ย่ำไปในดงเพลง : ปืนในมือที่ถือปืน กับเพื่อนที่ล้มลงตรงหน้า

ขอแสดงความอาลัยอย่างสูงต่อความสูญเสียที่นครราชสีมาเป็นเบื้องต้น

และได้แต่ภาวนาว่าจะเป็นครั้งเดียวหนเดียว

ถึงรู้ว่ามันเป็นไปได้ยาก

เพราะโศกนาฏกรรมเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นหนแรก ไม่ว่าในสังคมไทย หรือที่อื่นๆ

Advertisement

ไม่ว่าจะด้วยความคลั่งส่วนตัว

หรือความบ้าคลั่งของผู้มีอำนาจ

ขอย้อนหลังไปถึงโศกนาฏกรรมที่คนถือเครื่องแบบยิงชาวบ้านในรัฐ Ohio สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1970

Advertisement

สงครามเวียดนาม (ของสหรัฐ) เริ่มขึ้นเมื่อต้นทศวรรษ 1960s

ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชน นักศึกษา ปัญญาชน ชาวบุปผาชน (ที่สงครามขยายตัวขึ้น มีการเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น และจำนวนคนสหรัฐที่ตายมากขึ้นตาม)

จนกระทั่งริชาร์ด นิกสัน ขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 1974 หลังรัฐสภาสหรัฐเริ่มกระบวนการถอดถอน ด้วยต้นตอจากข่าว Watergate

และ Gerald Ford รองประธานาธิบดี ที่ขึ้นมารับตำแหน่งแทน

ประกาศยกเลิกการส่งกำลังทหารเข้าไปรบในเวียดนาม

แต่ระหว่างช่วงสงคราม (นอกบ้าน) ดำเนินไป การประท้วงต่อต้านก็เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ

มีการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายครั้ง

แต่ไม่มีหนไหนอัปลักษณ์ เลวร้าย เท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ Kent State University รัฐ Ohio เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1970

ก่อนหน้านั้นประมาณ 2 สัปดาห์ นิกสันเพิ่งประกาศนโยบายที่จะข้ามไปทิ้งระเบิดในกัมพูชา

ด้วยข้ออ้างว่าเป็นฐานให้ทหารเวียดกง

กระแสต่อต้านก็ยิ่งสูงขึ้น

เป็นช่วงเดียวกับที่นิกสันรับเชิญจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ไปกล่าวปราศรัยที่ Kent State U.

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยประกาศล่วงหน้าว่าจะรวมตัวกันประท้วงการขยายสงคราม

3 วันก่อนจะไปมหาวิทยาลัย นิกสันออกทีวีเรียกนักศึกษาที่จะมาประท้วงว่า bums (ภาษาสแลงแปลประมาณว่า กุ๊ย หรือแก๊งข้างถนน-ที่พ่อของนักศึกษาหญิงที่เสียชิวิต ออกโทรทัศน์มาตอบโต้ภายหลังเหตุการณ์ ว่าลูกของตนไม่ใช่กุ๊ยอย่างที่ผู้นำประเทศสุมข้อหามาให้ง่ายๆ)

ยิ่งเหมือนสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง

พอกระแสประท้วงรุนแรงยิ่งขึ้น ก็มีการส่งกองกำลังพิทักษ์ประเทศ (National Guard)-ก็ทหารนั่นแหละ-เข้ามาตรึงมาเผชิญหน้า

ความตึงเครียดมาปะทุเอาวันที่นิกสันกำลังจะเดินทางไปถึง

ขบวนประท้วงของนักศึกษาประจันหน้ากับ National Guard กลางมหาวิทยาลัย

แล้ว National Guard 28 นายก็ตัดสินใจลั่นกระสุนใส่ผู้ประท้วงทั้งสิ้น 67 นัด ในช่วงเวลาเพียง 13 วินาที

โดยมาอ้างในคำให้การภายหลังว่าถูกยั่วยุท้าทายก่อน

ส่งผลให้นักศึกษา 4 คนเสียชีวิต โดยหนึ่งในนั้นเป็นสตรี

อีก 9 คนได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในนั้นถึงขั้นอัมพาต

ภาพนักศึกษาหญิงที่คุกเข่าร้องไห้คร่ำครวญต่อหน้าศพเพื่อนนักศึกษาชาย ที่ถูกกระสุนพุ่งเข้าช่องปาก ล้มลงเสียชีวิตคาที่

กลายเป็นภาพข่าว Pulitzer ประจำปีนั้น

การสังหารนักศึกษา ทำให้เกิดกระแสลุกลามทั่วประเทศ

นักศึกษาจาก 450 มหาวิทยาลัย 4 ล้านคน หยุดเรียน และออกมาประท้วง

ที่ New York U. มีการแขวนป้ายผ้าข้อความว่า “พวกมันไม่มีทางฆ่าเราได้หมด” (They can’t kill us all.) ไปทั่วทุกตึกในมหาวิทยาลัย

