ณัฐนันท์ คุณมาศ : EU, Brexit, อังกฤษ และชาตินิยม กับเรื่องหลังม่านการฉีกตัวออกจากสหภาพยุโรป

การทำประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกอีกครั้งเมื่อผลปรากฏว่าสหราชอาณาจักรตัดสินใจแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรปหลังเข้าร่วมมา 43 ปี-นับตั้งแต่วันที่สหภาพยุโรปยังเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรป

จะค้านความคิดหรือเห็นด้วยกับผลที่เกิดขึ้นนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่จำเป็นต้องพูดถึงคืออะไรที่เป็นเหตุให้เกิดความเคลื่อนไหวครั้งนี้ จนเป็นที่มาของการรวมคำอย่าง Britain และ Exit เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นศัพท์ใหม่อย่าง Brexit

แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้นประเด็นทางเศรษฐกิจที่หลายคนหวาดหวั่น ควบรวมไปถึงความกดดันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะไล่รดต้นคอมาในภายหลัง

ณัฐนันท์ คุณมาศ คือหนึ่งในคนที่ตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ในฐานะที่เธอเองสนใจ ติดตามและศึกษาเรื่องนี้มานาน

Advertisement

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านยุโรปศึกษา ภาควิชานโยบายสาธารณะยุโรป มหาวิทยาลัยลีดส์ ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านการเมืองการปกครองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ

เธอยิ้มน้อยๆ เมื่อถูกถามถึงที่มาของการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร

ก่อนจะเริ่มตอบคำถามอย่างค่อยเป็นค่อยไปและชัดเจนในทุกคำตอบ

Advertisement

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้สหราชอาณาจักรตัดสินใจโหวตออกจากสหภาพยุโรป?

จริงๆ แล้ว ตอนแรกเราจะรู้สึกว่า 5 วันสุดท้ายก่อนการลงคะแนน อังกฤษน่าจะยัง Remain หรืออยู่ต่อ เพราะว่าเรามีเครื่องมือยุคใหม่ที่สรุปผลได้รวดเร็ว คือ โพล และโพลที่ลงออนไลน์ อย่างไรก็ตาม โพลของฝ่ายอยู่ต่อ ก็นำฝ่ายออกนิดเดียว คือประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้น ซึ่งปัจจัยแทรก อย่างการลอบสังหาร โจ ค็อกซ์ สมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ ก็น่าสนใจว่าชี้นำให้โพลฝ่ายอยู่ต่อขึ้นนำ ทำให้มีกระแสว่า ยังไม่ทันจะลงประชามติเลยแต่เห็นภาพความรุนแรงที่ได้รับอิทธิพลจากการคลั่งชาติแล้ว แต่ท้ายที่สุดแล้ว การลงคะแนนของบริเวณทางเหนือที่ปัจจัยโจ ค็อกซ์ น่าจะมีอิทธิพล ก็ไปทาง Leave หรือออกมาอยู่ดี ดังนั้น แพตเทิร์นหรือรูปรอยของโพล มันยากที่จะฟันธงจริงๆ มันต่างจากการโหวตว่าสกอตแลนด์จะอยู่ต่อในสหราชอาณาจักรหรือไม่ เมื่อสองปีที่แล้ว ที่ฝ่ายอยู่ต่อจะนำมาโดยตลอดในโพล

การตัดสินใจโหวตออก สาเหตุอีกอันหนึ่งคือ การรณรงค์ของฝ่าย Remain โดยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ที่มาค่อนข้างช้าในเรื่องการพยายามที่จะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้นว่าสหภาพยุโรปทำอะไรให้ประเทศบ้างในสี่ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยประชาคมยุโรป คือการรณรงค์ของฝ่ายอยู่ต่อเป็นการโต้กลับในไอเท็มเดียวกันกับฝ่ายที่อยากออก ตัวอย่างเช่นมันจะมีภาวะช็อกอย่างไรบ้างในระยะแรกถ้าออก ซึ่งฝ่ายที่ให้ออกจากสหภาพยุโรปก็จะยึดข้อมูลชุดหนึ่งบอกว่า ถ้าออกก็ไม่เป็นอะไรหรอก แค่เศรษฐกิจอาจจะช็อกนิดหนึ่งแต่เดี๋ยวเราก็ปรับตัวได้ คือใช้ไอเท็มเดียวกันมาคุย เพราะฝั่งที่ให้อยู่สหภาพยุโรปต่อก็บอกว่า ไม่ได้นะ ถ้าออกเนี่ยเราจะเสียหายหลายแสน บ้านเมืองวุ่นวาย มันไม่ได้ให้ทางเลือกใหม่และองค์ความรู้ใดๆ แก่ประชาชนเลย

