อาศรมมิวสิก : คอนเสิร์ตของวง‘RBSO’และวง‘TPO’ และบริบทความรุ่งเรืองทางดนตรี : บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ในปี พ.ศ.2563 นี้ ทางวง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) จัดตารางกำหนดการแสดงคอนเสิร์ต ตลอดปีที่ดูจะอัดแน่นทีเดียว ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจที่ใครๆ จะดูกันว่าฝืดเคือง แต่ทางวง RBSO ก็สามารถจัดการแสดงดนตรีดีๆ ให้กับแฟนๆ เพลงได้ชมกันอย่างต่อเนื่องตลอดปีไม่ขาดสาย ทั้งในลักษณะรายการเพลงคลาสสิกวงใหญ่เต็มรูปแบบ และรายการแนวบทเพลงคลาสสิกขนาดย่อม (ที่อัดแน่นด้วยเนื้อหา) มองดูจากตารางกำหนดการแสดงตลอดปีก็เห็นได้ถึงวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม, พัฒนาวงออเคสตรา ด้วยการใช้การแสดงวงขนาดย่อมในลักษณะส่งเสริมการแสดงของวงขนาดใหญ่เต็มอัตรา ซึ่งก็มองดูว่าไม่มีวิธีการใดที่จะดีไปกว่านี้ในการพัฒนาศักยภาพของวง การจัดการแสดงได้อย่างต่อเนื่องตลอดปีนั่นแหละคือวิธีการทั้งดำรงรักษาและพัฒนาให้ก้าวหน้า อีกทั้งยังแสดงถึงสถานภาพความเป็นมืออาชีพที่ไม่ทิ้งระยะการแสดงให้ห่างนานเกินไป ว่าไปแล้วนี่ก็เป็นการพัฒนาทั้งในตัวของวง RBSO เองและสำหรับแฟนๆ เพลงของวงไปด้วยกันอีก และคอนเสิร์ตในรายการ “Inspiration Landscapes” ในค่ำวันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ.2563 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมาก็มีอะไรๆ ให้เราได้เรียนรู้และน่าหยิบยกมากล่าวถึงไม่น้อยทีเดียว

ประการแรกสุดคงต้องขอชื่นชม มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) วาทยกรในคอนเสิร์ตนี้ และผู้อำนวยการดนตรี (Music Director) ที่เลือกเพลงเปิดรายการได้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือบทเพลง “Rage Over A Lost Penny” ซึ่งเดิมทีเป็นผลงานเพลงสำหรับบรรเลงเดี่ยวเปียโน “ชิ้นเล็กๆ” ของมหาดุริยกวีเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ในวัยหนุ่ม ที่นำมาเรียบเรียงให้บรรเลงด้วยวงออเคสตราขนาดใหญ่โดยนักแต่งเพลง-นักเปียโนชาวเช็กเชื้อสายยิวแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้อาภัพ “เออร์วิน ชุลฮอฟ” (Erwin Schulhoff) เขามีสายตาทางดนตรีที่แหลมคมทีเดียวในการหยิบยกบทเพลงเปียโนเล็กๆ เพลงนี้ขึ้นมาเรียบเรียงให้บรรเลงด้วยวงออเคสตราขนาดใหญ่ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่ต้องการรู้จักผลงานชิ้นเล็กๆ แต่ซ่อนคุณค่าปัญญาทางดนตรีชิ้นนี้ ด้วยตัวบทเพลงเองที่ใช้คำบรรยายลักษณะทางโครงสร้างฉันทลักษณ์ว่า “Rondo a Capriccio”ที่น่าพิจารณาให้ชัดเจนถึงแนวคิดนี้ “Capriccio” (คาพริชโช) ที่แสดงถึงความคิดอันว่องไวปราดเปรื่องด้วยปฏิภาณไหวพริบ และ “Rondo” ที่หมายถึงฉันทลักษณ์ในการแต่งเพลงที่แนวทำนองหลักจะวนกลับมาอย่างต่อเนื่องโดยมีแนวทำนองแทรก (Episode) มาคั่นแยกจากกัน

