อาศรมมิวสิก : เมื่อผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ยืนกันคนละมิติกับผู้บริหารหอศิลป์กรุงเทพฯ : สุกรี เจริญสุข

เมืองใหญ่ๆ ในโลกนี้ จะต้องมีพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง มีหอศิลป์ของเมือง และมีหอแสดงดนตรีของเมือง เพื่อแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าให้โลกได้รู้จักและผู้คนสามารถสัมผัสได้ เมื่อมีผู้นำของโลกไปเยี่ยมเยือนเมือง ก็จะถูกจัดให้ไปชมและสัมผัสพิพิธภัณฑ์เมืองซึ่งเป็นภาพของอดีต สภาพของบ้านเมืองก็เป็นมิติของปัจจุบัน ส่วนหอศิลป์ของเมืองเป็นมิติของโลกอนาคต และหอแสดงดนตรีของเมืองนั้นเป็นพลังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้มาเยือน

มีหลักฐานเป็นตัวอย่างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตสยาม เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อปี พ.ศ.2230 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้พระราชทานจัดให้ท่านราชทูตได้ชมการแสดงโอเปร่าที่โรงมหรสพ ได้ไปดูพิธีจบการศึกษาของนักเรียนที่ไปจากสยาม เป็นต้น

เมื่อเมืองใหญ่ๆ ของโลก ใช้ศิลปวัฒนธรรม ใช้วิถีชีวิต อาศัยพิพิธภัณฑ์เมือง หอศิลป์ประจำเมือง รวมถึงหอแสดงดนตรีของเมือง เพื่อแสดงถึงรสนิยมของความเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็ตกอยู่ในฐานะที่เป็นเมืองใหญ่เช่นนั้น ซึ่งเป็นความใหญ่ในฐานะมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีจำนวนประชากรมาก มีความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีวิถีชีวิตที่ซับซ้อนซ่อนอยู่ เหล่านี้เป็นความยิ่งใหญ่ของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครในด้านวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรม

เพราะเป็นมหานคร ในระหว่างปี พ.ศ.2537-2551 มีผู้คน ประชาชน ศิลปิน ได้รวมตัวกันรณรงค์เพื่อที่จะสร้างหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้สมกับเป็น “มหานคร” โดยคณะผู้อยากมีหอศิลป์และเครือข่ายทั้งหลายได้ระดมความจำเป็น หาความประสงค์ และมีความต้องการที่ยาวนาน กระทั่งหอศิลป์กรุงเทพฯสร้างขึ้นได้สำเร็จ ต่อมาฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครได้ยกหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้กับมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อเข้าไปบริหารเป็นเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2554-2564 ขณะนี้ก็ใกล้เวลาที่จะหมดสัญญาแล้ว

Advertisement

ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร มีความพยายามส่งสัญญาณว่า หอศิลป์กรุงเทพฯ และมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ บริหารหอศิลป์กรุงเทพฯแล้ว มีปัญหา

ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ได้พัฒนา ส่งเสริม และสร้างความขัดแย้ง ขยายเพิ่มมิติต่างๆ และได้เพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยการไม่สนับสนุนและตัดงบประมาณ อ้างว่าไม่ได้สนองนโยบาย ไม่ได้ทำตามเป้าหมาย ก็คือการสร้างความกดดันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันที่หมดสัญญา ในปี พ.ศ.2564 ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครจะได้อ้างความชอบธรรมที่จะเข้าไปบริหาร ควบคุม และจัดการหอศิลป์กรุงเทพฯ ในโอกาสต่อไป ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร

หอศิลป์ของทุกเมืองใหญ่ทั่วโลกนี้ เป็นมิติของโลกอนาคต หอศิลป์เป็นโลกของความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ของโลกจินตนาการ ซึ่งจะสร้างพลังและกระแสแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนในสังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นสื่อเชื่อมโยงจิตใจของคนในสังคมให้คิดถึงพลังสาธารณะ ในส่วนของนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ได้มาเยือนก็จะค้นหาโลกอนาคตของสังคมไทยจากหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่สำคัญคือ หอศิลป์ของเมืองใหญ่ที่เป็นมหานครอย่างกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แสดงถึงปัญญา ภูมิปัญญา ปรัชญา และพัฒนาการของสังคมด้วย