แต่ช่วงท้ายฝ่ายที่โหวตให้อยู่สหภาพยุโรปต่อเริ่มพูดแล้วว่า เฮ้ย! สหภาพยุโรปมีแพคเกจให้เรานะ ซึ่งปีที่แล้วคือปี 2015 เดวิด คาเมรอน เดินสายไปประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตลอด เพื่อที่จะซาวเสียงว่า ถ้าฉันจะทำประชามติจะเป็นอย่างไร มีการซาวเสียงตลอด แล้วสมาชิกสหภาพยุโรปก็ค่อนข้างใจดีกับประเทศอังกฤษมาก คือได้คุยกับประธานของยุโรป นายโดนัลด์ ทัสค์ เขาบอกว่า ให้แพคเกจอภิสิทธิ์มากมายมหาศาล และเป็นไอเท็มที่พุ่งเป้าจะจัดการกับความกลัวของคนอังกฤษ คือ สิทธิในเรื่องผู้อพยพกับนโยบายทางการเงิน

 

เป็นความพิเศษแบบไหนที่ทัสค์มอบให้อังกฤษ?

ในเรื่องผู้อพยพ แพคเกจพิเศษคือ emergency brake คือขณะที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องช่วยกันรับภาระผู้อพยพ ประเทศอังกฤษสามารถชะลอกำหนดอัตราได้อีกสี่ปี แบบนี้เป็นต้น

สองคือเรื่องเงินอันเกี่ยวพันกับวิกฤตหนี้ สหภาพยุโรปก็บอกประเทศอังกฤษว่าเธอก็ไม่ต้องใช้เงินยูโรหรอก เธอก็ใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงของเธอต่อไป แล้วก็อะไรที่เธอเคยช่วยจ่าย ช่วยอุ้ม อย่างกรีซ ซึ่งน้อยมาก (เมื่อเทียบกับเยอรมนี) เราจะค่อยทอนคืนให้ด้วยนะ

สาม อังกฤษชอบบอกว่าสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบมากมายมหาศาล ทำให้เศรษฐกิจประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นระบบเสรีมากๆ ไม่ได้ไหลลื่นอย่างที่อังกฤษอยากให้เป็น สหภาพยุโรปก็เลยบอกว่า เดี๋ยวฉันจะให้เธอดีไซน์ ออกแบบนโยบายการแข่งขันทางการค้า (Competition policy) ซึ่งเป็นนโยบายร่วมแรกของอียูตั้งแต่หลังสงครามโลก ออกแบบเอง ใช้คำว่า Custom-made competition policy

อีกเรื่องซึ่งสำคัญมากก็คือ เดิมทีในการอยู่ในสหภาพยุโรป กฎข้อบังคับของสหภาพยุโรปมีอำนาจมาก โดยมีหลักการอยู่สองประการคือ กฎของสหภาพยุโรป ข้อบังคับใช้ได้โดยตรงกับประเทศสมาชิก หรือเรียกว่า Direct effect และสอง ถ้ามีคดี กรณีที่กฎหมายภายในประเทศนั้นๆ ขัดกับกฎหมายของสหภาพยุโรป กฎหมายของสหภาพยุโรปจะชนะ หรือ supremacy of EU law ดังนั้น