ที่ Jackson State U. ในรัฐ Mississippi ที่เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งจุดประกายให้คนผิวดำได้เข้าเรียน และมีปัญหากับกลุ่มเหยียดผิวมาก่อนแล้ว

มีนักศึกษาเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คน บาดเจ็บอีก 12 คน

5 วันหลังจากเกิดเหตุที่ Kent State U. นักศึกษา

จากทั่วประเทศ 100,000 คน เดินทางมาชุมนุมประท้วงที่กรุงวอชิงตัน

เกิดการปะทะและเหตุรุนแรงทั่วเมือง

ถึงขั้นที่นิกสันต้องอพยพหนีไปอยู่ Camp David และระดมทหารเข้ามาตรึงอยู่ในกรุงวอชิงตัน การเผชิญหน้าดำเนินไปหลายวัน

จนกระทั่งมีการส่งตัวแทนมาเจรจา และรัฐบาลยอมแสดงท่าทีว่าอ่อนลง (จากตอนแรกที่ออกแถลงการณ์ประณามนักศึกษาที่มาประท้วงว่าเป็น “กองโจร” และทำให้ประเทศก้าวสู่ภาวะสงครามกลางเมือง)

โดยจะให้มีการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ทั้งโดยรัฐสภาและหน่วยงานรัฐบาล การประท้วงจึงค่อยๆ สลายตัว

หมายเหตุไว้ด้วยว่า ในที่สุดเรื่องนี้ก็จบลงอย่างมวยล้ม

นอกจากรายงานของรัฐสภา ที่ระบุว่านี่เป็นความผิดของ National Guard

และศาลรัฐ Ohio สั่งให้จ่ายเงินค่าเสียหาย-ค่าทำขวัญแก่ผู้ตายและผู้บาดเจ็บรวม 675,000 เหรียญแล้ว

อื่นๆ แทบไม่เกิดอะไรขึ้น

ผู้ลั่นกระสุนทั้ง 28 ราย ไม่ถูกตั้งข้อหาในคดีอาญา

ซ้ำร้ายยังมีการดำเนินคดีกับผู้จัดการชุมนุมใน Kent State U. อีก 25 คน

จนชาวบ้านต้องระดมเงินตั้งเป็นกองทุนสู้คดีให้ (คุ้นๆ ไหม)

คดียืดเยื้อไปถึงเดือนธันวาคม 1971 ศาลรัฐ Ohio จึงพิจารณายกฟ้อง

โดยระบุว่าพยานหลักฐานของฝ่ายรัฐที่เป็นโจทก์ไม่เพียงพอ (คุ้นๆ อีกเหมือนกันไหม)

Crosby Still Nash & Young จับเอาเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม มาเขียนเพลงประท้วงรัฐบาล-อย่างรวดเร็ว

Nel Young เขียนและเรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้เองทั้งหมด

ออกวางตลาดในวันที่ 21 พฤษภาคม หรือ 17 วันหลังเหตุการณ์

Ohio เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกนำออกแสดงสดบ่อยที่สุดของวงในยุคนั้น

ปี 2010 หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ยกย่องให้เป็น “เพลงประท้วงที่ดีที่สุด”

ตอนที่ออกวางตลาดใหม่ๆ สถานีวิทยุหลายแห่งงดเปิดแผ่นเพลงนี้ เพราะกลัวจะกระทบกระทั่งกับรัฐบาลนิกสัน

แต่สถานีวิทยุอีกหลายแห่งและสถานีวิทยุ “ใต้ดิน” รวมถึงหอกระจายเสียงของมหาวิทยาลัยต่างๆ กระหน่ำเปิดเพลงจนกระหึ่ม

ปี 2009 สถาบันแกรมมี่ (ของสหรัฐนะ ไม่ใช่ของไทย) จัดเพลงนี้เข้าทำเนียบหอเกียรติยศ

Ohio เป็นเพลงที่ไม่เพียงสะท้อนยุคสมัยของประวัติศาสตร์อเมริกัน

และฉายภาพ “ลัทธิคลั่งชาติ-สุดโต่ง” ของผู้มีอำนาจ กับความสูญเสียของการใช้กำล้ง (และอาวุธ) เข้าเข่นฆ่าปราบปรามผู้เห็นต่าง

แต่ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างคนสองยุค ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐ แต่เกิดขึ้นแทบทั่วโลกในขณะนั้น

ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าอีก 50 ปีให้หลัง ฉากความขัดแย้งระหว่างคนต่างยุคทำนองเดียวกันนี้ย้อนกลับมาเกิดขึ้นใหม่

ทั้งในโลกและในไทย

Tin soldiers and Nixon coming,
We’re finally on our own.
This summer I hear the drumming,
Four dead in Ohio.

Gotta get down to it
Soldiers are cutting us down
Should have been done long ago.
What if you knew her
And found her dead on the ground
How can you run when you know?

https://www.youtube.com/watch?v=TRE9vMBBe10

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image