ประเทศไทย ‘ที่หนูอยากเห็น’ อนาคตของฉัน กอดฝันบนความเหลื่อมล้ำ

ภาพจาก World Bank

เสียงดนตรีโฟล์ก-อะคูสติก ลอยละล่องแผ่วเบามาจากชั้นห้าของหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือท่วงทำนองของศิลปิน Youth Brush ที่มาร่วมขับกล่อมผู้คนครึ่งร้อย ก่อนนิทรรรศการศิลป์จากปลายพู่กันของศิลปินตัวน้อย “Thailand Young Artist : Our Country, Our Future” จะเปิดออกสู่สายตาสาธารณชนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ในวาระเฉลิมฉลอง 70 รอบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และธนาคารโลก หรือ World Bank ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัว กรอบความร่วมมือการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ.2562-2565) ฉบับใหม่ ด้วยปรารถนาสร้างการมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ ค้นหาประเด็นสำคัญที่เขาอยากพัฒนา เป็นกระบอกเสียงสะท้อนประเด็นตรงหน้าที่ไม่ว่าใกล้หรือไกลตัวก็ควร “ได้รับการแก้ไข”

แล้วประเทศไทยที่ประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่า 13.3 ล้าน “ฝันถึง” เป็นแบบไหน? สิ่งแรกที่พวกเขาคิดว่าควรแก้ไขมากที่สุดตอนนี้คืออะไร และในความคิดของพวกเขาประเทศไทยควรพัฒนาไปในทิศทางใด ผู้ใหญ่เคยรับฟังอย่างใส่ใจหรือไม่ ?

คงจะดีไม่น้อย หากทุกสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราฯจะเป็นวันแห่งการรับฟังเสียงของเยาวชนมากกว่าแค่งานเฉลิมฉลองที่เน้นแจกสมุด ดินสอ ขนม ลูกอม ของกิน ของเล่น แต่เปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นของพวกเขาได้โลดแล่น เปิดใจฟังมุมมองต่อนาคตประเทศที่เขาอยาก “เห็น เป็น และ อยู่”

Advertisement

ดังนิทรรศการนี้ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนส่งเสียงว่าพวกเขาก็รับรู้ถึงปัญหา ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การยอมรับความหลากหลาย ความรักและความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปจนถึงเรื่องยากๆ อย่างการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม เพื่อให้เราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

“สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด คือความห่วงใยของเยาวชนที่มีต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความตระหนักลึกซึ้งที่ว่า เราจำเป็นต้องสร้างทางเลือกในวิถีชีวิตใหม่ ปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตและสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดทั้งมวลบนผืนโลก ต้นไม้ สัตว์ มนุษย์ อาศัยอยู่ร่วมกันได้ ความรับผิดชอบและความต้องการจะปกป้องที่พวกเขาสื่อสารออกมานั้น เป็นพลังใจอย่างมาก” คือมุมมองของ Dr.Birgit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ที่มาร่วมมอบรางวัลผู้ชนะการแข่งขัน

จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์

ก่อน จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในกรรมการตัดสินร่วมพูดคุยกับเยาวชนเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยในหัวข้อ What future do they want for Thailand

Advertisement

“ถือว่าหนักหน่วงเมื่อต้องตัดสินงานที่กองอยู่ตรงหน้า แต่เป็นเรื่องดีที่เด็กๆ สนใจและส่งมามากถึง 300 ผลงานจากทุกภาค ซึ่งได้คัดมาจัดแสดง 50 ผลงาน โดยเกณฑ์ในการตัดสิน มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ ความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และเนื้อหา พาร์ทเนื้อหาน่ายินดีว่าหลายประเด็นมีทั้งใกล้และไกลตัวเด็ก ซึ่งการที่เด็กมองเห็นบางประเด็นที่ไกลตัวได้เป็นเรื่องน่าสนใจ”