สิ่งนี้จึงเป็นความกังวลที่มีมาโดยตลอดและยาวนานกว่าเรื่องผู้อพยพกับวิกฤตหนี้

ด้านหนึ่งเราว่ามันไม่ยุติธรรมกับประชาชนที่ไม่รู้นะ สหภาพยุโรปได้ให้เงินสนับสนุนมากมายมหาศาลกับสหราชอาณาจักร แล้วถ้าเราดูผลโหวต จะพบว่าบริเวณสกอตแลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ เขาอยากจะอยู่ต่อในสหภาพยุโรปมากกว่า เพราะว่าสหภาพยุโรปเขาให้เงินโดยตรงไปพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นได้เลย ดังนั้น ด้วยหน่วยหรือองคาพยพที่มันแคบ คนที่อาศัยอยู่ในสกอตแลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ เค้ารู้ว่าอียูทำอะไร แต่บริเวณอังกฤษเอง มันเป็นรัฐเดี่ยว รวมศูนย์ สภาเวสต์มินสเตอร์ดังนั้นได้อะไรมา ก็จะมาในลักษณะที่ ส.ส. พูดกับประชาชนว่า ฉันไปสู้เพื่อประชาชน เพื่อพวกเธอมานะ คือไม่ได้บอกที่มาของมัน จนนำมาสู่คำถามที่ว่าสหภาพยุโรปให้อะไรคนอังกฤษบ้าง

หลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยกับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร มองว่าคนที่ควรรับผิดชอบต่อเรื่องนี้คือใคร?

เราว่าก็ต้องโทษทุกภาคส่วนนะ ไม่ใช่โทษคนที่โหวตออกอย่างเดียว เพราะตอนนี้มันมีกระแสกล่าวโทษคนที่โหวตออกว่าแย่ เต่าตุ่น เต่าล้านปี คือถ้าจะโทษจริงๆ ก็โทษได้ทุกคนเลยนะเราว่า

แล้วเอาจริงๆ ที่เราอยากโทษมากเลยคือสื่ออังกฤษนี่แหละ เพราะว่าธรรมชาติของการเสพข่าวคนอังกฤษนั้นไม่เหมือนคนยุโรปภาคพื้นทวีป ธรรมชาติเขาเหมือนคนไทย คือเวลาอ่านข่าวเขาอ่านแทบลอยด์กัน คืออ่านหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ดังนั้น แทบลอยด์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเทเลกราฟ, เดอะ ซัน, เดลี่เมล์ หรือไทม์ส พวกนี้มันเป็นเครือเมอดอค เดสมอนด์ ไม่ได้มีพื้นฐานหรือคอมเมนต์อะไรว่าสหภาพยุโรปดีมานานแล้ว แต่พอผลออกมาว่าสหราชอาณาจักรโหวตออกจากสหภาพยุโรปเท่านั้นแหละ พวกนี้ก็ตีข่าวว่าคนอังกฤษโง่งม ทั้งที่จริงๆ ตัวเองล้มเหลวในการนำเสนอว่าสหภาพยุโรปคืออะไร เราถึงบอกว่าต้องโทษสื่อก่อน

 

แต่คนที่โหวตให้ออกจำนวนมากคือผู้สูงอายุ?

มีกระแสว่าพวกคนแก่ อายุเยอะๆ แล้วทำอนาคตคนหนุ่มสาวแย่ คือเราต้องคิดนะว่า Voter turnout หรือการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แค่ 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับกรณีประชามติสกอตแลนด์ที่เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ คนที่มันจะพลิกผลให้เป็น Remain หรืออยู่ต่อในสหภาพยุโรป ไม่ยอมไปโหวต เราอาจยกเหตุผลที่และไม่ convincing นะ ว่าวันนั้น วันลงประชามติ ฝนตก น้ำท่วม รถไฟก็หยุดไปหลายสาย ในบริเวณที่มีแนวโน้มจะโหวตให้อยู่ ก็คือคนรุ่นใหม่เนี่ยแหละ แต่วัยรุ่นเองก็ไม่ได้เห็นหรือรู้สึกว่าสหภาพยุโรปสำคัญกับชีวิตนัก ถึงขั้นที่จะลุยฝนไปไง ถึงในใจพวกเขาจะอยากให้อยู่ต่อก็เถอะ ถึงบอกว่าต้องโทษทุกคน กระทั่งชนชั้นนำเองก็ด้วย ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสหภาพยุโรปเลย

 

ทั้งที่ก็อยู่ในสหภาพยุโรปมานาน?