Advertisement

สำหรับหอศิลป์กรุงเทพฯนั้น มีพื้นที่ของหอแสดงงานไม่ใหญ่นัก เป็นพื้นที่เริ่มต้นให้คนที่คิดถึงงานศิลปะ แสดงถึงความคิดที่แตกต่างให้อยู่ร่วมกันได้ มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นผ่านงานศิลป์ จุดประกายของความคิดสร้างสรรค์ เป็นการสะท้อนปัญหาของสังคม เป็นการแสดงความรู้สึกนึกคิดของสังคม รู้สึกในปัจจุบัน นึกถึงอดีต และคิดถึงอนาคต เป็นการนำเสนอโลกอนาคตที่ควรจะเป็นให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งหอศิลป์กรุงเทพฯ กลายเป็นหุ้นส่วนสาธารณะให้ผู้คนในสังคมได้แสดงออก หอศิลป์กรุงเทพฯจึงเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพความเป็นเลิศทางสติปัญญา เป็นโอกาสเสนอศักยภาพการบริหารความแตกต่างของสังคม

ผู้บริหารที่มาจากการแต่งตั้ง มาจากอำนาจซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่ในโลกอดีต อยู่กับความเหมือน ซึ่งก็จะกลัวความแตกต่าง ผู้บริหารที่มาจากอำนาจจะอยู่กับคำสั่ง โดยสั่งจากบนลงล่าง ผู้สั่งการจะทำถูกหมด แม้ว่าจะ “โง่อย่างมีหลักการ” ความจริงแล้ว ผู้บริหารมีฐานะเป็นเสมียนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่คอยกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบ ถือระเบียบเป็นคัมภีร์ในการบริหาร กฎระเบียบนั้นเขียนเอง แล้วนำมาใช้สั่งเอง มีปากกาอยู่ในมือตัวเอง ก็จะเขียนให้ฝ่ายบริหารได้เปรียบและมีอำนาจ ใช้อำนาจที่ชอบทำ

หากผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาระหว่างฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครกับผู้บริหารหอศิลป์กรุงเทพฯก็จะหมดไปโดยปริยาย เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องฟังเสียงและฟังความเห็นของประชาชน เพราะว่า “หอศิลป์เป็นของประชาชน” ถ้าจะมองปัญหาลงไปให้ลึกอีกนิดก็จะเห็นว่า ผู้นำและผู้บริหารปัจจุบันกลัวความเห็นที่แตกต่าง กลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวคนที่รู้มากกว่า กลัวโลกอนาคต กลัวความจริง กลัวความดี กลัวความถูกต้อง กลัวคุณภาพ เป็นต้น ความพยายามที่จะเขียนมาตรฐานความถูกต้องขึ้นมาเพื่อจะใช้เป็นข้ออ้าง โดยอาศัยอำนาจ อาศัยระเบียบ ที่เขียนเอาเปรียบและเอื้อฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าหลังไปนานแล้ว

ระบบราชการเป็นโลกของอดีต โลกที่ล้าหลัง โลกราชการเป็นโลกของระเบียบ เสมียนเป็นผู้ดูแลระเบียบ ในขณะเดียวกัน โลกราชการเป็นโลกที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นโลกที่ไม่มีจินตนาการ เป็นโลกที่ไม่มีรสนิยม เป็นโลกของการปฏิบัติตามคำสั่ง โลกราชการจึงเป็นโลกที่อำนาจเป็นใหญ่ ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจะเอารัดเอาเปรียบผู้น้อย การปกครองโดยอำนาจราชการ จึงเป็นโลกที่เหลื่อมล้ำ เป็นโลกที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นโลกของผู้มีเหรียญตราเป็นใหญ่ สมองไม่ค่อยจะได้ใช้ประโยชน์นัก

ปรัชญาของการมีหอศิลป์กรุงเทพฯ จึงขัดแย้งกับฝ่ายบริหารที่มาจากการแต่งตั้ง หอศิลป์กรุงเทพฯ ที่มีโลกทัศน์ของอนาคต ขณะที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครอยู่ในโลกอดีต ทั้งสองฝ่ายจึงยืนอยู่กันคนละโลก ยืนกันคนละมิติ ถือมุมมองคนละชุด เห็นคนละอย่าง อย่างที่ ฟ. ฮีแลร์ ได้เขียนบทกวีไว้ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวแพรว”