อ.จิรวัฒน์บอกว่า ประเด็นสำคัญ คือ การรักษาความฝันหรือจินตนาการของเด็กๆ เอาไว้ เพราะโลกพัฒนาได้ด้วยแรงขับเคลื่อนจากความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่เราจะรักษามันได้ คือ การ “ฟัง” พวกเขา

ฟังเด็กๆ ว่าในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ว่าเขาอยากมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบไหน

‘โตขึ้นฉันอยากจะเป็น’

ความฝัน ในวันที่การศึกษายังเหลื่อมล้ำ

“โตขึ้นฉันอยากจะเป็น…” ความหวังของเด็กผู้มีความฝันจะดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม

เริ่มที่นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จากรั้วศิลปากร อัญชลิกา แก้วจันทร์ ในวัย 23 ปี เจ้าของผลงานชนะเลิศ ระดับเยาวชนอายุ 18-24 ปี

“โตขึ้นฉันอยากจะเป็น” เป็นผลงานเทคนิคสีอะคริลิกบนแผ่นพลาสวูด ที่อัญชลิกาส่งเข้าร่วมเพราะมองว่าได้แสดงออกถึงศักยภาพในสิ่งที่ถนัด และได้มีส่วนร่วมเสนอแนวคิด พูดถึงปัญหาสภาวะสังคมที่เราเจอ

เพื่อให้ใครก็ตามที่มีความรู้มากกว่า ได้คิดตาม ซึ่งถ้าคนนั้นเป็นผู้ที่มีหน้าที่การงานเกี่ยวข้อง ก็อาจจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหานั้นได้ในอนาคต

เพราะการมองเห็นปัญหา คือจุดเริ่มต้นของการแก้ไข

“หนูวาดรูปเด็กเล็กวัยน่ารัก ถือสมุดที่เด็กคนนั้นวาดภาพความฝันลงไป เพราะตอนเด็กเวลาต้องการอะไร มีความฝันอะไร หนูจะชอบเขียนลงไปในสมุด เด็กคนนี้ก็เหมือนกัน เขาเขียนความฝันต้องการจะเป็นลงไป

แต่หนูเขียนแบ๊กกราวด์เป็นบ้านสังกะสี สื่อถือความยากจน

ในประเทศของเราเด็กยังไม่ได้รับความเท่าเทียม ทั้งที่เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน เด็กบางคนยังต้องเดินเท้าไปโรงเรียน บางคนไม่มีหนังสือเรียน บางคนรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถเรียนได้ ความฝันที่เด็กคนนั้นวาดลงไป ใช่ว่าเขาจะได้เป็น

แต่หนูหวังว่า คนที่มองภาพนี้อาจจะคิดได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้ในอนาคต เด็กคนนี้ได้ความฝันนั้น เพราะการทำตามความฝันใช่ว่าจะต้องดั้นด้นด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว ถ้าไม่มีโอกาสแสดงฝีมือในที่ที่เหมาะสม ก็อาจจะไม่สามารถสำเร็จตามเป้าหมายที่หวังได้

อัญชลิกาบอกว่า ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะเปลี่ยนประเทศอย่างไร และอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม แต่อยากให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงด้านความคิดก่อน ให้เห็นทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ ให้คิดว่าทุกคนมีพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เมื่อเราคิดด้วยพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมเราจะเคารพเขา เข้าอกเข้าใจเขา และไม่ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรก็จะง่ายขึ้น

“ถ้าเราเคารพสิทธิกันในสถานที่เราอยู่ คนในชุมชนก็จะมีแต่คนเคารพกัน ไม่สร้างปัญหาให้กันและกัน แค่นั้นก็คิดว่าเป็นสังคมในอุดมคติที่สงบสุขแล้ว ส่วนร่วมตอนนี้ที่หนูทำได้ คือการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย มีอาชีพการงานที่มั่งคง เมื่อถึงจุดนั้นจะช่วยเหลือคนอื่นต่อไป”