ใช่ พวกชนชั้นนำมีความรู้เกี่ยวกับสหภาพยุโรปน้อยทีเดียว

ในประวัติศาสตร์ จะมีความขบถของประเทศอังกฤษตลอดที่จะไม่ยอมรับนโยบายของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ที่มีการขอเงินคืนที่เคยจ่าย เป็นต้น ก็ทำกันมาแล้ว

 

มองว่าอำนาจของสหภาพเองมันไปกดอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศด้วยไหม จากนโยบายเศรษฐกิจเสรี?

เราว่าประเทศอังกฤษมีความเป็นเศรษฐกิจเสรีมากกว่าประเทศสมาชิกยุโรปอื่นเสียอีก ในอดีตทะเลาะกันมาบ่อย เพราะระบบเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังมีกลิ่นอายแบบรัฐสวัสดิการนิดๆ อุ้มแรงงาน เป็นต้น แต่ว่าประเทศอังกฤษสมัยแทตเชอร์นี่ปราบแรงงานในประเทศเขาเสียราบคาบเลย แทตเชอร์นี่พยายามที่จะบอกว่า สหภาพยุโรปนั้นมีความเป็นสังคมนิยมเกินไปด้วยซ้ำ แทตเชอร์ไม่อยากให้มีการบรรจุข้อบัญญัติทางสังคม เรื่องที่เป็นต้นว่าสิทธิในการนัดหยุดงานประท้วง แทตเชอร์ไม่โอเคเลย เพราะตัวเองปราบแรงงานในประเทศได้แล้วแต่ว่าดันมาเจอยิ่งกว่าในประชาคมยุโรปอีก

แต่สิ่งที่ประเทศอังกฤษกลัวมาเนิ่นนานคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีผลทันทีที่มีคดีความอะไร ประเทศอังกฤษก็แพ้ตลอด หรือภาคธุรกิจอังกฤษเวลาฟ้องร้องก็แพ้ แล้วก็ความกลัวที่เป็นความกลัวเฉพาะหน้าคือเรื่องเงินและเรื่องผู้อพยพ ทั้งที่จริงๆ แล้วเศรษฐกิจและการบริหารงานของอังกฤษเองก็รัน ก็ขับเคลื่อนโดยผู้อพยพนะ (ยิ้ม)

 

ผู้อพยพมีส่วนในการขับเคลื่อนอังกฤษอย่างไร?

เพราะผู้อพยพนั้นมีมาตั้งนานแล้วค่ะ มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกแล้ว หลังสมัยอาณานิคม หลังสงครามโลก รวมถึงพวกสงครามอ่าว หรือเมื่อยูโกสลาเวียแตก อะไรทำนองนี้ เพียงแต่ผู้อพยพเหล่านั้นอาจไม่ใช่มุสลิมจำนวนมาก และอันเป็นผลจากการปฏิวัติอาหรับหรืออาหรับสปริง เหมือนในขณะนี้

ปัจจุบันมันก็มีกระแสว่าผู้อพยพที่มาอยู่ก่อนก็โหวตออกจากสหภาพยุโรปเพื่อกันผู้อพยพมาใหม่ เพราะผู้อพยพที่มาอยู่ก่อนเขาขับเคลื่อนทุกอย่างมานานแล้ว

 

เป็นไปได้ไหมว่าเพราะสหราชอาณาจักรไม่ได้แนบแน่นกับสหภาพยุโรปมากนักเลยออกมาง่ายหน่อย?