วิธีคิดและวิธีกระทำจึงแตกต่างกัน โลกอนาคตใช้จินตนาการนำ โดยมีโลกปัจจุบันซึ่งเห็นเป็นความจริงคั่นอยู่ตรงกลาง ส่วนโลกในอดีตเป็นของฝ่ายผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายพูดกันไม่เข้าใจ มีจุดยืนกันคนละมุม เพราะว่ามีความเป็นจริงของโลกปัจจุบันกั้นขวางอยู่

สรุปว่าอยู่กันคนละโลก

ประชาชนกรุงเทพมหานครต้องการอะไร การย้อนยุคไปอยู่ในโลกอดีตซึ่งเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะเอาไปบรรจุไว้ในพิพิธภัณฑ์ ส่วนโลกปัจจุบันนั้นก็มีให้เห็นความเป็นจริงประจักษ์อยู่แล้ว หอศิลป์กรุงเทพฯเป็นภาพของโลกอนาคต เพื่อให้ประชาชนคนกรุงเทพฯได้มีโอกาสเลือกความต้องการ หาทางเลือกอยู่ในมิติของโลกอนาคตได้ โดยอาศัยหอศิลป์กรุงเทพฯ แม้จะเป็นโลกทดลอง โลกสมมุติ แต่ก็เป็นการแสวงหาความแตกต่าง เลือกช่องทางที่เหมาะกับชีวิตอนาคตของแต่ละคน

ทางออกของกรณีพิพาทระหว่างฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครกับหอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งถ้าจะคิดให้ง่ายก็ง่ายนิดเดียว และหากจะทำให้ยากก็ยากมากได้ อาจจะต้องรอคอยเวลาอีกหนึ่งปีแสงจึงจะแก้ปัญหาได้ ในกรณีที่แก้ปัญหาง่าย ก็เริ่มจากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปัญหาของหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็จะแก้ได้ในตัวเองทันที วิธีที่สอง ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครยกหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ 30-50 ปี ไปบริหาร โดยให้เงินงบประมาณสนับสนุน เพราะเป็นภาษีของประชาชนคนกรุงเทพฯ ขอเพียง 1% ของงบประมาณกรุงเทพฯ ก็พอ โดยให้มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯไปจัดการเองให้เป็นพื้นที่อิสระ

หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นท่อระบายอากาศเสีย ระบายอากาศร้อน ระบายมลพิษทางอารมณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง ป้องกันความรุนแรง เพราะแรงกดดันที่อัดแน่นอยู่ภายในจิตใจคนจะระเบิดขึ้นเมื่อใดก็ไม่รู้ได้ หอศิลป์กรุงเทพฯจึงเป็นพื้นที่แสดงออกเพื่อระบายอารมณ์ผู้คนของสังคม ระบายออกของแรงกดดัน ผู้นำที่ฉลาดล้ำจะใช้หอศิลป์เพื่อสร้างประโยชน์ในการปกครอง หอศิลป์จะบอกปัญหาสังคม จะชี้ช่องทางความอยู่รอดของสังคม และลดการปะทะของคนในสังคมด้วย “ศิลปะดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน” ซึ่งผู้นำทั่วโลกนำมาใช้เพื่อพัฒนาความเจริญของสังคม

การที่เกิดปัญหาและภาวะวิกฤตในสังคม ก็เพราะคนในสังคมไม่มีพื้นที่ระบายอารมณ์ ดังนั้น การมีหอศิลป์กรุงเทพฯจึงเป็นช่องทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ รัฐราชการที่ใช้อำนาจปกครอง มีพื้นที่อยู่ในทุกมิติอยู่แล้ว หากฝ่ายบริหารได้ปล่อยพื้นที่ว่างให้ประชาชนได้มีโลกอนาคตอยู่บ้าง ให้พื้นที่และเสรีภาพทางใจซึ่งจะเป็นช่องทางระบายแรงกดดันที่ดีที่สุด

อย่าลืมว่า โลกเดินไปข้างหน้าทุกวัน คนรุ่นเก่าก็ตายไปทุกวัน โลกจึงหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และหลีกเลี่ยงโลกอนาคตก็ไม่ได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image