‘Second Envi-Shop’ ร้านค้ามือสองในมหา’ลัย เปลี่ยน ‘ของเหลือใช้’ ให้เป็น ‘ความสุข’

 “การให้” มีพื้นฐานจาก “ความรัก”

“จิตอาสา” คือ หัวใจของการเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

ไม่ว่าคำไหน ผลตอบแทนที่ได้ล้วนคือความสุข และความภาคภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

ด้วยความเชื่อในพลังแห่งความรักที่เกิดจากการเป็นผู้ให้ ร้าน Second Hand Envi-Shop ร้านค้าสินค้ามือสอง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นภายใต้ความดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา สุจริตกุล หรือ “อ.โป่ง” และกำลังจะย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 7 ในศักราช 2563 นี้

Advertisement

อ.โป่งเล่าว่า ร้าน Second Hand Envi-Shop จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการลดปริมาณความต้องการซื้อสินค้าใหม่ ลดปริมาณขยะ และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยนำรายได้ไปซื้อรถวีลแชร์ รถสามล้อโยก เพื่อช่วยเหลือผู้พิการที่มีฐานะยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากแนวคิด เปลี่ยน “ของเหลือใช้” ให้เป็น “ความสุข”

Advertisement

นอกจากการปลูก “เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข” จากการเป็น “ผู้ให้” ให้อยู่ในหัวใจผู้ร่วมบริจาคสิ่งของเหลือใช้ และร่วมทำบุญนำสิ่งของเหลือใช้ไปทำให้เกิดความสุขแล้ว

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา อ.โป่งได้สร้างเมล็ดพันธุ์แห่งการ “สร้างสุข” ให้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในกลุ่มเยาวชนและผู้สูงวัยจากการได้ร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการ

กิจภาณุวัฒร์ ธนธาราคีรี หรือบอส ศิษย์เก่าคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ศึกษาปริญญาโท-เอก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด เล่าถึงความประทับใจจากการได้เป็นอาสาสมัครที่ร้าน Second Hand Envi-Shop ว่าเริ่มเข้ามาเป็นจิตอาสาที่ร้านเป็นครั้งแรกตอนเรียนอยู่ปี 3 โดยก่อนหน้านั้นเป็นลูกค้าที่ชอบมาซื้อหนังสือและเสื้อผ้า ที่รับบริจาคมาจำหน่ายในราคาถูกและคุณภาพดี และต้องการสนับสนุนการนำเงินไปช่วยเหลือผู้พิการที่ขาดโอกาสและส่งเสริมแนวคิด “ใช้ซ้ำ” เพื่อลดขยะของโลก

กิจภาณุวัฒร์เล่าต่อไปว่า สินค้าทั้งหมดที่มีในร้าน Second Hand Envi-Shop นั้น ได้จากการเปิดรับบริจาคจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มาเดินตลาดนัดวันศุกร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไม่ใช่การไปรับของมาเพื่อขายเอากำไร ดังนั้น จึงไม่มีต้นทุน

“รายได้คือ รอยยิ้มแห่งความสุขใจ ที่ได้ ช่วยคน และ ช่วยโลก เท่านี้ก็ถือว่าเป็นกำไร และประสบความสำเร็จแล้ว” กิจภาณุวัฒร์ทิ้งท้าย

นอกจากอาสาสมัครที่เป็นเยาวชนแล้ว ยังมีอาสาสมัครที่เป็นผู้สูงวัยที่มาร่วมให้ความสุขในบริเวณหน้าร้านที่ อ.โป่งจัดให้เป็นเวทีสร้างสุขด้วยเสียงเพลง ส่งเสริมในเรื่องของสุขภาวะ ป้องกันโรคซึมเศร้าในผู้สูงวัย

โดยเป็นการสร้างความสุขใจให้กับทั้งผู้ร้อง และผู้ฟังที่เข้ามาจับจ่ายเลือกซื้อสิ่งของในร้านอีกด้วย

“ถ้ามนุษย์รักมนุษย์ โลกก็จะไม่เกิดปัญหา การให้ความรักไปสู่หัวใจมนุษย์ทุกคนได้เป็นเรื่องที่วิเศษสุด” อ.โป่งกล่าวทิ้งท้ายเนื่องในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

ปัจจุบัน ร้าน Second Hand Envi-Shop ได้ขยายโครงการไปที่วิทยาเขตลำปาง ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยความหวังจะปลูก “เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข” จากการเป็น “ผู้ให้” ให้งดงามอยู่ในหัวใจของผู้คนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image