เป็นไปได้เหมือนกันนะคะ ระดับในการรับนโยบายมันแตกต่างกัน อาจจะด้วยสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ด้วยที่ทำให้ประเทศอังกฤษโหวตออก เรื่องภูมิศาสตร์ก็อาจจะพูดยากหน่อยเพราะอย่างประเทศไอร์แลนด์ก็เป็นเกาะเหมือนกันแต่เขาก็อยากอยู่ในสหภาพยุโรปต่อ แต่เรื่องประวัติศาสตร์ ลักษณะความเชื่อมั่นในความเป็นเจ้าอาณานิคมของประเทศอังกฤษ หรือการเป็นผู้ชนะสงครามแล้วตัวเองเสียหายน้อยเมื่อเทียบกับประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี

คือประเทศอังกฤษนี่เขาขอออกจากสหภาพ แต่อยากให้เป็นเหมือนเดิม เราก็ไม่เข้าใจ เหมือนเลิกกันแต่เป็นเพื่อนกันได้อะไรแบบนี้เหรอ แต่อันนี้ปรบมือข้างเดียวมันไม่ดังนะ ต้องถามว่าเค้าอยากเป็นเพื่อนต่อรึเปล่า (หัวเราะ)

 

ทำไมสหราชอาณาจักรถึงมีท่าทีแบบนั้นต่อสหภาพยุโรป?

เพราะผลประโยชน์แหละ ประเทศอังกฤษเป็นเหมือนเอาขาแหย่ไปในสหภาพยุโรปข้างเดียวมาตลอดอยู่แล้ว อะไรที่ตัวเองได้ประโยชน์ อย่างตลาดเสรีก็เอา แต่ถ้าเรื่องการเกษตรซึ่งตัวเองไม่ได้เพาะปลูกเยอะ ก็จะไม่อยากช่วย (ยิ้ม)

 

พูดได้ไหมว่าเพราะความชาตินิยมมากๆ ของประเทศอังกฤษทำให้เขาโหวตออก?

ใช่ การฟื้นขึ้นมาของชาตินิยมจนค่อนไปทางคลั่งชาติ เชื่อในตัวเองมากๆ ของอังกฤษ

 

ถ้าสหภาพยุโรปคือความพยายามรวบรวมความหลากหลายไว้ด้วยกัน การที่ประเทศอังกฤษออกมาแบบนี้สะท้อนว่าอังกฤษเองไม่เชื่อมั่นในความหลากหลายไหม?

ใช่ค่ะ มีผล แล้วกระแสชาตินิยมก็รุนแรงขึ้นด้วย

 

ทำไมชาตินิยมรุนแรงขึ้น?

ชาตินิยมมีอยู่แล้ว คือชาตินิยมที่ค่อนไปทางคลั่งชาติมันอันตราย เป็นเครื่องมือไปต่อต้านคนอื่นหรือความเป็นอื่น

ประกอบกับ แม้ประเทศอังกฤษจะไม่ได้ใช้เงินยูโรก็ตาม แต่ก็เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจชะงัก หรือ credit crunch เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตแบบนี้ก็จะมีการหาแพะ (ยิ้ม) ว่าใครเป็นตัวถ่วง ก็ต้องเป็นคนอื่น คนที่ไม่ใช่เรา พอมาประกอบกับซีเรียหรือผู้อพยพ ก็จุดกระแสชาตินิยมขึ้นมาอีก

เพราะในแคมเปญของฝ่ายโหวตออก ก็ใช้รูปคนซีเรียเดินเป็นกลุ่มๆ เข้ามาในยุโรป

 

การที่ประชามติเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเปราะบางแบบนี้จะส่งผลอะไรรุนแรงไหม?

มีผลนะคะ เพราะตัวประเทศอังกฤษเองก็มีปัญหา แล้วก็มีผลต่อประเทศไทยเราสำหรับพวกเก็งกำไรระยะสั้น แล้วในระดับยุโรป ก็ไปปลุกกระแสที่อยากจะทำตามประเทศอังกฤษโดยพรรคขวาจัด แม้แต่ในประเทศที่ปั้นอียูมากับมืออย่างฝรั่งเศส

 

อนาคตมีแนวโน้มที่สกอตแลนด์จะแยกออกมาจากอังกฤษไหม แล้วจะสมัครเข้าสหภาพยุโรปใหม่ได้ไหม?

มีอยู่แล้วค่ะ แต่จะเข้าสหภาพยุโรปนั้นก็ต้องมีการสมัครใหม่ ใช้ระยะเวลาการเจรจา

 

ภาษาที่จะไม่ใช้ภาษาอังกฤษแล้ว?

