในการโอบล้อมเมือง (คาฟฟา) แต่พวกเขากลับถูกสั่งให้นำศพผู้ตาย (จากกาฬโรค) เข้าประจำในตำแหน่งที่สามารถยิง หรือลอบนำเข้าไปในเมืองได้ ด้วยหมายใจให้กลิ่นที่เหม็นคละคลุ้งจนสุดทน จะฆ่าทุกคนที่อยู่ภายในเมือง สิ่งที่ดูเหมือนกับเป็นภูเขาแห่งความตายถูกโยนเข้าไปในเมือง และชาวคริสต์ (ภายในเมือง) ก็ไม่อาจจะหลบ หรือหนีจากซากศพเหล่านี้ได้ พวกเขา (ตาร์ตาร์) ได้ทิ้งศพลงไปในทะเลให้มากเท่าที่จะมากที่สุด และทันทีที่ซากเน่าเปื่อย อากาศและน้ำก็จะกลายเป็นพิษและเน่าเหม็น โดยจะมีเพียงหนึ่งในหลายพันคนเท่านั้นที่จะหนีพ้นจากซากศพของพวกตาร์ตาร์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ใครก็ตามที่ติดเชื้อร้ายนี้ไปแล้ว แค่จ้องมองอะไรก็จะสามารถแพร่พิษใส่สิ่งนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน หรือสถานที่ต่างๆ (ยัง) ไม่มีใครรู้และค้นพบวิธีการป้องกันโรคร้ายนี้”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image