เบโธเฟนแสดงถึงอัจฉริยภาพ (เขาคู่ควรแก่คำนี้อย่างแท้จริง) ในวัยหนุ่มในบทเพลงนี้ด้วยการแสดงออกถึงความเป็นนายเหนือโครงสร้างฉันทลักษณ์ (Master of Form) เราจะพบว่าเบโธเฟนแทบจะไม่ได้แสดงออกถึงทำนองแทรก (Episode) ใดๆ ที่เด่นชัดในบทเพลงนี้ หากแต่เขากลับใช้ตัวแนวทำนองหลัก (Rondo) นั้นเองที่มาผันแปรแล้วทำหน้าที่เสมือนเป็นแนวทำนองแทรกไปในตัวเอง ในด้านหนึ่งมันจึงฟังดูคล้ายบทเพลงในโครงสร้างแบบ “Variations” (เพลงแปรทำนอง) บางครั้งแนวทำนองหลักเองก็ได้รับการพัฒนารูปแบบเปลี่ยนบันไดเสียงไปในบันไดเสียงอื่นๆ สร้างสีสันทางเสียงอันหลากหลายได้ราวกับเป็นช่วงพัฒนาการ (Development) ในฉันทลักษณ์โซนาตา (Sonata Form) เมื่อเราเปิดใจสบายๆ และ “ฟังด้วยหู” อย่างแท้จริงแล้ว จึงสัมผัสได้ว่ามันรวมแนวคิดเชิงฉันทลักษณ์ทางดนตรีไว้ได้ถึง 3 แบบในเพลงเดียวกันคือ Rondo หรือ Variations หรือแม้แต่จะเป็น Sonata ผสานสนิทเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นี่ต้องบอกว่า ถ้าไม่ใช่เบโธเฟน แล้วใครจะทำได้ ดูช่วงเวลาแต่งเพลงแล้วบทเพลงนี้แต่งขึ้นในวัย 20 ต้นๆ ยิ่งถ้าได้ฟังในฉบับดั้งเดิมที่บรรเลงด้วยเปียโนแล้วก็จะยิ่งรู้สึกได้ถึงลักษณะปฏิภาณกวี (Improvisation) ที่เต็มเปี่ยม มันคือกิตติศัพท์อันเลื่องลือของเขาในวัยหนุ่มถึงความสามารถในการพลิกแพลงทำนองหลักต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจรวดเร็วและว่องไวในการบรรเลงเปียโนของเขา เขาทำมันได้คล่องแคล่วลื่นไหลเป็นธรรมชาติก่อนที่โลกนี้จะรู้จักกับดนตรีแจ๊ซ (Jazz) ด้วยซ้ำไป

ขอปรบมือแรงๆ ดังๆ ให้กับมิเชล ทิลคิน ที่มีสายตาทางดนตรีอันแหลมคมที่ได้หยิบยกบทเพลงเล็กๆ แต่เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพชิ้นนี้มาตีแผ่ต่อโสตประสาทของพวกเราในครั้งนี้