สดใส หรือ หม่นหมอง

‘อนาคต’ เลือกได้ ที่ ‘ปัจจุบัน’

“Utopia Future” อนาคตขึ้นอยู่กับพวกเรา และการกระทำของพวกเรา

มาต่อกันที่ผลงาน “Utopia Future” จากเทคนิคสีอะคริลิค โดยฝีมือของ พันธหทัย บางขุนเทียน อายุ 16 ปี รางวัลชนะเลิศระดับเยาวชนอายุ 13-17 ปี

ความน่าสนใจของผลงาน คือการมองได้ทั้ง 2 ด้าน

พันธหทัยอธิบายลงรายละเอียด เริ่มจากข้างบนเป็นภาพ “Utopia Future” ความงดงามสดใสของอนาคต ส่วนภาพล่างสะท้อน “ความเป็นไปได้ของอนาคต”

“ที่เลือกประเด็นนี้เพราะตอนเด็กเรียนมาว่ามีภาวะโลกร้อน แต่คิดว่ายังไม่เกี่ยวกับตัวเราและประเทศของเรา ยังไม่ได้มีปัญหาที่ใหญ่ทำให้คนไม่ได้สนใจกับประเด็นนี้ จนถึงขั้นที่มองออกไปบนท้องฟ้าและเห็นฝุ่นเต็มไปหมด”

พันธหทัยบอกว่า ที่ทำเป็น 2 ด้าน เพราะอยากพูดถึง Butterfly effect ว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของเราตอนนี้ จะส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

“หนูอยากเห็นประเทศไทยใช้รถน้อยลง เดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น สำหรับประเทศไทยปัญหาใหญ่อีกเรื่องที่เห็นได้คือรถเยอะ รถติด ควันที่ออกมาจากรถก็ลอยขึ้นไปกองบนอากาศ กลายเป็นฝุ่น

ในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า ถึงตอนนั้นการคมอาจกว้างขึ้น ทั่วถึงมากขึ้น เช่น เดินออกจากซอยแล้วเจอสถานี ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องง่ายขึ้น”

เพราะตัวชี้วัดหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว คือการที่คนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะสังคมแบบไหน ก็ใช้ระบบคมนาคมเดียกัน

“สำหรับหนูในโรงเรียนถือเป็นรุ่นพี่ จะเริ่มจากการสอนน้องให้เห็นความสำคัญของปัญหา และทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น” พันธหทัยยืนยัน

อนาคตของฉัน คือ ‘ไท’ ที่เคารพความต่าง

“My Future” เมืองที่เต็มไปด้วยความทันสมัย แต่ยังสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ไม่ว่าเพศ อายุ ชาติพันธุ์ สีผิว จะแตกต่าง

อีกผลงานที่ดึงดูดความสนใจ เป็นของ ปฏิมา แซ่บู่ ในวัย 18 ปี เจ้าของผลงาน “My Future”

คือภาพสีสันสดใส ด้วยเทคนิคสีโปสเตอร์ มองแล้วสื่อความหมาย เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน

พูดถึงเรื่องความแตกต่าง ไม่ว่าเพศ ชาติกำเนิด หรือสีผิว ที่ทุกคนสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน

“ส่วนตัวหนูสนใจประเด็นความหลากหลายของคนในสังคม เพราะสังคมเราที่มีปัญหาส่วนใหญ่ก็เพราะคนเราไม่สามารถที่จะเคารพความแตกต่าง สังคมจะน่าอยู่ถ้าเคารพความแตกต่างกันได้ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทันที เช่น การยอมรับคนอื่น ลดความคิดตัวเองให้น้อยลง จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นแล้ว” ปฏิมาเผย ก่อนจะลงรายละเอียด

เคารพความแตกต่างที่ว่า คือ การไม่ตัดสินคนอื่น “เวลาเราจะออกจากบ้าน เราห่วงว่าถ้าออกไปในสภาพแบบนี้คนอื่นจะรู้สึกไม่ดีกับเรา ทำให้เราต้องดิ้นรนเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ถ้าทุกคนยอมรับในความต่างได้ เราก็ไม่ต้องพยายามในสิ่งที่ไม่เป็นตัวเรา