คือเดิมมีประเทศอังกฤษกับไอร์แลนด์ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ภาษาหลักอีกต่อไปแล้ว ซึ่งก็ลำบากสำหรับประชาคมโลก ในการเข้าใจสหภาพยุโรปมากขึ้น แต่เค้าน่าจะคงการทำข่าวประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกด้วยภาษาอังกฤษอยู่

 

ระยะยาว 5-10 ปีจากนี้ สหภาพยุโรปและอังกฤษเองจะเป็นอย่างไร?

ไม่ดีนะ น่าหวั่นใจทีเดียวล่ะ คือที่อังกฤษโหวตออกจากสหภาพยุโรปนี่ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นความกลัวเรื่องผู้อพยพอย่างที่บอกไปแล้ว เป็น Fear แล้วตอนนี้เราว่าทุกคนต้องจัดการกับความกลัวนี้ให้ได้ ต้องใช้เหตุผลให้มันมากขึ้น แต่เข้าใจว่าอังกฤษจะวุ่นวายอีกสักระยะ แล้วคงจะส่งผลต่อไทยแน่นอนเพราะอย่างไรเสียคงหนีกันไม่พ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราเกี่ยวพันกันในภาคการเงิน

 

ถ้าเลือกได้ จะโหวตอยู่ต่อหรือออก?

เราต้องอยู่ต่อ ต้อง Remain อยู่แล้ว เพราะเราเคารพเรื่อง Toleration หรือการอดกลั้นซึ่งกันและกัน

เพราะเราเชื่อว่านั่นเป็นวิธีที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมด้วยกันได้

 

รู้จักสหภาพยุโรปผ่านหนัง

กับความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับประเทศอังกฤษ

อาจนับได้ว่า ตั้งแต่นาทีแรกที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรปอย่างเด็ดเดี่ยว-ท่ามกลางความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยของประชาชนในพื้นที่ นี่คือห้วงเวลาที่เรื่องราวของสหภาพยุโรปและการแยกตัวออกมาของสหราชอาณาจักรเป็นที่สนใจในวงกว้างมากที่สุดครั้งหนึ่ง

แต่ก่อนหน้านี้ ประเด็นเหล่านี้เคยถูกพูดถึงมาแล้ว ไม่ว่าจะในหนังสือหรือสื่อหลักอย่างภาพยนตร์

เอ่ยปากถามถึงภาพยนตร์ที่พูดถึงหรืออ้างอิงภาวะเช่นนี้ ณัฐนันท์นิ่งคิดอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะตอบว่า หากสนใจในประเด็นนี้ เธอแนะนำให้ดูภาพยนตร์ ที่นิสิตที่ลงวิชาของเธอต้องดู เรื่อง Europa Europa (1990) ภาพยนตร์ภายใต้การกำกับของ แอกนีสก้า ฮอลแลนด์ – ผู้กำกับชาวโปลิช และ The Iron Lady (2011) กำกับโดย ฟิลลิด้า ลอยด์

“Europa Europa จะทำให้เราเห็นภาพว่า ท้ายที่สุด อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นซ้ายจัดหรือว่าขวาจัด มันไม่ต่างกันในเรื่องการสร้างความเกลียดชังต่อผู้ที่เป็นเชื้อชาติอื่น ความเชื่ออื่น” เป็นคำตอบพร้อมรอยยิ้ม ก่อนอาจารย์สาวจะขยายความถึงภาพยนตร์อีกเรื่องที่พูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายา “หญิงเหล็ก” อย่าง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์

“เรื่องนี้เราจะเห็นภาพคร่าวๆ ของประเทศอังกฤษมีความอึดอัดจากสหภาพยุโรปหรือประชาคมยุโรปในขณะนั้นอย่างไร และอียูมีผลอย่างไร ที่ทำให้แทตเชอร์ต้องลงจากอำนาจในประเทศตน ทั้งที่เคยเป็นวีรสตรีในสงครามฟอล์กแลนด์ โดยที่คนทั่วไปไม่ได้รู้นัก”

ออนไลน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image