Advertisement

ผู้เขียนไม่อายที่จะบอกว่าบทเพลง “Scottish Fantasy” สำหรับบรรเลงเดี่ยวไวโอลินร่วมกับวงออเคสตราของ “มักซ์ บรูค” (Max Bruch) ที่เลือกมาแสดงในครั้งนี้ เป็นการฟังจากการแสดงสดเป็นครั้งแรกในชีวิตหลังจากฟังจากแผ่นเสียงมานานหลายสิบปีด้วยความหลงใหลและใฝ่ฝันว่าเมื่อใดจะได้ฟังมันจากการแสดงสดๆ จริงๆ สักที แม้จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจเหตุผลว่าเหตุใดบทเพลงนี้จึงอาภัพอับโชคเหลือเกินเมื่อเทียบกับบทเพลงแนวไวโอลินคอนแชร์โตโรแมนติกด้วยกัน เราแทบจะไม่พบเห็นศิลปินเดี่ยวไวโอลิน หรือวงออเคสตราใดๆ บรรจุมันไว้ในการแสดงสดเสมือนกับคอนแชร์โตอื่นๆ ทั้งๆ ที่มันเต็มเปี่ยมไปด้วยแนวทำนองอันไพเราะ และสำนวนดนตรีไวโอลิน (Violinistic) ที่กินใจ จะเหตุผลใดก็ช่างมันเถิด ในครั้งนี้ทางวง RBSO ได้เลือกสรรมาให้เราฟังกันจริงๆ แล้ว
“บอริส เบลคิน” (Boris Belkin) ศิลปินเดี่ยวไวโอลินรุ่นเก่า-เก๋ากึ๊กชาวรัสเซีย รับหน้าที่ศิลปินเดี่ยวในครั้งนี้ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเขาในเมืองไทย ผู้เขียนเองจงใจแกล้งใช้คำว่า “รุ่นเก่า-เก๋ากึ๊ก” กับเขา เพื่อต้องการที่จะเน้นว่า เขาไม่ใช่ศิลปินที่แก่แล้วเลอะเทอะ หรือหมดสภาพ แล้วมาใช้บุญเก่าหากิน ชื่อนี้ (บอริส เบลคิน) เป็นชื่อที่เราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ระดับโลก” แน่นอนที่สุดระดับโลกในอดีตหลายต่อหลายคน แก่แล้วหมดสภาพเหลือแค่ชื่อให้จดจำ (บางคนเป็นวาทยกรแก่แล้วยังไม่สามารถเป็นผู้นำความคิดทางดนตรีได้ ทำได้ก็แค่มายืนโบกไม้บาตองหน้าเวทีเท่านั้น) แต่เราไม่อาจพูดได้เลยว่า บอริส เบลคิน จัดอยู่ในจำพวกนั้น ในการกล่าวถึงศิลปะแห่งการตีความทางดนตรีของเขา มันดูจะเขลาเกินไปหากเราจะลุ่มหลงกับเขาจนไม่อาจใช้ปัญญาในการมองศิลปะการตีความของเขาให้เห็นความจริงรอบด้าน

ผู้เขียนขอบอกว่ามิได้ชื่นชมการตีความของเขาไปเสียทั้งหมดทุกอย่าง หากแต่เขาได้พิสูจน์แล้วว่าเขามีแนวทางในการตีความดนตรีในแบบของเขาที่ชัดเจนและเตรียมการมาเป็นอย่างดี ถึงเราจะไม่เห็นด้วย (หรือชื่นชอบ) ไปเสียทั้งหมด แต่เขาได้นำเสนอถึงความเป็นไปได้ทางดนตรีอื่นๆ ให้เราได้พิจารณาเพิ่มมากขึ้นอีก

สิ่งที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยในแนวทางการตีความทางดนตรีของเขาบ้างก็คือ การแสดงออกในเชิงภูมิปัญญาและรสนิยมที่เต็มไปด้วยความพอเหมาะพอดีทุกกระเบียดนิ้วของเขา มันเป็นความดีเป็นรสนิยมที่บางชั่วขณะก็แทบจะกระเดียดไปในเชิงเฉยเมยในอารมณ์ (แต่ไม่ถึงกับคำว่าเย็นชาหรือแห้งแล้ง) นี่เป็นตัวตนของเขาอย่างแท้จริง บางครั้งการฟังบทเพลงในลักษณะแบบ “แฟนตาซี” ในผลงานชิ้นนี้ เราก็คาดหวังน้ำเสียงที่มาจากหัวใจที่อ่อนโยน (หรือแม้แต่จะอ่อนไหว) มากกว่ากระแสเสียงที่หลั่งไหลออกมาจากสมองอย่างเป็นระบบ ในบทเพลงที่แนวทำนองหลักมาจากเพลงพื้นบ้านเช่นนี้ ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงคำสอนของ “เจ๊เลนนี่” (Leonard Bernstein) ดุริยกวีและวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ที่เขามักจะกล่าวเอาไว้ในหลายกรรม-หลายวาระในใจความเดียวกันที่ว่า จงอย่าทำเพลงพื้นบ้าน หรือเพลงข้างถนน ให้มันฟังดูสะอาดสะอ้านจนเกินไป (โดยเฉพาะในตอนที่เขากล่าวถึงการตีความซิมโฟนีของ Gustav Mahler)

Advertisement

ในเพลง “Scottish Fantasy” นี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผู้เขียนคาดหวัง “กลิ่น” และ “รสชาติ” ของดนตรีพื้นบ้านที่ควรจะคงสภาพไว้ให้เรารับรสเดิมได้บ้าง