สังคมที่หนูอยากให้เกิด พูดง่าย แต่ทำยาก ที่เราจะไม่ตัดสินคนอื่น เหมือนเราเกิดมาก็มีความแตกต่างอยู่แล้ว แต่หนูจะพยายายามมองในมุมว่าทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน เราและเขาเจอสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เรายอมรับคนอื่นได้ง่ายขึ้น” คือจินตนาการและความตั้งใจของสาวน้อยวัย 18 ปี

เคารพกฎหมาย สิทธิ และความเห็น

เรื่องง่ายง่าย ที่ผมทำได้

“ออกมาเป็นเงิน” อนาคตประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ผลงานสุดท้าย โดยชายหนุ่มวัย 22 ปี ปราชญ์ ธรรมาวุฒิกุล นำเสนอความเห็นผ่านผลงาน “ออกมาเป็นเงิน” ด้วยเทคนิคปากกาสีดำผสมสี Copic คว้ารางวัล รองชนะเลิศวัลระดับเยาวชนอายุ 18-24 ปี

เป็นภาพชาวนากำลังเกี่ยวข้าว แต่รวงข้าวเปลี่ยนเป็นแบงก์ร้อย เปรียบการที่เราทำงานด้วยหยาดเหยื่อแรงกายเพื่อจะได้แลกเป็นเงิน ซึ่งในบางครั้งเราทำงานมาเต็มร้อย แต่กลับไม่ได้เงินเต็มร้อยอย่างที่เราควรจะได้

“ผมสื่อผ่านชาวนา ปลูกข้าว เก็บเกี่ยว และนำไปขาย แต่สิ่งที่เขาได้กลับมา กลับไม่เป็นอย่างที่ควรจะได้ เขาต้องเสียเงินไปกับค่าสีข้าว ค่าขนส่ง ที่หักเงินไปจำนวนหนึ่ง

เราทำงานเหนื่อย แต่ไม่ได้ตังค์อย่างที่ควรจะได้”

ส่วนภาพอนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น ปราชญ์บอกว่า คือภาพที่คนเคารพในกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หลักๆ ที่เห็น เช่น การขี่รถบนฟุตปาธ ข้ามถนนโดยไม่สนใจรถ เรื่องพื้นฐานทั่วไป แค่เราเริ่มจากเรื่องเล็กน้อยเท่านี้ก็ดีมากแล้ว

“ผมคิดว่าปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเคารพกฎหมาย อย่างที่ที่ผมอยู่คิดว่าการทำแบบนี้ใครๆ ก็ทำกัน ถูกมองว่าเป็นเรื่องทั่วไป ทำได้ทุกวัน แต่ความเป็นจริงไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดอุบัติเหตุและความเสียหายจึงอยากให้เคารพกันมากขึ้น เพื่อที่ว่าเราจะได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมากขึ้น”

“ถ้าเราสามารถยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น การแต่งตัวของเขา อายุของเขา ความคิดของเขา ถ้าสามารถยอมรับความแตกต่างได้ จะไม่เกิดปัญหา เริ่มจากตัวเองหรือในกลุ่มเพื่อน ง่ายๆ ด้วยการเคารพความเห็นและเคารพสิทธิของเพื่อน ไม่ก้าวก่าย ไม่ใช้ความคิดตัวเองเป็นเสาหลัก นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าสามารถทำได้”

เหล่านี้คือความหวังต่อประเทศของเรา เพื่ออนาคตของเยาวชน โดยเยาวชนแม้ว่างานหัวข้อ “อนาคต” แต่ทุกงานผลงานล้วนสะท้อนถึงปัญหาว่า ที่เด็กอยากเห็นอนาคตแบบนี้ เพราะมีปัญหานี้อยู่ และพวกเขาอยากให้แก้ไข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image