แม้จะมีเรื่องไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง แต่เรื่องที่เราเรียนรู้ได้จากเขา (Boris Belkin) ก็มีมากมายเหลือเกิน และก็เป็นเรื่องที่งดงามด้วยทั้งสิ้น นับแต่การเปิดการบรรเลงเดี่ยวขึ้นมาตอนต้นในลักษณะร่าย (Recitative) ที่ฟังดูว่านี่คือการเปิดตัวของกวีโบราณผู้เปี่ยมด้วยปัญญา มากกว่าอารมณ์ ช่วงนี้ก็เสมือนกับการเปิดตัวนาง “Scheherazade” ในบทเพลงของ “ริมสกี คอซาคอฟ” แต่นี่คือการเปิดตัวของผู้เล่าเรื่องที่เป็นเพศชาย ซึ่งบุคลิกภาพทางไวโอลินของบอริส เบลคิน ก็ดูจะเหมาะสมทีเดียว เราพอจะพูดได้ว่าเขาเป็นนักไวโอลินสายคลาสสิก มากกว่าที่จะเป็นสายโรแมนติก และถ้าจะเรียนรู้ถึงคำว่ารสนิยมอันดีทางดนตรีแล้ว บอริส เบลคิน คือครูชั้นดีของพวกเราทีเดียว

ตลอดบทเพลงนั้นเขาไม่เคยหลุดออกไปจากคำว่า “สง่างาม” (Graceful) เลยจริงๆ และก็คงต้องขอชมบทบาทของมิเชล ทิลคิน ในบทเพลงนี้เป็นอย่างสูงโดยเฉพาะเรื่องการควบคุมสมดุลทางเสียงไม่ให้เสียงของวงไปบดบังหรือกลบเสียงไวโอลินของ บอริส เบลคิน เรื่องนี้เด่นชัดในหลายช่วง เพราะ “มักซ์ บรูค” ได้สลับบทบาทให้ไวโอลินไปเล่นทำนองเสริม (Counter Melody) ในขณะที่วงใหญ่กำลังบรรเลงทำนองหลัก ที่จับสังเกตได้ว่า มิเชล ทิลคิน ระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษและมันก็ส่งผลดีโดยภาพรวมอย่างแท้จริง

เรื่องการไม่เห็นด้วยในบางด้านของการตีความ (ของบอริส เบลคิน) ก็แค่สะท้อนความจริงทางดนตรีธรรมดาๆ ที่ว่า เราไม่สามารถรับการตีความทางดนตรีที่ดีเยี่ยมไปหมดทุกอย่างได้ในการฟังดนตรีเพียงครั้งเดียว การบรรเลงหรือตีความดนตรีในแต่ละครั้ง ก็จะแสดงความงาม หรือความจริงได้เพียงบางด้านเท่านั้นเอง และสำหรับบทเพลงสุดท้ายของรายการคือซิมโฟนีหมายเลข 3 (Rhenish) ของ “โรเบิร์ต ชูมันน์” (Robert Schumann) นั้น สัมผัสได้ชัดเจนว่าวง RBSO (ที่ยังมีนักดนตรีในวัยหนุ่มสาวละอ่อนอยู่ไม่น้อย) นั้นถูก “นวด” มาเป็นอย่างดี

เขาทำให้ซิมโฟนีแห่งแม่น้ำไรน์บทนี้เปี่ยมไปด้วยกระแสลมพัดโชยอย่างชื่นใจและสัมผัสได้ถึงระลอกคลื่นอ่อนๆ บนผิวน้ำ เขายังแสดงให้เห็นถึงแนวทางการตีความบทเพลงนี้ว่ามันควรจะเป็นไปในทิศทางใดหรือพอเหมาะ-พอควรอย่างไรในเมื่อมันเป็นผลงานในลักษณะ “กึ่งบรรยายเรื่องราว” (Quasi Program Music)

หลังคอนเสิร์ต RBSO ผ่านไป 1 สัปดาห์ ก็มีคอนเสิร์ตของวง TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) แสดงกันในค่ำวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร วง TPO มีความทะเยอทะยานทางศิลปะดนตรีอย่างสูงโดยชัดเจน มักจะนำดุริยางคนิพนธ์ที่สูงด้วยเทคนิคและหาฟังยากมานำเสนอต่อแฟนเพลงอยู่เสมอๆ แต่ในครั้งนี้มีการเบาเครื่องลงมานำเสนอบทเพลงในลักษณะกึ่งบทเพลงเกร็ดที่ฟังสบายๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ คือ Romance, บทเพลง Mazurek ของ “อันโตนิน ดวอชาค” (Antonon Dvorak) และบทเพลง Poem ของ Ernest Chausson สำหรับบรรเลงเดี่ยวไวโอลินในครึ่งแรก บรรเลงเดี่ยวไวโอลินโดย “Emmanuele Baldini” ที่ก็ไม่มีอะไรให้กล่าวถึงมากนัก (ตัวบทเพลงที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการตีความในเชิงลึกใดๆ)

แต่ในครึ่งหลังนี่เองที่มีการ “ปล่อยของ” อย่างน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากบทเพลง “Serenade for Strings” ของ อันโตนิน ดวอชาค ผ่านพ้นไปแล้ว ทางวงคัดเลือกบทเพลงเอกของรายการคือ “Poem of Ecstasy” ของ “อเล็กซานเดอร์ สเครียบิน” (Alexander Scriabin) ที่จัดว่าเป็นบทเพลงระดับโหดหินสำหรับวงออเคสตราทีเดียว และที่สำคัญก็คือเต็มไปด้วยการบรรเลงเดี่ยวทรัมเป็ตที่เล่นบทบาทสำคัญอันแสนจะยากเย็นอีกด้วย “อัลฟอนโซ สการาโน” (Alfonso Scarano)วาทยกรในครั้งนี้ควบคุมระเบียบวินัยในการบรรเลงได้อย่างไร้ปัญหาเหมือนเคย

แต่ที่จะต้องกล่าวถึงอย่างพลาดไม่ได้ก็คือ แนวการบรรเลงเดี่ยวทรัมเป็ตที่บรรเลงโดย นิติภูมิ บำรุงบ้านทุ่ม หัวหน้ากลุ่มทรัมเป็ตของวงที่บรรเลงได้อย่างงดงามน่าทึ่ง หลับตาฟังเสียงอาจทำให้เรานึกว่านี่คือเสียงจากนักเป่าทรัมเป็ตจากวงออเคสตราระดับนานาชาติ ซึ่งก็ไม่ผิดพลาดเลย เพราะตอนนี้เขาผ่านการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มทรัมเป็ตคนใหม่ของวง “ฮ่องกงฟิลฮาร์โมนิก” (Hongkong Philharmonic Orchestra) ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกที่ประกอบไปด้วยหัวหน้ากลุ่มนักดนตรีในทุกกลุ่ม (Principal) ของวงและต้องบรรเลงต่อหน้า “Jaap van Zweden” ผู้อำนวยการดนตรีคนปัจจุบันของวง

นี่คือข่าวที่น่ายินดียิ่งสำหรับวงการดนตรีบ้านเรา มันคือสัญญาณแสดงถึงความก้าวหน้าของวงการ ก้าวย่างสำคัญเข้าสู่วงการระดับนานาชาติ ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วไม่ไกลเกินหวังที่พวกเราน่าจะคอยลุ้นให้เขาก้าวต่อไปสู่การได้รับตำแหน่งประจำในวงออเคสตราใหญ่ๆ ของโลก ในแบบที่ “ณัฐพงษ์ วีระพันธุ์” นักทรัมเป็ตรุ่นพี่ที่สอบติดเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานของวง “ชิคาโก ซิมโฟนีออเคสตรา” (CSO) ไปแล้วเมื่อปีก่อน (ในตำแหน่ง “On Call”) อย่าเสียดายบุคลากรทางดนตรีชั้นยอดแบบนี้ไปให้กับวงออเคสตราระดับนานาชาติเลย ดนตรีเป็นเรื่องของบริบทและสิ่งแวดล้อมด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้

สมัยก่อนผู้เขียนเคยได้ยินว่าต้นกุหลาบที่ปลูกบนดอย, อากาศหนาวเย็น จะออกดอกที่ใหญ่โตสีสันสวยสดงดงามมากเป็นพิเศษ ครั้นพอเราย้ายเอาต้นเดียวกันนั้นเอง ลงมาปลูกข้างล่างในที่ราบก็กลับออกดอกที่มีขนาดเล็ก ดูธรรมดาๆ ดาษดื่นไป ซึ่งเรื่องดอก-ผล, การเจริญเติบโตทางดนตรีนั้นก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image